Skip to main content
sharethis

ประสบการณ์เข้าสู่ภาวะเผชิญกับกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของไทย กรณีที่ไทยถูกผลักดันให้เปิดตลาดพืชจีเอ็มโอ GMOs (Genetic modified organism) และให้สามารถนำไปปลูกร่วมกับพืชท้องถิ่นอื่นๆ ได้โดยทั่วไปนั้น สะท้อนปัญหาความด้อยพัฒนาในการจัดการระบบความรู้ (knowledge management) ของประเทศอย่างเห็นได้ชัด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการแสวงหาซึ่งความรู้และความเข้าใจ จนเข้าถึงในระบบความรู้เกี่ยวกับจีเอ็มโอของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น เป็นเรื่องสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการตัดสินใจทุกระดับจะต้องเข้าถึงและเสาะแสวงหาให้ได้มาซึ่งความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนสามารถเล็งเห็นถึงนัยความสัมพันธ์ในเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ ก่อนที่จะนำไปสู่ข้อสรุปหรือแนวนโยบายที่ชาญฉลาด เท่าทันและสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือทางนโยบายของประเทศได้อย่างเหมาะสม

อดีตอันขมขื่นของการสร้างภาวะเผชิญของไทยเราในเรื่องนี้ แทนที่จะมุ่งเข้าสู่สาระและแก่นแท้ของความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ กลับดำเนินในลักษณะในทางตรงกันข้าม โดยบริหารความขัดแย้งและส่งไม้ต่อให้แก่ "ศาลยุติธรรม" ให้มาทำหน้าที่พิจารณาปัญหาความขัดแย้ง โดยละทิ้งเนื้อหาสาระที่ถูกสังคมโต้แย้งสิ่งที่ทางราชการทำและตัดสินใจจะทำในอนาคต ดังกรณีตัวอย่างในคดี มะละกอจีเอ็มโอ ที่กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฟ้องกลุ่มกรีนพีซ ในข้อหาบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ต่อศาลจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเริ่มต้นสืบพยานกันในวันที่ 30-31 มีนาคมนี้

ทั้งนี้จากความพยายามที่กลุ่มกรีนพีซ ได้เข้าไปขัดขวางการปลูกทดลองมะละกอจีเอ็มโอ และต่อเกษตรกรได้อย่างที่ปรากฏตัวอย่างมาแล้วที่เกาะฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา อันเป็นการดำเนินการเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาจากการนำเอามะละกอจีเอ็มโอไปปลูกนอกห้องทดลอง ซึ่งไม่มีนักวิทยาศาสตร์หน้าไหนจะสามารถคาดการณ์หรือประกันได้ว่าจะไม่ส่งผลเสียหายใดๆ ต่อสิ่งแวดล้อม และแม้แต่อวัยวะของมนุษย์หรือสัตว์ เพราะจำต้องอาศัยระยะเวลาที่ยาวนานเพียงพอในการทดลองตรวจสอบ

การเลือกหนทางเข้าต่อกรกับกลุ่มกรีนพีซ ต่อเรื่องนี้โดยการฟ้องร้องกล่าวโทษทางอาญาและแพ่ง เท่ากับว่ารัฐราชการไทยจงใจรักษาแนวทางที่แสดงถึงความเข้มแข็งใน "ระบบอำนาจ" เอาไว้มากกว่า ความสนใจและใส่ใจที่จะเข้าถึงใน "ระบบความรู้" อันเป็นปฏิบัติการในลักษณะที่ตรงข้ามกับความต้องการและแนวทางของท่านนายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ปรารถนาจะปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งคงเป็นไปได้ยากมาก หากตราบใดที่รัฐราชการไทยยังคงติดอยู่กับวัฒนธรรมเชิงอำนาจอยู่ต่อไป การเคลื่อนสังคมเศรษฐกิจไทยเพื่อเข้าสู่วัฒนธรรมใหม่บนฐานวัฒนธรรมแห่งความรู้ (knowledge based society) นั้น จึงเป็นเรื่องที่ห่างไกลและยากที่จะเป็นจริงขึ้นมาหากไม่มีการปฏิรูประบบการจัดการความรู้ในส่วนราชการไทย

กรณีจีเอ็มโอ หลุดออกมาสู่สังคมไทย เกิดขึ้นจากองค์กรเอกชนโดยแท้ จากความพยายามเริ่มต้นที่บรรษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกมีแผนการจะนำเมล็ดพันธุ์ฝ้ายบีที ซึ่งเป็นพืชที่ได้มาจากการตัดต่อยีนมาจำหน่ายและส่งเสริมให้มีการปลูกอย่างกว้างขวางในไร่นาของเกษตรกร ซึ่งต่อมาถูกองค์กรพัฒนาเอกชนเปิดเผยแผนการที่บรรษัทยักษ์ใหญ่ดังกล่าวร่วมกับข้าราชการระดับสูงในกระทรวงเกษตรฯได้วางไว้

จนในเวลาต่อมาปัญหากรณีจีเอ็มโอถูกนำมาพิจารณามากขึ้นในสังคมไทยหลังจากที่ภาคสังคมได้ค้นพบแนวทางของส่วนราชการไทยบางหน่วยที่มีนโยบายอย่างออกนอกหน้าที่จะพัฒนาส่งเสริมเปิดทางให้แก่พืชจีเอ็มโอสามารถปลูกและจำหน่ายได้ในสังคมไทย การโต้แย้งคัดค้านให้ประเทศไทยระมัดระวังในการดำเนินนโยบายจีเอ็มโอจึงถูกยก
ระดับไปสู่ข้อถกเถียงเชิงนโยบาย จากเดิมที่เป็นเพียงข้อพิจารณาตามขั้นตอนของส่วนราชการประจำเท่านั้น

ปัญหาจีเอ็มโอกลับกลายมาเป็นปัญหาระดับชาติอีกครั้งหลังจากพบว่าเป็นข้อเรียกร้องที่สำคัญอันหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกา ในการเจรจาจัดทำข้อตกลงทวิภาคีหรือเอฟทีเอ (FTA)ระหว่างไทยกับสหรัฐ โดยสหรัฐฯเรียกร้องให้ประเทศไทยเปิดตลาดจีเอ็มโอและขอให้ยกเลิกข้อจำกัดใดๆ ที่ประเทศไทยบังคับใช้ก่อนหน้านี้อันเป็นการขัดขวางการเปิดตลาดพืชจีเอ็มโอ

การเข้ามาแสดงบทบาทของพืชจีเอ็มโอ แม้แต่มะละกอจีเอ็มโอในทางนโยบายและไปไกลจนถึงถูกนำไปเป็นประเด็นเจรจาทางการค้า การจัดทำข้อตกลง FTA ระหว่างไทยกับสหรัฐ ย่อมแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ได้ว่า ปัญหาพืชจีเอ็มโอนั้นมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนอย่างไรบ้าง อันเป็นเหตุจำเป็นที่ประเทศไทยต้องการภาวะเผชิญต่อเรื่องนี้อย่างไร ด้วยเหตุนี้หากจะยกระดับในการมองปัญหาจีเอ็มโอให้สูงขึ้น และมีวุฒิภาวะที่สูงขึ้น และด้วยสายตาที่กว้างไกลกว่าที่เป็นอยู่นี้นั้น เราคงต้องมาตั้งโจทย์ในเรื่องนี้กันใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งว่าแท้ที่จริงแล้ว เราเข้าใจจีเอ็มโอกันอย่างไร เราพัฒนาส่งเสริมจีเอ็มโอไปเพื่อใคร จนถึงเวลานี้เรายังแยกไม่ออกอีกหรือว่า การวิจัยกับการส่งเสริมการขายจีเอ็มโอนั้นแตกต่างกันคนละเรื่องกันอย่างไร

ท้ายที่สุดสังคมไทยในเวลานี้คงไม่อยากจะทราบว่า คดีมะละกอจีเอ็มโอใครจะแพ้หรือชนะ เพราะหากสังคมเศรษฐกิจไทยต้องการหาคำตอบกันเพียงแค่นี้ก็แสดงว่า ประเทศไทยเข้าใจจีเอ็มโอที่มีลักษณะที่ไม่แตกต่างจากการเชียร์มวยในเวที ที่ดูกันเพียงการแพ้หรือชนะในทำนองเดียวกันกับจะดูเพียงว่า เป็นการบุกรุกหรือไม่ สิ่งที่สังคมเศรษฐกิจไทยจะต้องดูและทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งกว้างไกลไปกว่านี้คือ เราจะอยู่กันด้วยการค้าความ หรือเราจะเดินเข้าหาความรู้จริงในเรื่องจีเอ็มโอจนเข้าถึงระบบความรู้ในเรื่องนี้จริงๆ เสียที ซึ่งหากเลือกในแนวทางหลังนี้ เราจะเข้าใจความรู้สึกและเจตนาดีของสิ่งที่องค์กรพัฒนาเอกชนและสิ่งที่กลุ่มกรีนพีซ ออกมาเคลื่อนไหวรณรงค์มากขึ้นในเรื่องจีเอ็มโอ แต่ถ้าเราเลือกหนทางแรก ประเทศไทยจะไม่มีภาวะเผชิญอันใดเหลืออยู่เลย คนไทยจะตกเป็นเบี้ยล่างต่างชาติอยู่ร่ำไป ระวังจะเสียค่าโง่ให้เขาและทำอะไรไม่ได้แล้วในภายหลัง

เจริญ คัมภีรภาพ
อธิการบดี ฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญาและภูมิปัญญาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยศิลปากร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net