Skip to main content
sharethis

พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวระหว่างการเข้าชี้แจง เกี่ยวกับการใช้อำนาจตาม พระราชกำหนด(พ.ร.ก.)การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และสถานการณ์ภาคใต้ ณ ปัจจุบัน ต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ทหาร วุฒิสภา วันนี้ (20 ก.ค.) ว่า การดำเนินการตาม พ.ร.ก.ดังกล่าว มีความจำเป็นเพื่อการกำหนดใช้ยุทธศาสตร์ทางกฎหมาย ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดการปัญหาสามจังหวัดภาคใต้


 


ทั้งนี้ พล.ต.อ.ชิดชัย ยืนยันต่อที่ประชุมว่า จะใช้มาตรการเพียงบางส่วน ใน พ.ร.ก เท่านั้น  ในส่วนที่เสริมการใช้อำนาจทางกฎหมายของเจ้าหน้าที่ เพราะที่ผ่านมาพบว่ามีการปล่อยปละละเลย เช่น การออกหมายจับแกนนำสำคัญ 54-57 คน แต่เมื่อเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่พบว่าแกนนำบางคนยังสามารถกลับมาทำให้ภรรยาตั้งท้องได้ การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์เมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมาจึงสั่งให้มีการเกาะติดพื้นที่มากขึ้น


 


โดย พ.ร.ก.ฉบับนี้ จะเสริมในเรื่องดังกล่าวเพื่อป้องกันและปราบปรามไม่ให้แกนนำในแต่ละพื้นที่ออกมาเคลื่อนไหว โดย พล.ต.อ.ชิดชัย ยืนยันว่าขณะนี้มีข้อมูลทางการทหารและรู้ตัวแกนนำตามหมู่บ้านต่างๆในพื้นที่แล้ว แต่คาดว่า เมื่อ มีการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้ จะทำให้แกนนำสำคัญ เริ่มเตรียมหลบหนี อย่างไรก็ตามได้มีมาตรการต่อเนื่องเตรียมรองรับไว้แล้ว


 


นอกจากนี้ พล.ต.อ.ชิดชัย ระบุว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ อย่างเดียวแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะต้นเหตุที่แท้จริงมาจากการเพาะเชื้อมุสลิมหัวรุนแรง และแนวคิดการแบ่งแยกดินแดนผ่านทางการศึกษา โดยระบุตัวอย่าง นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และ นักศึกษามหาวิทยาลัย


ราชภัฏยะลา ที่ถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีฐานเกี่ยวพันกับการก่อเหตุความรุนแรงในภาคใต้ เป็นครูสอนศาสนา(อุซตาส) ในโรงเรียนเด็กเล็กที่นับถือศาสนาอิสลาม(ตาดีกา) จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่ามีการปลูกฝังกันเรื่องอะไร


 


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า ปัญหาการศึกษา ถือเป็นเรื่องใหญ่ รัฐบาลจะปรับเรื่องของการศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นเชิงบูรณาการมากขึ้น เพราะการที่รัฐไม่ได้เข้าไปจำกัดการสอนเป็นการนำไปสู่การบิดเบือนทางศาสนาและประวัติศาสตร์จนทำให้ไม่ยอมรับความเป็นคนไทย


 


ส่วนจากนี้ไปจะสร้างระบบการศึกษามีความมั่นคงมากขึ้น โดยที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้อุดหนุนเงินไปแล้วหลายล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนธรรมวิทยา หรือโรงเรียน ปอเนาะอื่นๆ ในสามจังหวัดภาค


ใต้  คาดว่าน่าจะช่วยให้ปัญหาลดลงได้ แต่คงไม่ทั้งหมด เพราะเด็กบางคนถูกปลูกฝังความคิดเรื่องความรุนแรงและการแบ่งแยกดินแดนมานาน


 


"เมื่อเอามาแล้วเราจะดูแลเค้ายังไง เพื่อที่จะล้างสมอง เราคิดว่าเค้าเองส่วนหนึ่งก็เป็นความป่วยทางจิตที่ถูกอบรมมาอย่างนั้น แต่มีบางส่วนก็เชื่อว่าถอนตัวไม่ได้ เราไปหาข้อมูลพบว่า พวกนี้เหมือนพวกที่ติดยาเสพติด จนยากที่จะถอนตัว" พล.ต.อ.ชิดชัย กล่าวในที่ประชุม กมธ.


 


หลังการประชุมเสร็จสิ้น ผู้สื่อข่าวถามถึงความห่วงใยหลังพ.ร.ก.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ซึ่งทางคณะ กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เกรงว่า จะมีการใช้อำนาจทางปฏิบัติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย ซึ่งอาจขาดความเข้าใจจนทำให้ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุได้นั้น ทางรัฐบาลจะมีวิธีการควบคุมอย่างไร


 


พล.ต.อ.ชิดชัย ตอบปัดว่า เป็นเรื่องของอนาคตที่ต้องวางแนวทางกันต่อไป หากทาง กอส.มีความห่วงใยหรือใครมีอะไรก็ให้ส่งมา จะรับฟังทั้งหมด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net