Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคใต้- 23 ม.ค.48 "เราเชื่อว่าทั้ง 78 ศพ ไม่ได้เสียชีวิตจากการปฏิบัติโดยชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ อาจเป็นการประมาทหรือจงใจ ซึ่งสภาทนายความจะพิสูจน์ว่าเจ้าหน้าที่กระทำโดยมิชอบ ให้ศาลเห็นและเจ้าหน้าที่จะถูกดำเนินคดี" นายสมชายกล่าว

เมื่อเวลา 10.00 น. ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี จังหวัดปัตตานี นายสมชาย หอมละออ ประธานคณะ กรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ เป็นประธานในที่ประชุมเตรียมความพร้อมการทำคดีที่ตำรวจฟ้องผู้ชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.47 คดีชันสูตรพลิกศพผู้ชุมนุม 78 คน ซึ่งเสียชีวิตระหว่างการขนย้ายจากหน้าที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบมายังค่ายอิงคยุทธบริหาร โดยมีทนายจากสภาทนายความ 3 จังหวัด คือ ปัตตานี นราธิวาสและยะลา 20 คน โดยมีนางนัยนา สุภาพึ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้าร่วม

นายสมชาย กล่าวว่า เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ มีคดีที่สำคัญ 2 คดี คือ นอกจากคดี
การไต่สวนการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมระหว่างการขนย้าย 78 ศพ ซึ่งพนักงานอัยการ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดปัตตานีแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดปัตตานี โดยคดีนี้ญาติของผู้เสียชีวิตบางคน ได้มอบหมายให้ทนายจากสภาทนายความทำหน้าที่ซักถามพยานแล้ว

ยังมีคดีฟ้องผู้ชุมนุม 58 คน ข้อหาร่วมกันชุมนุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อเหตุความไม่สงบ มีอาวุธปืนและวัตถุระเบิดในครอบครอง เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก อั้งยี่ ซ่องโจร โดยทั้งหมดได้ขอความเป็นธรรมไปยังอัยการสูงสุด ซึ่งอัยการสูงสุดได้ให้พนักงานสอบสวน สอบปากคำเพิ่มเติม สภาทนายความจึงหวังว่า อัยการจังหวัดจะมีคำสั่งไม่ฟ้อง เพราะทั้ง 58 คนเป็นผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ เพราะพวกเขาออกมาชุมนุมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

"เป็นเรื่องน่าแปลกที่นายกรัฐมนตรีเคยพูดว่า คนที่เข้าร่วมชุมนุมเป็นคนมาจากที่อื่น ไม่ใช่คนตากใบ แต่ปรากฏว่าผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาทั้ง 58 คน เป็นคนตากใบทั้งหมด ฉะนั้นคำพูดของนายกรัฐ
มนตรีจึงเป็นการใส่ความ ซึ่งจากการตรวจสอบผู้ชุมนุมไม่มีการใช้ยาเสพติดและไม่มีหลักฐานว่ามีการใช้อาวุธ ไม่มีพฤติกรรมว่าจะเผาทำลายทรัพย์สินของทางราชการ แต่เป็นการชุมนุมตามสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ออกมาชุมนุมด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น เรียกร้องปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ออกมาดู เป็นต้น เพราะฉะนั้นถ้ามีคำสั่งไม่ฟ้องแล้ว จะเป็นการเยียวยาพี่น้องมุสลิม ไม่เฉพาะที่นราธิวาสเท่านั้น แต่เป็นการเยียวยาพี่น้องมุสลิมทั้งหมดด้วย" นายสมชายกล่าว

นายสมชาย ยังกล่าวต่อว่า ที่ประชุมมีความวิตกเรื่องการใช้อำนาจของทหาร โดยเฉพาะการอ้างกฎอัยการศึกในการควบคุมตัวผู้ต้องหา เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีการจับกุมทั้งทหารและตำรวจจะไม่ให้ญาติ หรือทนายเข้าพบผู้ถูกควบคุมตัว ซึ่งน่าจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 239 วรรค 3 ซึ่งเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลที่ถูกจับกุมคุมขังมีสิทธิที่จะพบทนายหรือให้ญาติเข้าเยี่ยมได้ตามเหตุอันควร

ประเด็นต่อมาคือ ช่วงที่ผ่านมาไม่นานมานี้ มีหลายครั้งที่เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ หลอกลวงชาวบ้านว่า จะให้เข้าเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวได้ เช่น บอกว่าพรุ่งนี้ให้มาเยี่ยมได้ แต่การณ์ไม่เป็นดังนั้น หรือไม่ทันที่ญาติจะเข้าเยี่ยม เจ้าหน้าที่ได้ส่งตัวผู้ถูกควบคุมตัวเข้ากรงุเทพ เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้แม้ไม่ผิดศีลธรรม แต่จะทำให้ราษฎรขาดความเชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่รัฐได้ ซึ่งสภาทนายความจะนำเรื่องการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกให้ศาลพิจารณา ระหว่างการพิจารณาคดีด้วย

ทั้งนี้ในวันที่ 14 ก.พ.นี้ สภาทนายความร่วมกับ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะจัดเสวนาเรื่อง "สิทธิของประชาชนภายใต้กฎอัยการศึก" ขึ้น ที่มหาวิทยาลันสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อให้ประชาชนทั่วไปทราบถึงสิทธิของตนเอง โดยเฉพาะเมื่อถูกควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึก

ประชาไทรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net