Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์ ณัฐนิติ วุฒิธรรมปัญญา*
(*จุลสาร ปxป ฉบับที่ 33 สิงหาคม 2546)
--------------------------------------------------------

ปxป ชาวบ้านทราบเมื่อไหร่ว่า กฟผ.จะมาทำเหมืองถ่านหินที่อ.เวียงแหง

ณัฐนิติ วุฒิธรรมปัญญา ชาวบ้านทราบเรื่องมาตั้งนานแล้ว คือ ตั้งแต่มติคณะรัฐมนตรีครั้งแรกที่อนุมัติให้ดำเนินการในปี พ.ศ. 2526 ซึ่งในยุคนั้นชาวเวียงแหงพอใจที่จะให้มีเหมืองฯ

ปxป แสดงว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านไม่ได้คัดค้านโครงการฯ

ณัฐนิติ วุฒิธรรมปัญญา ในยุคนั้นเวียงแหงยังห่างไกลความเจริญ ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรเพื่อยังชีพภายในครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ การคมนาคมติดต่อกับโลกภายนอกยังไม่ดีเหมือนปัจจุบันนี้ เนื่องจากอยู่ในหุบเขาการเดินทางลำบาก ต้องใช้เวลาเดินทาง 2-3 วัน ชาวบ้านพอทราบว่ามีเหมืองแร่มา ก็คิดแต่ว่า อยากให้มีไฟฟ้า ความเจริญ อยากมีงานทำ มีรายได้ พวกเราไม่ได้รู้อะไรมากมายเหมือนปัจจุบันนี้

ปxป หมายถึงว่า มีหน่วยราชการมาให้ข้อมูลว่า จะเกิดอะไรขึ้นบ้างถ้ามีเหมืองถ่านหิน

ณัฐนิติ วุฒิธรรมปัญญา มีเหมือนกันแต่มาชี้แจงกับพ่อหลวง กำนัน กลุ่มแม่บ้าน อบต.เป็นหลัก โดยพาไปดูงานในพื้นที่ต่างๆ โดยอธิบายว่า จะมีการเปิดเหมืองไปใช้ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งจะส่งผลดีต่อชาวเวียงแหงทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ คนเวียงแหงจะได้ความเจริญ อาชีพ ทุกอย่างจะเข้ามาหมด ไม่ว่าจะเป็น งานดี ถนนดี มีร้านค้า

ปxป อะไรที่ทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนความคิด หันมาคัดค้านเหมืองถ่านหิน

ณัฐนิติ วุฒิธรรมปัญญา ปีที่ผ่านมา(2545) ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวบ้านเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากชาวบ้านได้รับทราบข้อมูลข่าวสารจากสื่อฯ นักวิชาการว่า ตัวอย่างและประสบการณ์ของชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่เช่นที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง หรือ อ.ลี้ จ.ลำพูนเป็นอย่างไรบ้าง

ชาวบ้านเดินทางไปดูพื้นที่ที่แม่เมาะ ที่ลี้ด้วยตัวเอง และได้คุยกับชาวบ้านที่นั่น ทำให้ได้เห็นอีกด้านของการทำเหมืองถ่านหิน

ผลทำให้ชาวบ้านเริ่มตื่นตัวอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะล่าสุดหลังจากมีการจัดเวทีในงานปอยส่างลอง โดยเชิญ ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และนักวิชาการมาเสวนาให้ความรู้กับชาวบ้าน ทำให้ชาวเวียงแหงเข้าใจและเริ่มมีรูปธรรมของการคัดค้านอาทิ การขึ้นป้ายคัดค้าน การเรียกร้องขอเข้าไปมีส่วนร่วม

ชาวบ้านได้ข้อสรุปว่า ถ้าหากมีการสร้างเหมืองถ่านหินที่เวียงแหง ชาวเวียงแหงจะได้รับความเดือดร้อนทั้งในเรื่องน้ำแม่แตง ซึ่งเป็นลำน้ำหลักของคนเวียงแหงได้รับผลกระทบถึงขั้นแห้ง เรื่องโรคฝุ่นจากการทำเหมืองและถนนหนทางเสียหายจากการขนส่งถ่านหิน และที่สำคัญคือ ทรัพยากรป่าไม้ถูกทำลาย

ปxป ทำไมเราถึงเชื่อว่า ถ้าทำเหมืองถ่านหินที่เวียงแหงแล้วจะมีปํญหาเหมือนที่แม่เมาะ

ณัฐนิติ วุฒิธรรมปัญญา ที่ตั้งของเวียงแหงเป็นลักษณะแอ่งกระทะ ชาวบ้านกลัวว่า ถ้าทำเหมืองแล้วมีฝุ่นจากการเปิดหน้าดินรวมถึงฝุ่นจากซัลเฟอร์ฯ กระจายอยู่ในอากาศ และจะไม่พัดไปที่อื่น แต่จะปกคลุมตัวเมืองไว้ ถ้าฝนตกก็จะถูกชะลงสู่ลำห้วย ลงสู่ไร่นาชาวบ้าน

ปxป บทสรุปของชาวบ้านหลังจากได้ชั่งน้ำหนักผลดี-เสียของเหมืองถ่านหินแล้ว สรุปว่า ไม่มีดีกว่า?

ณัฐนิติ วุฒิธรรมปัญญา ชาวบ้าน 90 % บอกอย่างนั้น แม้กฟผ.พาไปดูงานที่ดีๆ พวกเราก็ไม่เชื่อ

ปxป ทราบว่า มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาผลกระทบการทำเหมืองเวียงแหง?

ณัฐนิติ วุฒิธรรมปัญญา ครับ เป็นคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย มีส่วนราชการ กฟผ.นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และชาวบ้าน แต่ชาวบ้านไม่พอใจเพราะไม่ไว้ใจ เกรงว่า ทางการจะนำไปอ้างสร้างความชอบธรรมในการขุดเหมือง โดยมีการไปยื่นหนังสือลาออกกับนายอำเภอเวียงแหง แต่นายอำเภอไม่รับกลับบอกว่า เป็นการตั้งที่ถูกกฎหมาย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ลงนามแต่งตั้ง และอยากให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม ซึ่งเราไม่เชื่อเพราะ อย่างบางคนไม่รู้เรื่องไปทำงานอยู่กรุงเทพฯ แต่มีชื่อเข้าเป็นกรรมการฯ

ปxป อย่างไรชาวบ้านก็ไม่ยอมรับ

ณัฐนิติ วุฒิธรรมปัญญา ชาวบ้านพูดชัดเจนว่า ไม่ต้องการให้ขุดและไม่ต้องไปตั้งชื่อเขาเลย เพราะว่า เจตนารมย์ของคณะกรรมการฯ ดังกล่าวเขียนไว้ชัดเจนว่า เพื่อสนับสนุนโครงการให้มีการก่อสร้าง

ทางกฟผ. ทางอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เคยมาจัดเวทีเพื่อชี้แจงกับชาวบ้าน แต่ถูกปฎิเสธ ทั้งยังไม่พอใจอาจารย์มช.ที่ว่า ถ้าขุดเสร็จแล้ว 20 ปี จะย้ายลำห้วย จะเอาดอยทุกลูกมาคืนหมด ต้นไม้ต้นไหนอยู่ที่ไหนก็จะให้อยู่อย่างเดิม ชาวบ้านก็บอกว่า อาจารย์มช.ไร้จิตสำนึก ดูถูกคนเวียงแหง ที่พูดมาเป็นไปได้ที่ไหน

ปxป มีกลุ่มชาวบ้านที่สนับสนุนโครงการบ้างหรือไม่?

ณัฐนิติ วุฒิธรรมปัญญา มีกลุ่มชาวบ้าน บ้านปางบ่อประมาณ 50 % ในพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ โดยกฟผ.ไปตั้งสำนักงานในบริเวณนั้นและบอกกล่าวกับชาวบ้านว่า ชาวบ้านจะได้ขายที่ จะได้มีงานทำ ผมเคยลงไปพูดคุยกับชาวบ้านในแถบนั้น ซึ่งเขาก็เชื่อจริงๆ ว่า การทำเหมืองเป็นโครงการที่ดี เป็นโครงการของรัฐ อย่างไรรัฐคงไม่ทำร้ายประชาชน คงไม่ทิ้งประชาชน

ปxป แล้วจะทำอย่างไรเมื่อชาวบ้านมีความเห็นแตกออกเป็นสองส่วน?

ณัฐนิติ วุฒิธรรมปัญญา ก่อนที่ชาวบ้านจะตัดสินใจอะไรออกไป คือว่า หลังจากที่กฟผ.โฆษณาชวนเชื่อว่า มันดี งบประมาณจะไหลเข้ามาหลายพันล้าน ไหลลงสู่อบต. ชาวบ้านจะมีงานทำ มีเศรษฐกิจที่ดีทั้งทางตรงทางอ้อม อนาคตจะมีแม็คโคร โลตัส

แต่ในอีกมิติหนึ่ง ชาวบ้านคิดว่า หลังจากได้ฟังด้านดีแล้ว ชาวบ้านก็ไปค้นหาด้านเสีย โดยไปฟังข้อมูล ดูตัวอย่างจากแม่เมาะ จากลี้ มาศึกษาดูว่าระหว่างแม่เมาะเองก็ยังแก้ปัญหาไม่จบแล้วยังมาที่เวียงแหงอีกนั้น เกิดจากอะไร ความต้องการไฟฟ้าของเมืองไทย มันเกินอยู่ไหม มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่จะต้องมาขุดที่เวียงแหงอีก ซึ่งโดยภาพรวม ชาวบ้านต้องรู้ด้านเสียเพื่อนำมาชั่งดู ประกอบการตัดสินใจว่า จะเอาหรือไม่เอา ไม่ใช่มีการบล็อคกันขึ้นมา จัดตั้งกันขึ้นมา

ปxป กฟผ.อธิบายว่า โครงการนี้ทำเพื่อประโยชน์ของชาติ เพราะไฟฟ้าก็ใช้กันภายในประเทศ กรณีนี้ชาวเวียงแหงที่คัดค้านโครงการฯ จะอธิบายอย่างไร?

ณัฐนิติ วุฒิธรรมปัญญา ตัวเลขที่นักวิชาการด้านพลังงานและส.ว.ที่ศึกษาเรื่องนี้ ระบุชัดว่า พลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยในปัจจุบัน ยังเกินอยู่ 43% คิดว่า น่าจะเป็นเหตุเป็นผลที่เพียงพอที่จะอธิบายว่า ยังไม่จำเป็นต้องมาขุดเหมือง นอกจากนั้นกรณีของแม่เมาะยังแก้ปัญหาไม่จบ จะมาสร้างเคราะห์กรรมให้ชาวเวียงแหงอีกกว่า 20 ปี เราคงยอมไม่ได้
ความจริง ชาวเวียงแหงก็ให้ความเป็นธรรมกับกฟผ.พอสมควร กล่าวคือ เราก็เห็นความจำเป็นของการใช้พลังงาน แต่ในอดีต กฟผ. ละเมิดสิทธิ มีแต่เอาเงินไปแจกชาวบ้าน แจกวัด ซึ่งความจริงก็คือ เงินภาษีของเรานั้นแหละ

ปxป ในเชิงรูปธรรม ชาวเวียงแหงดำเนินการอย่างไรบ้าง?

ณัฐนิติ วุฒิธรรมปัญญา ชาวบ้านจัดตั้งเป็นเครือข่ายขึ้นมาเพื่อศึกษาข้อมูลการทำเหมืองถ่านหินอย่างรอบด้าน โดยใช้ชื่อว่า เครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อ.เวียงแหง มีการเชิญนักวิชาการภายนอกมาให้ข้อมูล รวมถึงการจัดเวทีร่วมกับเครือข่ายอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

ปxป หน่วยราชการมีปฏิกริยาอย่างไรบ้างกับท่าทีของกลุ่มคัดค้าน?

ณัฐนิติ วุฒิธรรมปัญญา ในครั้งแรกทางอำเภอขึ้นป้ายสนับสนุนโครงการฯ โดยเรียกผู้ใหญบ้านไปรับฟังคำชี้แจง และขอร้องให้อยู่ในคามสงบเรียบร้อย แต่ปัจจุบันนี้เริ่มอ่อนเสียงลงเพราะชาวบ้านยืนยันความคิดไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ

เดี๋ยวนี้ ชาวบ้านกล้ามากขึ้น กล้าที่จะโต้และคัดค้านหน่วยงานรัฐ เพราะเขารู้สึกว่า ภัยกำลังจะมาถึงเขา

ปxป นอกจากชาวเวียงแหงแล้ว เคยได้พูดคุยกับชาวบ้านกลุ่มอื่นๆ บ้างหรือไม่?

ณัฐนิติ วุฒิธรรมปัญญา เคยได้คุยกับเครือข่ายลุ่มน้ำแตงตอนล่าง ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่า จะกระทบต่อผู้ใช้น้ำแม่แตงแน่นอน และพร้อมจะร่วมคัดค้านด้วย เพราะคนใช้น้ำแตง 3-4 อำเภอ อาทิ แม่แตง แม่ริม หางดง รวมถึงเมืองเชียงใหม่ทั้งเมือง ใช้น้ำแตงในการอุปโภคบริโภค การเกษตร

ปxป ในแง่กระบวนการต่อโครงการฯ ชาวบ้านมีข้อเรียกร้องอะไรบ้าง?

ณัฐนิติ วุฒิธรรมปัญญา ชาวบ้านจะต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็น การร่วมพิจารณา การตัดสินใจ การรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ โดยกฟผ.ต้องเปิดเผยข้อมูลให้มากกว่านี้

ประชาไทรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net