Skip to main content
sharethis

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน(อพท.) หรือ DASTA เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(องค์การมหาชน) พ.ศ. 2546 มีหน้าที่ในการจัดทำนโยบายและแผนยุทธศาสตร์หลักในการบริหารจัดการและพัฒนา "พื้นที่พิเศษ" เพื่อการท่องเที่ยว โดยจะเป็นตัวกลางที่จะประสานหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เดินไปตามทิศทางเดียวกัน

องค์กรอิสระนี้ ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี หากมีโครงการเร่งด่วนที่เห็นสมควร จะสามารถเสนอขอใช้งบกลางได้ทันที ขณะเดียวกันยังเป็นองค์กรที่ให้บริการแบบ "วันสต็อป เซอร์วิส" ทั้งนักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการ กล่าวคือ ผู้ประกอบการรายใดที่สนใจเข้ามาลงทุน สามารถนำเสนอแผนงานมาที่ศูนย์ อพท.ในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งจะได้รับการพิจารณาและแนะนำในเรื่องการติดต่อในขั้นต่อไป โดยอพท.จะเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้ไปยื่นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เป็นใบเบิกทาง และจะได้รับอนุมัติภายในเวลาไม่เกิน 30 วัน

พื้นที่แรกที่อพท.ประกาศเป็นเขตพื้นที่พิเศษไปเมื่อเดือนกันยายน 2547 คือ เกาะช้าง และพื้นที่เชื่อมโยงโดยรัฐบาลได้จัดสรรงบกลางของเงินงบประมาณประจำปี 2548 จำนวน 540 ล้านบาท เพื่อใช้ในการพัฒนาพื้นที่ในเขตดังกล่าวประกอบด้วย การสร้างท่าเรือ จำนวน 4 ท่า แบ่งเป็นฝั่งเกาะ 2 ท่าคือที่เกาะช้าง และที่เกาะกูด และฝั่งแผ่นดิน 2 ท่า รวมทั้งการสร้างศูนย์บริการด้านการท่องเที่ยว อาคารสำนักงาน เรือนรับรองนักท่องเที่ยว และร้านอาหาร

นอกจากนี้ยังมีแหลมถั่วงอก และพื้นที่เชื่อมโยง จ.กาญจนบุรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ให้ไปจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการภายใต้งบประมาณ 35,000,000 ล้านบาท ส่วนหมู่เกาะลันตา แลพื้นที่เชื่อมโยงจังหวัดกระบี่นั้น ครม.ให้ถอนเรื่องออกไปก่อน โดยให้จัดทำข้อเสนอใหม่ในภาพรวมเพื่อเสนอครม. พร้อมการประกาศเขตพื้นที่พิเศษในเขตจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติใน 6 จังหวัดภาคใต้ ภายหลังจากที่มีความชัดเจนในนโยบายการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติแล้ว

ทั้งนี้ ทุกพื้นที่พิเศษที่ตั้งขึ้นในอนาคต จะต้องมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละปี เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียทรัพยากร โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาหาสูตรการคำนวณ ซึ่งพื้นที่ที่จะดำเนินการต่อไปในปี 2548 คือ ไนท์ซาฟารี จ.เชียงใหม่ หมู่เกาะเสม็ดและพื้นที่เชื่อมโยง จ.ระยอง ปี 2549 ที่หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ หมู่เกาะตะรุเตา และพื้นที่เชื่อมโยง จ.สตูล ปี 2550 หาดเจ้าไหมและหมู่เกาะทะเลตรัง จ.ตรัง ภูหลวง ภูเรือ และภูกระดึง จ.เลย

ส่วนการกำหนดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติเบื้องต้นของพื้นที่ที่จะประกาศเป็นเขตพื้นที่พิเศษนั้น คณะกรรมการอพท.ได้กำหนดไว้ ดังนี้ 1) เป็นพื้นที่ที่มีความโดดเด่นและความบริสุทธิ์ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีคุณค่าในเชิงอนุรักษ์เพื่อประโยชน์เกื้อกูลคุณภาพทางสังคมและวิถีชีวิตของท้องถิ่น 2) เป็นพื้นที่ที่มีความล้ำค่าทางอารยธรรม วัฒนธรรม และ/หรือศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น 3) เป็นพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์พิเศษ และ/หรือเป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างเอกลักษณ์พิเศษให้เกิดแรงดึงดูดต่อนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ 4) เป็นพื้นที่ที่รัฐบาลมีนโยบายจะพัฒนาเป็นการเฉพาะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้และกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนท้องถิ่น 5) เป็นพื้นที่ที่เหมาะสม ควรที่ อพท. จะเข้าไปกำกับดูแลภายใต้การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ6) เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางด้านการแข่งขัน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net