Skip to main content
sharethis




หมายเหตุ


สืบเนื่องจาก "มติชนสุดสัปดาห์" วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 25 ฉบับที่ 1313 ตีพิมพ์เอกสารลับ 14 ตุลาคม 2516 จากหอจดหมายเหตุอังกฤษ ที่แปลและเรียบเรียง โดย "โธไรยสยามรัฐ" ปราโมทย์ นาครทรรพ ในฐานะผู้ถูกระบุถึงในเอกสารลับชิ้นนี้ จึงได้เขียนและเผยแพร่บทความเพื่อชี้แจงและตอบโต้ชิ้นนี้ขึ้น ทั้งนี้ "ประชาไท" ได้แนบบทความจากมติชนสุดสัปดาห์ไว้ท้ายบทความนี้แล้วเพื่อสะดวกในการทำความเข้าใจ


 


 


"ข้อมูลเท็จ" เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516


เมื่อ "สายลับ" ไทยกับอังกฤษร่วมกันหากินโกหกโลก


 


ปีนี้ ผมกลับถึงกรุงเทพฯวันที่ 14 ตุลาคมพอดี ได้รับโทรศัพท์จากคุณหมอปรีชา เจริญลาภ ให้รีบอ่านมติชนสุดสัปดาห์ ซึ่งตีพิมพ์จดหมายเหตุ ว่าผมได้รับคำสั่งจากอาจารย์ป๋วยให้มาปฏิบัติการณ์ 14 ตุลาคม 2516


 


ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 อาจารย์ป๋วย (อึ๊งภากรณ์) ยังพำนักอยู่ในต่างประเทศ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน อยู่ญี่ปุ่น ผมไปประชุมที่ชิคาโกเกือบจะกลับมาไม่ทัน


 


คืนที่ผมกลับมาถึง มีชายหนุ่มประมาณหนึ่งโหลมานั่งรออยู่ที่บ้าน ไม่เปิดโอกาสให้ผมได้คุยกับลูกเมีย ทั้งหมดเป็นนักศึกษา ยกเว้น ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช


 


เขามาปรึกษาผมเรื่องการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ถึงแม้ว่าผมจะสนับสนุนการเรียกร้องรัฐธรรมนูญมานานแล้ว แต่คืนนั้นผมเตือนให้เขาระมัดระวัง อย่าด่วนเดินขบวน เพราะเกรงว่าประชาชนจะไม่พร้อม


 


ต่อมานักศึกษาทุกคนที่มาพากันถูกจับหมด เพราะพากันไปแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ดร.ชัยอนันต์ไม่โดน เพราะไม่ได้ไป


 


ผมเชื่อว่าถ้าไม่มีการจับ ก็จะไม่มี 14 ตุลาคม และปฏิกิริยาของรัฐบาลต่อมามีส่วนทำให้ประชาชนพร้อม


 


จริงอยู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม เกิดได้ด้วยนักศึกษาและอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ปัจจัยที่ยิ่งใหญ่มาจากประชาชนและในหลวง


 


ผมเสียดายว่าเรื่องนี้ ยังมีข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญอยู่อีกมากมายที่สื่อมิได้รายงาน และนักวิชาการมิได้ศึกษา น่ากลัวจะต้องตายไปกับกาลเวลาเสียเปล่า ดีแล้วที่มติชนนำจดหมายเหตุมาพิมพ์ แม้ว่าเกือบทั้งหมดจะเป็นการเดาสวดและมดเท็จอย่างฉกรรจ์ก็ไม่เป็นไร


 


ผมรู้จักสันดานของผู้หากินเป็นสายลับ ผมเข้าใจความจำเป็นและประโยชน์ของการสืบราชการลับเช่นกัน แต่ผมก็เข้าใจการโกหกพกลมและมาตรฐานอันต่ำต้อยขององค์กรราชการลับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นของไทยหรือประเทศมหาอำนาจเช่น อังกฤษและอเมริกา ซึ่งมักจะถูกบุคคลหลายประเภทหลอกลวงและกุเรื่อง จนทำให้เสียงบประมาณเกินเหตุ และเกิดความเสียหายมากมายมาตลอด เช่น เรื่องอิรักในปัจจุบัน เรื่องจดหมายเหตุนี้ และ เรื่องธรรมศาสตร์เป็นที่สะสมอาวุธสงคราม


 


โปรดสังเกตว่า รายงานนี้เขียนขึ้นหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคมเพียง 2 สัปดาห์ สายลับทั้งสองร่วมมือกัน "สร้าง" รายงานขึ้นมารวดเร็วปานนี้ได้อย่างไร


 


ผมรู้จัก ดร.กระจ่าง พันธุมนาวิน และพลตรีสุดสาย (เทพหัสดิน) รวมทั้งคนอื่นที่ปรากฏนามในรายงานทุกคน  เคยพบปะและสนทนาปราศรัยกันด้วยอัธยาศัยไมตรีหลายครั้ง ผมเชื่อว่าบุคคลทั้งนั้นเป็นผู้รักชาติ (แบบหนึ่ง) มีความเชื่อหรือผลประโยชน์ต่างๆ ของตน หากบังเอิญความเชื่อนั้นผิดหรือผลประโยชน์นั้นไม่ชอบธรรม  แทนที่จะเกิดผลดี  ก็อาจจะเกิดผลเสียต่อประเทศชาติได้  ทั้งนี้มิได้หมายความว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องชั่วช้าสารเลวก็หาไม่


 


ผมจะยังไม่เล่าเรื่อง 14 ตุลาคมที่ผมมีส่วนเกี่ยวข้อง ได้เห็นหรือได้ยินมา ผมจะขอกล่าวถึงรายงานที่แปลออกมาเป็นภาษาไทยได้ 2536 คำเป็นข้อๆ ตามลำดับของผู้รายงาน


 


ข้อที่ 1  อ้างว่าข้อมูลของกระจ่างน่าเชื่อถือเพราะกระจ่างเป็นอาจารย์มหิดลและใกล้ชิดกับรัฐบาล แถมยังรู้จักคอมมิวนิสต์กลับใจตามนิคมชาวเขาในฐานะที่ปรึกษา กอ.รมน. นี่เป็นเหตุผลและการเชื่อมโยงที่อ่อนปวกเปียกสิ้นดี อาจารย์มหาวิทยาลัยที่รับใช้รัฐบาลเผด็จการหรือจะเข้าใจหรือได้รับความไว้ใจจากวงวิชาการหรือนักศึกษา สำหรับแหล่งข่าวชาวเขาและกอ.รมน.ซึ่งถูกควบคุมโดยอเมริกันหากถูกต้อง ดีและน่าเชื่อถือ เหตุไฉนอเมริกันและรัฐบาลหุ่นในลาวกับเวียตนามจึงต้องหอบชาวเขาหนีไปอยู่สหรัฐเป็นแสนๆเล่า ตรรกะและข้อมูลเหล่านี้เป็นพื้นฐานของรายงานที่ไม่น่าเชื่อถือ


 


ข้อที่ 2.  กระจ่างเป็นนักวิทยาศาสตร์ หากนับถือศาสนาพุทธด้วย น่าจะต้องเข้าใจหลักปฏิจจสมุปบาทกับหลักสหสัมพันธ์ทางสถิติและวิทยาศาสตร์ซึ่งคล้ายคลึงกัน เกี่ยวกับความเชื่อมโยงของเหตุปัจจัยหลายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุปัจจัย 2 ลักษณะที่เป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งหรือสภาวธรรมทั้งหลาย นั่นก็คือ ปัจจัยที่จำเป็นหรือขาดไม่ได้ (necessary) หนึ่ง  กับปัจจัยที่พอดีหรือเพียงพอ (sufficient) อีกหนึ่ง  กระจ่างไม่เข้าใจว่าปัจจัยดังกล่าวมีอะไรบ้าง เพราะ 3 ปัจจัยที่กระจ่างกล่าวอ้างนั้น ไม่เป็น ไม่จริง ไม่ใช่ หรือไม่มีเลยเสียด้วยซ้ำ นั่นก็คือ


 


1. หนึ่งในสองของผู้ต้องหาที่ว่าเป็นคอมมิวนิสต์หรือรับคำสั่งมาจากคอมมิวนิสต์  ถ้ามีจริงและรู้จริงก็น่าจะระบุชื่อได้ จนป่านนี้ 32 ปีแล้วก็ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร ผมเองทราบว่าผู้นำนักศึกษาบางคนเป็นคอมมิวนิสต์ แต่เขาเหล่านั้นก็ไม่เกี่ยวหรือมีอิทธิพลเหนือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม แต่อย่างใด


 


2. ผมรู้จักผู้ต้องหาทั้ง 13 คน ดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่ผมยืนยันได้ว่าอาจารย์ป๋วยแทบไม่รู้จักหรือเกี่ยวพันกับผู้ใดเลย ยิ่งที่ว่าอาจารย์ป๋วยเข้าไปช่วยจัดการการประท้วงนั้นเป็นการเดาสวดหรือจงใจโกหกหน้าด้านๆ สองสัปดาห์หลัง 14 ตุลาคม อาจารย์ป๋วยได้เขียนจดหมายถึงผม พูดล้อๆว่าจะต้องประจบผม ดร.ชัยอนันต์ กับอาจารย์พงศ์เพ็ญให้เขียนรัฐธรรมนูญให้ดีและอย่าลืมกำหนดให้มีการขอประชามติด้วย 


 


3. "นายทหารบกไทยคนหนึ่งใช้ 13 กบฎเป็นเครื่องมือบรรลุเป้าหมายของตนเอง"  หลังจาก 14 ตุลาคม มี "นายทหารบกไทย" คนใดบรรลุเป้าหมายใดที่เป็นพิเศษเช่นได้ขึ้นเถลิงอำนาจบ้างหรือไม่ ถ้าไม่มี ก็แสดงว่าไม่มีนายทหารผู้นั้นที่บงการ "กลุ่มกบฎ" อนึ่ง ผู้ต้องหาทั้ง 13 คนหาใช่บุคคลกลุ่มเดียวกัน ที่มีการจัดตั้งอย่างเป็นเอกภาพหรือดำเนินการเคลื่อนไหวร่วมกันอย่างต่อเนื่องไม่ ผู้ต้องหา 2-3 คน เช่นไขแสง (สุกใส) เป็นต้น อาจจะมีความสนิทสนมใกล้ชิดกับ พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ เป็นพิเศษ แต่ไม่ปรากฏว่าพล.ต.อ.ประเสริฐมีอิทธิพลเหนือผู้ต้องหาหรือได้รับประโยชน์ในทางอำนาจในกาลต่อมาแต่อย่างใด แม้แต่พลเอกกฤษณ์ สีวะราก็เช่นกัน ถ้าจะว่าไปแล้ว นายทหารชั้นนำของกองทัพบกที่ได้รับผลประโยชน์ทางอำนาจจากเหตุการณ์และความผันแปรอันเนื่องมาจาก 14 ตุลามีอยู่ 3 รายคือ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และพลเอกประจวบ สุนทรางกูร สองท่านแรกหาได้มีความสำคัญใดๆต่อเหตุการณ์ 14 ตุลาไม่ พลเอกประจวบถึงแม้นจะมีความรับผิดชอบเกี่ยวข้องแต่ก็มิได้อยู่ในกองทัพ เพราะเป็นรองอธิบดีตำรวจ ทำการแทนจอมพลประภาส ผู้รักษาการณ์อธิบดีตำรวจ  พล.ต.อ.ประเสริฐ ถูกเขี่ยออกไปให้พ้นทาง โดยการปฏิวัติพฤศจิกายน 2514 อันเป็นเหตุให้เกิดจดหมายจากนายเข้มของอาจารย์ป๋วย


 


ข้อ 3. อดีตนายกฯอานันท์ (ปันยารชุน) เป็นผู้กล่าวสดุดีในงานศพไขแสง ไขแสงเป็นนักการเมือง ผมว่าเขานักมนุษยธรรมไม่ใช่คอมมิวนิสต์ แต่เคยถูกจับและยัดข้อหาให้


 


สำมะหาอะไร แม้แต่คุณอานันท์ยังเคยโดยกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ กระจ่างคงเดาเอาเอง โดยมิพักต้องตรวจสอบข้อมูล ว่าผู้ที่ถูกจับวันนั้นมี 11 รายเป็นนักศึกษา 8 อาจารย์ธรรมศาสตร์คือทวี หมื่นนิกร 1 อดีตอาจารย์รัฐศาสตร์จุฬาฯ1 และปัญญาชนอิสระอีก 1 ไขแสงมิได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่หอบแคนเข้ามามอบตัวหลังจากมีประกาศจับ 2 วันต่อมา ไขแสงเป็นเจ้าสำนักธรรมรังสีที่มีนักศึกษาหัวก้าวหน้าไปคลุกคลีอยู่มาก กลุ่มธรรมรังสีได้เข้าพบและปรึกษาพลเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ ที่บ้านพัก ปตอ.แล้ว ประเสริฐเป็นอธิบดีอยู่นานคงจะมีอิทธิพลในกรมตำรวจอยู่  ผมเดาว่าไขแสงอยากไปเป็นพี่เลี้ยงให้นักศึกษา เป้าหมายของการจับกุมมิได้อยู่ที่นักศึกษา แต่เป็นลูกติดพัน  เรื่องนี้น่าจะสอบถามได้จากอดีตผู้บังคับการสันติบาลในขณะนั้น คือพล.ต.ต.ชัย สุวรรณศร หรือพล.ต.ต. อารีย์ กรีบุตร ตำรวจอาชีพสายพิราบ ทั้งคู่ยังมีชีวิตอยู่


 


ข้อ 4. จุดอ่อนของนักต่อต้านคอมมิวนิสต์สายเหยี่ยวก็คือการโอ้อวดว่าตนเข้าถึงหรือรู้จักคอมมิวนิสต์ดี เพื่อจะรายงานหรือสร้างโครงการหาเงินต่อจากงบประมาณของรัฐและเงินช่วยเหลือจากอเมริกัน ทั้งนายทั้งบ่าวต่างก็ไม่เข้าใจความหลากหลายและแตกแยกของกระบวนการคอมมิวนิสต์ ซึ่งเกินกว่าจะแก้ไขได้ก่อน 14 ตุลาแล้ว  


 


ข้อ 5. เหมือนข้อ 4 เหตุการณ์ 14 ตุลาคมและการจับกุมเป็นความบังเอิญหรือประจวบเหมาะที่มิใช่แผนการของผู้ใดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์หรือรัฐบาล หรือแม้แต่นักศึกษาต่างก็ไม่รู้ตัวล่วงหน้าว่าอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อใด ใครควรจะหลบหรือใครควรจะออกหน้า แต่เมื่อเกิดการจับกุมแล้ว รัฐบาลโดยจอมพลประภาสเป็นประธานประชุมที่มหาดไทยตอกย้ำที่จะต้องกวาดล้างภัยคอมมิวนิสต์ให้สิ้นซาก ถึงแม้จะสูญเสียนักศึกษาไปสักร้อยละสองก็คุ้มค่า ความข้อนี้ทำให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่นักศึกษาและผู้ปกครอง จนกระทั่งมีส่วนทำให้ เหตุการณ์ 14 ตุลาคมเกิดการจัดการและบริหารที่ดี เพื่อป้องกันตัว ทั้งๆที่ไม่มีแผนการหรือการวางแผนมาก่อน


 


ข้อ 6. ที่อ้างว่าผมเผยความลับกับมิตรของกระจ่างผู้เป็น "ผู้ใหญ่และรับผิดชอบบ้านเมือง"ว่าผมได้รับคำสั่งจากอาจารย์ป๋วยนั้นเป็นการโกหกอย่างบัดซบและหน้าด้าน


 


หลัง 14 ตุลาคมจนถึงวันที่เขาเขียนรายงาน ผมยุ่งแทบจะไม่มีเวลาหายใจเพราะต้องช่วยอาจารย์สัญญาทำงาน ผมไม่ใช่คนที่จะไปพูดหรือโม้เรื่องอะไรกับใคร โดยเฉพาะเรื่อง 14 ตุลาคม จริงอยู่อาจารย์ป๋วยเป็นบุคคลที่ผมเคารพนับถือ ผมกับอาจารย์ป๋วยพบและเขียนจดหมายถึงกันเสมอ แต่อาจารย์ป๋วยไม่เคยเป็นครูหรือนายของผมเลย อนึ่ง ความรู้เรื่องใต้ดินของอาจารย์ป๋วยหรือใครๆ ในยุคเสรีไทยย่อมพ้นสมัยและใช้ไม่ได้กับโครงสร้างในยุค 14 ตุลาคม 2516 โดยสิ้นเชิง เพราะเทคโนโลยี ประชากร และนคร(urban city) ทั่วโลกได้เปลี่ยนไปจนแทบจะหาร่องรอยเดิมไม่ได้ เหตุการณ์ 14 ตุลาคมมิใช่ urban unrest หรือ urban warfare แต่เป็น popular uprising ซึ่งบังเอิญเกิดขึ้นในนครหลวง เรื่องนี้  อย่าว่าแต่คอมมิวนิสต์ไทยจะงงเลย แม้แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ไม่เข้าใจและจัดการไม่เป็นเมื่อเกิดเหตุการณ์คล้ายคลึงกันขึ้นในปักกิ่งหลายปีต่อมา


 


ข้อ 7. โปรดย้อนไปอ่านข้อ 2 ตอน 3 และโปรดสังเกตว่าในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 พลเอกกฤษณ์ สีวะรา เข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกได้ 14 วันพอดี ภายหลังมีนักประวัติศาสตร์รายหนึ่งอ้าง พ.อ.ณรงค์ กิตติขจรว่า พลเอกกฤษณ์กับพวกอีก 5 คนเป็นผู้วางแผนการโค่นจอมพลถนอมและประภาส ตนจึงเสนอให้จับ เรื่องนี้จะต้องศึกษาวิเคราะห์อีกมาก ในปี 2517-18 ผมได้ร่วมงานและสนทนากับพลเอกกฤษณ์หลายครั้ง


 


พลเอกกฤษณ์กล่าวว่า "(เจ้านาย) เขาหาว่าผมทรยศ แต่ผมสาบานได้ว่าผมไม่เคยทรยศ"


 


อย่างไรก็ตาม พลเอกกฤษณ์ไม่ยอมสั่งให้กองทัพบดขยี้นักศึกษา


 


ข้อ 8. นี่คือกระบวนการและวิธีการปั้นข่าวเพื่อนำไปใช้เป็นข้ออ้างของผู้มีอำนาจและลูกสมุน นี่คือคำสารภาพของบุคคลผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งได้นำวิธีการดังกล่าวมาใช้อีกครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การโกหกว่ามีทหารเวียดนามและอาวุธสงครามจำนวนมากในธรรมศาสตร์ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519


 


ข้อ 9. โปรดอ่านข้อ 8. เพื่อจะได้จดจำว่าในอดีตการค้าขายอาวุธสงครามเป็นอภิสิทธิและทางหากินของทหารการเมืองกลุ่มหนึ่ง ปัจจุบันนี้จะยังมีอยู่หรือไม่เป็นหน้าที่ของสังคมจะต้องจับตาดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้บริบทของความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้


 


ข้อ 10. ผมไม่ทราบว่ากระจ่างรายงานเรื่องพลตรีสายหยุด (เกิดผล) ทำไม หรือเพื่อจะหยุดยั้งสายหยุด สายหยุดเป็นนักต่อสู้คอมมิวนิสต์สายพิราบ แต่อเมริกันก็ยกย่องสายหยุดจนคนอื่นหมั่นไส้  กระจ่างจะมีความขัดแย้งหรือสัมพันธ์กับคุณสายหยุดอย่างไรผมไม่แจ้ง แต่วิธีเขียนอย่างนี้ไม่เป็นคุณต่อพลตรีสายหยุด ซ้ำยังยังเขียนอย่างกำกวม  เช่นบอกว่าตั้งแต่นั้นมาเขาก็ถูกปล่อยเกาะ ไม่ให้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์สำคัญอีก ข้อเท็จจริงก็คือตั้งแต่วันที่พลตรีสายหยุดรับอาสาเจรจากับนักศึกษาจนถึงวันที่เขียนรายงานนั้นเป็นเวลาเพียง 15 วัน คงยังไม่ทันที่เขาจะถูกปล่อยเกาะ มีแต่จอมพลประภาสกับครอบครัวเท่านั้นที่ต้องไปอยู่เกาะไต้หวัน  วิธีเขียนอย่างนี้ทำให้เห็นมาตรฐานและตัวตนของนักสืบราชการลับได้ดีขึ้น


 


ข้อ 11. นี่ก็คือการรายงานอย่างกำกวมและสับสนในเชิงวิเคราะห์ตามแบบของผู้เขียน  เพราะผู้เขียนไม่ทราบหรือไม่ต้องการชี้ชัดว่า จอมพลถนอมและจอมพลประภาสต้องยอมออกนอกประเทศด้วยเหตุใด และได้ตัดสินใจในตอนไหน มีเงื่อนไขอะไรบ้าง ความสำคัญของกองทัพ ท่าทีของพลเอกกฤษณ์ หรือบรมราชโองการของในหลวง มีความเกี่ยวเนื่องและมีผลอย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องที่นักประวัติศาสตร์และนักวิชาการที่เป็นกลางสมควรจะศึกษา พล.ท.จำเป็น จารุเสถียร พี่ชายต่างมารดาของจอมพลประภาสเป็นผู้นำพระราชกระแสไปแจ้งแก่ 2 จอมพล บัดนี้ทุกคนหาชีวิตไม่แล้ว แต่ผมเชื่อว่ามีบันทึกและบุคคลซึ่งได้รับถ่ายทอดเรื่องราวโดยตรงอยู่กลุ่มหนึ่ง


 


ข้อ 12. เสกสรร (ประเสริฐกุล) เป็นลูกศิษย์รุ่นสุดท้ายของผมที่ธรรมศาสตร์ เขาเรียนเก่งและเฉลียวฉลาด  ที่เรียนจบช้าเพราะได้ทุนเอเอฟเอสไปเรียนอเมริกา (ไม่ใช่รัสเซีย) 1 ปี


 


ที่ว่าเขาเป็นผู้เสนอมิให้นักศึกษาประนีประนอมกับรัฐบาลนั้นไม่มีมูลความจริง ในคืนวันที่ 14 ตุลาคม เขาเป็นผู้ประกาศสลายการชุมชุม เข้าเฝ้าในหลวงแล้วหนีกลับไปนอน ที่บ้านฝั่งธนเชิงสะพานซังฮี้  เขาอ่อนเพลียอดนอนมาหลายวัน  สำหรับความสัมพันธ์และบทบาทของนักเรียนอาชีวะเป็นเรื่องลึกซึ้ง และจะต้องศึกษากันต่อไป กระจ่างมีทัศนะเหยียดหยามนักศึกษาช่างกล อ้างว่า "สังคมเห็นว่าเป็นพวกนักเลงในคราบนักศึกษา" น่าเสียดายที่บุคคลที่มีทัศนะคล้ายกระจ่างประสบความสำเร็จในการตอกลิ่มให้นักเรียนอาชีวะศึกษาแตกกับนักศึกษามหาวิทยาลัย


 


การต่อสู้ที่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดการนองเลือดนั้นมีหลายอย่างและหลายข้อสันนิษฐาน อย่างใดจะถูกมากหรือน้อยกว่าย่อมขึ้นอยู่กับข้อมูลข้อเท็จจริง แต่ที่แน่ๆ และสรุปได้เลยก็คือ การนองเลือดมิได้ก่อโดยนักศึกษาไม่ว่าจะเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยหรืออาชีวะก็ตาม


 


ข้อ 13. รัฐบาลสัญญาเพิ่งอยู่ในตำแหน่งได้ไม่ถึงครึ่งเดือน กระจ่างพูดได้อย่างไรว่ารัฐบาลไม่เห็นทำอะไรเลยหรือไร้ความเด็ดขาด เป็นไปได้ไหมว่ารัฐบาลสัญญาต้องอ่อนแอลงกว่าที่ควรเพราะการขัดขวางจากคณะบุคคลที่มีทัศนะอย่างกระจ่าง


 


ข้อ 14. ข้อมูลของกระจ่างผิด และเหตุผลของกระจ่างอ่อน เขาจึงเกรงกลัวองค์กรคู่ขนานกับศูนย์กลางนิสิต นักเรียนอาชีวะ และคอมมิวนิสต์ แต่ข้อมูลและเหตุผลแบบนี้กระจายอยู่กับคนทั่วไปส่วนใหญ่ของเมืองไทย จึงเกิดพลังและความเข้มแข็งในเชิงพยากรณ์ สาเหตุที่ประชาธิปไตยไม่เติบโตก็เพราะความคิดอย่างนี้เป็นเครื่องค้ำจุนระบบรวบศูนย์รวมอำนาจแบบ monocentric

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net