Skip to main content
sharethis

ข้อพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.. ...


จับตา...การสัมปทานประเทศไทย


 


...................................................


เจริญ คัมภีรภาพ


รองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญา และ ภูมิปัญญาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยศิลปากร


 


เอกสารประกอบการชี้แจ้งในคณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา


11 พฤศจิกายน 2548


ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ 309 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2


--------------------------


 


รัฐบาลภายใต้การนำของ พ... ทักษิณ ชินวัตร ได้นำประเทศไทยเข้าสู่ระบบเสรีนิยมใหม่ และเดินตามแนวทางฉันทามติแห่งวอชิงตัน (Washington consensus) อย่างออกนอกหน้าและอย่างไม่มีอนาคต โดยละทิ้งยุทธศาสตร์การพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ชุมชน และ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นไป โดยผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายและกฎหมายโดย การนำประเทศเข้าสู่ข้อตกลงเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคีนิยม (bilateralism) การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน เพื่อเอื้ออำนวยแก่นักลงทุนจากต่างชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ซึ่งได้ยื่นหมูยื่นแมวในการเจรจาจัดตั้งข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยเปลี่ยนสถานะ ทางทรัพย์สิน และ บริการสาธารณะจากของรัฐมาเป็นของเอกชน และพยายามเข้าควบคุมบริการสาธารณะโดยเฉพาะด้านพลังงานผ่านกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ


 


ในความเคลื่อนไหวทางนโยบายและกฎหมาย ได้มีการจัดทำร่างกฎหมายหลายฉบับเพื่อจะได้ตอบสนองต่อการใช้อำนาจรัฐเข้าควบคุมบังเหียน การใช้อำนาจรัฐเพื่อเป็นหลักประกันในการควบคุมตัดสินใจผูกขาดอำนาจในทางการเมือง เศรษฐกิจ และทิศทางรูปแบบการพัฒนา ต่อไปในอนาคตอย่างยาวนาน โดยเฉพาะร่างระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.. ... การปกครองพิเศษ หรือ ร่าง พ... ระเบียบบริหารราชการนครท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พ.. .... ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นกฎหมายที่มีเป้าหมายตอบสนองต่อการโยกย้ายเปลี่ยนแปลงในตัว "อำนาจ" ผู้กระทำการตามกฎหมาย เพื่อเตรียมการเข้าไป สัมปทานประเทศไทย สมควรที่ประชาชน สื่อมวลชนที่มีวิญญาณเสรีจะได้จับตาตรวจสอบติดตามความเคลื่อนไหวนี้อย่างใกล้ชิด จากแผนบันได 3 ขั้นกล่าวคือ


 


. การนำประเทศเข้าสู่กับดักทางนโยบาย โดยการนำประเทศไทยเข้าไปผูกมัดกับข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ FTA (Free Trade Agreement) ทั้งนี้เนื่องจากแก่นสารสาระสำคัญอันหนึ่งที่ไม่เคยเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมากับประชาชน ต่อการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีก็คือ ภาวะจำยอมของประเทศไทยที่จะต้องสยบยอมกับข้อผูกมัดระหว่างประเทศ (International obligations) ตลอดไปตามที่ได้ตกลงไว้ ซึ่งครอบคลุมอำนาจการตัดสินใจของประเทศ คนไทยในอนาคต ต่อองค์กรทางการเมืองทุกองค์กร รวมถึงพระราชอำนาจ ซึ่งในจำนวนข้อตกลงทั้งหมดนี้นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการคัดลอกหลักการที่เปรียบเสมือนเครื่องมือ การเข้าไปแสวงประโยชน์ในทางเศรษฐกิจของบรรษัทข้ามชาติ (Trans-national companies) ที่สร้างความย่อยยับต่อประเทศต่าง ๆ มาแล้ว ใต้ร่มเงาตามแนวทางลัทธิเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberalism) ประกอบกับฉันทามติแห่งวอชิงตัน โดยประเทศไทยจะต้องยอมให้มีการเปิดเสรีด้านบริการทุก ๆ ด้าน การเปิดให้ยอมรับในเงื่อนไขการลงทุนอย่างเข้มงวด การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเหนือกว่ากรอบข้อตกลงขององค์การการค้าโลก หรือ ทริปผนวก (TRIPs Plus) ครอบคลุมวิถีชีวิตคนตั้งแต่เกิดจนตาย การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การถูกบังคับในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การลดข้ออุปสรรคทางการค้าในการเข้าสู่ตลาดสินค้าทุกชนิด รวมถึง


จีเอ็มโอ (GMOs) ฯลฯ


 


การทำข้อตกลง FTA นอกจากจะได้ประโยชน์กับคนกลุ่มน้อยแวดล้อมผู้มีอำนาจแล้ว ผลพลอยได้ที่ตามมา จะเป็นเหตุให้รัฐบาลสามารถกล่าวอ้างต่อประชาขนต่อมา ถึงเหตุผล ความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายและกฎหมาย ตัวอย่างเช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ในที่สุดรัฐบาลก็จะกล่าวอ้างว่าไม่ใช่ความต้องการของรัฐบาลหรือคนภายในรัฐบาลบางกลุ่ม หากแต่เป็นเรื่องที่ประเทศไทยต้องทำตามพันธะสัญญาข้อตกลงระหว่างประเทศ การทำ FTA จะเป็นเหตุผลสำคัญที่รัฐบาลนี้ใช้เป็นข้ออ้างที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายและกฎหมายต่อไป ซึ่งจะสวนทางกับผลประโยชน์ของชาติและประชาชนไทย อีกนัยหนึ่งของยุทธวิธีการทำ FTA อาจกล่าวได้ว่าเป็นการสร้าง "เหตุ" แห่งการเปลี่ยนแปลงไว้ก่อน เพื่อจะได้อาศัยเหตุที่ว่านี้มาสู่การริเริ่มเปลี่ยนแปลงนโยบายและกฎหมายที่อาจจะเอื้อประโยชน์ และนำไปสู่การสัมปทานประเทศไทยตามมาได้ ดังกรณีร่าง


พระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.. ... ที่พิจารณากันในวันนี้


 


. ร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.. ... คือตัวอย่างร่างกฎหมายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากหลักการเหตุผลความจำเป็น เพื่อเป็นกรอบในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมไทยและการกินดีอยู่ดีของประชาชนไทย หากแต่กฎหมายนี้ได้ที่สะท้อนถึงการจัดทำกฎหมายเพื่อประโยชน์ต่อคนเฉพาะกลุ่มและเป็นการสร้างเครื่องมือในทางกฎหมาย เพื่อเตรียมการเข้ายึดสัมปทานประเทศไทยต่อไปอย่างครบวงจรและบูรณาการ ในประการสำคัญ ร่างกฎหมายนี้มุ่งกระทำต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการใช้อำนาจรัฐใหม่ เพื่อสร้างบันได ปูทาง และเอื้อประโยชน์ในการบริหาร การเลือกรูปแบบกิจกรรม โครงการ และทิศทางการพัฒนาในพื้นที่ ที่ได้จัดตั้งขึ้น โดยจะเกิดอภิมหาโปรเจ็ค (mega projects) ในโครงสร้างพื้นฐาน การค้าขายเก็งกำไรที่ดิน อีกทั้งกระบวนการรองรับกับโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงกับการบริการในรูปของดิจิตอล (digital) อย่างสมบูรณ์แบบ มิพักต้องมาตั้งคำถามว่า ร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.. ... นี้จะนำไปสู่การกระจายรายได้ สร้างและเพิ่มโอกาสให้ประชาชนในทางเศรษฐกิจอย่างไร จะสร้าง หรืออุดช่องว่างการพัฒนาที่ไม่สมดุลระหว่างชนบทและเมืองอย่างไร จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร จะแก้ปัญหาความยากจน ความเสื่อมโทรม ทางด้านฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ของประเทศ ตลอดจนจะก่อให้เกิดความเป็นธรรมในการพัฒนาได้หรือไม่ ในทางตรงกันข้ามร่างกฎหมายนี้กลับยิ่งทำให้ประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวมายิ่งเลวร้ายลงอย่างคาดการณ์ได้ไม่ยาก


 


. ในแผนการขั้นสุดท้ายที่ ร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.. ..นี้จะตอบสนองคือ การรองรับกลุ่มผลประโยชน์ ที่จะเข้ามาบริหารจัดการดูแลคุมบังเหียนใช้อำนาจในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ได้จัดตั้งขึ้น เพื่อจัดสรรผลประโยชน์ผ่านโครงการ รูปแบบกิจกรรมที่ดึงดูดงบประมาณเงินภาษีอากรของประชาชนมาใช้ในโครงการต่าง ๆ โดยร่างกฎหมายนี้จะสร้างความชอบธรรมในทางกฎหมายเพื่อการใช้อำนาจและการตัดสินใจที่ว่านี้ โดยประชาชน ชุมชนท้องถิ่นและระบบการบริหารการปกครองท้องถิ่น รวมถึงการกระจายอำนาจ ไม่อาจทำงานได้ต่อไป การสัมปทานประเทศไทย ผ่านร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.. ... จึงเกิดขึ้นได้จริงตามแผนบันได 3 ขั้นดังที่กล่าวมา


 


ในฐานะที่เป็นนักกฎหมายคนหนึ่ง รู้สึกอับอายขายหน้ามากที่เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.. ... นี้จะเป็นตัวอย่างของการใช้กฎหมายที่เดินสวนทางกับปรัชญาพื้นฐานทางนิติศาสตร์อย่างเห็นได้ชัด ร่างกฎหมายนี้นอกจากจะเป็นอันตรายต่อทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะยาวต่อไปแล้ว ยังทำให้เกิดความเสียหายและภาพลักษณ์ที่ตกต่ำของนักกฎหมายและกระบวนการร่างกฎหมายไทยอย่างสุดที่จะอธิบายได้ การบริหารจัดการประเทศบนฐานความรู้ (knowledge management) ยังห่างไกลอีกมาก และนี่คือ ตัวแทนของระบบคอรัปชั่นสายพันธุ์ใหม่ และเกิดจากผลพวงอันอันตรายจากการใช้อำนาจรัฐที่เสียดุล สังคมไทยต้องปฏิรูปการเมืองใหม่อีกครั้ง...มิฉะนั้นประเทศไทยจะไม่เหลืออะไรอีกเลย....

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net