Skip to main content
sharethis

 

 

 

 

 

 

 

 

สัมภาษณ์พิเศษ  "สมชาย ปรีชาศิลปกุล"  นักกฎหมายมหาชน ภาควิชานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ประชาไท          ความหมายของพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 คืออะไร

 

 

 

สมชาย             กฎหมายฉบับนี้  เป็นกฎหมายที่รองรับสถานการณ์ที่เร่งด่วนหรือฉุกเฉิน เทียบ เท่ากับกฎอัยการศึก แต่ พ.ร.ก.ฉบับนี้ เป็นการดึงอำนาจมายังฝ่ายทางการเมืองมากขึ้น เพราะแต่เดิมนั้นเป็นอำนาจของทหารในแง่ของการทำสงคราม 

 

 

 

ตัวกฎหมายฉบับนี้จะตั้งหน่วยหรือคล้ายๆ เป็นองค์กรเพื่อทำหน้าที่ในการบริหาร ในรูปของคณะ กรรมการขึ้นมา ซึ่งกรรมการชุดดังกล่าวมีความรับผิดชอบโดยตรง จะเป็นนักการเมืองและข้าราช การประจำเข้ามารับผิดชอบ ทั้งสายความมั่นคงคือ ทหารและสายปกครองคือ ฝ่ายพลเรือนมาผสมกัน ซึ่งหลักเกณฑ์ในองค์กรก็จะแตกต่างไปจากเดิม

 

 

 

แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนตั้งคำถามมากขึ้นก็คือ  ขอบเขตการใช้อำนาจของรัฐนั้น มีมากน้อยแค่ไหน  และจะมีการตรวจสอบได้อย่างไร อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่น่าเป็นห่วง

 

 

 

ช่วยอธิบายนิยามคำว่า "สถานการณ์ฉุกเฉิน"

 

 

 

คำว่า"สถานการณ์ฉุกเฉิน" ในกฎหมายฉบับนี้มีนิยามที่กว้างมาก ความหมายมีอยู่ว่า สถาน การณ์อันส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือภัยความมั่งคงของรัฐ โดยมีการแบ่งระดับเหตุการณ์เป็น 2 ระดับ ระดับแรก คือ สถานการณ์ฉุกเฉินแบบธรรมดา ระดับที่สอง คือสถานการณ์ฉุกเฉินแบบร้ายแรง โดยมีการใช้กำลังการใช้อาวุธ ซึ่งอำนาจทั้ง 2 ส่วนนี้ จะมีความแตกต่างกัน

 

 

 

สถานการณ์ฉุกเฉินแบบธรรมดา  จะมีอำนาจระดับหนึ่ง สถานการณ์ฉุกเฉินแบบร้ายแรง  อำนาจจะเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งอำนาจที่กลัวกันมากก็คือ การจับกุมสามารถควบคุมตัวได้ 7 วัน ซึ่งจะต้องเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินแบบร้ายแรงถึงจะสามารถใช้อำนาจนี้ได้ ถ้าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินแบบธรรมดา  อำนาจโดยกว้างๆ จะมีการจำกัดเพียงการห้ามออกนอกเคหสถาน การห้ามชุมนุม และในเรื่องการควบคุมสื่อ

 

 

 

กรณีมาตรา 17 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่  ไม่ต้องรับผิดทั้งคดีแพ่ง คดีอาญาและวินัย

 

 

 

การกระทำในลักษณะนี้  ค่อนข้างให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐมาก อาจจะทำอะไรที่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นการวางแผนไว้ล่วงหน้า ว่าถ้ามีข้อผิดพลาดไม่ต้องรับผิดชอบ การทำอย่างนี้เป็นวิธีการที่ป่าเถื่อนมากคือ ใช้อำนาจโดยไม่ต้องตรวจสอบไม่ต้องรับผิดชอบ  ถ้าอย่างนั้นใครที่ไหนก็พร้อมที่จะใช้อำนาจป่าเถื่อนนี้ได้

 

 

 

พอคาดเดาความคิดเบื้องหลังการออกพระราชกำหนดฉบับนี้

 

 

 

รัฐบาลชุดนี้  เชื่อว่า การใช้มาตรการด้วยการใช้กำลังเท่านั้น  จะเป็นวิธีการยุติเหตุการณ์ความรุนแรงภาคใต้ได้และต้องใช้วิธีการที่รวดเร็ว ฉับไวในการโต้ตอบ ซึ่งผมไม่เชื่อ เพราะว่า กฎอัยการศึกที่ผ่านมานั้น  ก็ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐค่อนข้างมากอยู่แล้ว  แต่ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า มันไร้น้ำยา ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า มีคนกลุ่มหนึ่งมาถล่มเมือง  โดยหน่วยข่าวกรองทำอะไรอยู่  อยู่ที่ไหนถึงไม่ทราบข่าวเลย ในความคิดของผมคือ  ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐในเรื่องภาคใต้ไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้ประชาชนได้ ขบวนการที่ทำอยู่ไม่ได้ทำเพื่อหวังจะเอาชนะใจคนในพื้นที่  ซึ่งคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยกับการกระทำเช่นนั้น และคนในพื้นที่ไม่ได้ให้ความร่วมมือแก่รัฐ  ยิ่งมีการระเบิด  แต่ไม่ได้ตรวจสอบว่าทำอะไรผิดพลาด ใช้แต่กำลัง  ยิ่งไม่ได้เรื่อง

 

 

 

คิดอย่างไรกับที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐกำลังเพิ่มดีกรีความรุนแรง

 

 

 

มีความเชื่อว่า  รัฐบาลปัจจุบันไม่สามารถใช้อำนาจป่าเถื่อนได้เหมือนสมัยก่อน เพราะกรณีภาคใต้นั้น  ได้ถูกหลายฝ่ายจับตามองเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นคนในสังคมไทย องค์กรอิสลามหรือต่างประเทศ ถ้าเกิดใช้ความรุนแรงขึ้น  อาจจะส่งผลเสียทางด้านภาพพจน์ได้ แต่จะใช้ความป่าเถื่อนคงไม่เกิดขึ้น  เพราะว่าสังคมไทยไปไกลกว่าที่จะต้องใช้อำนาจดิบๆ ได้  นี่เป็นความคิดที่อาจจะมองโลกในแง่ดีมากไป  แต่ก็อย่าไว้ใจ  เพราะอำนาจรัฐมักจะป่าเถื่อนเสมอ

 

 

 

กฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับก่อนหน้านี้ ออกเมื่อปี  2495 ซึ่งนานมากแล้ว

 

 

 

ใช่, นานมาก เมื่อสมัยก่อนจะมีกฎหมายส่วนมากจะมีอยู่ในประเภทคำสั่งคณะปฏิวัติ  โดยจะมีการควบคุมตัว  ไม่ได้เรียกว่าการจับกุม โดยไม่ต้องแจ้งข้อหา แต่สามารถขังได้นานเป็นปี ซึ่งก็เป็นปัญหา  ผมคิดว่า สถานการณ์กฎหมายอย่างนี้ไม่ได้เจอมานานมากแล้วและการที่รัฐหันกลับมาปัดฝุ่นกฎหมายชนิดนี้มองได้ว่า  รัฐบาลอ่อนแอมากจนไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ไม่มีน้ำยามากพอที่จะจัดการกับปัญหาเหล่านี้ และไม่น่าเชื่อว่า กลไกลรัฐในปัจจุบันน่าจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น  แต่กลับแย่ลง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวว่า เมื่อไม่มีประสิทธิภาพ  ก็เกิดการใช้กำลังป่าเถื่อนขึ้น  และทำให้อาการเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ คือ รัฐมีปืนมากขึ้น  แต่มีความแม่นยำน้อยลงและถ้าเกิดไปยิงสุ่มสี่สุ่มห้าก็ยิ่งจะทำให้เกิดปัญหา ชาวบ้านไม่อยากเข้าข้างรัฐ ถ้าเกิดไปยิงชาวบ้านที่บริสุทธิ์  แต่เขาพร้อมที่จะไปเข้าข้างอีกพวกหนึ่งก็ได้ ถ้าเลือกระหว่างคนเลวกับคนชั่ว  ชาวบ้านอาจขออยู่ข้างที่ไม่ยิงเราดีกว่า เป็นต้น

 

 

 

กรณีสื่อมวลชนได้รับผลกระทบของกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินโดยตรง

 

 

 

ถ้าประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จะมีผลต่อสื่อทันที  เช่น  เจ้าหน้าที่รัฐมีสิทธิที่จะสั่ง  ถ้าเกิดว่า มีการเผยแพร่ข้อมูลที่มีผลต่อความมั่นคงของชาติ  คำถามก็ว่า  ข้อมูลข่าวสารที่มีผลกระทบต่อภัยความมั่นคงของชาติเป็นข่าวประเภทไหน เช่น  หากมีเหตุการณ์ระเบิดขึ้นในพื้นที่จริง  และสื่อก็ได้เสนอข่าวแบบตรงไปตรงมา ถือว่ากระทบกับความมั่นคงหรือไม่ ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า  เป็นข่าวประเภทไหน แต่หากรัฐมีการตีความขึ้นมาเองว่า  ข่าวนั้นมีผลกระทบต่อความมั่นคง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากสำหรับเรื่องนี้

 

 

 

สิ่งที่สื่อต้องขบคิดคืออะไร

 

 

 

สื่อควรต้องตั้งคำถามกับสิ่งที่รัฐเขียนขึ้นมา เช่น การใช้อำนาจมาตรา 9 ของ พ.ร.ก. และอนุมาตรา 3 เรื่องการห้ามการนำเสนอข่าว การจำหน่ายทำให้แพร่หลาย  ซึ่งหนังสือพิมพ์หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความทำให้ประชาชนหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิด แต่ถ้าไปให้ข้อเท็จจริงทำได้หรือเปล่า ต้องมีความชัดเจนว่า การรายงานข่าวอย่างนี้โดนด้วยหรือเปล่า เพราะตัวกฎหมายมันไม่ได้จำกัดเฉพาะสื่อในพื้นที่ ซึ่งมีความเป็นห่วงว่า เมื่อมีการประกาศ พ.ร.ก. สื่อก็จะเลือกที่จะไม่เล่นข่าว ไม่เสนอข่าวซึ่งมันมีข้อจำกัดในการนำเสนอ โดยภาพรวม คือไม่อยากมีเรื่อง เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก ที่ผ่านมาจากสถานการณ์ภาคใต้เท่าที่เป็นอยู่ ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับส่วนใหญ่นั้น  รัฐออกมาชี้แจงแต่ฝ่ายเดียว  ไม่มีข่าวสารที่ได้จากชาวบ้านหรือแหล่งข่าวอื่นๆ เลย

 

 

 

สื่อมวลชนควรทำตัวอย่างไร

 

 

 

สื่อมวลชน ควรตระหนักในบทบาทของตนเอง และสิ่งที่สื่อต้องทำ  คือ  ต้องยืนยันที่จะเสนอข่าวต่อไป  ถึงแม้ว่า พ.ร.ก.ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีและคณะมากก็จริง  แต่อย่าลืมว่า รัฐธรรมนูญยังคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการเสนอข่าว ถ้าสื่อไหนที่เสนอข่าวตามความเป็นจริงให้สังคม  ไม่จำ เป็นต้องกลัวกับ พ.ร.ก.นี้ เพราะรัฐธรรมนูญใหญ่กว่า  ถ้า พ.ร.ก.มาจำกัดสิทธิ  ก็ต้องใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ยึดหลักรัฐธรรมนูญ

 

 

 

เพราะฉะนั้น  รัฐจะต้องอธิบายให้ได้ว่าการยกเว้นได้นั้น ยกเว้นขนาดไหน  หากสื่อเสนอข่าวตามข้อ

 

เท็จจริง  แต่ถูกเล่นงานด้วย ก็เท่ากับว่า การใช้ พ.ร.ก. นั้นเพื่อต้องการล้มทุกอย่าง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญ ก็เท่ากับว่า การใช้อำนาจซึ่งใช้คนไม่กี่คนสร้างขึ้นมาเพื่อล้มล้างหลักสำคัญของสังคม  ซึ่งเป็นไปไม่ได้

 

 

 

มีแนวทางใดบ้าง  ที่จะช่วยลดปัญหาหลังจากมีการออกพระราชกำหนด

 

 

 

หน้าด่านแรกคือ  สื่อ  อย่ายอมจำนน  ควรนำเสนอข่าวตามบทบาทตามความเป็นจริงต่อไป โดยไม่บิดเบือน รายงานตามสถานการณ์ที่เป็นจริง  อย่างน้อยก็เป็นพลังในการทัดทานได้ในการทำงานของรัฐ ส่วนในด้านอื่นนั้น  ตอนนี้ มีนักกฎหมายเสนอว่า  พระราชกำหนดอาจจะออกโดยไม่ชอบโดยรัฐธรรมนูญ  ควรจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าออกมาโดยฉาบฉวย แต่ว่าที่ผ่านมา  ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้เคยตีความพระราชกำหนดมาแล้วหลายฉบับ  แต่เอียงเข้าข้างรัฐบาลทุกครั้ง  เพราะฉะนั้น  จะต้องใช้พลังทางสังคมและทางสื่อ

 

 

 

 

 

กฎหมายฉบับนี้กระทบต่อระบบการทำงานของคณะกรรมการสมานฉันท์?

 

 

 

เป็นปัญหากระทบมากๆ  สำหรับการดำเนินการของคณะกรมการสมานฉันท์  ซึ่งมีเป้าหมายการทำงานในระยะยาว แต่รัฐประกาศมาตรการและใช้อำนาจเช่นนี้   ยิ่งจะสร้างความไม่เชื่อมั่นให้กับชาวบ้าน  อีกทั้งจะทำให้คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ  ไม่มีน้ำยาที่จะทำงานต่อไปได้ และเชื่อว่าการดำเนินการดังกล่าว  นอกจากจะสร้างความไม่เชื่อมั่นในระยะยาวแล้ว  ในขณะเดียวกัน  คุณก็เอาไม้ไล่ตีหัวชาวบ้าน  แล้วใครจะไปเชื่อ

 

 

 

มีข้อเสนอต่อบทบาทของ กอส.หรือไม่

 

 

 

ในความคิดเห็นของผม  ในเรื่องคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติว่า ยังจะทำงานอยู่ต่อไปหรือไม่นั้น  ถ้าจะทำงานต่อ  ก็จะต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนคนในพื้นที่นั้นเป็นสำคัญ และขอเสนอให้ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ลงไปประจำในพื้นที่ที่มีการออก พ.ร.ก. เพื่ออะไรหรือ  ก็เพื่อให้รับรู้ว่า  ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น  ก็จะได้สามารถอธิบายชี้แจงข้อมูลให้สังคมได้  ต้องทำอย่างนี้ ถ้าเกิดอยากทำงานอยู่ต่อไป  ถ้าไม่ทำอะไรเลยก็ไม่มีความหมาย

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net