Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 6 ม.ค.48 "ขณะนี้ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เร่งหารือกันเกี่ยวกับการเยียวยาสังคม ซึ่งร่วมถึงสภาพจิตใจและวิถีชีวิตของชาวบ้านเพื่อเป็นข้อเสนอแนะของรัฐบาล" ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวถึงข้อเสนอเพิ่มเติมในขณะที่รัฐบาลมุ่งฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจและธุรกิจการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์ซึนามิอย่างเร่งด่วน

ศ.เสน่ห์ กล่าวว่า ประเด็นแรกที่จะนำเสนอคือ ไม่ควรกำหนดเวลาค้นหาผู้สูญหาย เพราะหากยุติการค้นหาก็เท่ากนละเลยคนที่ได้รับความบอบช้ำทางจิตใจ ประเด็นที่สองคือ การให้ความช่วยเหลือ ภาครัฐควรร่วมมือกับภาคประชาชนในการแก้ปัญหา เพราะคนในพื้นที่ย่อมรู้ดีที่สุดว่าพวกเขาต้องการอะไร

อีกทั้งการช่วยเหลือควรเป็นไปอย่างทั่วถึงและเสมอภาค ไม่จำกัดเชื้อชาติและภาษา และควรให้ความสำคัญกับชีวิตของคนในชุมชน โดยเฉพาะความเสียหายต่อการประกอบอาชีพ ต้องคำนึงถึงชุมชนที่มีวิถีชีวิตอิงอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติก่อน เช่น ชุมชนประมงพื้นบ้าน

ในส่วนของการสร้างที่อยู่อาศัยถาวรก็ควรทำให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน และให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ นอกจากนี้ควรเร่งให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ได้รับความสนใจ และควรให้ความช่วยเหลือที่หลากหลายมากกว่าด้านการเงิน

ประเด็นสำคัญที่สุดคือ การเร่งฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นทุนพื้นฐานของประเทศให้กลับคืนอย่างที่ธรรมชาติเคยสร้างมา ปรับเปลี่ยนธุรกิจท่องเที่ยวให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างแท้จริง

"การรักษาสมดุลธรรมชาติเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ยืนยาวกว่าธุรกิจท่องเที่ยวแบบฉวยซึ่งธุรกิจได้กำไรแต่สังคมขาดทุน และทรัพยากรธรรมชาติยังเป็นตัวช่วยป้องกันภัยธรรมชาติในลักษณะนี้ที่อาจขึ้นอีกในอนาคต" ศ.เสน่ห์กล่าว

นางสุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า รัฐควรเร่งให้ความช่วยเหลือคนชายขอบ เช่น ชาวมอแกนที่ยังไม่มีสัญชาติ และบางคนที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ในการถือครองที่ดิน โดยขณะนี้เริ่มมีการฉกฉวยโอกาสจากผู้ประสบภัยเข้าจับจองที่ดินเพื่อทำธุรกิจรีสอร์ตแล้ว

นอกจากนี้นายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังเสนอเพิ่มเติมด้วยว่า ศูนย์ช่วยเหลือต่างๆ ควรมีการประสานการจัดการให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการติดตามค้นหาผู้สูญหาย

ประชาไทรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net