Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

น้ำจะเสียแล้ว นางเอ๋ย...ดินจะเสียแล้ว นางเอ๋ย...
ไก่ขันไม่เป็นเวลาแล้ว นกร้องไม่เป็นเวลาแล้ว
มองไปข้างหน้าพื้นดินกว้างใหญ่
นางเดินไปร้องห่มร้องไห้
ทุกอย่างเปลี่ยนไป ดินเสีย น้ำเสีย
เทคโนโลยีเข้ามาเกาะกุมชีวิต
แม้สัตว์ก็กลายพันธุ์ นกไก่ไม่รู้วันรู้คืน
วันหนึ่ง,ผู้คนจะร่ำเสียใจในสิ่งที่ทำ
ทุกสิ่งไม่ได้เติบใหญ่ในวิถีธรรมชาติ
โลกจึงเต็มไปด้วยความเศร้าหมอง
มีแต่เสียงร่ำร้องของผู้คน...

เป็นคำ "ทา" คำสอนของผู้เฒ่าปกาเกอะญอ ที่บ่งบอกถึงความห่วงใยในวิถีชีวิตที่กำลังเปลี่ยน แปลง เมื่อเทคโนโลยี ความเจริญเข้ารุกคืบเข้าไปทั่วขุนเขา ดงดอย เมื่อ ดิน น้ำ ป่า ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อชีวิตคนอยู่ป่ามาเนิ่นนาน ต้องพบกับวิถีสิ่งแปลกปลอมซึ่งเป็นอารยธรรมใหม่ที่รับมาโดยตรงจากประเทศตะวันตก

อีกทั้งรัฐยังคงมองการจัดการป่าในเชิงเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยในเชิงอุตสาหกรรม มีการถูกตีค่าทรัพยากรธรรมชาติเป็นทุนเงินตรา ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้พื้นที่ป่าลดลงและเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้หลายคนมองข้ามไปว่า จริงๆ แล้ว ป่า มีคุณค่าในฐานะทุนทางสังคม ทุนทางวัฒนธรรมของคนในชุมชนที่พยายามปกปักรักษามาช้านาน

ว่ากันว่า ระบบการศึกษา และทิศทางการพัฒนาในขณะนี้ ยังพยายามให้ประชาชนวิ่งตามกระแสของกิเลส หากยังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ประชาชนก็จะประสบกับความหายนะในอนาคตอันใกล้ ดังนั้น จึงเกิดการรวมกลุ่มกันโดยมุ่งเน้น "คน องค์กรชุมชนและภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง" ในรูปแบบพหุภาคี

เหมือนกับ นายจอนิ โอ่โดเชา ปราชญ์ปกาเก่อญอ บอกว่า "จะต้องพัฒนาในรูปแบบแกงแค หรือแกงรวม" โดยอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย เพื่อขยาย" กำกึ๊ด" หรือความคิด เพื่อการสืบสานและการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ภูมิปัญญาในท้องถิ่นของแต่ละชุมชน ของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะในแต่ชุมชนท้องถิ่น แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์นั้น มีวิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

จุดเริ่มต้นของ "ห้องเรียนชุมชนบ้านทุ่งหลวง"
"เริ่มต้นมาได้ประมาณ 5-6 ปี โดยเริ่มจากที่กลุ่มเยาวชน คนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน และคณะครูในโรงเรียนบ้านทุ่งหลวง ได้พูดคุยและเห็นว่า ประเพณีวัฒนธรรมในชุมชนกำลังจะถูกกลืนหายไป หลังจากนั้น เราได้ร่วมกันสำรวจจุดแข็งจุดอ่อนของชุมชน ก็พบว่า วิถีวัฒนธรรมของปกาเก่อญอส่วนใหญ่นั้น เกิดจากป่า จากต้นไม้ ดิน น้ำ จึงเริ่มด้วยการหาแนวคิดในเรื่องเหล่านี้ โดยได้ชูประเพณีวัฒนธรรมเป็นตัวตั้งในการจัดการ พร้อมประสานงานกับทุกองค์กรเครือข่าย เข้ามาร่วมกันสนับสนุนการจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา" นายพิชัย จุลเดช ครูโรงเรียนบ้านทุ่งหลวง ผู้มีส่วนร่วมอีกคนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดกิจกรรมนี้ ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้น

นายบุญส่ง ชินะวงศ์ ผู้นำอาวุโส ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคนท้องถิ่นแถบลุ่มน้ำวาง ให้เป็นอธิการบดีวิทยาลัยจาวบ้านลุ่มน้ำวาง เปิดเผยว่า คำว่า "วิทยาลัยจาวบ้าน" หรือ "ห้องเรียนชุมชน" เป็นกระบวนการขับเคลื่อนขององค์ความรู้ เพราะคำว่า "วิทยา" หมายถึง ความรู้ ที่ทางสถาบันการศึกษาสมัยใหม่ ทั่วไปเข้าใจกัน แต่คำว่า "วิทยา" ในที่นี้หมายถึงองค์ความรู้ที่อยู่ในตัวคน อยู่ในหมู่บ้าน เพราะฉะนั้น เราจะต้องเริ่มต้นตรงนี้ ว่าจะทำอย่างไร ถึงจะให้ทุกคนมาเรียนรู้ภูมิปัญญาของหมู่บ้านร่วมกัน

"เราจะมุ่งเน้นกำกึ๊ด หรือความคิดให้กับคนมากกว่า เพราะทุกสิ่งทุกอย่างจะดีหรือเลวนั้น ย่อมอยู่ที่คน และเราจะต้องมีการพูดถึงเรื่อง การพัฒนาพร้อมกันไปด้วย เพราะที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่ไปตีความหมายของการพัฒนา จนทำให้เกิดความสับสน ดังนั้น ทางวิทยาลัยจาวบ้าน จะต้องทำการพัฒนาให้สิ่งที่ไม่ดีให้มันดีขึ้น และจะต้องเน้นการพัฒนาทุกสิ่งทุกอย่างให้ควบคู่กันไป หรือที่คำใหม่เรียกกันว่า การพัฒนาแบบบูรณาการ ซึ่งเชื่อว่า การจัดกิจกรรมรูปแบบนี้ จะเกิดทั้งทฤษฎีและเป็นรูปธรรม" นายบุญส่ง กล่าว

ในขณะที่ "เปาโล" เยาวชนจากบ้านทุ่งหลวง กล่าวว่า ทุกวันนี้ คนปกาเก่อญอเริ่มเปลี่ยนไป เมื่อมีเทคโนโลยีวัตถุขึ้นมาสู่บนดอย ทำให้หลายๆ คนชอบอะไรง่ายๆ ชอบความสบาย จนทำให้ทรัพยากรท้องถิ่นเริ่มสูญเสียไป ทางกลุ่มเยาวชนจึงพากันไปปรึกษาผู้อาวุโส ผู้รู้หลายๆ ฝ่าย จนเกิดแหล่งการเรียนรู้นี้ขึ้นมา เพื่ออยากสื่อให้สังคมได้รับรู้ว่าวิถีของปกาเก่อญอนั้นมีดีอย่างไร

"ที่จัดให้มีห้องเรียนชุมชนบ้านทุ่งหลวง ก็เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับการ ศึกษาในระบบโรงเรียน เพราะทุกวันนี้ มีเยาวชนลงไปอยู่ในเมืองกันมากขึ้น เมื่อกลับมา มักจะเอาปัญหาเข้ามาสู่ชุมชน อีกทั้งยังไม่มองเห็นความสำคัญของวิถีชุมชน ดังนั้น ทำอย่างไรเราจะดึงกลับคืนมา ให้ทุกคนอยู่ร่วมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน มีชีวิตอยู่อย่างมีความ
สุข" นันทวัฒน์ สมาชิก อบต.แม่วิน ซึ่งเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่อีกคนหนึ่ง ที่มองเห็นและพร้อมจะตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลง

กิจกรรมภูมิปัญญาที่หลากหลาย
การจัดกิจกรรมห้องเรียนชุมชนบ้านทุ่งหลวง ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 19-20 มี.ค.ที่ผ่านมา จึงเป็นการรวมพลังภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างแท้จริง ซึ่งนอกจากมีกลุ่มชาวบ้านบ้านทุ่งหลวง ยังมีเครือข่ายชุมชนการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำวาง ซึ่งมีพื้นที่ชุมชนอยู่รอบๆ อีก 19 หมู่บ้าน นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มเครือข่ายชุมชนจากจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งองค์กรพัฒนาอีกกว่า 25 องค์กรเครือข่ายเข้าร่วมงาน

โดยกิจกรรมในช่วงเช้าของวันแรกนั้น มีการเรียนรู้ในเรื่องการทำปุ๋ยหมัก การจัดพิธีกรรมไหว้เจ้าที่และเลี้ยงผีไฟ ก่อนจะร่วมกันทำแนวกันไฟป่าชุมชนลุ่มน้ำวาง บริเวณดอยน้ำบ่อหมาเลีย พร้อมร่วมกันประกาศเจตนารมย์" การจัดการไฟป่ากับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำวางให้ยั่งยืน"

หลังจากนั้น ณ ลานข่วงภายในบ้านทุ่งหลวง ได้กลายเป็นห้องเรียนชุมชนอันหลากหลาย มีการจัดซุ้มแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรม ภูมิปัญญาชุมชนลุ่มน้ำแม่วาง ชุมชนลุ่มน้ำแม่ทา ชุมชนไทใหญ่บ้านเปียงหลวง จ.เชียงใหม่ ชุมชนลุ่มน้ำแม่ต๊ำ จ.พะเยา และชุมชนลุ่มน้ำแม่สุริน จ.แม่ฮ่องสอน รวมทั้งการร่วมเรียนรู้ การแปรรูปอาหารพื้นเมือง การตีมีด การจักสาน

ตกช่วงบ่าย มีการจัดเวทีเสวนาเรื่อง" แผนยุทธศาสตร์การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติชุมชนลุ่มน้ำวาง และ "สหกรณ์กับการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งเป็นการระดมความคิดเห็นระหว่างชาวบ้านของแต่ละชุมชน

พอถึงช่วงเย็น มีการแสดงกิจกรรมภาคบันเทิง กลางทุ่งนาไม่ไกลนักจากชุมชนบ้านทุ่งหลวง เริ่มต้นด้วยการแสดงดนตรีชนเผ่า การแสดงละครเรื่อง" หน่อหมื่อเอ" ตำนานของหนุ่มสาวปกาเกอะญอ นอกจากนั้นยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมล้านนา การฟ้องนกกิงกะหลา ฟ้อนโตของชาวไทใหญ่ เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งมีการผู้เข้าชมมากกว่า 3,000 คน

นี่เป็นอีกหนึ่งกิจกรรม" ห้องเรียนชุมชนบ้านทุ่งหลวง" ที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้โดยคนในชุมชน ร่วมกับกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ได้ร่วมกันรื้อฟื้นและฟื้นฟูองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้เป็นห้องเรียนรู้แก่เด็กและเยาวชน คนรุ่นใหม่ ได้ศึกษาเรียนรู้และสืบทอดกันต่อไป

องอาจ เดชา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net