Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-2 ก.พ.2548 ที่สถาบันทางวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเวที"จากชนกลุ่มน้อยชาวไทยภูเขาติดแผ่นดิน ถึงคนไร้สัญชาติ-ไร้รัฐ และนโยบายรัฐที่มีผลกระทบต่อชนเผ่าและชาติพันธุ์" โดยมีตัวแทนแต่ละชนเผ่า นักวิชาการ และนักพัฒนาด้านสิทธิชนเผ่า จำนวน 50 คน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น ในประเด็นยุทธศาสตร์การจัดการกลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ หรือการแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติ ที่ สมช.และทีมนักวิชาการยกร่างขึ้น

นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด กองเลขานุการสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) และเครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือ กล่าวว่า ก่อนหน้านั้น ทาง สกน.ได้ทำหนังสือถึงรัฐบาล ขอให้ทบทวนและชะลอการพิจารณาแผนยุทธศาสตร์ที่ทาง สมช.ได้ร่างขึ้นไว้ก่อน เนื่องจากเนื้อหาสาระของร่างดังกล่าว ไม่ได้มุ่งแก้ไขปัญหาชาวเขา แต่กลับไปจำกัดสิทธิและสถานะให้ชาวเขาต้องกลายเป็นคนต่างด้าว

"แต่ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา กลับมีมติ ครม.ออกมาเห็นชอบในหลักการ ของร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว จึงถือว่ารัฐบาลชุดนี้ลักไก่และไม่มีความชอบธรรม ทั้งที่เป็นรัฐบาลชั่วคราว ถือว่าเป็นการจองจำด้วยกฎหมาย" นายสุริยันต์ กล่าว

ศ.ดร.ชูพินิจ เกษมณี จากมหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ(มศว.) และนายกสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาแห่งประเทศไทย(ศวท.) กล่าวว่า ร่างฯดังกล่าวพบข้อบกพร่อง เช่น คณะกรรมการที่ร่วมกันร่างไม่ได้มีผู้ที่มีประสบการณ์ทำงานเกี่ยวกับชนเผ่าบนพื้นที่สูงเลยจึงขาดความรู้ความเข้าใจ อีกทั้งไม่มีตัวแทนชนเผ่าเข้าร่วมพิจารณาด้วย และข้อมูลที่กรมการปกครอง หรือของ สมช.สำรวจบุคคลบนพื้นที่สูงมีตัวเลขไม่เคยชัดเจนไม่ตรงกับความเป็นจริงซึ่งเป็นที่น่าสงสัยอย่างมาก

ก่อนนั้นการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาเรื่องสถานะบุคคลบนพื้นที่สูงจะอิงนโยบายมากกว่า กฎหมาย แต่ล่าสุดมีการพลิกผันเมื่อมีนักกฎหมายได้พยายามใช้หลักของกฎหมายเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งจริงๆ แล้วการพิจารณาการให้สัญชาตินั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของราชการของนายอำเภอว่าจะให้หรือไม่ให้
"ในสมัยที่นายพระนาย สุวรรณรัฐ เป็นนายอำเภออมก๋อย เขามีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปตามหมู่บ้านบนดอย และพิจารณาให้สัญชาติไทยแก่ชนเผ่ากะเหรี่ยง ได้กว่า 5,000 คน แต่นายอำเภอยุคนี้หวาดระแวงกลัวผิดพลาดเหมือนกรณีการถอนสัญชาติที่แม่อาย" ศ.ดร.ชูพินิจ กล่าว

ในขณะที่ นายสุมิตรชัย หัตถสาร ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่า จริงๆ แล้ว ปัญหาเรื่องสัญชาตินี้ไม่ได้ซับซ้อน ทุกประเทศทั่วโลกเขาก็ปฏิบัติกันได้และชัดเจนแต่ประเทศไทยมันติดขัดและยุ่งยาก ก็เพราะ สมช.เท่านั้นเพราะคิดแต่ความมั่นคงไม่คิดถึงความเป็นมนุษย์ ทั้งๆ ที่ พ.ร.บ.สัญชาติ นั้น อำนาจและการปฏิบัติขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับทาง สมช.เลย

"เมื่อดูจากร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวแล้วยิ่งรู้ว่ามันผิดหลักหลายเรื่อง ไม่ว่าประเด็นการแปลงสัญชาติ ที่ระบุว่า ต้องมีความรู้ความเข้าใจในภาษาไทยหรือต้องบรรลุนิติภาวะ อายุ 20 ปีขึ้นไปจึงจะมีสิทธิ์แปลงสัญชาติได้ หากเป็นเช่นนั้นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องกลายเป็นคนไร้สัญชาติได้รับผลกระทบหนักอย่างแน่นอน ดังนั้นตนไม่เชื่อว่าวิธีคิดของคณะกรรมการชุดนี้จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้" นายสุมิตรชัย กล่าว

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือ รายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net