Skip to main content
sharethis


นายกิตติพล โชติพิมาย นักวิชาการ 8 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ในกรอบความร่วมมือสาขาการพัฒนาตลาดเสรี ของแผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย (Indonesia - Malaysia - Thai Growth Triangle : IMT - GT) ในเรื่องการพัฒนาเขตโทรคมนาคมพิเศษ ซึ่งฝ่ายไทยเสนอให้ลดอัตราค่าบริการและให้มาตรฐานราคาเดียวกันนั้น อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากทางฝ่ายอินโดนีเซียแจ้งมาว่า เนื่องจากพื้นที่ IMT - GT ของอินโดนีเซียมีพื้นที่กว้างซึ่งครอบคลุมทั้งเกาะสุมาตรา ส่วนพื้นที่ของไทยกับมาเลเซียมีน้อยกว่า หากลดราคาให้มีมาตรฐานเดียวกันอาจทำให้ผู้ประกอบการขาดทุนได้


ทั้งนี้สภาธุรกิจ 3 ฝ่าย จะประชุมหารือในเรื่องนี้ในวันที่ 30 กันยายน - 2 ตุลาคม 2548 นี้ ที่เมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย โดยจะมีการเชิญตัวแทนภาคราชการเข้าร่วมประชุมด้วย


นายกิตติพล เปิดเผยต่อว่า อย่างไรก็ตามฝ่ายไทยก็คงท่าทีเดิมไว้ หากฝ่ายอินโดนีเซียไม่เห็นด้วยข้อเสนอนี้ก็ต้องตกไป นอกจากนี้ ในส่วนของฝ่ายราชการไทยเอง ก็มีการเปลี่ยนแปลงผู้รับผิดชอบด้วย จากเดิมที่มีนางสาวจีระภา จิตแสวง ที่ปรึกษากระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เนื่องจากกระทรวงฯ ต้องการปรับลดบทบาทในเรื่องนี้ลง


นายกิตติพล เปิดเผยอีกว่า ในวันที่ 16 - 17 กันยายน 2548 ที่จังหวัดตรัง ทางสภาธุรกิจIMT - GT ทั้ง 3 ฝ่ายจะมีการประชุมกันในกรอบความร่วมมือในสาขาการพัฒนาทรัพยกรมนุษย์ โดยฝ่ายไทยจะนำเสนอข้อเสนอใหม่ที่ได้จากการสัมมนาทิศทางใหม่ของแผนการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2548 ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ประกอบด้วย การเพิ่มพื้นที่ IMT - GT ให้ครบทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ การพัฒนาท่าเรือจังหวัดตรังให้เป็นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยว การนำเข้าหมอนวดแผนโบราณ และธุรกิจสปา เข้าไปในมาเลเซียและอินโดนีเซียให้มากขึ้น ให้ผู้รับเหมาก่อสร้าง วิศวกร รวมทั้งสถาปนิกไทย สามารถเข้าไปรับงานในมาเลเซียได้เพราะมีต้นทุนต่ำกว่า รวมทั้งผลกดันให้มาเลเซีย เปิดจุดตรวจสินค้าจุดเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพ่อค้า การเพิ่มจุดสังเกตุและป้ายสัญลักษณ์จราจรเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวในพื้นที่IMT - GT


นายกิตติพล เปิดเผยอีกว่า ส่วนในวันที่ 28 - 29 กันยายน 2548 ที่จังหวัดตรัง ทางกรมการขนส่งทางน้ำ กระทรวงคมนาคม ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะจัดประชุมเกี่ยวกับโครงการที่อยู่ภายแผนIMT - GT ซึ่งจะมีประเด็นหลักๆ ประกอบด้วย การเปิดเส้นทางเดินเรือ เฟอร์รี่ RORO ระหว่างเมื่อเมดาน ปีนังและตรัง ทั้งนี้ทางสภาธุรกิจของประเทศอินโดนีเซีย มีข้อตกลงเรื่องการเปิดเส้นทางเดินเรือสายดังกล่าวกับผู้ว่าราชการจังหวัดตรังแล้ว และจะมีการเปิดอย่างเป็นทางการภายในเดือนตุลาคม 2548


นอกจากนี้ยังจะหารือกันในประเด็นโครงการรองรับหลังจากการเปิดท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่รัฐบาลจะให้มีการก่อสร้าง ที่จังหวัดสตูล


ทั้งนี้ เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 15 กันยายน 2548 สภาธุรกิจชายแดนใต้ จัดประชุมเพิ่มขีดความสามารถทางการค้า (Business matching) ไทย-มาเลเซีย ภายใต้แผนงานพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย IMT-GT (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle) ณ โรงแรมลีการ์เด้น พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยให้นักธุรกิจไทย-มาเลเซียกว่า 70 คนมาพบกัน โดยมีการแบ่งกันเป็นประเภทกลุ่มสินค้าได้แก่ กลุ่ม 1 พืชผัก ผลไม้สด/บรรจุกระป๋อง และอาหารทะเล กลุ่ม 2 ยางพาราและไม้แปรรูป กลุ่ม 3 วัสดุก่อสร้าง/เครื่องสุขภัณฑ์ กลุ่ม 4 ผลิตภัณฑ์ พลาสติกและเซรามิก และในช่วงบ่ายเป็นการนำคณะนักธุรกิจไทย-มาเลเซียเข้าเยี่ยมชมโรงงานและห้องโชว์สินค้าในกลุ่มต่างๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net