Skip to main content
sharethis

วันวาน...ฝนชโลมดิน ลบรอยเท้าควายที่เคยเหยียบย่ำบนผืนนาให้เลือนหายไป พร้อมกับขังโคลนสีน้ำตาลขุ่นไว้เต็มปลัก หากแต่วันก่อน...รอยย่ำนั้นเหือดแห้งและไร้รูป ปรากฏเพียงร่องร้างของรถไถนา พร้อมกับคราบของยาและสารเคมี

จวบจนวันนี้...ฤดูกาลของความชุ่มฉ่ำกำลังจะกลับมา เพื่อชะล้างสารพิษที่อาบร่างแผ่นดิน ผืนน้ำ และต้นข้าว ให้กลับฟื้นคืนชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ณ โรงเรียนของพวกเขา....โรงเรียนชาวนา

ยิ่งทำยิ่งจน: โจทย์ก่อนเข้าโรงเรียนชาวนา

"เราอยากหาทางออกให้เพราะแต่เดิมชาวนาไม่มีทางออก ซึ่งเขาจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะทำหรือไม่ เพราะชาวนาที่สุพรรณบุรีถือว่าเขาเก่งที่สุด แต่ว่าทำนาไปก็เป็นหนี้สินทุกที ซึ่งเขามองว่าปัญหาอยู่ที่ตลาดไม่ใช่อยู่ที่การผลิต การมองแบบนี้จึงทำให้เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นแก้ไม่ไหวแก้ไม่ได้" เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวถึงชาวนาที่เขาคลุกคลีมานาน

เดชา ย้อนอดีตว่า "เราเคยไปทำโรงเรียนชาวนาทางอีสานมาก่อน พอมาถึงปี 2532 เราเริ่มมาทำเล็กๆ ที่ จ.สุพรรณบุรี ตั้งแต่นั้นก็เริ่มขยายผล ซึ่งเราพบว่า สำหรับปัจเจกสามารถทำได้แต่ว่าขยายผลไม่ออก ซึ่งที่จริงแล้วการเปลี่ยนจากใช้สารเคมีเป็นอินทรีย์นั้น ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและไม่มีปัญหาใดๆ แต่ชาวนามักนึกว่า ตลาดไม่ยอมรับข้าวอินทรีย์ โดยแท้จริงแล้วการทำเกษตรอินทรีย์กำไรดีกว่าเดิมเสียอีก

ขณะที่ นโยบายจากส่วนกลางไม่เอื้อ ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าทำ การเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา 16 ปียังมีน้อยมากในเชิงวัตถุ ยิ่งไปกว่านั้นความคิดของชาวนายังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ทั้งๆ ที่มีผู้บริโภคจำนวนมากกำลังรอผลผลิตของพวกเขาอยู่

เดชา พูดว่า "เราพบว่าการทำเกษตรแบบยั่งยืนนั้น สามารถแก้ปัญหาได้หลายอย่าง แต่กลับขยายตัวไม่ออก โดยเฉพาะที่สุพรรณบุรีนั้น ชาวนาที่นี่มีทิฐิต่างจากเกษตรกรทั่วไป ซึ่งจำเป็นว่าเขาต้องมองแบบองค์รวม เห็นคุณค่า ซึ่งจะนำความสงบสุข สามัคคี และยั่งยืนมาสู่พวกเขาได้ ตอนนี้พวกเขายังคิดแบบแยกส่วน ติดความทันสมัย และเน้นด้านวัตถุอยู่มาก"

นอกจากนี้ ประธานมูลนิธิข้าวขวัญยังบอกอีกว่า การที่ยังยืนยันความคิดแบบเกษตรยั่งยืนอยู่นั้น ก็เพราะตนมองว่าการเรียนรู้มีความแตกต่างกัน การที่จะให้เกิดการคิดนอกระบบเดิมได้นั้นต้องใช้ 2 กระบวนการควบคู่กันไป ได้แก่ กระบวนการเรียนรู้นอกเหนือจากกระแสหลักครอบงำ นั่นคือต้องเรียนรู้ของจริงจากธรรมชาติ รวมทั้งต้องมีการร่วมกันเรียน โดยมีการแลกเปลี่ยนเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เพราะบางคนคิดได้แต่ไม่กล้าเปลี่ยนเกรงว่าตนจะแตกต่างจากคนอื่น ทำให้ไม่กล้าทำ แต่ถ้าทำทั้งกลุ่มก็จะทำให้เขากล้าทำต่อไปได้

"เราพยายามหารูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างเครือข่ายเกษตรทางเลือก เรียนรู้และขยายตัวออกไป โดยมีผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้าน ซึ่งเกษตรกรยังมีลักษณะเป็นปัจเจกมาก และมีอิทธิพลจากภายนอกสูง จึงไม่ค่อยได้ผลนัก" ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าว

ทั้งนี้ ชาวนาจะแก้รูปแบบที่ใช้อยู่เดิมได้นั้นจะต้องครบวงจร นอกจาการใช้สารเคมีแล้ว ยังรวมไปถึงพันธุ์ข้าวซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาด้วย เพราะที่ผ่านมามีการคัดเลือกพันธุ์และผสมพันธุ์ที่จะได้ผลดีก็ต่อเมื่อใช้สารเคมี ซึ่งกระบวนการสุดท้ายจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงพันธุ์ข้าวด้วยจึงจะพบทางออกที่ยั่งยืนได้

"ตอนนี้เรื่องพันธุ์ข้าวยังไม่ได้นำมาใช้ในหลักสูตรโรงเรียนชาวนา แต่ตอนนี้มีหลักสูตรปรับปรุงดิน โดยให้ชาวนาเริ่มเลิกใช้ปุ๋ยเคมี ต่อมาต้องมีการเปลี่ยนพันธุ์ข้าว และเมื่อจบหลักสูตรแล้ว พวกเขาก็จะเป็นชาวนาปริญญา ที่สมบูรณ์แบบทั้งศักดิ์และศรี" เดชา กล่าวสรุป

โรงเรียนชาวนา เปรียบดังฤดูกาลใหม่ของการทำนา ซึ่งหลายคนเชื่อว่านี่คือหนทางเกษตรยั่งยืนและจะนำพาไปสู่ความสุขตามแบบฉบับชาวนาไทยได้ในวันข้างหน้า เป็นสิ่งที่หลายคนคิดแต่ยังไม่ได้ทำ ตรงข้ามกับน้อยคนที่กำลังคิดและได้ทำแล้วจริงๆ

โรงเรียนชาวนาจ.สุพรรณบุรี เปิดเทอมแล้ว!

"ตอนนี้แม่ธรณีของเรากำลังพิการ ผิวแห้งหยาบกร้านอันเนื่องมาจากปุ๋ยเคมี แม่คงคาก็คงกำลังพองเพราะสารพิษที่ไหลลงไป รวมถึงแม่โพสพก็กำลังเจ็บออดๆ แอดๆ เพราะเป็นโรค ส่วนลูกๆ ชาวนาจะช่วยแม่ได้อย่างไร" พี่นิพนธ์ คล้ายพุก นักเรียนโรงเรียนชาวนา ต.บ้านดอน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี กำลังรำพึงรำพันถึงสิ่งที่มีพระคุณอย่างสูงสำหรับพวกเขา

พี่นิพนธ์ยังเล่าต่อไปถึงเรื่องราวในโรงเรียนชาวนา ที่พวกเขาตัดสินใจเข้าเรียนด้วยด้วยความเต็มใจ ว่า "เราไปเรียนกันทุกวันศุกร์ เราย่อนาผืนใหญ่เอามาใส่กระถาง ลองเอาเมล็ดข้าวใส่ ดูว่ากี่วันจะเจริญเติบโต โดยมีการวัดระดับและจดสถิติเป็นประจำ"

นอกจากนี้ยังมีการฟื้นฟูวัฒนธรรม "พิธีแฮะนา" หรือพิธีแรกนาขวัญ โดยนำเยาวชนมาดูพิธี และเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ เพื่อเป็นการบอกเล่าแบบรุ่นต่อรุ่น เพราะพวกเขามองว่าตำราอยู่ในประสบ
การณ์ของตัวคน ซึ่งการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุดและยังแพร่ขยายไปสู่ชุมชนรอบข้าง และยังต้องสร้างพันธมิตรอีกด้วย

ด้านลุงไสว สุทธิวงศ์ วัย 62 ปี ชาวนาบ้านดอน เล่าว่า "ที่เข้ามาโรงเรียนชาวนาก็เพราะว่าผมฉีดยาเองไม่ค่อยไหว ตอนนี้ก็ยังมีการใช้ยาอยู่บ้างซึ่งเมื่อก่อนใส่ปุ๋ยเคมีมาก ก็เพิ่งเริ่มเข้ามาเรียนยังไม่เข้าที่เท่าไรนัก ที่ผ่านมาก็ได้ผลผลิตเท่าๆ เดิม แต่ตอนนี้ก็ประหยัดเงินดี ถ้าเราไม่มาเรียนก็ไม่รู้วิธี ผมมีที่นารวม 70 กว่าไร่ ยังทำเกษตรอินทรีย์ได้ 10 ไร่เศษเท่านั้น"

สำหรับพี่นคร แก้วพิลา นักเรียนโรงเรียนชาวนา อำเภอเมือง มองว่าตอนนี้ยังมีปัญหาอยู่บ้าง เนื่องจากนักเรียนมีกลุ่มน้อย และนาข้างเคียงก็ยังใส่ปุ๋ยมาก เล่าว่า "ฟางข้าวนาคนอื่นเขาเผาแล้วก็ลามเข้ามานาของเรา ส่วนการปล่อยน้ำเข้านาก็ยังมีปัญหาเพราะว่าต้องปล่อยน้ำพร้อมกับนาข้างๆ นอกจากนี้วัสดุทำปุ๋ยหมักยังหายากขึ้น เช่น แกลบ รำ มีราคาแพง แต่ข้าวเราก็ยังราคาถูกอยู่"

ปัญหาดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อนักเรียนชาวนาไม่สามารถทำตามสิ่งที่ได้ร่ำเรียนมาตามหลักสูตรได้ นั่นคือ การไม่เผาฟางและตอฟาง แต่จะมีการปล่อยให้น้ำขังและให้ตอซังและฟางค่อยๆ เน่าเปื่อย เพื่อเป็นการรักษาบำรุงหน้าดินให้มีความอุดมสมบูรณ์และมีชีวิต กลายเป็นสิ่งที่ยากสำหรับนักเรียนกลุ่มเล็กๆ เหล่านี้ เมื่อเจ้าของนาข้างเคียงไม่ได้ปฏิบัติแนวทางเดียวกับพวกเขา

นอกจากนี้ ลุงฉะอ้อน โสมสุดา นักเรียนโรงเรียนชาวนา บ้านหนองแจง ต.ไร่รถ อ.ดอนเจดีย์ ยังบอกอีกว่า "ตอนนี้มีสมาชิกหลักมีประมาณ 30 คน แต่เพื่อนมักไม่ค่อยมีเวลามาเรียน ยามเพื่อนไม่มาเราต่างก็รู้สึกใจหายเหมือนกัน ด้วยความเป็นห่วงเป็นใย ซึ่งตอนนี้ลุงและเพื่อนๆ โรงเรียนชาวนากำลังประสบปัญหาการขาดน้ำ กระบวนการต่างๆ จึงล่าช้า อีกทั้งเพื่อนๆก็ไม่ปฏิบัติตาม ลุงอยากให้เพื่อนๆ เชื่อมั่น เสียสละ รัก และใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการทำนาบนที่นาของตน"

ชาวนาหยุดรอน้ำฝนได้หรือยัง?

นอกจากนักเรียนชาวนา จ.สุพรรณบุรี จะต้องมีหน้าที่ไปเรียนและกลับมาทำนายังผืนนาแนวทดลองของตนเองแล้ว แต่ผู้ปกครองในพื้นที่โดยเฉพาะการเมืองระดับท้องถิ่นยังให้ความสนใจ และมองเห็นปัญหาที่ชาวนากำลังประสบอยู่ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ พี่ประทิว รัศมี นายกอบต.ตำบลวัดดาว อ.บางปลาม้า มองว่า "เกษตรกรของเราหลงทางมานาน ทำให้การเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ทำได้ลำบากขึ้น ซึ่งความจริง อบต.มีหน้าที่ดูแลโดยตรง ผมเห็นว่าคนชนบทเป็นคนมีเงินแต่ไม่ค่อยฉลาด และผู้บริหารก็ถือว่ามีส่วนสำคัญ หากหน่วยงานไม่เข้ามาและเงินก็เข้ามาไม่มากแล้วก็ทำให้งานขยายไม่ได้"

"อบต.ต้องเห็นความสำคัญและลงมาทำจึงจะสำเร็จได้ จะหวังพึ่งราชการส่วนกลางไม่ได้ เพราะเขามาอย่างฉาบฉวยสักวันก็ต้องออกไป เพียงมาเปิดลูกไว้เท่านั้น โดยเราต้องรู้จักโตและช่วยเหลือตนเองด้วย" นายก อบต.วัดดาว เสนอแนะ

อย่างไรก็ตาม พี่ประทิว เห็นว่าที่ติดอยู่ตอนนี้ก็คือยังต้องใช้เวลา เพราะว่าชาวนาถูกปลูกฝังเรื่องเกษตรเคมีมามากจนการทำนาเหมือนทำตามสัญชาติญาณไปแล้ว ซึ่งสิ่งที่จะทำได้ก็ต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่างจริงๆ สำหรับตอนนี้คนเริ่มมาแอบดูบ้างแล้ว เจ้าของนาข้างๆ ก็เริ่มหันมามอง ซึ่งหากมีชาวนาที่ทำจริงและกลุ่มเข้มแข็งเหนียวแน่นแล้วก็จะสามารถถ่ายทอดได้ดีที่สุด

แม้ว่าทางเลือกที่หลายส่วนพยายามสร้างให้กับชาวนาในขณะนี้ จะยังไม่ได้รับความสนใจมากนัก เพราะทั้งเบื้องบนและคนส่วนใหญ่ยังยึดติดกับเส้นทางสายเดิมอยู่

การช่วยกันแผ้วถางทางของบรรดานักเรียนชาวนาเหล่านี้ กำลังเปิดทางให้เพื่อนชาวนาและสังคมเริ่มมอง คงเหลือเพียงการตัดสินใจว่าละเลิกทางสายเก่า และหันมาเริ่มต้นกับทางสายใหม่นี้เมื่อไหร่เท่านั้น

ธิติกมล สุขเย็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net