Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-15 ม.ค.48 ที่มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่ ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนทางด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยพายัพ ได้จัดเสวนาเรื่อง แนวคิดและวิธีการแก้ไขผลกระทบของมาตรา 7 ทวิ วรรค 3 แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ(ฉบับที่ 2 และ 3) พ.ศ.2535 ต่อเด็กไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทย

รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในตัวบทบัญญัติ มาตรา 7 ทวิ วรรค 3 แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2535 นั้น มีความขัดแย้งต่อหลักความเท่าเทียมของมนุษย์ ตามมาตรา 30 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ซึ่งจะมีผลทำให้บุคคลที่เกิดในประเทศไทย ไม่อาจได้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยอนุมัติ จนทำให้บุคคลส่วนหนึ่งในประเทศไทยตกเป็นคนไร้สัญชาติ

นายจรัล ดิษฐาอภิชัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะมีการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.สัญชาติ ในมาตรา 7 ทวิ วรรค 3 ซึ่งไปทำลายสิทธิพลเมืองตั้งแต่เกิด เพราะฉะนั้น ในส่วนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะร่วมกันผลักดันเสนอร่างเข้าสู่รัฐสภา แต่ต้องจำเป็นต้องอาศัยพลังจากกลุ่มต่างๆ ที่จะไปกระตุ้นให้ ส.ส. หรือ ส.ว. เห็นด้วย เพราะปัญหาเหล่านี้ คนในสังคมส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ ซึ่งหลายคนเห็นตัวเลขคนไร้สัญชาติแล้วน่าตกใจ

นายจอน อึ้งภากรณ์ สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นตัวแทนจากคณะอนุกรรมการการศึกษาหามาตรการในการแก้ไขปัญหาเด็กไร้สัญชาติ วุฒิสภา กล่าวว่า ขอให้มีการตัดมาตรา 7 วรรค 3 เพราะถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อสามัญสำนึก เป็นการตราบาปให้แก่เด็กที่เกิดมาในแผ่นดินไทย

"แต่การแก้ไขกฎหมายนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ ในส่วนของวุฒิสภา ส่วนใหญ่ยังมีความคิดค่อนข้างอนุรักษ์ ดังนั้นต้องพยายามทำความเข้าใจ และเราอาจจะอาศัยศาลรัฐธรรมนูญ ตีความว่า กฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเราจะต้องหาทางสายกลาง ว่าทำอย่างไรจึงจะให้คนกลุ่มนี้ที่อยู่ในประเทศไทย ได้รับสิทธิและสัญชาติไทยได้" นายจอน กล่าว

นายจอน ยังแสดงความคิดเห็นอีกว่า ในส่วนตัวตนมองคนละด้านกับที่รัฐระบุว่า ถ้าให้สัญชาติไทยแล้ว อาจจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ แต่ตนคิดว่า การไม่ให้สิทธิ การกีดกันคนไม่ให้สัญชาตินั้น ถือว่า เป็นภัยต่อความมั่นคงยิ่งกว่า เพราะคนไร้สัญชาติไม่สามารถประกอบอาชีพสุจริตได้ ต่อไปอาจต้องประกอบอาชีพที่ผิดกฎหมาย

ส่วนทางด้านนางจิราพร บุนนาค รองเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ทางสมช. ได้เปลี่ยนมิติคิดให้สอดคล้องกันมากขึ้น หัวใจความมั่นคงของชาติ คือความมั่นคงของประชาชน โดยมีแนวคิดคือต้องคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน แนวคิดเรื่องสันติวิธี และให้ความสำคัญต่อคุณค่า และยอมรับในด้านอัตลักษณ์ของคนทุกกลุ่ม

ด้าน นายฤาชัย เจริญทรัพย์ ตัวแทนจาก กรมการปกครอง ในฐานะผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติ กล่าวว่า รับรู้ปัญหาผลกระทบทุกอย่าง ซึ่งตนเห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขทั้ง 3 ช่องทางว่า เราจะทำอย่างไร จึงจะปรับเปลี่ยนให้เกิดความสมดุล จะยังใช้กฎหมายเดิม หรือว่า จะตัดเฉพาะมาตรา 7 ทวิ วรรค 3 หรือว่า จะตัดกฎหมายนี้ทั้งหมด

นายชาญเชาว์ ไชยานุกิจ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ก่อนที่จะแก้ไขมาตราดังกล่าว ต้องมีการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนก่อน คือ ต้องปรับปรุงกระบวนทัศน์ ปรับวิธีคิดให้ตรงกัน ปรับโครงสร้างให้ชัดเจน หลังจากนั้น ต้องกำหนดระบบสถานบุคคลให้ชัดเจน ไม่ใช่ว่า เขาเกิดในไทย แต่จะไล่เขาออกนอกประเทศ

"และขอเสนอให้มีการพัฒนระบบการตรวจคนเข้าเมือง ระบบการถอนสัญชาติที่มีปัญหาจริงๆ พัฒนาระบบการให้สัญชาติ รวมไปถึงการกำหนดกฎเกณฑ์การแบ่งดินแดนให้ชัด เมื่อทุกอย่างพร้อม ก็ขอให้ยกเลิกบทบัญญัติ มาตรา 7 ทวิ วรรค 3 ในที่สุด" อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กล่าว

ในส่วนของ นายสุรพงศ์ กองจันทึก อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติและผู้พลัดถิ่น กล่าวว่า พ.ร.บ.สัญชาติ มาตรา 7 ทวิ วรรค 3 นี้ ถือว่าเป็นมาตราตราบาปตั้งแต่กำเนิด เป็นการทำให้เด็กติดคุกตั้งแต่ออกจากท้องแม่ ซึ่งที่ผ่านมานั้น พวกเขามีทางเลือกอยู่เพียง 2 ทาง คือ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับส่งฟ้องศาล และถูกผลักดันให้ออกนอกประเทศ โดยผลักดันพ่อแม่ออกนอกประเทศ ส่วนลูกที่ยังเล็กให้อยู่ในประเทศไทย ซึ่งตนเห็นว่า ขัดต่อหลักสิทธิครอบครัว ที่ต้องพรากลูกพรากแม่ออกจากกัน

"ดังนั้น ต้องแก้ไขปัญหานี้โดยเร่งด่วน คือ ต้องให้ความคุ้มครองแก่คนไร้สัญชาติ โดยเฉพาะเด็กไร้สัญชาติ และต้องแก้ไขกันทุกมาตรา ทั้งระบบ" นายสุรพงศ์ กล่าว

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net