Skip to main content
sharethis

เริ่มตาย - ต้นไม้เริ่มทยอยตาย พบเห็นได้ทั่วไปในพื้นที่ประสบภัยซึนามิ โดยใบร่วงหมดทั้งต้น เพราะไม่สามารถทนต่อความเค็มที่ตกค้างจากน้ำทะเลที่ท่วมได้
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ประชาไท - 17 ก.พ.48 ผศ.ปกรณ์ สุวานิช อาจารย์จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเผยผลการศึกษาผลกระทบด้านแหล่งน้ำในพื้นที่ประสบภัยคลื่นยักษ์ซึนามิในงานสัมมนาเชิงวิชาการเรื่อง "สึนามิ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม และทิศทางการฟื้นฟูอย่างบูรณาการ" ว่า ในช่วงฤดูแล้งนี้อาจเกิดวิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำในพื้นที่ เนื่องจากคลื่นยักษ์ชะล้างตะกอนสันดอนปากแม่น้ำจนทำให้ปากน้ำเปิดกว้างมากขึ้น ทำให้การรุกเข้ามาของน้ำทะเลในช่วงเวลาน้ำขึ้นจะเข้าไปไกล และดินข้างเคียงจะรับเอาน้ำเค็มเข้าไปได้ง่าย แต่แก้ไขยาก ขณะที่น้ำจืดก็จะไหลลงทะเลอย่างรวดเร็วจนทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำ

ผศ.ปกรณ์กล่าวว่า นอกจากนี้ในส่วนของน้ำใต้ดินก็ได้รับผลกระทบ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นน้ำใต้ดินระดับตื้น ซึ่งได้รับผลกระทบจากความเค็มหลายทาง ทั้งจากคลื่นโดยตรง จากน้ำเค็มในบ่อที่ขังน้ำทะเลไว้หลังคลื่นถอยกลับ น้ำเค็มรุกเข้ามาแล้วซึมลงสู่บ่อน้ำตื่น รวมทั้งการละลายจากเกลือที่ถูกทิ้งค้างไว้จากผลของคลื่น ซึ่งทำให้เกิดปัญหาดินเค็มและพืชพันธุ์หลายชนิดที่ทนความเค็มไม่ได้เสียหายจำนวนมาก ทั้งนี้ การแก้ปัญหาดินเค็มต้องรอให้ฝนตกลงมาชะล้างความเค็มตามธรรมชาติ เพราะไม่คุ้มค่าหากต้องใช้น้ำจืดฉีดพรมผิวดิน

"น้ำประปาที่ใช้ในพื้นที่ประสบภัยส่วนใหญ่ใช้จากบ่อน้ำตื้นใต้ดินทั้งนั้น และปัจจุบันระบบท่อก็เสียหายทั้งหมด ยกเว้นน้ำประปาที่ต่อท่อมาจากภูเขา แต่ก็มีปริมาณน้อย"

ด้าน ผศ.ดร.กัมปนาท ภักดีกุล อาจารย์จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวถึงแหล่งน้ำจืดในพื้นที่อีกแหล่งหนึ่งว่ามาจากบ่อน้ำขุมเหมืองเก่า ซึ่งเป็นผลมาจากการขุดหน้าดินเพื่อหาแร่ดีบุกในอดีต แต่ขณะนี้ซากปรักหักพังจำนวนมากถูกคลื่นกวาดลงไปอยู่ในขุมเหมืองเก่า รวมทั้งซากศพจำนวนมากด้วยทำให้ชาวบ้านไม่กล้านำน้ำมาใช้อีกต่อไป

"ถึงเก็บกู้ศพหมดแล้ว แต่ชาวบ้านก็ยังไม่กล้าใช้น้ำจากขุมเหมืองเก่า มีทางเดียวคือต้องสูบน้ำออกให้หมด ตักเลนไปทิ้ง แล้วตากหน้าดินให้ชาวบ้านเห็นจึงจะเรียกความมั่นใจกลับมาได้" ผศ.ดร.กัมปนาทกล่าวและว่าแม้ฝายเก็บน้ำหลายแห่งยังใช้การได้ แต่ยังขาดระบบการกระจายน้ำ ซึ่งภาครัฐควรเร่งฟื้นฟูอย่างเร่งด่วนเพื่อบรรเทาวิกฤตขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

เตือนรับมือ "แผ่นดินถล่ม" หนักหน้าฝนนี้

ผศ.ปกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ซึนามิอาจจะเป็นหายนะครั้งใหญ่ที่สุดที่ประเทศไทยเคยเจอ แต่เชื่อว่าคงไม่เกิดขึ้นอีกในชั่วชีวิตนี้ แต่ธรณีพิบัติภัยที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกปีคือแผ่นดินถล่ม โดยขณะนี้พบหลุมยุบอยู่ประมาณ 25 หลุมเกิดในพื้นที่หินปูนทั้งหมด แสดงว่าในพื้นที่มีโพรงอยู่แล้ว มีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 2-20 เมตร ลึก 1-5 เมตร และสามารถยุบลงไปเรื่อยๆ จนกว่าจะทรุดตัวถึงที่สุด

"ถ้าฝนตกหนัก รับรองได้เลยว่าต้องเกิดแผ่นดินถล่มตามมามากมาย โดยเฉพาะที่ราบเชิงเขา ชาวบ้านที่หนีซึนามิขึ้นไปอาจหนีเสือปะจระเข้ อาจจะเสี่ยงกว่าพื้นที่เดิมด้วยซ้ำ" ผศ.ปกรณ์กล่าวพร้อมทั้งอธิบายว่า หน่วยงานทางธรณีวิทยาควรเร่งใช้เครื่องมือทันสมัยทางธรณีฟิสิกส์เข้าไปค้นหาโพรงที่น่าจะเป็นอันตรายต่อประชาชนในพื้นที่ต่างๆ แล้วประกาศให้ประชาชนรับทราบเพื่อป้องกันความเสียหาย

อย่างไรก็ตาม รายงานการสำรวจและประเมินผลกระทบนี้มีทั้งทางกายภาพและชีวภาพ ซึ่งรศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า คาดว่าไม่เกิน 6 เดือนจะแล้วเสร็จเป็นรายงานที่สมบูรณ์ ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลพร้อมที่นำเสนอเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ประชาไทรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net