Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 23 ม.ค.48 "วันนี้เราคุยกันมากมายว่าทางเลือกในอนาคตจะทำอย่างไร แต่ตอนนี้ที่ชาวแม่เมาะกำลังประสบอยู่มันเลือกไม่ได้แล้ว เราไม่ได้ต่อต้านแล้ว เราถามกฟผ. ว่าหยุดได้ไหม เขาบอกว่าหยุดไม่ได้ เราบอกว่าย้ายเราออกไปได้ไหม เขาเฉย แล้วก็ให้ของขวัญโดยปล่อยให้ชาวบ้านตายลงไปเรื่อยๆ ตรงนี้เราจะทำยังไง" นางหทัยรัตน์ สมแจ้ง ชาวบ้านห้วยคิง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปางกล่าว

น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ส.ว.อุลราชธานี กล่าวว่า เครื่องมือของประชาชนในการต่อสู้เรื่องนี้มีอยู่ 3 อย่าง ประการแรก ต้องตระหนักว่าประชาชนสามารถกำหนดโชคชะตาของตนเองได้ ดังนั้นจึงต้องสนใจในเรื่องนโยบายพลังงาน การจัดการพลังงานแห่งชาติ เพราะถ้าให้ระบบการเมืองจัดการ นอกจากจะมาแย่งชิงทรัพยากร ทำลายชุมชนแล้ว ยังพบว่ามีการทุจริตกันอย่างมโหฬาร

ประการต่อมา รัฐธรรมนูญระบุชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนโยบายสาธารณะว่า รัฐบาลต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชนเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะแผ่นดินนี้เป็นของประชาชน ประชาชนไม่ได้อาศัยใครอยู่ แต่ต้องสร้างนโยบายสาธารณะบนฐานขององค์ความรู้ งานวิจัยชุมชนต่างๆ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นว่าดีแต่กดดัน แต่นำเสนอไม่ได้

นอกจากนี้ภาคประชาชนต้องทำงานโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง แล้วขยายเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบทั่วประเทศ รวมถึง นักวิชาการ เอ็นจีโอ หรือกระทั่งส.ว. ด้วย

"เรากำลังต่อสู้กับระบบทุนนิยมผูกขาด ที่ผูกไว้กับคนไม่ถึง 10 ตระกูล เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าการเมืองก็คงยังไม่เปลี่ยนโฉมหน้า แต่เรามีกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นหลัก เราต้องยึดไว้ แล้วต่อสู้ให้เป็นไปตามนั้น อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการพัฒนาสังคมฯ วุฒิสภา และคณะกรรมการสิทธิจะลงพื้นที่สำรวจปัญหาที่แม่เมาะราวเดือนหน้า" น.พ.นิรันดร์กล่าว

นายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีการกำหนดสิทธิของประชาชนอย่างชัดเจน และภาคประชาชนสามารถอ้างรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งคล่องตัวกว่าการร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มักยกกฎหมายลูกต่างๆ ล้มล้างสิทธิชุมชน และสิทธิเสรีภาพของประชาชน

นอกจากนี้นายวสันต์ยังเรียกร้องให้มีการแก้ไขปรับปรุงรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ว่า การทำอีไอเอต้องรวมด้านเศรษฐกิจและ สังคม พร้อมทั้งเพิ่มเติมด้วยว่า หากผลการศึกษาพบว่าไม่คุ้มค่าต้องไม่ทำโครงการดังกล่าว ไม่ใช่หาทางแก้ไขเพื่อลดผลกระทบ รวมทั้งต้องจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างจริงจัง

แนะชาวแม่เมาะพึ่ง "ศาลปกครอง"

นายวรวิทย์ เจริญเลิศ อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คำตอบที่ดีที่สุดสำหรับภาคประชาชนคือต้องพึ่งตนเอง โดยการรวมกลุ่มที่มีเอกภาพ ที่ผ่านมาชาวบ้านหวังพึ่งรัฐในการแก้ปัญหา แต่แนวคิดของรัฐแก้ปัญหาชาวบ้านไม่ได้ เพราะถูกจำกัดด้วยกรอบว่าด้วยต้นทุนต่ำสุดในการผลิต ไม่ใช่จะให้ปฏิเสธรัฐแต่ชาวบ้านต้องเป็นคนกำหนดแนวทางความช่วยเหลือ

นายวรวิทย์ กล่าวต่อว่า โดยเฉพาะชาวแม่เมาะต้องเข้าใจว่าความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเป็นโรคสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องมีระบบการเข้าถึงแพทย์อย่างทันท่วงที และมีการรักษาอย่างเข้าใจ แต่ที่ผ่านมาปัญหาเรื่องสุขภาพยิ่งรุนแรงและเรื้อรัง โดยแพทย์ในพื้นที่ก็เพียงรักษาตามอาการและไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ว่าสาเหตุของโรคคืออะไร จนกระทั่งมีการส่งตัวคนไข้มาร.พ.ราชวิถี จึงได้เริ่มรู้กันว่าเป็นเพราะก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งโรงไฟฟ้าแม่เมาะปล่อยออกมาจำนวนมหาศาล

"เมื่อปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข การนำเอาเรื่องนี้เข้าสู่ศาลปกครอง ก็น่าจะเป็นการผลักดันที่ดี ในการเรียกร้องสิทธิและสร้างมาตรฐานต่อไปในอนาคตด้วย" นายวรวิทย์กล่าว

ประชาไทรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net