Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 25 พ.ค.48 เอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมบุกกระทรวงเกษตรฯ ทวงถามผลสอบมะละกอจีเอ็มโอ ด้านผู้ช่วย "คุณหญิงหน่อย" รับปากดันประชุมต่อพร้อมขยายอำนาจคณะกรรมการกลางสอบการปนเปื้อน-สิทธิบัตร เพื่อนำข้อมูลเสนอรัฐบาลก่อนออกนโยบายเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ

ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตัวแทนจากองค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย (ไบโอไทย) พร้อมด้วยกลุ่มกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าหารือกับนายสุนัย เศรษฐ์บุญสร้าง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อสอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับข้อเรียกร้องให้เปิดเผยผลการตรวจสอบมะละกอดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ที่หลุดรอดออกจากแปลงทดลองของศูนย์วิจัยพืชสวน จ.ขอนแก่นเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว

นายสุนัย กล่าวถึงข้อสรุปในการหารือว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้มีคำสั่งขยายอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ 2 ชุดที่ตั้งขึ้นในสมัยนายสมศักดิ์ เทพสุทินเป็นรัฐมนตรี เพื่อตรวจสอบการปนเปื้อน และตรวจสอบสิทธิบัตรมะละกอจีเอ็มโอที่สหรัฐกำลังยื่นขอ และจะเร่งให้มีการประชุมคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดอย่างเร่งด่วน เพื่อหาข้อสรุปและเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาในอนาคตต่อฝ่ายบริหาร

นอกจากนี้นายสุนัยระบุว่า จะนำข้อเสนอที่ได้จากคณะกรรมการซึ่งมีภาคส่วนต่างๆ ร่วมถ่วงดุลกันนี้เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ที่มีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งกำลังจะประชุมกันเพื่อกำหนดนโยบายเร็วๆ นี้ด้วย โดยข้อเสนอนี้น่าจะมีมิติอื่นๆ นอกเหนือจากด้านวิทยาศาสตร์ซึ่งมาจากคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ 15 สถาบันที่นายกฯ สั่งการให้ร่วมนำเสนอกรอบนโยบายเทคโนโลยีชีวภาพ

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.ไบโอไทย กล่าวถึงสาเหตุที่ต้องมาติดตามความคืบหน้าว่า คณะกรรมการตรวจสอบการปนเปื้อนของมะละกอมีการประชุมเพียงครั้งเดียวเมื่อวันที่ 22 ต.ค.2547 โดยที่ประชุมมีการเปิดเผยข้อมูลและข้อสรุปเบื้องต้นว่าตรวจพบมะละกอจีเอ็มโอปนเปื้อนในไร่นาเกษตรกรถึง 85 ราย และมีแนวโน้มสูงว่าเกิดจากกระทำของคนภายในเอง แต่ขณะนี้ล่วงเลยมากว่า 7 เดือนแล้วยังไม่มีความคืบหน้าในการตรวจสอบและเปิดเผยต่อสาธารณชน ทั้งที่การแพร่กระจายดังกล่าวเป็นความผิดตามพ.ร.บ.กักพืช พ.ศ.2522 อีกทั้งมะละกอจีเอ็มโอก็ยังไม่ผ่านการทดสอบความปลอดภัยทางชีวภาพใดๆ

ทั้งนี้ หนังสือของกรมวิชาการเกษตรที่ กษ0901/1623 ส่งถึงปลัดกระทรวงเกษตรเพื่อรายงานความคืบหน้าการตรวจสอบการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอ ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2547 ระบุว่า จากการตรวจสอบตัวอย่างจำนวน 8,912 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อน 329 ตัวอย่าง จากแปลงเกษตรกร 85 ราย และทำรายต้นมะละกอไปแล้ว 83 ราย เหลือ 2 รายได้ทำการเก็บตัวอย่างซ้ำ นอกจากนี้กรมฯ ได้ทดรองจ่ายค่าชดเชยให้เกษตรกรทั้ง 83 รายแล้ว เฉลี่ยต้นละ 40 บาท

น.ส.ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ เจ้าหน้าที่ด้านพันธุวิศวกรรม กรีนพีซฯ ได้ขอรายละเอียดเกี่ยวกับการควบคุมการปนเปื้อนทั้งหมด พร้อมทั้งนำเสนอมาตรการเฉพาะหน้าในการตรวจสอบ ทำลายและเฝ้าติดตามไร่นาที่มีการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอต่อผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในการหารือดังกล่าวนายสุนัย ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการติดตามเรื่องสิทธิบัตรมะละกอจีเอ็มโอ ซึ่งมูลนิธิวิจัยมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา กำลังยื่นขอสิทธิบัตรอยู่ โดยนายสุนัยระบุว่าเรื่องความปลอดภัยนั้นเป็นประเด็นรองเนื่องจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐ (เอฟดีเอ) ได้รับรองมาชั้นหนึ่งแล้ว ที่น่าจะเร่งปฏิบัติคือการติดฉลากเพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือก

ส่วนการจดสิทธิบัตรนั้นเป็นวาระซ่อนเร้นที่ต้องทำการศึกษากันอย่างจริงจัง โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ไม่ใช่กรมวิชาการเกษตร เพื่อไม่ให้ประเทศไทยได้รับความเสียหายจากระบบทรัพย์สินทางปัญญา และไม่ให้เกิดปัญหากับหลากหลายทางพันธุกรรมในประเทศไทยในภายหลัง

อนึ่ง กรณีมะละกอจีเอ็มโอเป็นประเด็นข่าวคึกโครมเมื่อเดือนกรกฎาคม 2547 โดยกลุ่มกรีนพีซได้บุกไปยังแปลงทดลองของศูนย์วิจัยพืชสวน จ.ขอนแก่น และกระทรวงเกษตรฯ ได้แถลงข่าวในภายหลังว่าพบการปนเปื้อนจริง 24 ตัวอย่างภายใน จ.ขอนแก่น จากเกษตรกรจำนวน 2,600 รายที่ได้รับเมล็ดพันธุ์ของศูนย์วิจัยฯ ไป พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการปนเปื้อน และคณะกรรมการสิทธิบัตรมะละกอจีเอ็มโอขึ้นมาตรวจสอบ แต่ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net