Skip to main content
sharethis

4 ก.พ. ที่ผ่านมา เป็นวันที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กำหนดจัดการประชุมเพื่อหาข้อยุติความขัดแย้งประเด็นปัญหาโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินวียงแหง

โดยกรรมการสิทธิฯ ได้ทำหนังสือเชิญผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) พร้อมขอให้ทางจังหวัดเชียงใหม่ประสานงานเชิญคณะทำงานศึกษาEIA และตัวแทนชาวบ้านที่คัดค้านโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินเวียงแหง โดยขอให้ทางจังหวัดเชียงใหม่จัดสถานที่และเข้าร่วมการประชุม

ทว่า การประสานงานครั้งนั้นต้องประสบกับความล้มเหลวเนื่องจากทางจังหวัดอ้างว่า ไม่เกี่ยวข้อง และจะไม่ขอมีส่วนร่วมใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งยังอ้างว่า ติดภารกิจเรื่องการเตรียมการเลือกตั้ง และการจัดงานเทศกาลไม้ดอกไม้ประดับ อีกทั้งไม่มีคณะทำงานการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(EIA) เข้าร่วม

ล่าสุด (25 ก.พ.) ทางกรรมการสิทธิฯ ได้เชิญตัวแทนแต่ละฝ่ายเข้าร่วมการประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็น กรณีความขัดแย้งกันอีกครั้ง ที่ห้องประชุมบ้านธารแก้ว จ.เชียงใหม่ โดยมีนายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการในทรัพยากรน้ำและแร่ จัดเวทีการแสดงความคิดเห็นกรณีโครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง โดยมีรองปลัดกระทรวงพลังงาน ตัวแทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยชาวบ้านที่คัดค้านการสร้างเหมืองเวียงแหงเข้าร่วมประมาณ 50 คน

ในการประชุมดังกล่าวเป็นเวทีซึ่งหลายฝ่ายได้แสดงความเห็นและจุดยืนของตนอาทิเช่น

พระสมุห์ฐานี ชิติวิริโย ครูใหญ่ ร.ร. เวียงแหงปริยัติธรรมศึกษา อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ก่อนนั้นเคยร่วมเป็นอนุกรรมการโครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง แต่พอเห็นการทำงานในพื้นที่ ได้เห็นบางอย่างไม่สอดคล้องกับการดำเนินงาน เมื่อเจ้าหน้าที่มีการรายงานข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงถึงบอร์ดและทางจังหวัด ว่าคนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการ

ทั้งนี้ ความเคลือบแคลงในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ทำให้ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านได้ออกสำรวจข้อมูลทั้ง 14 หมู่บ้าน จำนวน 4,000 คน พบว่า มีคนคัดค้านไม่เห็นด้วยถึง 3,800 คน ขณะที่จำนวนคนที่เห็นด้วยกับการสร้างเหมืองมีเพียง 5% เท่านั้น

"นี่สะท้อนให้เห็นว่า ข้อมูลรายงานของเจ้าหน้าที่นั้นคลาดเคลื่อน เป็นเพียงภาพลวงตาในพื้นที่ อีกทั้งยังมีการพยายามยุแยงตะแคงรั่ว พี่น้องชาวบ้านทะเลาะกัน ทำให้เกิดมลภาวะทางใจ" พระสมุห์ฐานี กล่าวและเสนอว่าอยากให้ชาวบ้านทุกคนเข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อให้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการเหมืองถ่านหินมีความกระจ่าง

พระสมุห์ฐานี ยังเสนออีกว่า ไม่ได้พูดว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่อยากให้ทุกคนได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วม ทำทุกอย่างให้กระจ่างและยั่งยืน

ด้านว่าที่ พ.ต.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา คณะทำงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาก็ได้ทำการประสานงานกับทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในด้านการทำงานการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังมีการเพิ่มการศึกษาในด้านสังคม

"ยอมรับว่า งบประมาณของ กฟผ.ที่ว่าจ้างการศึกษา EIA นั้นสูงมาก ประมาณ 17-18 ล้านบาท และการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนี้ ไม่ได้เป็นการศึกษาว่าจะสร้างหรือไม่สร้าง แต่เป็นการศึกษาทางด้านความเหมาะสมด้านสิ่งแวดล้อมในประเด็นต่างๆ ซึ่งในโครงการนี้เป็นโครงการแรกของกฟผ. แตกต่างกว่าโครงการอื่นๆ ซึ่งจะมีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่จะเพิ่มการศึกษาในด้านสังคมเข้าไปด้วย และเพิ่มกระบวนการเข้าไปมีส่วนร่วมเข้าไปอยู่ในขอบเขตของการศึกษา" ว่าที่ พ.ต.อนุชาต กล่าว

ว่าที่ พ.ต.อนุชาต ยังกล่าวอีกว่า ทางกฟผ.ไม่ได้บอกว่า เหมืองถ่านหินนั้นจะดีเลิศ ไม่ได้มีผลกระทบ และขอยืนยันว่า มากกว่าครึ่ง ประชาชนเห็นด้วยที่ให้มีการทำการศึกษาEIA หมายความว่า ไม่ใช่เห็นด้วยที่จะให้มีการสร้างเหมือง

ในขณะที่ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ อนุกรรมาธิการใช้น้ำและทรัพยากรแร่ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมงบประมาณในเรื่องมวลชนสัมพันธ์ ไปอยู่ในทีมศึกษา EIA ทำให้ทีมศึกษาถูกมองว่าไม่มีความเป็นกลาง ซึ่งเหมือนกำลังลาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปสู่ภาวะที่ล่มจม

ทางด้านนายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จริงๆ แล้ว นโยบายกระทรวงพลังงาน มีหน้าที่กำกับดูแล กฟผ. เพราะฉะนั้นจึงอยากตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมหรือไม่ และในคณะทำงานการศึกษาEIA นั้น ขอให้มีการเปิดรับสมัครนักวิชาการให้เข้าเป็นผู้ทำการศึกษาEIA อย่างเปิดเผยจะได้หรือไม่

"นโยบายกระทรวงพลังงาน มีหน้าที่กำกับดูแล กฟผ. โดยยึดหลักประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ได้ยึดหลัก กฟผ.เป็นศูนย์กลาง" รองปลัดกระทรวง กล่าว

ในตอนท้ายของการการประชุม ทางกฟผ. ได้ออกมายอมรับว่า บางครั้งวิธีการอาจจะไม่ถูกต้อง ไม่ถูกใจชาวบ้าน ซึ่งทางกฟผ.ยินดีที่จะปรับวิธีการการศึกษา EIA และคงไม่ดันทุรัง เพราะกฟผ.ไม่ได้มีนโยบายที่จะเพิ่มความขัดแย้ง

ขณะที่กำลังมีการประชุมกันอยู่นั้น ตัวแทนของกฟผ. ได้ลุกขึ้นนำชาวบ้านที่ทาง กฟผ.อ้างว่า เป็นกลุ่มที่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง เข้ามาในห้องประชุมเพื่อยื่นหนังสือสนับสนุนให้คณะทำงานศึกษาEIA เข้าไปทำงานในพื้นที่ ซึ่งทำให้ชาวบ้านกลุ่มคัดค้านได้ต่อว่าเจ้าหน้าที่กฟผ. ว่า จะเป็นผู้ยุให้ชาวบ้านทะเลาะกัน พร้อมกับขอร้องกฟผ. ว่าอย่ากระทำแบบนี้อีก

อย่างไรก็ตามในการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ไม่มีนายมนัส สุวรรณ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าคณะทำงานการศึกษาEIA เข้าร่วมแต่อย่างใด

ฟ้า เวียงอินทร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net