Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-4 มี.ค.48 ที่ศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ มูลนิธิผู้หญิง กฎหมายและการพัฒนา(ผกฎ.) ได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง "ร่วมปกป้องสังคมจากความรุนแรง ร่วมปกป้องนักพิทักษ์สิทธิมนุษยชนหญิง" เนื่องในวันสตรีสากล โดยเชิญตัวแทนแกนนำหญิงจากทุกภาคเข้าร่วมแลกเปลี่ยนและหาแนวทางต่อสู้ในสิทธิความชอบธรรมของสตรีและชุมชน

นางไฮ ขันจันทา บ.โนนตาล ต.นาตาล กิ่งอ.นาตาล จ.อุบลราชธานี ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยละห้า กล่าวว่า ได้ต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมจากรัฐมา 27 ปี ได้ใช้จอบ เสียม ขุดเจาะ เพื่อระบายน้ำที่ท่วมผืนนาของตนเอง แต่กลับถูกรัฐกล่าวหาว่าทำลายทรัพย์สินของหลวง

"ฉันไม่รู้กฎหมาย แต่รู้ว่าสิทธิก็คือสิทธิ ความจริงก็คือความจริง เพราะฉันกำลังต่อสู้สิทธิที่ครอบครัวได้ปกครองที่ดินผืนนั้นมานานกว่า 200 ปี ฉันเรียนรู้มาจากชีวิต จากการต่อสู้ ไม่มีใครจ้าง ล่าสุด รัฐคืนแต่ที่นา แต่ค่าชดเชยเรียกร้องสิทธิการสูญเสียโอกาสในการทำกินยังไม่ได้รับแต่อย่างใดเลย ซึ่งก็ต้องต่อสู้เรียกร้องกันต่อไป" นางใฮ กล่าว

ในขณะที่ นางนาแส ยะป่า ผู้ใหญ่บ้าน บ.กองผักปิ้ง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ได้เป็นผู้นำมาตั้งแต่ปี 2536 แต่ก็ยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรม เข้าไปตรวจค้นบ้าน พร้อมกับมีการยัดยาบ้าและจับกุม จนทำให้ต้องมีการต่อสู้เรียกร้องสิทธิมานานหลายปี

"ล่าสุด เพิ่งไปขึ้นศาลกลับมา คนอื่นอาจจะกลัว แต่ฉันไม่กลัว เพราะเป็นสิทธิของเราที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ยื่นฟ้องได้ ก็ประกันตัวได้ อุทธรณ์ได้" นางนาแส กล่าว

นางจินตนา แก้วขาว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า สังคมยังมองว่าผู้ชายเท่านั้นที่ต้องเป็นผู้นำ ทำให้ถูกต้านมากในระยะแรก ซึ่งเป็นการต่อสู้แบบหมาจนตรอก เพราะหันไปทางไหนก็เจอแต่ศัตรู และยังถูกข่มขู่มากที่สุด แต่ก็ต้องสู้ เพราะนี่เป็นสิทธิของชุมชน และเรื่องทุกเรื่องล้วนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ทั้งสิ้น

"ที่มาพูดในวันนี้ ไม่ได้บอกว่าผู้หญิงดีกว่าผู้ชาย ผู้ชายดีๆ ที่ต่อสู้กับชุมชนก็มีอีกมาก ไม่ว่า เจริญ วัดอักษร แกนนำบ่อนอก ที่ถูกยิงเสียชีวิต หรือ สมชาย นีละไพจิตร ทนายความที่ถูกลักพาตัวไป " นางจินตนา กล่าว

ทางด้าน นางดาวัลย์ จันทรหัสดี แกนนำการคัดค้านโครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทร ปราการ กล่าวว่า ก่อนนั้น ได้ทำการเรียกร้องต่อสู้ด้วยความนุ่มนวลอ่อนหวาน ด้วยความเป็นผู้หญิง ยื่นหนังสือคัดค้าน แต่ไม่ได้รับการยอมรับ กลับโดนข่มขู่ สุดท้ายจึงกลับมาต่อสู้กันด้วยความแข็งกร้าว จนสุดท้ายรัฐต้องระงับโครงการนั้นไป

"เมื่อพูดถึงเรื่องการเป็นผู้หญิง ที่ต้องมาเป็นแกนนำเรียกร้องสิทธิ จำเป็นต้องสู้แบบเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวบ้าน และบางครั้งอาจอ่อนแอ อ่อนไหว แต่เมื่ออยู่ต่อหน้ามวลชนชาวบ้าน ต้องไม่แสดงอาการท้อ แต่บางครั้งเมื่อกลับมาถึงบ้าน ก็ร้องไห้ระบายความอัดอั้น ดังนั้น คู่ชีวิต ครอบครัว มีส่วนสำคัญในการให้กำลังใจเรามาก" นางดาวัลย์ กล่าว

ทั้งนี้ ในวงเสวนา ยังได้เสนอให้มีการรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรพิทักษ์มนุษยชนหญิงขึ้นมา เพื่อร่วมกันคุ้มครองดูแล ในด้านสิทธิ หน้าที่ และทางกฎหมาย

องอาจ เดชา

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net