Skip to main content
sharethis

พ.ศ.2526-2535 กฟผ.เริ่มเข้ามาสำรวจแหล่งถ่านหินเวียงแหงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2526 และสำรวจขั้นรายละเอียดอีกครั้งในปี พ.ศ. 2530 ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2531 ให้กันพื้นที่แอ่งเวียงแหงให้กับกฟผ.เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ผลการศึกษาทางธรณีวิทยาพบว่า มีปริมาณถ่านหินสำรองประมาณ 139 ล้านตัน แต่เมื่อวิเคราะห์ความต้องการของตลาดในเวลานั้น (2530-2535) พบว่ายังไม่มีความจำเป็นในการพัฒนาแหล่งถ่านหินเวียงแหง เนื่องจากยังไม่คุ้มค่าการลงทุนจึงส่งคืนแหล่งเวียงแหง ตามประสงค์ของกรมทรัพยากรธรณีเพื่อนำไปเปิดประมูล (มติครม.วันที่ 10 มี.ค.2535)

ตุลาคม 2542 กฟผ.เสนอเรื่องขอทบทวนมติ ครม.10 มี.ค. 2535 มีการประชุมร่วมกัน ระหว่างสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) และกฟผ.เพื่อหาข้อสรุป ผลรัฐบาลมีมติให้กฟผ.เป็นผู้ดำเนินการพัฒนาแหล่งถ่านหินเวียงแหง และดำเนินการในรูปของบริษัทร่วมทุน ทั้งนี้ให้กฟผ.ดำเนินการขอประทานบัตร ควบคู่ไปกับการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ซึ่งจะต้องสอดคล้องตามโครงสร้างการแปรรูปกฟผ.

มิถุนายน-กันยายน 2543 เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ขอความเห็นจากหน่วยงานผู้เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม สศช. และคณะกรรมการกำกับงานนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นชอบ ยกเว้น กระทรวงกลาโหมที่แจ้งว่าไม่สามารถโอนพื้นที่ในการดูแลให้ กฟผ. ได้

สิงหาคม 2543 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) เชิญหน่วยงานจาก กฟผ. กระทรวงกลาโหม (กองบัญชาการสูงสุด) กระทรวงมหาดไทย สภาความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม มาหารือเพิ่มเติม จนกระทั่ง ในเดือนกันยายน 2543 กระทรวงกลาโหม (โดยกองบัญชาการทหารสูงสุด) อนุญาตให้กฟผ.ใช้พื้นที่ในความควบคุมดูแลเพื่อพัฒนาเหมืองเวียงแหงได้

25 กันยายน 2544 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้อนุมัติให้กฟผ.เข้าไปใช้โดยไม่ต้องมีการประมูล โดยมีเงื่อนไขกำหนดให้ กฟผ.จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ในการพัฒนาแหล่งถ่านหินเวียงแหง หากรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเรียบ ร้อยแล้ว จึงให้ กฟผ. นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง

มกราคม 45 กฟผ.เริ่มการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) โดยให้คณะวิศวกรรม ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินการ

สิงหาคม 2545 คณะผู้จัดทำรายงานผลกระทบฯ ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญไปศึกษาข้อมูลเบื้องต้น ในพื้นที่ เพื่อเตรียมตัวจัดทำข้อเสนอโครงการฯ

กรกฎาคม 2546 ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์เวียงแหงและเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำปิงตอนบน เดินทางเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เพื่อขอให้ยกเลิกโครงการเหมืองถ่านหินเวียงแหง

มกราคม 2547 คณะผู้จัดทำรายงานผลกระทบฯ ลงพื้นที่ อ.เวียงแหงอีกครั้งเพื่อระดมความคิดเห็นชาวบ้านในการร่างกรอบการศึกษา ปรากฏว่า ชาวเวียงแหงกว่า 90 % ก็ได้แสดงเจตจำนงว่า ไม่เอาเหมืองลิกไนต์

พฤษภาคม 2547 ชาวบ้านเวียงแหงเข้ายื่นหนังสือถึงรองอธิการบดีมหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ขอให้พิจารณายกเลิกการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมโครงการเหมืองถ่านหินเวียงแหง เนื่องจากเป็นการสนับสนุนให้ทำร้ายคนเวียงแหง

มกราคม 2548 ตัวแทนชาวบ้านอ.เวียงแหงที่คัดค้านโครงการฯ ร่วมชุมนุมกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแลโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินทั่วประเทศ ประท้วงเวทีประชุมถ่านหินโลก ที่ จ.ลำปาง โดยก่อนหน้านี้ 1 วัน มีรายงานข่าวการชุมนุมสนับสนุนเหมืองถ่านหินที่ อ.เวียงแหง

ประชาไทรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net