Skip to main content
sharethis

       ส่งกงสุลบุกกลันตัน ตรวจสอบสัญชาติ 131 ชาวนราฯ อพยพ ทหารเผยได้ชื่อจากมาเลย์แล้ว ทั้งหมดเป็นชื่อปลอม "ผู้ว่าฯ นราธิวาส" เผยผู้ต้องหาป่วนใต้ค่าหัว 5 แสนอยู่ในกลุ่มด้วย "บัวแก้ว" เล่นข้อมูลเดิมยันพูโลล็อบบี้ UNHCR  


 


นายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรณีสำนักข่าวเบอร์นามาของมาเลเซีย เสนอข่าวประชาชนในจังหวัดปัตตานีและจังหวัดยะลา รวมตัวกันที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เตรียมอพยพเข้ารัฐเปรัก ของมาเลเซียนั้น เป็นเพียงข่าวลือ ขณะนี้กำลังตรวจสอบว่า เป็นการกระทำของกลุ่มใด


 


ส่งกงสุลสอบสัญชาติ131ผู้ขออพยพ


นายกันตธีร์ เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับชาวจังหวัดนราธิวาส 131 คน ที่อพยพเข้ารัฐกลันตัน รัฐบาลไทยจะส่งเจ้าหน้าที่กงสุลไปตรวจสอบสัญชาติ เนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่มีเอกสารประจำตัว ยังไม่สามารถยืนยันสัญชาติได้ ขณะนี้รัฐบาลยังไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า ทั้ง 131 คน ถือสัญชาติไทยทั้งหมดหรือไม่ แต่ทันทีที่ได้ข้อมูลว่าถือสัญชาติไทย รัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลือ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนมากกว่าภาพลักษณ์


นายกันตธีร์ เปิดเผยอีกว่า ข้อมูลล่าสุดที่ได้รับรายงานพบว่า การหลบหนีไปมาเลเซียของคนกลุ่มนี้ มาจากความพยายามของกลุ่มคนในต่างประเทศ ที่ต้องการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเพื่อนบ้าน ต้องการให้ไทยมีปัญหากับประชาคมโลก พยายามสร้างความหวาดกลัวความรุนแรงในภาคใต้


 


ได้ชื่อ131ผู้ขออพยพ


พ.อ.สิทธิ จันทร์สมบูรณ์ ผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจที่ 34 รับผิดชอบพื้นที่อำเภอสุไหงปาดี อำเภอระแงะ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รายชื่อชาวนราธิวาสที่เข้าไปขออพยพในมาเลเซียทั้ง 131 คนแล้ว แต่เอกสารเป็นภาษาท้องถิ่นมาเลเซีย ยากต่อการตรวจสอบ เบื้องต้นพบว่าแต่ละคนให้ที่อยู่ปลอมกับทางการมาเลเซีย เพราะตรวจสอบแล้วไม่พบที่อยู่ตามที่ระบุไว้


พ.อ.สิทธิ กล่าวว่า กำลังติดตามหาตัวญาติพี่น้องของผู้ที่หลบหนีไปมาเลเซีย เพื่อทำความเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ข่มขู่ และอาจจะเป็นการปล่อยข่าวของฝ่ายตรงข้าม ขณะนี้รัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างการประสานงาน นำตัวคนทั้งหมดกลับมาโดยเร็วที่สุด แต่การหาบ้านผู้หลบหนีทำได้ยาก เพราะส่วนใหญ่เป็นที่อยู่ปลอม


 


คนร้ายค่าหัว5แสนร่วมวงขออพยพ


นายประชา เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า นายฮามือเยาะ สะอุ หรือ ฮัมเยาะ สะอุ ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาข้อหาร่วมกันฆ่าเจ้าพนักงานและผู้อื่นโดย ไตร่ตรองไว้ก่อน มีค่าหัวตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศ 500,000 บาท เป็นหนึ่งในกลุ่มคนไทย 131 คน ที่อพยพไปขอลี้ภัยในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย


นายประชา เปิดเผยต่อไปว่า นายฮามือเยาะ ได้แจ้งนามสกุลปลอมกับทางมาเลเซียว่า ฮามือเยาะ บือรี เพื่อพรางตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงการต่างประเทศ ต้องเร่งรีบประสานกับมาเลเซียนำตัวผู้ต้องหารายนี้ มาดำเนินคดีในไทยโดยเร็ว


เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2548 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า กระทรวงการต่างประเทศยังไม่ได้ประสานงานกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เรื่องชาวนราธิวาส 131 คน เข้าไปขออพยพในมาเลเซีย เพราะเจ้าหน้าที่สำนักงานใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติยังสัมภาษณ์คนไทยกลุ่มนี้ไม่แล้วเสร็จ จึงยังไม่มีข้อสรุปใดๆ เกี่ยวกับสถานะของคนไทยกลุ่มนี้ โดยเฉพาะสถานการณ์เป็นผู้ลี้ภัย


นายสีหศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ข้อมูลที่ทางการไทยมีอยู่นั้น การเดินทางเข้ามาเลเซียของคนไทยกลุ่มนี้ มาจากความหวาดกลัวเรื่องความปลอดภัย ปัญหาทั้งหมดไม่ได้เกิดจากการใช้อำนาจรัฐ แต่เกิดจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ กรณีนี้ไม่เข้าข่ายผู้ลี้ภัย ขณะนี้ กำลังประสานงานผ่านช่องทางการทูต เพื่อให้ไทยกับมาเลเซียเข้าใจข้อเท็จจริงตรงกัน ซึ่งจะดำเนินควบคู่กันไปกับกระบวนการสอบสวนของมาเลเซียที่ยังไม่จบสิ้น


 


"บัวแก้ว"ย้ำประสานUNHCRฝีมือพูโล


"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีการเตรียมการล่วงหน้าโดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ข้อมูลที่เราได้รับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2548 มีผู้ก่อความไม่สงบ 10 คน เดินทางไปมาเลเซีย โดยให้ข้อมูลว่า จะเกิดเหตุร้ายแรงกับชาวไทยมุสลิมในจังหวัดนราธิวาส คนกลุ่มนี้ประสานให้กลุ่มพูโลช่วยดำเนินการด้านต่างประเทศด้วย" นายสีหศักดิ์ กล่าว


นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อมีเหตุการณ์ชาวนราธิวาส 131 คน เข้าไปในมาเลเซีย กลุ่มพูโลได้ติดต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ในสวิตเซอร์แลนด์ ข้อมูลเหล่านี้รัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซียพยายามตรวจสอบร่วมกัน ไทยกับมาเลเซียกังวลกับสิ่งที่กลุ่มนี้อ้างความไม่ปลอดภัยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาเลเซียจึงอยากทราบข้อเท็จจริงว่า สาเหตุที่คนไทยบางส่วนรู้สึกไม่ปลอดภัยมาจากอะไร


นายสีหศักดิ์ ยืนยันว่า ที่นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย พูดว่ารัฐบาลมาเลเซียควรให้ที่พักพิงกับกลุ่มผู้อพยพจากจังหวัดนราธิวาส เพราะมีคนไปถาม นายมหาเธร์จึงบอกว่าหากพิสูจน์แล้วว่า ผู้ขออพยพกลุ่มนี้เป็นผู้ลี้ภัยจริง มาเลเซียจะต้องพิจารณาให้ที่พักพิง ส่วนข้อเสนอให้จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เป็นเขตปกครองพิเศษนั้น นายมหาเธร์ไม่ได้พูด แต่ถูกตั้งคำถามจึงตอบว่า เคยแสดงความเห็นเรื่องนี้ไปแล้ว รัฐบาลไทยเองเแสดงท่าทีไปแล้วเช่นกัน ฉะนั้น เรื่องนี้จึงถือว่ายุติ


นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับคนไทยที่เข้าไปขออพยพในมาเลเซียนั้น ตรวจสอบไปแล้ว 69 คน โดย 68 คน ยังไม่ทราบว่ามาจากที่ใด ส่วนอีก 1 คน เป็นชาวอำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ทราบมาว่าสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เพียงสอบถามสารทุกข์สุขดิบว่า ต้องการอะไรบ้าง ส่วนการสัมภาษณ์เป็นหน้าที่ของมาเลเซีย ตอนนี้ไทยต้องการยุติปัญหาโดยเร็ว ทั้งนี้ กฎหมายมาเลเซียให้เวลาสอบสวนชาวนราธิวาสกลุ่มนี้ 14 วัน จากนั้น จึงจะเปิดให้ไทยร่วมตรวจสอบข้อมูลต่างๆ


ขณะเดียวกัน นายลิขิต ธีรเวคิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทย ได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้นักการเมืองฝ่ายค้านของมาเลเซีย ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ต้องการให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปกครองตนเอง โดยระบุว่า เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของไทย และนำสถานการณ์นี้ไปเล่นการเมืองในมาเลเซีย เป็นพฤติกรรมที่ไม่รับผิดชอบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมา


 


นักข่าวมาเลย์ยกพลบุกเข้านราฯ


วันเดียวกัน ที่สนามโรงเรียนบ้านกาหนัวะ หมู่ 5 ตำบลกาลิซา อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส มีการประกาศเจตนารมณ์ปฎิเสธการก่อความไม่สงบ และต่อต้านภัยโจรก่อการร้าย โดยมีผู้นำศาสนาในพื้นที่ และประชาชนเข้าร่วมกว่า 1,000 คน


เป็นที่น่าสังเกตว่า มีสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศมาร่วมทำข่าวจำนวนมาก โดยเฉพาะสื่อมวลชนจากมาเลเซีย ซึ่งเข้ามาประมาณ 20 คน จากสื่อทุกแขนง ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 มาเลเซีย กล่าวว่า ผู้สื่อข่าวมาเลเซียให้ความสนใจการอพยพของมุสลิมจากจังหวัดนราธิวาส จึงต้องการเข้ามาสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของมุสลิมในจังหวัดนราธิวาสว่า เป็นอย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net