Skip to main content
sharethis

โครงการเหมืองถ่านหินเวียงแหง อยู่ห่างจากตัวอำเภอเวียงแหงไปทางทิศเหนือประมาณ 7กม. มีพื้นที่ประมาณ 9 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 8 หมู่บ้าน ในเขตพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ บ้านกองลม ต.เมืองแหง บ้านปางป๋อ บ้านม่วงป๊อก บ้านมหาธาตุ บ้านสามปู ต.แสนไห และบ้านจอง บ้านม่วงเครือ บ้านห้วยไคร้ ต.เปียงหลวง โดยแบ่งเป็นพื้นที่ทิ้งดิน 3 แห่งและพื้นที่ทำเหมือง

พื้นที่ของโครงการบางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ บางส่วนอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติป่าเชียงดาว และป่าลุ่มน้ำแม่ฝาง และเส้นทางขนส่งหน้าดินและถ่านหินลิกไนต์เลี่ยงชุมชนบางระยะอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์

การดำเนินการทำเหมืองถ่านหินเวียงแหง จะใช้วิธีทำเหมืองเปิด โดยการขุดเปิดเปลือกดิน แล้วขนไปยังที่ทิ้งดินที่กำหนดไว้ แล้วจึงขุดตักถ่านหินไปใช้ประโยชน์ ผลการศึกษาทางธรณีวิทยาพบว่า แหล่งถ่านหินที่เวียงแหงมีปริมาณสำรองรวมกันทั้งสิ้น ประมาณ 139 ล้านตัน ซึ่งมีปริมาณสำรองที่คุ้มทุนประมาณ 15 ล้านตัน

จากการสำรวจของ กฟผ.พบว่า แหล่งปางป๋อมีศักยภาพมากที่สุดในการพัฒนาเหมืองเวียงแหง และอ้างว่าเป็นถ่านหินคุณภาพดีกว่าที่เหมืองแม่เมาะ กล่าวคือเป็นถ่านหินประเภท Lignite และ Subbituminous มีค่าความร้อน Net heating value เฉลี่ยประมาณ 3,100 Kcal/kg และGross heating value เฉลี่ย ประมาณ 3,700 Kcal/kg ความชื้นเฉลี่ยประมาณ 32% โดยน้ำหนัก ขี้เถ้าเฉลี่ยประมาณ 15% โดยน้ำหนัก และกำมะถันเฉลี่ย (As Received Basis) ประมาณ 1% โดยน้ำหนัก

กฟผ.ระบุว่า ถ่านหินจากเวียงแหงในระยะแรกกรณีที่ขุดขึ้นมาใช้จะมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 7,500 ล้านบาท สามารถทดแทนการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ในยุคที่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นในปัจจุบัน จึงช่วยให้รัฐบาลสามารถรักษาการสูญเสียเงินตราต่างประเทศไว้ได้ส่วนหนึ่งทั้งเป็นการเสริมความมั่นคงให้กับระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศ เนื่องจากสามารถเดินเครื่องโรงไฟฟ้าแม่เมาะทุกเครื่องได้อย่างเต็มประสิทธิภาพซึ่งนับเป็นประโยชน์สูงสุด ช่วยลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน อันเนื่องมาจากปัญหามลพิษในบรรยากาศบริเวณชุมชนใกล้โรงไฟฟ้าแม่เมาะ และจังหวัดลำปาง ในระยะยาว

ทั้งนี้กฟผ.เชื่อว่า การพัฒนาเหมืองเวียงแหงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาทางด้านสังคมและเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาค สร้างความเจริญให้กับท้องถิ่นและประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการพัฒนาเหมืองประชาชนจะมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เนื่องจากมีการกระจายรายได้ เกิดการหมุนเวียนของกระแสเงิน เงินค่าภาคหลวงที่จะกลับคืนพัฒนาในท้องถิ่น ก่อให้เกิดการพัฒนาอาชีพและทำให้ประชาชนมีงานทำเพิ่มขึ้น เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง

ประชาไทรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net