Skip to main content
sharethis

"ในสมัยจอมพล ป. คือประมาณปี 2491 มีกรณีความไม่สงบเกิดขึ้นในพื้นที่และมีการต่อสู้กัน อย่างน้อยที่สุดตัวเลขคนตายครั้งนั้นประมาณ 400 คน เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 30 คน แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคุณรู้ไหม กรณี ดุซงญอเกิดขึ้นเมื่อไหร่ วันที่ 28 เม.ย. 2491 ผมขนลุกเลยนะ" รศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์รายการสภาท่าพระอาทิตย์ ทางสถานีวิทยุ 97.5 เมกกะเฮิร์ซ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2547 หลังเหตุการณ์กรือเซะ 1 วัน

วันนี้ (28 เม.ย. 2548) เป็นวันครบรอบความทรงจำอันเลวร้ายในกรณีไฟใต้ 2 เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นห่างกันถึง 56 ปี แต่เป็นไปในลักษณะที่พิจารณาได้ว่ามีความคล้ายคลึงกัน

57 ปีก่อนหน้า เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐไทยกับชาวมุสลิมภาคใต้ หรือที่เรียกว่า "กบฏดุซงญอ" ที่ บ้านดุซงญอ ต.จะแนะจ.นราธิวาส และมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ราว 400 คน

เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันก็ย้อนกลับมาอีกครั้งที่ มัสยิดกรือเซะ เมื่อเจ้าหน้าที่ภาครัฐสั่งจับตายผู้ก่อการไม่สงบในภาคใต้ ซึ่งหนีไปซ่อนตัวที่มัสยิด ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ 32 คน ไม่รวมที่เสียชีวิตในช่วงเวลาเดียวกันแต่ต่างสถานที่รวม 80 คน

เหตุการณ์ทั้งสองไม่มีผู้ใดสามารถระบุได้ชัดว่า มีความสัมพันธ์หรือจงใจให้เป็นช่วงเวลาซ้อนทับกัน หรือจะใช้วันเดียวกันเป็นสัญญะแห่งการปฏิเสธอำนาจรัฐไทยหรือไม่ แต่คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า มูลเหตุของเหตุการณ์อาจเป็นเรื่องเดียวกัน

กรณี "ดุซงญอ" อาจมีสาเหตุต่อเนื่องมาจากการกดทับทางวัฒนธรรมที่หมักหมมมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่นำ กฎหมาย.เทศาภิบาลมาใช้ และยุบอำนาจการปกครองของเจ้าเมืองแขก จนกลายเป็นจุดเริ่มของการไม่พอใจในอำนาจรัฐไทยของบรรดาเจ้าเมืองที่สูญเสียอำนาจ

ต่อมาในสมัยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีก็ มีนโยบายในลักษณะกลืนทางวัฒนธรรมจากรัฐส่วนกลาง ทำให้ความไม่พอใจของคนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้เริ่มขยายตัว เพราะมีวัฒนธรรมดั้งเดิมเป็นมลายูมุสลิม และนำมาสู่กระบวนการแบ่งแยกดินแดนในเวลาต่อมา

จากบันทึกของ ภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ ใน พ.ศ. 2491 ตีพิมพ์ในหนังสือ "ดุซงญอ 2491 ถึงตากใบวิปโยค" จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน ผู้สื่อข่าวอิสระ ได้เข้าไปศึกษาสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นจริงที่ดุซงญอในช่วงเวลานั้น โดยเนื้อหาได้กล่าวถึงความไม่พอใจของคนในพื้นที่ 2 เรื่องใหญ่ๆ

เรื่องแรก คือไม่พอใจในการคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐไทย

"คนที่นั่นเคียดแค้น เพราะเคยมีการฮั้วกับนายทุนกักตุนข้าวสารแล้วส่งออกขายสิงคโปร์ ปีนัง ทั้งๆ ที่เขาไม่ข้าวกิน ต้องเอาลูกยางต้มให้ลูกกินจนลูกตาย" จากหนังสือดุซงญอ 2491ฯ หน้า 11

ส่วนอีกเรื่องได้ แก่ ความเป็นเผด็จการของรัฐไทย

"รัฐบังคับให้แต่งกายสากลให้ผู้หญิงนุ่งกระโปรงสวมเสื้อแขนสั้น นักปราชญ์ทางศาสนา(อุละมา) ก็ไม่เว้นเมื่อตำรวจพบผู้ใดสวม "สารูบัน" ใส่เสื้อเชิ้ต จะถูกถอดเสื้อออกไปเหยียบย่ำ แม่ค้าในตลาดก็โดนตีด้วยพานท้ายปืน เพราะเธอสวมเสื้อกะบายา และมีผ้าคลุมศีรษะ" จากหนังสือ ดุซงญอ 2491ฯ หน้า 12

ความไม่พอใจได้รับการสั่งสมมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีเหตุการณ์โจรจีน(คอมมิวนิสต์)ก่อตัวขึ้น ในพื้นที่ดุซงญอ ขณะนั้นอำนาจรัฐที่จะเข้าไปช่วยเหลือที่ดุซงญอมีความล่าช้า ชาวบ้านดุซงญอจึงรวมตัวกันเพื่อไปปราบ แต่เมื่อรวมตัวก็ทำให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่เห็นผิดสังเกตจึงขอให้ระงับการชุมนุม

ทว่าเนื่องจากชาวบ้านยังมีความเชื่อทางไสยศาสตร์ ถือพิธีอาบน้ำมนต์เพื่อความอยู่ยงคงกระพัน จึงไม่ยินยอม จนกระทั่งวันที่ 25 เม.ย. 2491ได้เกิดการปะทะครั้งแรก โดยอาวุธของชาวบ้านเป็นของที่พอหาได้ในขณะนั้น เช่น พวกมีดพร้า ขวานดาบ ของมีคมต่างๆ การปะทะยืดเยื้อจนไปสิ้นสุดลงในวันที่ 28 เม.ย.2491

ส่วนในกรณีการปะทะที่มัสยิดกรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ปีที่แล้ว รศ. ชัยวัฒน์ ให้ความเห็นไว้ว่า (29 เม.ย. 47) ยังมีเรื่องราวทางวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นว่าความคิดของรัฐไทยในการครอบงำทางวัฒนธรรมมลายูมุสลิมยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยที่เกิดเหตุการณ์ดุซงญอ โดยให้พิจารณาจากการที่นำมัสยิดกรือเซะมาจนทะเบียนเป็นโบราณสถาน

กรณีนี้ชาวมุสลิมถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ถูกท้าทาย เพราะมัสยิดกรือเซะแม้ยังสร้างไม่เสร็จก็เป็นศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม และยังใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แต่รัฐกลับนำมาทำเป็นโบราณสถาน (มัสยิด
กรือเซะประกาศเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2478 และเคยมีการประท้วงโดยสันติของชาวมุสลิมในพื้นที่โดยสันติมาแล้ว )เพื่อรองรับการท่องเที่ยวและใส่ตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวที่สาบไม่ให้มัสยิด
กรือเซะสร้างเสร็จเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวจีนในมาเลเซีย สิงคโปร์ ทั้งๆที่ตำนานของกรือเซะก็มีอีกหลายตำนาน

นอกจากการปะทะที่ทาบลงในวันเวลาเดียวกันแล้ว การใช้อาวุธประเภทของมีคม ประเภทมีดดาบ สปาร์ตาร์ รศ.ชัยวัฒน์ให้ข้อสังเกตไว้ว่า อาจคิดย้อนทาบไปถึงการต่อสู้ที่ใช้มีดดาบของ ดุซงญอเมื่อ 57 ปีก่อนได้

"คุณต้องตัดสินใจต่อสู้กับประวัติศาสตร์ คุณต้องต่อสู้กับความทรงจำ คุณต้องถามว่า คน 30 คนที่ตายในมัสยิด เขาจะถูกจำยังไงโดยคนรุ่นต่อไป ผมก็ไม่อยากคิดหาเรื่อง แต่ในประวัติศาสตร์มันเกิดขึ้นในวันที่ 28 เม.ย. มันซ้อนกันว่านี่เป็นการลุกฮืออีกครั้งหนึ่ง" นายชัยวัฒน์กล่าว(29 เม.ย. 47)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net