Skip to main content
sharethis

เนื่องจากในวันอังคารที่ 27 กันยายน 2548 วุฒิสภาได้กำหนดเรื่อง การคัดเลือก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ไว้ในวาระการประชุม ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่การลงคะแนนเลือก ว่าที่ 7 กสช.


 


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) เห็นความจำเป็นที่ต้องมี กสช. เกิดขึ้นโดยเร็ววันเพื่อมาทำหน้าที่ปฏิรูปกิจการวิทยุ-โทรทัศน์ให้มีระบบที่โปร่งใสเป็นธรรมเพื่อบริการสาธารณะและประชาชนแทน


 


อย่างไรก็ตามจากการทำงานติตามตรวจสอบกระบวนการสรรหา กสช. มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 - 2548 เหตุการณ์หลายอย่างทำให้เราหมดความศรัทธาและเชื่อมั่นว่า กระบวนการสรรหา กสช. ดังกล่าวนั้นจะเป็นความหวังของประชาชนได้อย่างแท้จริง เพราะกระบวนการสรรหา กสช. ที่ผ่านมาเต็มไปด้วยข้อครหามากมาย ทั้งขัดกับหลักกฎหมาย และเจตนารมณ์เรื่อง การมีส่วนได้ส่วนเสียมีผลประโยชน์ทับซ้อนทางธุรกิจในวงการวิทยุ-โทรทัศน์  นับตั้งแต่ตัวคณะกรรมการสรรหาฯ  และผู้สมัคร "ตัวเก็ง" ที่ผ่านเข้ารอบอย่างโดดเด่นทั้งสองครั้ง


 


ทั้งนี้การสรรหาครั้งแรกที่ต้องเป็นโมฆะ เนื่องเพราะคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในประเด็นเรื่อง คณะกรรมการสรรหามีสภาพความไม่เป็นกลางอย่างร้ายแรง ส่งผลให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้สมัครรายอื่น


 


ความผิดพลาดจาการสรรหาครั้งแรกมีความร้ายแรงมากพออยู่แล้ว เพราะทำให้กระบวนสรรหาล่าช้าไปถึง 3 ปี แต่ปรากฏว่ามีความผิดพลาดที่ร้ายแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อคณะกรรมการสรรหาชุดเดิมกว่าครึ่งหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการทำผิดกฎหมายปกครองยังอยู่เป็นกรรมการสรรหา ไม่ยอมลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ แต่กลับเดินหน้าสรรหาครั้งใหม่แต่ใช้กระบวนการแบบเก่า จนสะท้อนให้เห็นถึงความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิม  เนื่องเพราะมีผู้สมัครที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมได้ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลปกครองอีกครั้งหนึ่งแล้ว


 


ยิ่งไปกว่านั้น ว่าที่ กสช. ทั้ง 14 รายชื่อที่ คณะกรรมการสรรหาทั้งหมด ส่งให้วุฒิสภาเลือกคราวนี้นั้น ยังเต็มไปด้วยข้อครหา และทั้งเรื่องคุณสมบัติส่วนตัว เรื่องการมีส่วนได้ส่วนเสีย หรือ ผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องธุรกิจวิทยุ-โทรทัศน์   ที่ไม่อาจเป็นหลักประกันได้ว่า ว่าที่ กสช. เหล่านั้นจะทำหน้าที่อย่างเที่ยงธรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะมากกว่าเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง


 


โดยสรุป จากกระบวนการสรรหาที่ผ่านมา และ ผลการสรรหา 14 รายชื่อปัจจุบันนั้น สะท้อนให้เห็นภาวะความเสี่ยงของสังคมไทยว่า แม้เราจะมี กสช. เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ แต่ กสช. ดังกล่าวย่อมไม่เป็นความหวังที่จะนำไปสู่การปฏิรูปสื่อในสังคมไทยได้เลย แต่ในทางตรงกันข้าม อาจเป็นเพียงการหนีเสือปะจระเข้ เพราะ กสช.มีอำนาจเต็มที่ในการบริหาร กิจการวิทยุ- โทรทัศน์  ถ้าเราให้อำนาจกับ ว่าที่ กสช. ที่มีความใกล้ชิด กับอำนาจรัฐและกลุ่มทุน  เราก็จะไม่มีความหวังอันใดที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลง โครงสร้างสื่อวิทยุ - โทรทัศน์ให้เป็นอิสระได้


 


ดังนั้น คปส. ขอเรียกร้องให้ สมาชิกวุฒิสภา ชุดปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระในอีกไม่นานได้แสดงจุดยืนครั้งสำคัญ และ ตัดสินใจในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด ด้วยข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้


 


1.           สมาชิกวุฒิสภาควรให้เวลากับการพิจารณากระบวนการสรรหา กสช. ที่ผ่านมาว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาย้อนหลัง เหมือนเช่น กรณี ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน


2.          สมาชิกวุฒิสภา ควรเปิดเผย ประวัติ ว่าที่ กสช. ทั้งหมดที่ตรวจสอบมาอย่างละเอียดต่อสาธารณะ อีกทั้งใช้เป็นประเด็นหลักในการพิจารณาว่าสมควร รับหลักการในการเลือก 7 คนหรือไม่ ถ้าพบว่า รายชื่อส่วนใหญ่ ขาดคุณสมบัติที่จะเป็น กสช.


3.          ถ้าสมาชิกวุฒิสภาพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่า รายชื่อผู้สมัครส่วนใหญ่ขาดคุณสมบัติทีเหมาะสมเพียงพอในการเลือก ขอให้ วุฒิสภาตัดสินใจไม่เลือก แต่ให้ส่งคืนให้มีการเลือกสรรคณะกรรมการสรรหาชุดใหม่ทั้งหมด


 


เพื่อให้มีหลักประกันว่า สังคมไทยจะมี กสช. 7 คนที่เป็นอิสระ มีความกล้าหาญ และ ปราศจากการครอบงำจากอำนาจธุรกิจได้อย่างแท้จริง


 


คปส. เข้าใจดีว่า วุฒิสภามีความลำบากใจในการตัดสินใจครั้งนี้ เนื่องเพราะสังคมคาดหวังจะเห็น กสช. เกิดขึ้นในเร็ววัน เช่นเดียวกับ คปส. ที่ต้องการเห็น กสช. เกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่ปฏิรูปสื่อให้เป็นจริง


 


แต่ถ้าต้องเลือกระหว่างการมี กสช. ชุดนี้ทีมีปัญหาคาราคาซังตลอดมา และไม่สามารถนำไปสู่การปฏิรูปสื่อได้ เราขอเลือกแนวทางที่จะได้มาซึ่ง คณะกรรมการสรรหา กสช. ชุดใหม่ มากกว่า


 


 เพราะ กสช. ชุดแรกมีความสำคัญที่จะกำหนดทิศทางสื่อวิทยุ - โทรทัศน์ครั้งสำคัญในสังคมไทย และต้องเข้ามา แก้ปัญหาวิกฤติปัญหาเรื่องสื่อที่กำลังเผชิญกับการครอบงำของอำนาจรัฐและทุนอยู่ในปัจจุบัน


 


แต่การเลือก กสช. ในวันที่ 27 ก.ย. นี้


จะเป็นการติดสินใจที่นำพาสังคมไทยให้ต้องตกอยู่ใน


ภาวะ "หนีเสือปะจระเข้" อีกหรือไม่นั้น   


ถือเป็นเป็นความรับผิดชอบครั้งยิ่งใหญ่ของสมาชิกวุฒิสภา


ต่อการปฏิรูปสื่อ และ สังคมไทย


 


                                                                        คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net