Skip to main content
sharethis


หลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ถึง 4 ครั้งในรอบปี ได้เกิดโครงการขนาดใหญ่ของรัฐผุดตามมาอย่างรีบเร่ง ท่ามกลางความกังขาของภาคประชาชน จนต้องออกมาระดมความคิดกัน เพื่อถกปัญหาและหาทางแก้น้ำท่วมบริเวณแอ่งเชียงใหม่-ลำพูนแบบบูรณาการ ขึ้นที่ห้องประชุม สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยย้ำต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม


 


คนต้นน้ำโวยภาครัฐไม่เร่งฟื้นฟูความเสียหายหลังน้ำท่วม


นายสุนทร เทียนแก้ว ผู้ใหญ่บ้านแม่ป๋าม ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของตน ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากพอสมควร ฝายกั้นน้ำป๋ามพังพัดเอาต้นไม้และก้อนหินดินทรายเข้าไปกองอยู่เต็มทุ่งนา รวมไปถึงสวนผลไม้จำพวกส้มโอ มะม่วง ลำไย ได้รับความเสียหายไปหลายพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านต้องกลับมานับหนึ่งกันใหม่ พยายามหาทางแก้ไข แต่จนบัดนี้ ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากภาครัฐอย่างจริงจัง


 


"ตอนนี้ กำลังหาทางระดมชาวบ้านช่วยกันเก็บเศษหิน ต้นไม้ที่โค่นล้มถูกน้ำพัดไปกองในที่นาเพื่อฟื้นฟูกันใหม่ จึงอยากขอให้ภาครัฐเร่งเข้าช่วยเหลือในด้านการส่งเสริมอาชีพให้แก่ชาวบ้านด้วย เพราะว่านาข้าวหลายพื้นที่เสียหายหมด" นายสุนทร กล่าว


 


ส่วน นายปุ้ย หอมผล ผู้ใหญ่บ้านป่าเลา ต.แม่หอพระ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ กล่าวถึง กรณีอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจุ๋มแตกเมื่อช่วงน้ำท่วมใหญ่ครั้งที่ผ่านมา ว่า สาเหตุมาจากโครงสร้างของอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน ได้ทำสปริงเวย์สูง และสันเขื่อนต่ำ พอปริมาณในอ่างมากเกิน จึงระบายไม่ทัน จึงแตกและไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตรเสียหายไป 60 กว่าไร่


 


"การแก้ไขปัญหาหลังอ่างเก็บน้ำแตก มีเพียงมีการแจกถุงยังชีพเพียงเท่านั้น และเมื่อผ่านไปตั้งนานแล้ว ทุกฝ่ายยังไม่ดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น แต่กลับมีการโยนปัญหากันไปมา ระหว่าง อบต. อบจ. และกรมชลประทาน จนถึงขณะนี้ ยังไม่ได้รับการแก้ไข" ผู้ใหญ่บ้านป่าเลา กล่าว



คนเมืองเชียงใหม่ ชี้สาเหตุมาจากถมที่ดินริมฝั่งน้ำปิง สร้างตึก ทับทางระบายน้ำเดิม


นางวรวิมล ชัยรัต ตัวแทนชาวบ้านเขตเมือง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จริงๆ แล้ว ในตัวเมืองเชียงใหม่ในอดีต ก็เคยเกิดน้ำท่วมมาก่อนในหลายๆ พื้นที่ แต่ไม่เคยรู้สึกเดือดร้อน เพราะถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา และชาวบ้านในสมัยก่อนจะรู้และเข้าใจธรรมชาติของน้ำ โดยจะปลูกบ้านไม้ยกพื้น ใต้ถุนสูง พอน้ำท่วมน้ำนอง ก็ขนสิ่งของขึ้นไปอยู่ข้างบนบ้าน มีเรือไว้ใช้ในยามน้ำท่วม


แต่ปัจจุบัน จะเห็นว่ามีการสร้างบ้านสร้างตึกติดพื้น ซึ่งทำให้น้ำไม่มีช่องทางที่ระบายไหลออกไป จึงทำให้น้ำท่วม


"อีกทั้งยังมีการบุกรุกเข้าไปยึดเอาที่ดินที่งอก และยังเข้าไปถมที่ยื่นออกไปในแม่น้ำปิง จนทำให้แม่น้ำปิงแคบลง และทางระบายน้ำ หรือที่เรียกว่าแก้มลิงนั้น เมื่อก่อนนั้นเคยมี แต่ตอนนี้มันหายไป จึงเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ แม้กระทั่งบริเวณกาดดอกไม้ หรือกาดหลวง เมื่อก่อนพื้นที่ตรงนั้นเคยเป็นแม่น้ำปิง ต่อมามีการเวนคืนโดยอ้างว่าเพื่อใช้เป็นที่สาธารณะ แต่ปรากฏว่าตอนนี้กลายเป็นลานจอดรถ นี่เป็นบางตัวอย่าง และอยากถามว่า ประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐนั้นหายไปไหน" นางวรวิมล กล่าว


 


นางวรวิมล เสนอทางออกกับปัญหานี้ว่า ต้องระดมความคิดเห็นจากหลายๆ ฝ่าย หลายๆ หน่วยงาน พูดและยอมรับความจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน และจะต้องลงมือแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่อง อีกทั้งการแก้ปัญหานี้ จะต้องใช้เงินงบประมาณอย่างคุ้มค่าและมีความโปร่งใส


 


ด้าน ดร.ดวงจันทร์ เจริญเมือง โครงการเมืองยั่งยืน สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ความจริง เคยมีการพูดถึงปัญหาน้ำท่วมเชียงใหม่มานานแล้ว แต่ไม่ค่อยมีใครมองว่าเป็นปัญหา และเพิ่งจะมาพูดถึงกันในปีนี้ ซึ่งสาเหตุหนึ่งของการเกิดน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ ก็เพราะว่า การถมหนองน้ำสาธารณะ โดยเฉพาะหนองบัวเจ็ดกอ ซึ่งถือว่าเป็นชัยมงคลของเมืองเชียงใหม่ และเป็นพื้นที่แก้มลิง แต่ปัจจุบันมันหายไปหมด แต่กลับมีการสร้างตึกคอนกรีตแทนบ้านไม้ยกสูงเหมือนในอดีต จนเป็นสาเหตุหนึ่ง ทำให้เกิดการกีดขวางทางน้ำ จึงทำให้เกิดน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่


 


คนสารภี โวยเทศบาล ชม.ปล่อยน้ำเน่าลงลำเหมืองพญาคำ


ด้านนายสมบูรณ์ บุญชู รองประธานเหมืองฝายพญาคำ ตัวแทนชาวบ้าน อ.สารภี กล่าวว่า น้ำท่วมครั้งนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในเขต อ.สารภี อยากหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะหลังน้ำท่วม พบว่า มีการปล่อยน้ำเน่าจากบริเวณสถานีรถไฟ ตลาดสันป่าข่อย ลงไปในลำเหมืองพญาคำ ซึ่งเป็นลำเหมืองที่คนสารภีและคนลำพูนใช้น้ำกันอยู่ และมองว่าถ้ายังไม่มีการแก้ไขตรงจุดนี้ เชื่อว่าภายใน 2 ปี น้ำในลำเหมืองนี้จะต้องกลายเป็นน้ำเน่า หากเป็นเช่นนั้น คงต้องมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากเทศบาลนครเชียงใหม่อย่างแน่นอน


 


"ที่ผ่านมา จะเห็นว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมเชียงใหม่ ทำให้เกิดโครงการรัฐหลายๆ โครงการเกิดขึ้น โดยที่รัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจฝ่ายเดียว ไม่ได้ยอมฟังเสียงของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้น จึงอยากให้ทุกฝ่ายทุกหน่วยงาน ได้เดินสำรวจดูพื้นที่เกิดน้ำท่วมให้ทั่ว ก่อนจะมาวางแผน และลงมือแก้ไขปัญหาร่วมกัน" นายสมบูรณ์ กล่าว


 


ชี้รัฐมุ่งจัดการน้ำเพื่อภาคอุตสาหกรรม


ในขณะที่ นายนิคม พุทธา โครงการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน กล่าวว่า จะเห็นว่า การแก้ไขปัญหาของภาครัฐยังคงละเลยสิ่งดีๆ ที่เป็นต้นทุน ได้แก่ ความรู้และฐานข้อมูล ซึ่งหน่วยงานรัฐไม่ได้นำไปใช้ ดังนั้น จึงอยากให้มีการตั้งคณะกรรมการในการจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ไม่ใช่เพียงแค่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีการจัดการน้ำอย่างเสมอภาค ทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงภาคชุมชนเมือง เพราะที่ผ่านมา การจัดการน้ำในภาคเกษตร ภาคประชาชนที่ภาครัฐดำเนินการอยู่นั้น เป็นเพียงข้ออ้าง แต่ว่าจริงๆ แล้ว รูปแบบ วิธีการการจัดน้ำนั้นไปตอบสนองในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการมากกว่า


 


ย้ำต้องใช้ฐานความรู้เดิม พัฒนากลไกรัฐ ทำแผนจัดการน้ำแบบบูรณาการ


นายนิคม เสนอทางออกว่า การจัดการน้ำจะต้องมีฐานข้อมูล มีความรู้ มีความละเอียดรอบคอบในทุกๆ ด้าน ซึ่งฐานข้อมูลความรู้พวกนี้ จะอยู่ที่องค์กรชาวบ้านที่มีจัดการเรื่องน้ำ เรื่องเหมืองฝาย นอกจากนั้น จะอยู่ที่กลุ่มนักวิชาการที่ทำการศึกษาในเรื่องนี้ รวมไปถึงการดึงฐานข้อมูลจากองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานทำการศึกษาในเรื่องดังกล่าวโดยตรง


 


นอกจากนั้น อยากจะเสนอให้มีการพัฒนากลไกในการจัดการน้ำทั้งของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นสำนักผังเมือง กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรน้ำ กรมที่ดิน กรมป่าไม้ หรือ กรมอุทยานฯ รวมไปถึงการพัฒนาโครงสร้างของคณะทำงานในการจัดการน้ำซึ่งมีภาคประชาชนเข้าไปเป็นคณะกรรมการร่วมในการจัดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เช่น อาจแยกคณะทำงานกันแต่ละชุด เช่น คณะกรรมการในเขตเมือง เขตลุ่มน้ำสาขา ลำคลองหนองบึง หรือในเขตบริเวณพื้นที่ป่า


 


"ที่ผ่านมา ยังไม่เคยเห็นแผนการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำกันเลย มีเพียงแค่ ทางกรมชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำ ได้ใช้พื้นที่ในเขตเชียงใหม่ แต่ไปเอาแผนการจัดการน้ำที่ว่าจ้างบริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด เข้ามาสอดแทรกในการดำเนินการสร้างเขื่อนและการผันน้ำเท่านั้น โดยที่ทางจังหวัดไม่เคยมีแผนของตัวเองแต่อย่างใด" นายนิคม กล่าว


 


ชี้รัฐผุดโครงการมุ่งแต่งบประมาณ แต่ไม่คำนึงถึงมิติสังคมและวัฒนธรรม


นายนิคม ยังกล่าวถึง กรณีเกิดโครงการของรัฐผุดขึ้นมามากมายหลังน้ำท่วมเชียงใหม่ ว่า เป็นการแก้ไขปัญหาโดยใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก และใช้โครงสร้างทางวิศวะ แต่ไม่มีมิติทางสังคมและวัฒนธรรม เราอยากเห็นแผนการศึกษาเกี่ยวกับการถือครองพื้นที่ป่าที่เหลืออย่างไร การควบคุมการใช้ประโยชน์จากที่ดิน จะจัดการกับแม่น้ำคู คลองอย่างไร จัดการแก้ปัญหาในเขตเมืองอย่างไร ซึ่งหากเราไม่ได้ทำการศึกษาให้รอบคอบ ก็อาจจะเกิดการสูญเสียอย่างใหญ่หลวง


 


โวยรัฐเมินข้อเสนอของ อนุกรรมการฯ ลุ่มน้ำปิง


นายนิคม ยังหยิบยก กรณีที่มีการแต่งตั้ง อนุกรรมการการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิง ขึ้นมาว่า เกิดขึ้นหลังจากมีการเอา เขตพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ปิง เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำนำร่องตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ.2546 สมัยนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เสนอให้มีการจัดการและฟื้นฟูลุ่มน้ำแม่ปิง ซึ่งกรอบความคิดในการจัดการ นั้นควบคุมไปถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม


 


แต่ว่า ข้อมูลและกลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การระดมความคิดเห็นที่ได้มีการประชุมสัมมนากันหลายครั้งที่ผ่านมา ไม่ได้ถูกนำมาใช้ มีเพียงแค่การหยิบยกเอาข้อมูลที่บริษัทที่ปรึกษา เพราะฉะนั้น จึงกลายเป็นว่า อนุกรรมการชุดดังกล่าว จึงดูไม่มีความหมาย


 


"เพราะฉะนั้น จำต้องมีการวางแผนการจัดการน้ำเพื่ออนาคต ซึ่งมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาและวางแผนกันอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เฉพาะเรื่องเป็นรายๆ ไป เหมือนในขณะนี้" นายนิคม กล่าวทิ้งท้าย


 


 


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net