Skip to main content
sharethis

(เรียบเรียงจาก ยุทธศาสตร์การพัฒนาทวิวิถี : ความสำเร็จและความล้มเหลว, เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2548 เรื่อง การปฏิรูปสังคมเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 : ความก้าวหน้าและความล้มเหลว จัดโดย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ )

ในระดับมโนทัศน์ (concept level) แล้ว ยุทธศาสตร์ทวิวิถีเริ่มต้นจากการวิจารณ์ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ไม่สมดุลว่า เกิดจากการพึ่งพิงยุทธวิธีสนับสนุนการส่งออก (Export Promotion) ที่เน้นการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) และพึ่งพิงการส่งออกสินค้าหัตถอุตสาหกรรม (mass manufacturing products) ทำให้เกิดสภาพที่เรียกว่าเป็นทวิลักษณะของสังคมไทย (Dualism) ก่อให้เกิดความแตกต่างขนานใหญ่ระหว่างเมืองกับชนบท ภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม ทำให้มีการกระจุกตัวของธุรกิจและการจัดสรรทุนให้แก่เมือง/ภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่ภาคชนบท/รากหญ้ากลับไร้การพัฒนาและยากจน

เป้าหมายของยุทธศาสตร์ทวิวิถี

1. ในระยะสั้นเพื่อกระตุ้นความเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจให้พ้นจากภาวะซบเซา (Under-utilization)
2. แก้ปัญหาทวิลักษณะของสังคมไทย เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้แก่ 2 ภาคเศรษฐกิจของสังคมให้มากขึ้น

หลักการสำคัญ

หันมาพึ่งอุปสงค์จากตลาดภายในประเทศมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพิงภาคต่างประเทศลง แต่ไม่ละเลยอุปสงค์จากภายนอก (การส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศ) ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าลักษณะเด่นของยุทธศาสตร์นี้ก็คือ ยุทธวิธีที่เน้นการเติบโตจากอุปสงค์ภายในประเทศหรือจากตลาดภายใน (Domestic Demand-Led Growth) โดยมี 2 เป้าหมายพร้อมๆ กันคือ 1) ยกระดับการบริโภคภายในประเทศเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะสั้น ผ่านการใช้จ่ายทางการคลังและการขยายสินเชื่อ 2) การปรับโครงสร้างของภาคชนบท/เกษตรกรรม/รากหญ้า เข้าสู่การผลิตสินค้าใหม่ๆ ที่ไทยมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบที่แท้จริง (new sources of growth) เพื่อเป็นฐานของความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในระยะยาว ผ่านการเสริมและสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ

ส่วนยุทธวิธีตลาดภายนอก (Export Demand-Led Growth) นั้น คือขาหยั่งที่สอง ยุทธวิธีนี้ไม่ใช่นวัตกรรมใหม่ แต่เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก และยังต้องการการบริหารจัดการที่เหมาะสมต่อไปโดยีกลยุทธสำคัญคือ 1) ภาคสมัยใหม่ที่ยังคงอ่อนแอจากวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 และต้องการความช่วยเหลือ เนื่องจากเป็นภาคที่สำคัญต่อการฟื้นตัวจากวิกฤตโดยตรง ในการนี้รัฐบาลให้ความสำคัญแก่ ภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง ที่มีความเชื่อมโยงสูงกับการจ้างงาน และช่วยพยุง/ยกระดับราคาสินทรัพย์ของประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่งคั่งให้แก่งบดุลทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน มาตรการที่ใช้มีตั้งแต่การลดธรรมเนียมและภาษี ขยายสินเชื่อเงินกู้ซื้อบ้านดอกเบี้ยต่ำด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรน

2) เลือกเสริมและสร้างภาคธุรกิจที่มีศักยภาพในการแข่งขัน 9 อุตสาหกรรม (identifying new clusters) เช่น การท่องเที่ยว ยานยนตร์ ซอฟแวร์ แฟชั่น อาหาร เฟอร์นิเจอร์ การบริการด้านสุขภาพฯลฯ ตัวอย่างมาตรการที่อยู่ในกลุ่มนี้ เช่น โครงการ Thailand elite card กรุงเทพเมืองแฟชั่น ครัวไทยสู่ครัวโลก ฯลฯ

3) ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนนั้น ย่อมตั้งอยู่บนความสามารถในการแข่งขันหรือความสามารถในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว ดังนั้น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะปานกลาง-ยาว ย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถของไทยในการจัดการด้านอุปทานหรือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของระบบเศรษฐกิจ

4) นอกจาก 3 ประการข้างต้นแล้ว ยังเห็นว่าความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจระดับมหภาค (supportive macroeconomics framework) ที่สะท้อนผ่านตัวแปร เช่น ค่าเงินบาท ดุลบัญชีเดินสะพัด ดุลการชำระเงิน หนี้สินต่างประเทศ ฯลฯ ในขณะเดียวกันก็ต้องเปิดตลาดใหม่ๆ ให้แก่สินค้าส่งออกทั้งจากผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ภายใต้ SDSMEs โดยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net