Skip to main content
sharethis

หลังจากกรมชลประทานเสนอโครงการส่งน้ำแม่งัด-แม่กวง เพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในเขตพื้นที่การเกษตรในเขตลุ่มน้ำแม่กวง รวมทั้งพื้นที่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน โดยได้ชี้เหตุผลเอาไว้ว่า เนื่องจากปัจจุบันการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมรวมทั้งการขยาย
ตัวของชุมชน ทำให้พื้นที่โครงการแม่กวงได้รับผลกระทบต่อการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร และการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ เป็นอย่างมาก ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปริมาณน้ำในเขื่อนแม่กวงมีไม่เพียงพอ

แต่ทว่า โครงการส่งน้ำจากเขื่อนแม่งัด อำเภอแม่แตง ไปยังเขื่อนแม่กวงอุดมธารา อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่นั้น ปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอ ดังนั้นทางกรมชลประทาน จึงมีแนวคิดที่จะผันน้ำแม่แตงมาเติมให้กับเขื่อนแม่งัดในปริมาณ 147.42 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยจะมีอาคารรับน้ำเข้าอุโมงค์ส่งน้ำแม่งัดไปยังเขื่อนแม่กวงมีความยาว 22.72 กิโลเมตรขนาดเส้นผ่าศูนย์
กลาง 5 เมตร

ซึ่งมีหลายฝ่ายได้ตั้งข้อสังเกตต่อโครงการผันน้ำแม่แตงเอาไว้ว่า ปริมาณน้ำที่จะผันน้ำออกไป อยู่ระหว่าง 24% -78.6% ของปริมาณน้ำที่ไหลในระหว่างเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน ซึ่งที่ผ่านมา น้ำแม่แตงมีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอด ดังนั้นการผันน้ำออกจากลุ่มน้ำแม่แตงน่าจะสร้างปัญหาให้กับระบบนิเวศ กิจการท่องเที่ยวและการใช้น้ำในโครงการชลประทานแม่แตงอย่างเลี่ยงไม่พ้น

โดยเฉพาะกับประชาชนหรือเกษตรกรในเขตพื้นที่โครงการชลประทานแม่แตง ในเขตอำเภอแม่แตง แม่ริม เมืองหางดงและสันป่าตองนั้น พวกเขาได้รับทราบข้อมูลรายละเอียดโครงการผันน้ำมากน้อยเพียงใด และจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อการดำเนินการโครงการผันน้ำได้มากน้อยเพียงใด

ประเด็นที่สำคัญ การบริหารน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวง โดยกรมชลประทานยังคงกำหนดให้ภาคเกษตร เป็นภาคที่ได้รับความสำคัญลำดับท้ายสุด ในขณะที่ปริมาณน้ำท่าไหลเข้าเขื่อนแม่กวงมีแนวโน้มลดลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยในระหว่างปี 2537-2542 มีปริมาณท่าเฉลี่ยปีละ 187.7 ล้านลูกบาศก์เมตร และเฉพาะปี 2541 มีปริมาณน้ำน่าเพียง 96.8 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ในขณะที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงสามารถเก็บกักน้ำใช้งานได้ถึง 249 ล้านลูกบาศก์เมตร

แต่เขื่อนแม่กวงกลับยอมให้การประปาเชียงใหม่ นำน้ำจากเขื่อนแม่กวงไปใช้ผลิตน้ำประปาให้ จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีกำลังผลิตถึง 17.52 ล้านลูกบาศก์เมตรและวางแผนต้องส่งน้ำดิบให้การนิคมอุตสาหกรรมลำพูนอีกจำนวน 7.22 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อปี ซึ่งการจัดสรรน้ำให้แก่ภาคเกษตร กรรม จะขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่เหลือ ซึ่งภาคเกษตรควรได้รับสิทธิการจัดสรรน้ำเป็นอันดับแรกสุด

ใช่หรือไม่ว่า โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ได้สะท้อนให้เห็นถึงความผิดพลาดและล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ในการบริหารจัดการน้ำโดยกรมชลประทาน ที่มุ่งเน้นการพัฒนาการเติบโตของภาคเมืองและอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ โดยไม่คำนึงถึงฐานหรือกำลังของทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำว่าจะสามารถรองรับการเจริญเติบโตนั้นได้หรือไม่ จนเกิดโครงการที่ไปแย่งชิงทรัพยากรน้ำจากลุ่มน้ำอื่นๆ

และการที่คิดว่า น้ำแม่แตงมีปริมาณเหลือมากพอที่จะผันไปได้นั้น เป็นการคิดเอง ทำเอง เพียงฝ่ายเดียว ในขณะเดียวกันยังมีความพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับโครงการดังกล่าว มีการจัดเวทีหาเสียงสนับสนุนจากเกษตรกรและผู้ใช้น้ำในเขตโครงการชลประทานแม่กวงแทน โดยที่กลุ่มเกษตรกรและผู้ใช้น้ำจากชลประทานแม่แตง ทั้ง 5 อำเภอ กลับไม่ได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมแต่อย่างใด ซึ่งเกษตรกรกลุ่มใหญ่นี้ อาจต้องเจอกับปัญหาการขาดแคลนน้ำและเกิดสงครามแย่งชิงน้ำรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ล่าสุด รัฐบาลโดยการนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีการนำเข้าสู่การประชุมของ ค.ร.ม.สัญจรที่ จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการผลักดันแผนการจัดการน้ำขนาดยักษ์ใหญ่นับพันล้านบาท โดยยึดแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเชิงอย่างยั่งยืน คือจะต้องมีการจัดการน้ำใน 25 ลุ่มน้ำหลักของทั้งประเทศ โดยเน้นการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนด้วยการปรับปรุงแหล่งน้ำ และก่อสร้างแหล่งน้ำเพิ่มเติม และพัฒนาโครงข่ายส่งน้ำและกระจายน้ำให้ทั่วถึงเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง

ซึ่งโครงการผันน้ำแม่แตง-แม่งัด-แม่กวง ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในแผนการจัดการน้ำแบบบูรณาการของรัฐบาล ทว่ากลับส่งผลกระทบกับประชาชน เกษตรกร ผู้ใช้น้ำ จนเกิดกระแสการคัดค้านขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจากประชาชนเริ่มมองและเข้าใจว่า การจัดการน้ำแบบบูรณาการของรัฐ นอกจากเป็นเพียงเครื่องมือทางเทคนิคในการบริหารจัดการน้ำเท่านั้น

แต่ยังเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่สำคัญ เพื่อเป้าหมายของตน โดยที่ไม่ได้คำนึงถึง กระบวนการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจ และองค์กรระดับลุ่มน้ำเพื่อความยั่งยืน ที่เคยจัดการดูแลระบบการจัดการแบบเหมืองฝายกันมาช้านาน และที่สำคัญ ประชาชนผู้ใช้น้ำลุ่มน้ำแม่แตง อาจต้องเสียค่าน้ำเพิ่มขึ้นอีกด้วยในอนาคต

หากโครงการผันน้ำแม่แตง โครงการอุโมงค์ส่งน้ำแม่งัด-แม่กวง เป็นจริง แนวโน้ม " การจัดการน้ำแบบบูรณาการ" อาจกลับกลายเปลี่ยนเป็น "สงครามการแย่งชิงน้ำ" ซึ่งส่งผลให้เกิดความขัด แย้งรุนแรงอีกหลายเท่าทวีคูณ

รายงานพิเศษ
องอาจ เดชา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net