Skip to main content
sharethis

จะเรียกว่าอุกกาบาต ดาวตก หรือผีพุ่งใต้ มันก็คือวัตถุธรรมชาติจากฟากฟ้าผ่านบรรยากาศลงสู่โลก ทั้งๆที่อวกาศระหว่างดาวเคราะห์เป็นที่ว่างเป็นสุญญากาศ แต่ก็ยังมีอุกกาบาตตกโลกราว 50-100 ตันทุกวัน

วัตถุใหญ่ขนาดดาวเคราะห์น้อยจนกระทั่งเป็นอนุภาคประจุก็มีโอกาสตกลงสู่โลกได้ทั้งนั้น
อุกกาบาตที่เป็นทางสว่างยาวๆ ของแสงผ่านท้องฟ้าในเวลาค่ำคืนเห็นกัน ออกบ่อยไปจนถือเป็นเรื่องประจำคืน คืนไหนไม่มีอุกกาบาตเลยน่าจะถือเป็นเรื่องแปลกมากกว่า

ส่วนใหญ่อุกกาบาตถูกเผาไหม้ในบรรยากาศหมดหรือเหลือนิดหน่อยไม่เป็นอันตรายกับใคร อีกทั้งยังตกในที่ๆ มีมากกว่าแผ่นดินคือ ที่เป็นทะเลมหาสมุทร เดือดร้อนต่อนักวิจัยต้องลงทุนลงแรงไปงมมันขึ้นมาศึกษา แต่ก็ถือว่าได้มาโดยราคาถูกมาก เมื่อนำไปเทียบกับโครงการอพอลโลที่ไปเอาดินหินจากดวงจันทร์มา

พอจะมองกันออกว่าอุกกาบาตขนาดใหญ่มักเป็นดาวเคราะห์น้อย ที่ไม่อยู่ในถิ่นที่มันควรอยู่คือระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสเหมือนส่วนใหญ่ บางส่วนของวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยส่วนหนึ่งเข้าใกล้วงโคจรโลก อีรอส อมอร์ อะพอลโลและอะโดนิสเคยเข้าใกล้โลกแล้วทั้งนั้น เรียงระยะที่ว่าใกล้โลกแล้วมี ดังนี้ 17,10,7 และ1.5 ล้านไมล์

รายที่ตื่นเต้นกันใหญ่กับข่าวใหญ่พ.ศ.2481 ที่อาจมีเฮอร์เมสชนกับโลก เฮอร์เมสมีเส้นผ่าศูนย์
กลาง 1ไมล์ ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นเมื่อเข้าใกล้โลกระยะทาง 1/2 ล้านไมล์ ต่อมาพ.ศ.2511 ไอคารัสทำให้คนบนโลกใจหายกันเมื่อมันผ่านโลกไปด้วยระยะ 4 ล้านไมล์

วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2515 ดาวเคราะห์น้อยหนักเป็น 10 เท่าของยานสกายแล็ปผ่านเข้ามาในบรรยากาศของโลก ที่ระยะสูง 36 ไมล์มันได้ลุกเป็นไฟสว่างมากเห็นได้ไกลหลายร้อยไมล์ คุณพระยังช่วย มันไม่ได้ตกโลกหรอกแต่กระดอนออกไปในอวกาศอีก ถ้ามันได้ตกโลก นึกภาพสยอง อะไรจะเกิดขึ้น

การตกของยานสกายแล็ปอาจกลายเป็นเพียงข่าวเล็กไป เมื่อมีการตกที่ยิ่งใหญ่กว่า ลองมานึก
ภาพน่ากลัวของหินกว้าง1 ไมล์ขึ้นไปชนโลก จะทำให้เกิดผลเสียหายอะไรได้ไหม ทำให้โลกเป็นแผลหรือที่เรียกกันว่าหลุมกว้าง10-20ไมล์เท่านั้นไม่พอ ยังเกิดอาการสั่นสะเทือนไปรอบๆ โลกที่เรียกว่าแผ่นดินไหว ทำลายบ้านเรือน

แรงระเบิดมีรัศมีหลายร้อยไมล์ ดินหินฝุ่นจะกระเด็นไปไกลและสูงในบรรยากาศ อาจบังแสง
อาทิตย์หลายสิบปีหรืออาจเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง ถ้ามันเป็นการชนครั้งใหญ่พอ สมมุติฐานเรื่องดาวตกครั้งใหญ่ ที่ว่าไดโนเสาร์สูญพันธ์ไปเป็นเรื่องเล่าในบรรดาเหล่านักวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องตลก เป็นเรื่องเศร้าปนสยองมากกว่า ขนาดไดโนเสาร์ยังเคยตายได้แล้วเราจะรอด หรือถ้าการชนครั้งหน้านั้นมันจะยิ่งใหญ่คล้ายๆกับคราวก่อน

มหาสมุทรมีมากกว่าแผ่นดิน ดาวตกใหญ่ๆอาจหล่นมหาสมุทรก็เป็นได้ ถ้ามันตกน้ำไปใช่ว่าจะปลอดภัย คลื่นยักษ์ซูนามิหรือกำแพงยักษ์ของน้ำสูงหลายร้อยฟุต จะกวาดผู้คนทำลายทรัพย์สินเป็นจำนวนมากมาย ภาพเหล่านี้ดูคล้ายกับว่าอุกกาบาตทำอะไรก็ได้ที่ทำให้เราอยู่ไม่รอด ช่างผิดกับอุกกาบาตที่ชอบชี้ชวนกันชมซึ่งเคยประมาทมันไว้

โลกชนกับดาวเคราะห์น้อยหรือวัตถุนอกโลกขนาดใหญ่พอที่จะถล่มทลายโลกได้ไหม ? ทำไมจะไม่ได้ ผิวของดวงจันทร์และดาวเคราะห์อื่นๆ ฟ้องว่า เคยชนกับวัตถุขนาดใหญ่มาก่อน และชนแล้วหลายๆหน อุกกาบาตชนโลกเสมอมาแต่ยังใหญ่ไม่พอที่จะทำลายโลก ยังไม่ประจวบเคราะห์หามยามร้ายที่มันจะหล่นใส่เมืองใหญ่ๆ แต่โชคจะยังดีตลอดไปหรือ เป็นเรื่องต้องคิดแล้ว

หลุมอุกกาบาตบนโลกที่พบเห็นมีไม่มากเท่ากับที่ดวงจันทร์มี ก็ไปเทียบกับดวงจันทร์ได้อย่างไรเล่า ดวงจันทร์ไม่มีบรรยากาศ ไม่มีขบวนการเซาะพังทลายเหมือนที่โลกมี หลุมที่เกิดขึ้นแล้วก็คงทนเป็นหลุมตลอดไป เทียบกับดาวเคราะห์อื่นก็ชอบกล

หลุมอุกกาบาตบนดาวพฤหัสไม่มีเลยทั้งๆที่เห็นข่าวมันชน กับดาวหางชูเมคเกอร์เลวีไนน์เมื่อปี 1994 แต่ดาวพฤหัสมันเป็นของหนืดก็กลบหลุมทันที โลกมีหลุมอุกกาบาตมากกว่าที่เห็นได้ การเซาะพังทลายไม่ว่าจากคน ลมหรือฝน ทำลายหลักฐานที่อุกกาบาตชนโลกไปเสียมาก จนแปรสภาพไม่เหมือนเดิม ไม่ได้ฟ้องเราว่า เคยถูกชนมา จนเราคิดผิดไปว่าอยู่บนโลกปลอดภัยแล้ว

มาดูบันทึกเรื่องของหลุม หลุมอุกกาบาตใหญ่สุดๆ บนโลกอาจเป็นหลุมใต้น้ำแข็งในแอนตาร์ติกลึก 400 กม . หลุมอุกกาบาตใหญ่มากที่พบในแคนาดาเต็มไปด้วยน้ำ หลุมอุกกาบาตที่เห็นชัดเจนที่ทะเลทรายอริโซนาเลยได้กลายเป็นหลุมที่ดังที่สุด กว้างเพียง 1 กม.เกิดเมื่อ 20,000 ปีมาแล้วมีชื่อตั้งให้ด้วยเรียกเครเตอร์บาร์ริงเจอร์ การระเบิดแรงมาก แต่โชคดีที่ตรงนั้นไม่มีบ้านเรือนตั้งอยู่ให้มันทำลาย

พ.ศ.2451 กลางวันแสกๆ ยังมีอุกกาบาตลูกหนึ่งลุกสว่าง เห็นกันไกลหลายร้อยไมล์ ตกลงไปในป่าไซบีเรีย แรงระเบิดได้ยินไกล 600 ไมล์ ระยะทาง 100 ไมล์รับคลื่นช็อคกันทั่วหน้า มีต้นไม้ให้มันทำลายแทนบ้านเมือง ค้นไม่พบมวลลูกอุกกาบาตส่วนใหญ่ ที่ไซบีเรีย ปีพ.ศ.2490 อีกทีที่มีอุกกาบาต แต่มันแตกไม่มีชิ้นดีในบรรยากาศที่ตกลงสู่พื้นโลกเหมือนสายฝนเหล็กที่ไม่ชุ่มฉ่ำชื่นใจ บริเวณนั้นจึงมีรูเล็กร่วม 200 รูและมีรูใหญ่คือหลุมอีกหลายรู นี่หากได้ตกในเมืองคงมีความเสียหายและความตายที่ไม่น่าดู มีลูกอุกกาบาตอื่นที่ค้นพบแล้วกว่า 2,000 ลูก หลุมอาจเห็นกันยาก และยิ่งค้นหาก็ยิ่งต้องพบมันมากขึ้น

อุกกาบาตขนาดใหญ่พอๆ กับลูกที่ตกในทะเลทรายอริโซนาหรือไซบีเรีย หากเกิดในเมืองใหญ่ ความเสียหายจะมโหฬารทีเดียว แม้ยังไม่เคยเกิดเพราะสมัยก่อนบ้านเมืองใหญ่โตหายาก แต่ตอนนี้บ้านเมืองใหญ่โตหาง่ายแล้ว ผู้ไม่ตกอยู่ในความประมาทย่อมหาหนทางแก้ไขวันเลวคืนเลวที่เป็นไปได้จากอุกกาบาต

" เราอยู่กันบนโลกนี้ทั้งๆ ที่รู้ว่าโอกาสจะเกิดอุกกาบาตและแผ่นดินไหวทำลายโลกได้ทุกขณะ" ไอแซค อสิมอฟกล่าวไว้อย่างไม่ประมาท เมื่อไม่มีหนทางจะไปอยู่ที่ไหนอื่นนอกจากบนโลกใบนี้ ก็ต้องหาทางปกป้องมันให้ดีก็แล้วกัน

หากดาวเคราะห์น้อยอยู่ในวงโคจรของมันตามปกติที่ว่าต้องกลับมาที่เก่าเสมอ เรารู้เส้นทางล่วงหน้า การเตรียมตัวป้องกันทำได้ง่าย โอกาสรอดก็มาก หากไปชนกับดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยอื่น จนมันต้องเปลี่ยนเส้นทางกระทันหันหรือมันต้องแตกแยกเป็นชิ้นส่วน เราไม่มีเวลาเตรียม
การป้องกันตัว มันอาจเกิดการพุ่งเข้าชนโลก แม้โอกาสนี้ยังน้อย ยังไงก็ไม่น่าประมาท

วันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 2001 ตอนเย็นๆ ในชั่วโมงรีบเร่งมีวัตถุจากอวกาศปรากฏทางตะวันออก
เฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา เห็นจากรัฐเวอร์จิเนียถึงชายแดนแคนาดา มันเข้ามาในบรรยากาศเหนือรัฐเพนซิลวาเนียเวลา 18.19 น. และตกลงมาเสียดสีบรรยากาศลึกจนเกิดเสียงโซนิคบูมที่ได้ยินตั้งแต่วิลเลียมสปอร์ตและบริเวณใกล้ๆ เสียงดังราวกับฟ้าผ่าแสบแก้วหู และบ้างก็คิดไปว่าลูกไฟนี้เป็นเครื่องบินจวนตก ในภาวะนาทีฉุกเฉินจ้าละหวั่น มันมีแมกนีจูด -20 ถึง -26 ที่สว่างราวกับดวงอาทิตย์

ดาวเทียมป้องกันภัยติดตามดาวตกหลายวินาที เริ่มทำงานเวลา 18.19 น. ทางเดินของดาวตกเริ่มจากสะครานตันเส้นแวง 75.6 องศาตะวันตก เส้นรุ้ง 41.5 องศาเหนือ เคลื่อนไปสิ้นสุดห่าง 140 กิโลเมตรทางตะวันตกจากวิลเลียมสปอร์ตที่ ตำแหน่งเส้นแวง 77.3 องศาตะวันตก เส้นรุ้ง 42.3 องศาเหนือ ลดระดับสูงจากพื้นดินตั้งแต่ 82 ถึง 32 กิโลเมตร วัตถุนี้น่าจะแตกไม่เป็นชิ้นดี คะเนความเร็วได้ราว 17-20 กิโลเมตร/วินาที

จากดาวเทียมและตัวเซนต์เซอร์รังสีใต้แดงคำนวณพลังงานสุกสว่าง 1.3 พันล้านจูลส์ที่เท่ากับระเบิดทีเอ็นที 3 พันตัน นับเป็น 1/5 ของลูกระเบิดอะตอมมิคที่เมืองฮิโรชิมา ดาวตกที่ช่วงพลังงานระดับนี้ชนโลกราว 10 ครั้งใน 1 ปี วัตถุนี้ควรหนัก 30-90 ตัน ถ้ามันเป็นหินเหมือนดาวตกทั้งหลาย ควรมีขนาดเท่ารถบรรทุกขนาดเล็กคันหนึ่ง มีรายงานข่าวว่าชิ้นส่วนตกไปในทุ่งข้าวโพดทางเหนือของวิลเลียมสปอร์ต (Sky & Telescope, Nov,2001)

ถ้าหากดาวเคราะห์น้อยขนาดกว้าง 5 ไมล์วิ่งด้วยความเร็วสูงมากสามหมื่นไมล์ต่อชม.และมีเวลาเตรียมตัวได้แค่ 6 วัน แม้เคยเป็นจินตนาการมานานแล้วในภาพยนตร์ที่ชื่อ 2525 โลกาวินาศ(หรือดาวตกหรือเมทีออร์) (Meteor) ที่จินตนาการว่ามันชนโลกปีนั้น และยังมีจินตนาการอื่นๆ อีกเร็วๆ นี้เช่นในภาพยนตร์เรื่องอาร์มากาดอน และดีฟ อิมแพค (deep impact)

เรื่องแบบในภาพยนตร์นี้แม้เรายังเห็นว่าเกิดขึ้นยาก แต่ใครจะประกันว่าเกิดขึ้นไม่ได้ด้วยเหตุผลที่ดีน่าพอใจ ไมใช่จะขอรับแต่เงินประกัน การใช้อาวุธนิวเคลียร์ที่อยู่ในฐานทัพอวกาศของอเมริกาและรัสเซียหรือประเทศอื่นๆ เพื่อหยุดอุกกาบาตให้ได้ เทคโนโลยีแบบนี้ไม่ไกลเกินความ

มีผู้ไม่ประมาทคิดป้องกันโลกเพื่อเราทุกคนไว้นานแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2510 ก่อนดาวเคราะห์น้อยไอคารัสผ่านโลกใกล้ที่สุดปีพ.ศ.2511 สถาบันเอ็มไอที คิดหาวิธีการป้องกัน หากไอคารัสที่วิ่งเข้าชนโลกด้วยความเร็ว 100,000 ฟุต/วินาที เป็นไปได้ไหมที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายจากการชนโลกโดยมีเวลาเตรียมตัว 18 เดือน? ในเมื่อย้ายโลกไม่ได้ก็ต้องย้ายมันละ ใช้อาวุธนิวเคลียร์ติดเข้ากับจรวดวิ่งเข้าชนให้มันเบนออกจากทางเดิม หรือไม่ก็แตกมันออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย อย่างที่ทำกันในภาพยนตร์เรื่องดัง หากทำได้สำเร็จทันการ คงได้พบกับความรู้สึกดีๆที่แท้จริงว่าวันดีคืนดีเป็นเช่นไร

ความคิดที่จะเปลี่ยนทิศทางธรรมชาติของดาวเคราะห์น้อยบางดวง เปลี่ยนให้ไกลจากโลกเลยเป็นเรื่องที่ทุกคนเห็นสมควรด้วย แต่ถ้าตั้งใจให้มันมาใกล้ชิดโลกมากขึ้น ก็ไม่ได้ต้องการให้มาชนโลก เหตุผลที่ดีๆ นั้นคือ เพื่อทำเหมืองสกัดแร่ที่หายากบนโลกแต่มีมากบนดาวเคราะห์น้อย หรืออาจเป็นที่อยู่ใหม่ในอวกาศ สถานีอวกาศ แหล่งกำลังและพลังงาน ฯลฯ เทคโนโลยีที่จะเอามันเข้ามาไม่ยากกว่าเทคโนโลยีเอามันออกไป เพราะเป็นเทคโนโลยีอันเดียวกัน จากระบบขับดันหลายรูปแบบ ถ้าแน่ใจว่าเก่งแท้ มีฝีมือถึงขั้น พามาเข้าใกล้โลกเพื่อประโยชน์มหาศาลเมื่อใดก็ลงมือได้เลย เราจะได้ดูดาวเคราะห์น้อยใกล้ๆให้เต็มตาเสียที

จากhttp://www.vittayasart.net
เขียนโดย ยุพา วานิชชัย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net