Skip to main content
sharethis

ขณะที่รัฐบาลเตรียมการยกร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและเอื้ออำนวยแก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศในการลงทุนในประเทศไทยนั้น ประเด็นที่ไม่ควรละเลยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดให้อุตสาหกรรมจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้นนั้น จะเป็นการเปิดช่องให้มีการนำอุตสาหกรรมที่ไม่สะอาด หมายถึงอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนเข้ามาด้วย

เบื้องหลังอุตสาหกรรมมลพิษ

อุตสาหกรรมไม่สะอาด หรืออุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นภัยต่อสุขภาพของประชาชน เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคส์ เป็นต้น เดิมทีอุตสาหกรรมเหล่านี้มีแหล่งผลิตอยูในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่นสหรัฐอเมริกา ยุโรปตะวันตก ต่อมามีการเคลื่อนย้ายการลงทุนออกนอกประเทศไปสู่กลุ่มยุโรปตะวันออก ญี่ปุน และกลุ่มนิคส์ใหม่ เช่นไต้หวัน สิงค์โปร์

จนถึงปัจจุบันอุตสาหกรรมไม่สะอาดเหล่านี้เริ่มเคลื่อนย้ายมาสู่ประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งไทยมากขึ้น ทั้งนี้เพราะอุตสาหกรรมดังกล่าวก่อปัญหามลพิษอย่างรุนแรงในประเทศนั้น ๆ เช่นกรณีที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ณ บริเวณหุบเขาซิลิกอน เมืองซานตาคลารา มลรัฐแคลิฟอร์เนีย เกิดเหตุการณ์สารเคมีอันตรายของบริษัทิเล็คทรอนิคส์เกิดรั่วไหลออกจากถังเก็บ และปนเปื้อนในแหล่งน้ำสาธารณะจนทำให้ประชาชนป่วยเป็นมะเร็ง เด็กแรกเกิดมีน้ำหนักลดลง

นอกจากนี้เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นที่บริเวณเกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีโรงงานผลิตสารกึ่งตัวนำในอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคส์ จำพวก semiconductor non- semiconductor ประมาณ 400,000 โรงงาน จนทำให้น้ำใต้ดินมีการปนเปื้อนสารพิษ ไดคลอโรทาลีน (dichloroethylene) และไตรคลอโรเอ็ดทาลีน (trichloroeethylene) ญี่ปุ่นต้องเสียต้นทุนในการบำบัดคุณภาพดินและน้ำใต้ดินถึง 13 ล้านเยน

ไม่แต่เฉพาะญี่ปุ่นเท่านั้น ประเทศไต้หวัน สกอตแลนด์ที่เคยมีการพัฒาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ก็ประสบปัญหาไม่ต่างกันคือพบสารปนเปื้อนในใต้ดิน คนงานป่วยเป็นมะเร็ง เช่นกัน

จากรายงานการศึกษาของ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม พบว่าระหว่างปี 2513-2541 มีการเคลื่อนย้ายการลงทุนอุตสาหกรรมมาสู่ประเทศกำลังพัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ มีจำนวนบรรษัทข้ามชาติจากทั่วโลกเพิ่มจาก 7,000 บริษัท เป็น 53,600 บริษัท ทั้งนี้สาเหตุมาจากประชาชนและรัฐบาลในประเทศพัฒนาเกิดความตื่นตัวมากขึ้นในด้านสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากเห็นผลกระทบอันรุนแรงดังกล่าว ภาครัฐจึงต้องดำเนินการนโยบายและมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด แต่ก็ต้องหาทางเลือกให้แก่บริษัทผู้ผลิตด้วยดังนั้นจึงมีแนวทางลดการการผลิตภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ หันไปส่งเสริมนักธุรกิจของตนให้ไปลงทุนในประเทศกำลังพัฒนา

เมื่อเข้ามาลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาก็จะอ้างว่าเป็นการส่งเสริมการลงทุน สร้างงาน แต่ความเป็นจริงที่แฝงเร้นคือการกำจัดของเสียของประเทศตนไปให้แก่ประเทศอื่นนั่นเอง

บทเรียนลำพูน

นิคมอุตสาหกรรมลำพูนถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกในระดับภูมิภาค ก่อสร้างในปี 2526 ช่วงแรกของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมมีเป้าหมายในการรองรับอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร แต่ต่อมาหลังปี 2530 เป็นต้นมามีการเปิดให้นักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรม ปรากฎว่าอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนมากที่สุดเป็นอุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่มีสัดส่วนมากกว่าครึ่ง และส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น

ภายหลังจากที่อุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคส์เข้ามาดำเนินการได้ไม่นาน ผลกระทบก็เริ่มเกิดขึ้น ระหว่างปี 2536-2537 เกิดเหตุการณ์ที่เป็นข่าวดังบนหน้าหนังสือพิมพ์คือเริ่มมีคนงานในโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็ครอนิคส์ทยอยเสียชีวิตเป็นจำนวน 12 ราย และเริ่มเจ็บป่วยด้วยอาการคล้ายคลึงกันคือหายใจไม่ออก แพทย์ผู้เชียวชาญด้านอาชีวอนามัยที่มีอยู่น้อยมากยืนยันว่าเป็นโรคจากสารโลหะหนัก เมื่อตรวจเลือดคนงานก็พบว่ามีสารตะกั่วในเลือดสูงมาก เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่าคนงานที่เสียชีวิตไปนั้นส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาว อายุอย่างมากไม่เกิน 35 ปี และที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือคนงานหญิงที่ได้รับสารเคมีจะสามารถส่งผ่านไปยังเด็กทารกทางน้ำนม มีผลทำให้เด็กเสียชีวิตได้ หากได้รับปริมาณมาก เช่นกรณีลำพูนที่มีเด็กทารกต้องเสียชีวิตตามมารดาไปถึง 2 ราย

นอกจากนี้ ข้อมูลรายงานการศึกษาของสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมยังระบุอีกว่า มีผลกระทบที่น่าเป็นห่วงอย่างมากอีกคือ ปัจจุบันน้ำใต้ดินในจ.ลำพูนเริ่มมีการปนเปื้อนสารโลหะหนักที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์อย่างมาก เพราะล้วนเป็นสารก่อมะเร็ง จนทำให้คนในจ.ลำพูนไม่มีใครกล้าดื่มน้ำจากน้ำใต้ดิน จำเป็นต้องซื้อน้ำขวดกิน

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ จ.ลำพูนถือเป็นแหล่งรวมของน้ำใต้ดินในเขตภาคเหนือ หากแหล่งน้ำใต้ดินมีการปนเปื้อน ผลกระทบจะไม่ใช่เฉพาะคนในลำพูนเท่านั้น แต่จะรวมถึงคนใน จ.ใกล้เคียงเช่น เชียงใหม่ด้วย

ระหว่างที่เกิดผลกระทบที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูนนั้น พบว่าทั้งคนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่รัฐมีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับอุตสาหกรรมิเล็คทรอนิคส์ดังกล่าว จนเป็นผลทำให้ไม่สามารถป้องกันมลภาวะที่เกิดขึ้นได้ กฎหมาย และกลไกของรัฐอ่อนแอ ไม่มีมาตรการควบคุม หรือป้องกันใด ๆ จนเป็นผลทำให้นักลงทุนจากต่างชาติปล่อยของเสียสู่แหล่งน้ำสาธารณะได้ และคนงานในโรงงานก็ไม่มีระบบป้องกันที่ดีพอ แม้จนเมื่อเจ็บป่วย เสียชีวิตจากการทำงานก็ไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยใด ๆ ได้ เป็นต้น

กรณีลำพูนจึงถือเป็นตัวอย่างของความไม่พร้อมทั้งหน่วยงานรัฐท้องถิ่น และส่วนกลางไม่ว่าจะเป็นกรมควบคุมมลพิษ องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น นักกฎหมาย แพทย์ ประเทศไทยจึงเป็นเพียงแหล่งรองรับของเสียจากประเทศพัฒนา หากจะได้ประโยชน์อยู่บ้างก็เป็นเพียงการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยนั้น ผลประโยชน์จากการส่งออกก็ยังคงตกอยู่กับนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น

ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่ประเทศไทยต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน คือค่าใช้ด้านสุขภาพ ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนงานที่ป่วยเรื้อรังด้วยโรคมะเร็ง จะกลายเป็นภาระของรัฐบาลในโครงการหลักประกันสุขภาพ (30 บาท) อย่างเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีต้นทุนสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยไม่เคยนำมาคิดก่อนที่จะเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน ดังเช่นกรณีของประเทศญี่ปุ่นก็เสียค่าใช้จ่ายในการ clean up สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ก่อนที่รัฐบาลจะยกร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ควรมีมาตรการในการป้องกันการเข้ามาของอุตสาหกรรมไม่สะอาดเหล่านี้ เฉพาอย่างยิ่งอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคส์ เพราะหากปล่อยให้ดำเนินการไปแล้ว ท้ายที่สุดผู้แบกรับภาระทั้งการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ต้นทุนสุขภาพของประชาชนก็ไม่พ้นประเทศไทยนั่นเอง ขณะที่บรรษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศกลับกอบโกยผลประโยชน์กลับประเทศไป.

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
............................................................

เบญจา ศิลารักษ์
สำนักข่าวประชาธรรม
77/1 ม.5 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
โทร.053-810779,09-759-9705
Email : newspnn@hotmail.com

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net