Skip to main content
sharethis

ภายหลังจากที่พิธีสารเกียวโตถูกบังคับใช้เป็นวันแรกเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา พิธีสารดังกล่าวเป็นพิธีสารที่จะมีผลต่อประเทศที่ลงสัตยาบัน จะต้องร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันได้แก่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไอน้ำ โอโซนออกสู่ชั้นบรรยากาศ ประเทศใหญ่ ๆ เช่นสมาชิกสหภาพยุโรปล้วนสนับสนุนพิธิสารเกียวโตนี้ แต่มีมีประเทศใหญ่เช่นสหรัฐฯ ที่ถือว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดของโลก กลับไม่มีท่าทีว่าจะให้สัตยาบันในพิธีสารนี้

พิธีสารนี้เกิดขึ้นภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นับเป็นก้าวแรกที่มีการใช้กฎหมายในการควบคุมการปล่อยมลภาวะสู่โลก มีการเจรจาครั้งแรกที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนธันวาคม 2540 และเปิดให้มีการลงนามระหว่างวันที่ 16 มี.ค. 2541-15 มี.ค.2542 และข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา

พิธีสารเกียวโตนั้นกำหนดให้ประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 5.2 จากระดับที่ปล่อย หากพิธีสารนี้ได้รับการนำไปปฏิบัติคาดว่าจะสามารถลดอุณหภูมิของโลกได้ถึงประมาณ 0.02-0.028 องศาเซลเซียสภายในปี 2050 หรือ 2593

ภายใต้พิธีสารเกียวโตนั้น ประเทศกำลังพัฒนา เช่นประเทศไทยไม่ถูกบังคับให้ต้องลดภาวะเรือนกระจก แต่อย่างไรก็ดีไทยก็สามารถมีส่วนร่วมในการช่วยให้บรรยากาศของโลกดีขึ้น โดยการเข้าร่วมด้วยความสมัครใจคือ ร่วมกัน ทำ "กลไกการพัฒนาที่สะอาด" หรือ CDM (clean development mechanism) โดยช่วยผลักดันให้ประเทศพัฒนาแล้วลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายที่กำหนด ในพิธีสารดังกล่าวระบุบทบาทของประเทศกำลังพัฒนาว่ากลไกเสริม แต่ไม่ใช่กลไกหลัก

การดำเนินโครงการร่วมกันระหว่างประเทศพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา จะทำให้ประเทศพัฒนาแล้วสามารถอ้างได้ว่าได้ดำเนินการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในประเทศของตนเองแล้ว กิจกรรมที่อยู่ภายใต้ CDM ได้แก่โครงการด้านพลังงานหมุนเวียน การฟื้นฟูป่า เป็นต้น

คำถามมีอยู่ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความพร้อมหรือยังในการเข้าร่วมกิจกรรมภายใต้โครงการ CDM รัฐบาลชุดปัจจุบันมีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด ที่จะเข้าร่วมโครงการนี้อย่างชาญฉลาด การตอบรับอย่างฉลาดไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องปฏิเสธโครงการ CDM เพราะนั่นอาจหมายถึงการพลาดโอกาสในการผลักดันโครงการพลังงานหมุนเวียน เพียงแต่เราต้องมีความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการโดยจะต้องทำให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาระดับรากหญ้าให้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้เกิดการลดภาวะเรือนกระจกได้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงการโยกย้ายพื้นที่ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น และเราจะต้องไม่ตกเป็นเหยื่อของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันจอมปลอมของประเทศพัฒนาแล้ว

ก่อนที่เราจะเข้าร่วมโครงการ CDM เราจึงต้องมั่นใจว่าจะทำให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง มิฉะนั้นแล้วเราจะกลายเป็นเหยื่อจากการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกอันจอมปลอม
............................................................

วนัน เพิ่มพิบูลย์
กองทุนสัตว์ป่าโลก ประเทศไทย
สำนักข่าวประชาธรรม
77/1 ม.5 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
โทร.053-810779,09-759-9705
Email : newspnn@hotmail.com

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net