Skip to main content
sharethis

รายงานการพิจารณาศึกษา ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วุฒิสภา
เรื่อง กรณีความรุนแรงที่ตากใบกับปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

1. ความเป็นมา

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เกิดเหตุรุนแรงขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐอ้างว่าเข้าสลายการชุมนุมของประชาชนบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส และได้ควบคุมตัวผู้ชุมนุมขึ้นรถบรรทุกของทางราชการเพื่อนำตัวไปส่งยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ต่อมามีรายงานข่าวว่า ระหว่างการสลายการชุมนุมและการขนส่งผู้ถูกจับกุมไปยังจุดหมายนั้น ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตในเบื้องต้น 85 คน

คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา ได้รับหนังสือร้องเรียนจากองค์กรภาคประชาชนขอให้ดำเนินการสอบสวนศึกษาหาข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว โดยคณะกรรมาธิการฯ มีความตระหนักเป็นเบื้องต้นว่า กรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สร้างความสะเทือนใจแก่ประชาชนทั้งในและต่างประเทศ เกิดความคลางแคลงสงสัย ประชาชนบางส่วนถึงกับตั้งข้อครหากับรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ราชการไปต่าง ๆ นานา ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการแก้ปัญหาของประเทศชาติในระยะยาว

2. วัตถุประสงค์ของการศึกษา

คณะกรรมาธิการฯ มีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐและรัฐบาลให้เป็นไปตามกฎหมาย มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อชีวิตของประชาชนที่ถูกเข่นฆ่าโดยตกเป็นเหยื่อความบ้าคลั่งของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็ตระหนักว่า ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ไม่เพียงต้องตกเป็นเหยื่อของโจรร้ายเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นเหยื่อของการใช้อำนาจหน้าที่ และความรุนแรงที่ผิด ๆ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่นเดียวกัน

คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ สภ.อ.ตากใบนั้น เมื่อวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ภายใต้บริบทของสภาพปัญหาในพื้นที่ซึ่งต่อเนื่องมายาวนานแล้ว หากประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต รวมทั้งประชาชนในภูมิภาคอื่นทั่วประเทศ ไม่ได้รับรู้ข้อมูลและเข้าใจข้อเท็จจริงอย่างถ่องแท้ ก็อาจจะนำไปสู่การฉวยโอกาสสร้างความรู้สึกแตกแยก แบ่งแยกสังคม ปลุกระดมหรือกระตุ้นให้เกิดความเคียดแค้น เกลียดชัง และชี้นำสังคมไปสู่การใช้ความรุนแรงตอบโต้กันอย่างไม่รู้จบ กระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์และการพัฒนาสังคมโดยรวมอย่างร้ายแรง

คณะกรรมาธิการฯ จึงได้พิจารณาดำเนินการสอบสวนศึกษาในกรณีดังกล่าว เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงต่อสาธารณชน

3. วิธีการศึกษา

คณะกรรมาธิการฯ ได้ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ร่วมกับคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ และคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาความมั่นคงในจังหวัดภาคใต้ 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2547 และวันที่ 5-6 พฤศจิกายน 2547 โดยได้ประชุมรับฟังคำชี้แจงจาก พลโท พิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาค 4 พลตรี สินชัย นุตสถิตย์ รองแม่ทัพภาค 4 พลตรี เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 ค่ายอิงคยุทธบริหาร พันเอก เอกศักดิ์ สังฃ์ศิริ รองเสนาธิการกองทัพภาคที่ 4 ร้อยโท นายแพทย์จีระศักดิ์ อินทะสอน รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร และคณะเจ้าหน้าที่ราชการที่เกี่ยวข้อง ทหาร ตำรวจ แพทย์ ประชาชนผู้ได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์ ตลอดจนได้รับฟังความคิดเห็นของผู้นำศาสนาอิสลาม ได้แก่ นายอับดุลเร๊าะห์มาน อับดุลศอมัด ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส และนายอับดุลรอซัค อาลี เลขานุการคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์ ตลอดจนได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์ ผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ และญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต

คณะกรรมาธิการฯ ได้ประชุมพิจารณา โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องและนักวิชาการเข้าร่วมประชุมชี้แจง หลายกลุ่ม คือ การประชุมวันที่ 4 พฤศจิกายน 2547 นายมารค ตามไท รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี สภาความมั่นคงแห่งชาติ / อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมประชุมชี้แจง

การประชุมวันที่ 15 พฤศจิกายน 2547 พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ร.ท.นพ.จีระศักดิ์ อินทะสอน รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร (รักษาการผู้อำนวยการ) นายจรัล ดิษฐาอภิชัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายสมชาย หอมลออ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ร่วมประชุมชี้แจง

การประชุมวันที่ 17 พฤศจิกายน 2547 พญ.พรจิต จันทรัศมี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปัตตานี และ นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ร่วมประชุมชี้แจง

การประชุมวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 นายสมเกียรติ บุญชู ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคง สภาความมั่นคงแห่งชาติ ร่วมประชุมชี้แจง

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ ยังได้พิจารณาประกอบหลักฐานภาพถ่ายหนังสือพิมพ์ และภาพวีดีโอบันทึกเหตุการณ์หลายชุด

บัดนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้สอบสวนศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว ปรากฏรายงานผลการสอบสวนศึกษาฯ มีเนื้อหาจัดแบ่งเป็น 2 ตอน ประกอบด้วย
ข้อเท็จจริงที่พบ
ข้อสังเกตและความคิดเห็นเสนอแนะ

4. ผลการศึกษา

4.1 ข้อเท็จจริงที่พบ

การชุมนุม

เช้าวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ประชาชนจำนวนหนึ่งเดินทางมาชุมนุมกันหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่เวลาประมาณ 07.30 น. โดยรวมตัวกันบริเวณสนามเด็กเล่นริมแม่น้ำตากใบ ซึ่งอยู่ด้านหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ แล้วค่อยๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นประชาชนที่สนใจทยอยเข้ามาดูเหตุการณ์ชุมนุม มีทั้งชายและหญิง วัยรุ่นและวัยกลางคน ส่วนใหญ่เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม จำนวนประชาชนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว ณ เวลาประมาณ 11.00 น. มีประมาณ 700-900 คน

ประชาชนผู้ชุมนุมบางส่วนได้เขียนข้อความบนป้ายผ้า แสดงเจตนาของการชุมนุมว่าเป็นการเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน(ชรบ.) บ้านโคกกูเว หมู่ที่ 5 ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 6 คน ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมดำเนินคดี โดยผู้ชุมนุมได้เรียกร้องให้ทางการปล่อยตัว ชรบ. ทั้ง 6 คน ผู้ชุมนุมใช้ป้ายผ้าปรากฏข้อความเรียกร้องความเป็นธรรม อาทิเช่น "รัฐบาลเป็นผู้สร้าง ชรบ. แต่รัฐบาลเป็นผู้ทำลาย ชรบ. ใครเป็นผู้รับผิดชอบพวกเรา เราต้องการความยุติธรรม" และ "คุณค่า ชรบ.อยู่ที่ไหน ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน?"

คณะกรรมาธิการฯ ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ความว่า การแต่งตั้งชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน(ชรบ.) เป็นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ทางราชการแต่งตั้งประชาชนทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน โดยมอบอาวุธปืนลูกซองของทางการให้ใช้ปฏิบัติงาน โดยที่ไม่ได้มีการฝึกฝนจนชำนาญเพียงพอ ดังปรากฏว่า ชรบ.ที่ได้รับมอบอาวุธไป บางคนผ่านการซ้อมยิงปืนไม่ถึง 4 นัด จากการสอบสวนของตำรวจ พบข้อเท็จจริงว่า ชรบ.ทั้ง 6 คนที่ถูกจับกุมในฐานแจ้งความเท็จและยักยอกทรัพย์ของทางราชการ แท้จริงได้ถูกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบคุกคามเอาชีวิต โดยขู่ฆ่าลูกเมียทั้งหมด ทำให้ ชรบ.ทั้ง 6 คน ตัดสินใจยินยอมมอบอาวุธปืนให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ โดยแจ้งแก่ทางราชการว่าถูกปล้นปืนไป เหตุดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นเชื้อปะทุความไม่พอใจจนเป็นเหตุให้ประชาชนมาชุมนุมเรียกร้องขอความเป็นธรรม

การเตรียมการของทางราชการ

คณะกรรมาธิการฯ ได้ตรวจสอบกับฝ่ายเจ้าหน้าตำรวจ พบว่า ก่อนเกิดการชุมนุม ฝ่ายเจ้าหน้าที่ราชการมีการข่าวแจ้งเตือนว่า จะมีการก่อความวุ่นวายในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส แต่ไม่ได้ระบุว่าจะก่อการที่ไหน อย่างไร ทางการจึงได้มีการวางแผนเตรียมรับมือไว้ในระดับหนึ่ง

วันเกิดเหตุ เมื่อมีประชาชนเดินทางชุมนุมกันหน้า สภอ. ตากใบ ทางการจึงปักใจเชื่อว่า อาจเป็นการมุ่งสร้างสถานการณ์เพื่อก่อความวุ่นวายในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ตั้งด่านสกัดจับประชาชนที่ต้องสงสัยว่าจะมาร่วมชุมนุมตามเส้นทางต่างๆ หลายจุด

อย่างไรก็ตาม ประชาชนบางส่วนยังสามารถผ่านเข้ามาชุมนุมบริเวณหน้า สภอ.ตากใบ และมีประชาชนผู้สนใจเข้ามาดูเหตุการณ์ปะปนกับกลุ่มผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอกำลังเสริมจากหน่วยอื่น ประกอบด้วย หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน จ.นราธิวาส และหน่วยปฏิบัติการพิเศษกองทัพภาค 4 เข้าปฏิบัติการร่วม โดยจัดวางกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งหมดอยู่ในบริเวณ สภอ.ตากใบ จำนวนประมาณ 600 คน มี พล.ท.พิศาล วัฒนวงศ์คีรี แม่ทัพภาค 4 เป็น ผู้บัญชาการเหตุการณ์

ในการจัดวางกำลัง ได้จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดต่อต้านฝูงชน ซึ่งมีอุปกรณ์โล่ห์ กระบอง หมวก จำนวนประมาณ 60 คน ตั้งมั่นเผชิญหน้าอยู่กับกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนหน้า บริเวณประตูทางเข้า สภ.อ.ตากใบ ในขณะที่ฝ่ายทหารติดอาวุธสงครามครบมือ ได้วางกำลังโอบล้อมด้านข้างซ้าย-ขวาของกลุ่มผู้ชุมนุมไว้ทั้งหมด

นอกจากนี้ พ.ต.อ. ทนงศักดิ์ ภัทรภานุ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส ได้ชี้แจงแก่คณะกรรมา¬ธิการฯ ด้วยว่า มีการวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 200 คน

ในการเผชิญเหตุครั้งนี้ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ พล.ท.พิศาล วัฒนวงศ์คีรี แม่ทัพภาค 4 ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ (ผบ.เหตุการณ์) พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ผบช.ภาค 9 และนายศิวะ แสงมณี รองปลัดกระทรวงมหาด¬ไทย ได้เข้าไปพูดคุยกับประชาชนผู้ชุมนุมท่ามกลางผู้ชุมนุมจำนวนมาก แต่ไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมได้ โดยฝ่ายทางการแถลงว่า ประชาชนผู้ชุมนุมมีอาการคล้ายเมาสิ่งเสพติด พูดคุยไม่รู้เรื่อง และเข้าใจว่ามีการพกพาอาวุธเข้ามาในบริเวณที่ชุมนุม

ต่อมา ทางราชการได้ให้นายอับดุลรอซัค อาลี เลขานุการคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ขึ้นพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุมผ่านเครื่องกระจายเสียง ณ บริเวณหน้า สภ.อ.ตากใบ และได้พาญาติของผู้ต้องหา ชรบ.ทั้ง 6 คน ขึ้นพูดคุยกับผู้ชุมนุมผ่านเครื่องกระจายเสียง นายอับดุลรอซัค อาลี ได้ชี้แจงต่อคณะ
กรรมาธิการฯ ว่า เมื่อญาติของผู้ต้องหาขึ้นพูดนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมก็เงียบฟัง แต่เมื่อญาติบางคนบอกว่า "เขาให้ไปประกันตัวแล้ว แต่จะได้หรือไม่ได้ไม่รู้" กลุ่มผู้ชุมนุมก็ส่งเสียงโห่ เพราะเชื่อว่าคงประกันตัวไม่ได้ นอกจากนี้ ญาติของผู้ต้องหาบางคนยังพูดผ่านเครื่องกระจายเสียงด้วยว่า "ไปประกันตัวแล้ว ขอให้นั่งอยู่ในความสงบ และให้อยู่ร่วมกันจนประกันตัวได้" กลุ่มผู้ชุมนุมก็ส่งเสียงดังเป็นการสนับสนุน

หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ราชการได้ประกาศผ่านเครื่องกระจายเสียงเป็นภาษายาวี ขอให้ผู้ชุมนุมสลายตัว โดยอ้างว่า ผู้ต้องหาทั้ง 6 คน ไม่ได้อยู่ในความควบคุมตัวของตำรวจแล้ว แต่อยู่ที่เรือนจำจังหวัด ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้ส่งตัวญาติไปที่ศาลจังหวัดนราธิวาสเพื่อยื่นเรื่องขอประกันตัวแล้ว แต่ผู้ชุมนุมยังยืนยันข้อเรียกร้องเดิม พร้อมกับแสดงความไม่พอใจ ไม่ไว้ใจ เพราะเห็นเจ้าหน้าที่มีการจัดวางกำลังอาวุธครบครัน เตรียมจะใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม ทำให้เกิดการโห่ร้องเป็นระยะ มีการกระทบกระทั่ง ผลักดันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่วางกำลังกีดขวางไว้บริเวณหน้าสถานีตำรวจ

การใช้กำลังเข้าปราบปรามสลายการชุมนุมเพื่อจับกุม

คณะกรรมาธิการฯ พบว่า ก่อนปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ประกอบด้วยทหารและตำรวจ ได้วางกำลังโอบล้อมประชาชนที่อยู่ในบริเวณ¬ชุมนุมไว้รอบด้าน ทั้งด้านหน้า สภ.อ.ตากใบ ด้านข้างปลายสุดถนน ในขณะที่ด้านหลังของบริเวณชุมนุมเป็นแม่น้ำตากใบ ทำให้ประชาชนที่อยู่บริเวณชุมนุมไม่สามารถแยกย้ายออกไปจากบริเวณที่ชุมนุมได้ เพราะตกอยู่ในวงปิดล้อมของเจ้าหน้าที่ทุกทิศทาง

เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ชี้แจงว่า ในระหว่างการเจรจากับผู้ชุมนุม ฝ่ายเจ้าหน้าที่ราชการได้เตรียมการจับกุมแกนนำประมาณ 100 คน โดยมีการถ่ายภาพกำหนดตัวบุคคลที่ต้องการจับกุมเอาไว้ล่วงหน้า พร้อมทั้งได้เตรียมรถยีเอ็มซีของทหาร จำนวน 4 คันไว้รอขนย้ายผู้ที่จะถูกจับกุม แต่ปรากฏว่า ก่อนปฏิบัติการจับกุม ตัวบุคคลที่ต้องการจับกุมนั้นได้กระจัดกระจาย ปะปนอยู่ในกลุ่มประชาชน ทั้งในกลุ่มผู้ชุมนุมและประชาชนที่เข้ามาดูการชุมนุม ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้วิธีปิดล้อม กวาดจับกุมประชาชนที่อยู่ในบริเวณนั้นทั้งหมด เพื่อจะนำไปคัดเอาตัวบุคคลที่ต้องการตัวในภายหลัง

ทั้งนี้ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ชี้แจงว่า มีการข่าวของทหาร รายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุมมีอาวุธร้ายแรง แต่ไม่ระบุประเภทของอาวุธและจำนวน ได้พิจารณาว่า หากเวลาค่ำมืด กลุ่มผู้ชุมนุมอาจก่อเหตุร้ายแรง ในเวลาประ¬มาณ 15.00 น. เจ้าหน้าที่จึงได้เริ่มปฏิบัติการสลายการชุมนุมเพื่อจับกุมผู้ชุมนุม โดยใช้รถดับเพลิง 2 คัน ฉีดน้ำให้พุ่งกระจายใส่ฝูงชน พร้อมกับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนหน้าที่มีอุปกรณ์ปราบฝูงชนเดินหน้าผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมให้ถอยออกไป ทำให้ประชาชนไม่พอใจ ใช้ก้อนหินและเศษไม้ขว้างเข้าใส่เจ้าหน้าที่ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ใช้แก๊สน้ำตาปาเข้าใส่ฝูงชน แต่ผู้ชุมนุมกลับขว้างแก็สน้ำตากลับมาใส่ตำรวจ ระหว่างนั้นได้เกิดการชุลมุน ฝ่ายเจ้าหน้าที่ราชการได้ยิงปืน ซึ่งเป็นอาวุธประจำกายรัวขึ้น เพื่อกดดันให้ประชาชนในวงล้อมทั้งหมดหมอบราบลงกับพื้น ประชาชนส่วนหนึ่งได้ล่าถอยไปจนติดริมแม่น้ำตากใบ

การยิงปืนของเจ้าหน้าที่ราชการ มีทั้งลักษณะการยิงขึ้นฟ้า และมีการยิงในระดับต่ำเข้าใส่ประชาชนผู้ชุมนุม ดังบางกรณีปรากฏในภาพข่าวในหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ฉบับประจำวันที่ 28 ตุลาคม 2547 (ดูภาคผนวก) เป็นเหตุให้มีผู้ชุมนุมถูกยิงที่ศีรษะ เสียชีวิตในบริเวณที่เกิดเหตุชุมนุม 6 คน เสียชีวิตในที่โรงพยาบาลอีก 1 คน ประชาชนผู้ชุมนุมอีกหลายคนถูกยิงบาดเจ็บสาหัส บ้างถูกยิงหลังจากที่นอนหมอบราบอยู่กับพื้นแล้ว บ้างก็ถูกยิงขณะวิ่งหนีเพื่อสลายตัวจากการชุมนุม และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนมาก
ข้อเท็จจริงจึงปรากฏชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่ราชการได้ใช้อาวุธยิงเข้าใส่ประชาชนจริง ทำให้มีประชาชนได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืนหลายราย และทำให้มีประชาชนถูกยิงจนถึงแก่ความตายไม่น้อยกว่า 7 คน ซึ่งเมื่อ พลโทพิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาค 4 ได้ดูหลักฐานภาพถ่ายแล้วกล่าวยอมรับต่อคณะกรรมาธิการฯ ว่า เจ้าหน้าที่ทหารบางส่วนได้มีการยิงจริง

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้รับฟังจากประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์ บอกเล่าตรงกันว่า มีการยิงประชาชนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุอีกจำนวนหนึ่ง แต่ไม่พบศพ เพราะมีการลำเลียงศพขึ้นรถของทางการออกไปจากบริเวณที่เกิดเหตุ คณะกรรมาธิการฯ ได้รับฟังไว้ และได้ขอให้ทางการสอบสวนตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป

หลังสลายการชุมนุม ฝ่ายเจ้าหน้าที่ราชการได้เข้ายึดกุมพื้นที่ และดำเนินการจับกุมตัวประชาชนผู้ชุมนุม โดยไม่พบอาวุธของฝ่ายผู้ชุมนุมอยู่ในที่เกิดเหตุเลย และในระหว่างการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุม ก็ไม่ปรากฏว่าประชาชนได้ใช้อาวุธร้ายแรงเหล่านั้นทำร้ายเจ้าหน้าที่ ทั้งๆ ที่ หากผู้ชุมนุมครอบครองอาวุธร้ายที่พร้อมใช้งานไว้จริง ก็น่าจะนำมาใช้ตอบโต้โจมตีเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจจะทำให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐเกิดการสูญเสียมากกว่านี้ และไม่ปรากฏว่ามีร่องรอยกระสุนปืนตามตัวอาคาร สภ.อ.ตากใบ มีเพียงกระจกแตกจากก้อนหินขว้างใส่เท่านั้น

ทั้งนี้ ในภายหลังทางราชการได้รายงานว่า ได้ค้นพบอาวุธปืนเอ็ม 16 จำนวน 4 กระบอก พบปืนอาก้า จำนวน 3 กระบอก พบระเบิดสังหาร และมีด โดยแจ้งว่า นักประดาน้ำเป็นผู้งมพบอาวุธดังกล่าวในแม่น้ำตากใบ

การจับกุมประชาชนผู้ชุมนุม

หลังสลายการชุมนุม และควบคุมพื้นที่ไว้ได้หมดแล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ดำเนินการจับกุมประชาชน โดยบังคับให้ประชาชนถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง นอนคว่ำหน้า บังคับให้เคลื่อนตัวไปข้างหน้า โดยวิธีคลานด้วยท้อง ใช้ไหล่ หน้าอกและท้อง ดันลำตัวคืบไปกับพื้น (ในลักษณะอาการเหมือน "ปลาตีน" ) ในเหตุการณ์ครั้งนี้ปรากฏว่ามีประชาชนจำนวนมากถูกบังคับให้นอนคว่ำหน้าอยู่บริเวณพื้นทรายบริเวณสนามเด็กเล่น อีกจำนวนหนึ่งนอนคว่ำหน้าอยู่ชายน้ำริมฝั่งแม่น้ำตากใบ อีกส่วนหนึ่งก็นอนคว่ำอยู่บนลานคอนกรีตหน้า สภอ.ตากใบ และบนท้องถนนที่คั่นระหว่าง สภ.อ.ตากใบกับสนามเด็กเล่นขณะที่อากาศร้อน

คณะกรรมาธิการฯ พบว่า คำบอกเล่าของพยานบุคคลในที่เกิดเหตุ สอดคล้องกับหลักฐานภาพถ่ายวีดีโอ ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ราชการในเครื่องแบบทหารได้ใช้ความรุนแรงต่อประชาชนผู้ชุมนุมอย่างป่าเถื่อน มีการฉุดกระชากลากจูงผู้ถูกจับกุม ชกต่อย เตะ กระทืบด้วยรองเท้าของทหาร ใช้ไม้ตี บังคับให้ผู้ชุมนุมถอดเสื้อนอนคว่ำหน้า ใช้สายเข็มขัดฟาดใส่ร่างกายท่อนบนของผู้ถูกจับกุม มีการมัดมือไพล่หลัง ผูกร้อยข้อมือผู้ถูกจับกุมพ่วงกันเป็นพวงเป็นชุด ๆ แล้วควบคุมตัวโดยให้ไปนอนคว่ำหน้าอยู่บนถนนคอนกรีต ก่อนที่จะลำเลียงขนย้ายไปยังค่างอิงคยุทธบริหารต่อไป

สรุปข้อมูลเบื้องต้นที่ได้จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบว่า การสลายการชุมนุมเพื่อจับกุมตัวประชาชนผู้ชุมนุมครั้งนี้ เป็นเหตุให้ประชา¬ชนเสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ 6 คน เสียชีวิตที่โรงพยาบาลนราธิวาสอีก 1 คน เกือบทั้งหมดถูกยิงบริเวณศีรษะ และมีประชาชนถูกยิงได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนมาก บ้างถูกส่งโรงพยาบาลตากใบ โรงพยาบาลนราธิวาส โรงพยาบาลสุไหงโกลก บ้างถูกจับกุมควบคุมตัวขึ้นรถบรรทุกของทหารโดยที่ไม่ได้รับการปฐมพยาบาลเลย ในขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ราชการไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ได้รับบาดเจ็บจำนวน 46 คน เป็นทหาร 9 คน ตำรวจ 37 คน (ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ทหาร ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ ในการลงตรวจสอบในพื้นที่)

ในเหตุการณ์ครั้งนี้ มีประชาชนถูกจับกุมควบคุมตัวทั้งสิ้น 1,224 คน โดยที่ผู้ถูกจับกุมจำนวนมากให้การชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ ว่า ไม่ได้มาร่วมการชุมนุม แต่กลับถูกจับกุมบริเวณด่านตรวจ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่มีการชุมนุมหลายกิโลเมตร
การขนย้ายประชาชนที่ถูกจับกุม

หลังควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ทั้งหมด ได้ปรากฏหลักฐานบันทึกภาพเหตุการณ์เป็นวีดีโอว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้บังคับให้ประชาชนที่อยู่ในสภาพถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง บางส่วนต้องเคลื่อนที่โดยคืบลำตัวไปตามพื้นทราย เพื่อเคลื่อนที่ไปขึ้นรถขนส่งซึ่งทหารจัดเตรียมไว้ขนย้ายผู้ชุมนุม

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ชี้แจงแก่คณะกรรมาธิการฯ ว่า การขนย้ายผู้ชุมนุมเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของทหาร โดยจะควบคุมตัวผู้ถูกจับกุม ขนย้ายจากบริเวณ สภอ.ตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร ใช้รถบรรทุกจำนวน 25 คัน ประกอบด้วย รถบรรทุกหกล้อของ ตชด. (คันสีฟ้า) จำนวน 4 คัน ซึ่งได้ขนผู้ชุมนุมในเที่ยวแรกๆ บรรทุกผู้ชุมนุมประมาณคันละ 30 คน ที่เหลือเป็นรถยีเอ็มซีของทหาร ซึ่งใช้ขนย้ายผู้ชุมนุมในเที่ยวหลังๆ

ในการขนย้าย ประชาชนผู้อยู่ในเหตุการณ์ได้ให้ข้อมูลสอดคล้องกับหลักฐานภาพถ่ายวีดีโอหลายชุดว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้จับประชาชนที่อยู่ในสภาพถูกถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง ร่างกายอ่อนเพลียจากการปะทะในระหว่างสลายการชุมนุมและอยู่ระหว่างถือศีลอด บ้างก็ให้เดินขึ้นบันได บ้างดึงตัวหรือกระชากตัวขึ้นรถบรรทุก ผู้ชุมนุมขึ้นไปบนรถแล้วผลักให้นอนคว่ำหน้าบนพื้นรถ ประชาชนผู้อยู่ในเหตุการณ์ให้ข้อมูลว่า รถทหารบางคันที่ไม่มีบันไดก็จะจับประชาชนโยนขึ้นรถ บังคับให้นอนคว่ำหน้าบนพื้นรถในขณะที่มือยังถูกมัดไพล่หลัง แล้ววางร่างของประชาชนนอนคว่ำหน้าซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ 4-5 ชั้น บรรทุกผู้ชุมนุมประมาณคันละ 50-60 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมไปกับรถคันละ 5-6 คน

ระยะทางระหว่าง สภ.อ.ตากใบ กับค่ายอิงคยุทธบริหาร ระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร เป็นถนนลาด¬ยางเดินรถได้โดยสะดวก แต่ใช้เวลาเดินทางนานถึง 5-6 ชั่วโมง ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่า พบการโรยเรือใบดักไว้ตามถนน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องหยุดรถเพื่อเคลียร์ถนนให้ปลอดภัย โดยที่ประชาชนผู้ถูกจับกุมต้องถูกมัดมือไพล่หลัง นอนคว่ำหน้า ซ้อนทับกันไปอย่างนั้นตลอดการเดินทาง โดยมิได้มีโอกาสพักผ่อนเปลี่ยนแปลงอิริยาบทแต่อย่างใด

การขนย้ายผู้ถูกควบคุมตัวขึ้นรถบรรทุกบริเวณ สภ.อ.ตากใบ รถบรรทุกผู้ชุมนุมได้เดินทางไปถึงค่ายอิงคยุทธบริหารเที่ยวแรกเวลาประมาณ 17.00-18.00 น. ของวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เที่ยวสุดท้ายออกจาก สภอ.ตากใบ เมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. และไปถึงค่ายอิงคยุทธบริหารหลัง 01.00 น. ของวันที่ 26 ตุลาคม 2547

นายแพทย์จิระศักดิ์ อินทะสอน ผู้ปฏิบัติงานที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ชี้แจงว่า ได้พบว่า มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตศพแรก เมื่อเวลาประมาณ 18.00-19.00 น. ของวันที่ 25 ตุลาคม 2547 และทยอยมากขึ้นเป็นลำดับ แต่ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ทหารผู้มีหน้าที่ตรวจรับและควบคุมตัวผู้ชุมนุม ไม่ได้แจ้งเตือนไปยังรถคันหลังๆ ที่กำลังขนย้ายผู้ชุมนุม รวมทั้งคันที่อยู่ระหว่างการเดินทาง หรือสั่งการให้แก้ไขวิธีการขนย้ายควบคุมตัวผู้ชุมนุมอันเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเลย เป็นเหตุให้ในรถคันหลังๆ ซึ่งทยอยเดินทางมาถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร มียอดผู้เสียชีวิตจำนวนมาก คันที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด มีคนตายประมาณ 20 คน โดยคนที่ตายส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ถูกจับนอนคว่ำอยู่ในชั้นล่างสุด (ถูกคนทับอยู่ 3-4 ชั้น) รถคันสุดท้ายที่มีคนตาย เดินทางถึงค่ายอิงคยุทธบริหารในเวลาประมาณ 01.00 น.

คณะกรรมาธิการฯ พบว่า ผู้รอดตายหลายคน บอกเล่าตรงกันว่า คนตายส่วนใหญ่เป็นผู้ที่นอนคว่ำอยู่แถวล่างสุด บางรายเมื่อใกล้ตาย ได้ร้องขอความช่วยเหลือ แต่ก็ถูกทหารที่ควบคุมอยู่บนรถขึ้นไปเหยียบด้านบน และใช้พานท้ายปืนตี และพูดว่า "จะได้รู้ว่านรกมีจริง" ผู้รอดตายบางรายนอนอยู่ชั้นที่ 2 นับจากด้านล่าง รู้สึกว่าคนที่ตนทับอยู่กำลังจะตาย แต่ก็ไม่อาจช่วยเหลือได้ เพราะตนเองก็ถูกทับอยู่หลายชั้น ขยับเขยื้อนร่างกายไม่ได้ จะเบี่ยงตัวหลบก็ไม่ได้

การขนย้ายประชาชนผู้ถูกควบคุมตัวครั้งนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการขนย้าย จำนวน 78 คน บาดเจ็บจำนวนมาก บางรายมีอาการชัก กล้ามเนื้อเกร็ง บางรายมีบาดแผลที่หน้าอก เลือดไหลออก และมีเสียงลมลอดที่หน้าอกเมื่อหายใจ ในขณะที่มีหมอปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ชุมนุมอยู่เพียง 1 คน กับพยาบาลอีก 10 คน ทำให้ไม่สามารถตรวจอาการและให้ความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง และได้ส่งไปรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลปัตตานี 20 คน

ผู้บาดเจ็บ และการดำเนินคดีกับประชาชนผู้ชุมนุม
ผู้บาดเจ็บ
คณะกรรมาธิการฯ พบว่า มีประชาชนที่ถูกจับกุมได้รับบาดเจ็บทั้งจากปฏิบัติการสลายการชุมนุมเพื่อจับกุมของเจ้าหน้าที่ทางการ ณ บริเวณ สภอ.ตากใบ และมีประชาชนอีกจำนวนมาก บาดเจ็บเพราะการขนย้ายควบคุมตัวของทหาร หลายรายมีอาการสาหัส ยังต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนราธิวาส โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และโรงพยาบาลปัตตานี

คณะกรรมาธิการฯ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมอาการของผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาลนราธิวาส พบข้อเท็จจริงดังนี้

กรณีผู้บาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม อาทิเช่น
- นายมูหมะ หะยีมะมิง อยู่บ้านเลขที่ 15 หมู่ 1 ต.การะ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ไปอยู่ในสถานที่ชุมนุมเพราะไปซื้อของที่มาเลเซียแล้วแวะเข้าไปดูการชุมนุมแต่ออกไม่ได้ ถูกยิงที่แขนหลังจากที่นอนหมอบราบลงกับพื้นแล้ว
- นายมะสือดี ยะโก๊ะ อายุ 39 ปี ถูกยิงบริเวณไหล่ทะลุไปด้านหลัง โดยถูกยิงหลังจากนอนหมอบราบลงกับพื้นแล้ว คนเจ็บและภรรยาเล่าว่า ขับรถจักรยานยนต์กำลังจะไปรับภรรยากลับจากทำงานในมาเลเซีย แวะเข้าไปดูการชุมนุมแล้วออกไม่ได้ จนถูกยิงในที่สุด
- ด.ช.แวดี มะโซ๊ะ อายุ 14 ปี ถูกยิงตาบอด ต้องผ่าตัดสมอง ยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนราธิวาส

กรณีผู้บาดเจ็บจากการขนย้าย อาทิเช่น
- นายมะลิจี ดอละ อายุ 25 ปี กล้ามเนื้อตาย ถูกตัดขาขวา ปัจจุบันอยู่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ยังขยับตัวกระดิกมือไม่ได้ มือและแขนช้ำบวมทั้งสองข้าง แพทย์ต้องกรีดเพื่อไม่ให้เลือดคั่ง และลดความดันภายในของแขน
- นายอับดุลเลาะ เจ๊ะกอเลาะ อายุ 35 ปี ขาบวม แขนถลอก มีภาวะไตวายเฉียบพลัน เพราะระหว่างถูกทับในรถ ทำให้กล้ามเนื้อตาย เล่าว่า ไปที่ตากใบเพื่อซื้อเนื้อมาทำมะตะบะขาย (เนื้อที่นั่นราคาถูกกว่าที่อื่น) แวะเข้าไปดูการชุมนุม แต่เมื่อได้ยินประกาศว่าจะสลายการชุมนุมก็ออกไม่ได้ ถูกฉีดน้ำนิดหน่อย หนีไปอยู่บริเวณชายน้ำ ถูกจับมัดมือไพล่หลังโยนขึ้นรถ ซ้อนทับกัน 4-5 ชั้น รอดตายเพราะเชือกที่มัดมือหลุด จึงเอามือค้ำหน้าไว้ให้หายใจได้ ในขณะที่รถคันที่ถูกจับมามีคนตาย 11 คน
- นายรอกิ มะหามะ อายุ 19 ปี เท้าบวม ตัวบวม เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน
- นายแจะนู อูมา ขาบวมทั้ง 2 ข้าง ต้องกรีดขา และมีภาวะไตวายเฉียบพลัน

การดำเนินคดีกับประชาชนผู้ชุมนุม
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินคดีกับประชาชนผู้ชุมนุมจำนวน 58 คน โดยที่ขณะนี้มีการให้ประกันตัวออกไปต่อสู้คดีแล้ว ส่วนประชาชนที่ถูกจับกุมที่เหลือก็ได้ปล่อยตัวแล้วเช่นกัน

ประชาชนผู้สูญหาย

ในระหว่างการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง คณะกรรมาธิการฯ พบว่า ประชาชนจำนวนมากได้ร้องเรียนว่ามีญาติพี่น้องสูญหายไปในเหตุการณ์ที่ สภอ.ตากใบ แต่ไม่สามารถไปแจ้งความกับทางราชการได้ บางรายบอกว่า เจ้าหน้าที่ราชการไม่รับแจ้ง บางรายบอกว่า เจ้าหน้าที่ราชการกล่าวหาว่าแจ้งเท็จ บางรายถูกเจ้าหน้าที่ซักไซ้สอบสวนจนรู้สึกเหมือนเป็นผู้ต้องหาเสียเอง

ประชาชนเหล่านั้นจึงได้ไปร้องทุกข์แก่ผู้นำศาสนาในพื้นที่ ร้องไห้ เศร้าโศกเสียใจ และมีความรู้สึกเจ็บปวด เมื่อคณะกรรมาธิการฯ ได้ลงไปตรวจสอบในพื้นที่จึงมาร้องเรียนให้ทราบ ในเบื้องต้นพบว่า มีจำนวนผู้สูญหายเฉพาะในเหตุการณ์ดังกล่าว 4 ราย โดยญาติของผู้สูญหายแจ้งข้อมูลเบื้องต้นแก่คณะกรรมาธิการฯ ว่า ผู้สูญหาย ได้แก่ นายสะบะอี อาแวมิงโก ชาวบ้านโดะเม ต.ละหาร อ.ยิ่งงอ จ.นราธิวาส นายนุ กอเดาะ ชาวบ้านสุไหงปาดี นายเอสซัน บินซะกี ชาวบ้านบาเด๊ะมาดี และลูกชายของนายสะรอยิง บือระแฮง ชาวบ้านตำบลบางบ่อ จ.นราธิวาส

ในขณะที่ฝ่ายผู้นำศาสนาในพื้นที่ได้ประเมินว่าอาจจะมีจำนวนผู้สูญหายมากกว่านี้ จึงได้รับเป็นภาระในการรวบรวมข้อมูลของประชาชนที่สูญหาย พร้อมข้อมูลเบื้องต้นของแต่ละคน อาทิ ชื่อ รูปถ่าย ทะเบียนบ้าน ลักษณะของการสูญหาย ฯลฯ และจะได้เสนอข้อมูลมายังคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาความมั่นคงในจังหวัดภาคใต้วุฒิสภา เพื่อเร่งรัดให้มีการติดตามต่อไป

4.2 ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ

ข้อสังเกตเกี่ยวกับการทำงานของเจ้าหน้าที่
1. เจ้าหน้าที่ขาดความพร้อม และบกพร่องต่อหน้าที่ในการเผชิญเหตุโดยสันติ

1.1 การชุมนุมของประชาชน ณ บริเวณ สภ.อ.ตากใบ เป็นการใช้สิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ เฉกเช่นเดียวกับประชาชนในท้องถิ่นภูมิภาคอื่นๆ ได้เคยกระทำการชุมนุมประท้วงโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่ในกรณีนี้เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ตัดสินใจเข้าสลายการชุมนุมเพราะปักใจเชื่อว่าจะเกิดความไม่สงบขึ้น แต่ครั้นเมื่อทำการควบคุมตัวผู้ชุมนุมไว้ได้แล้ว กลับไม่ปรากฏหลักฐานชี้ชัดได้ว่า ประชาชนที่ชุมนุมอยู่บริเวณหน้า สภ.อ.ตากใบนั้น มีอาวุธร้ายแรงที่พร้อมใช้งานในครอบครอง หรือมีการแสดงออกที่มุ่งหมายจะเอาชีวิตเจ้าหน้าที่ราชการ

1.2 เจ้าหน้าที่ราชการได้เตรียมการจับกุมประชาชนผู้ชุมนุมบางส่วนไว้ล่วงหน้า มีการเตรียมรถขนย้ายมารอไว้ 4 คัน เพื่อจับกุมคนประมาณ 100 คน วิธีปฏิบัติต่อการชุมนุมของประชาชนจึงไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การเจรจา หรือการกดดันให้ประชาชนที่ชุมนุมอยู่สลายตัวออกไป ดังจะเห็นได้ว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐมิได้รอคอยที่จะให้มีการดำเนินการประกันตัว ชรบ.ทั้ง 6 คนตามข้อเจรจาต่อผู้ชุมนุม แต่กลับใช้วิธีการปิดล้อม แล้วใช้กำลังกดดัน จู่โจมเข้าปราบปรามเพื่อจับกุมประชาชนที่อยู่ในบริเวณชุมนุมทั้งหมด ก่อนที่จะได้ทราบผลการประกันตัวด้วยซ้ำ และเป็นการจับกุมควบคุมตัวโดยไม่มีการแยกแยะระหว่างผู้ต้องสงสัย ผู้ชุมนุมทั่วไป และประชาชนที่เข้ามาดูเหตุการณ์

1.3 เจ้าหน้าที่ราชการไม่มีการเตรียมความพร้อมเพื่อเผชิญเหตุการณ์โดยสันติวิธีที่ดีพอ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนไม่ถึง 60 คน ใช้เจ้าหน้าที่ทหารที่มีความเชี่ยวชาญการสงครามมากกว่าการควบคุมฝูงชน ไม่มียุทธวิธีเจรจาที่เข้าถึงแกนนำผู้ชุมนุม แม้กระทั่งว่าการสื่อสารกับประชาชนที่อยู่บริเวณชุมนุมก็ไม่ทั่วถึง เพราะมีประชาชนบางส่วนไม่ได้ยินเสียงที่ทางการอ้างว่าได้ประกาศเตือนให้ประชาชนสลายการชุมนุมและเตรียมจะใช้กำลังเข้าผลักดัน ทั้งๆ ที่ ฝ่ายรัฐบาลควรจะคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่า อาจจะมีการชุมนุมในลักษณะนี้เพื่อเรียกร้องกดดันฝ่ายรัฐให้ใช้ความรุนแรงปราบปราม จึงสมควรที่ฝ่ายรัฐจะมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือเหตุการณ์โดยสันติวิธี ทั้งในการเตรียมบุคคลากรที่มีความชำนาญในการจัดการกับฝูงชนโดยสันติวิธี การเจรจาที่เข้าถึงจิตวิทยามวลชน การเตรียมอุปกรณ์ควบคุมป้องกันการจลาจล ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้ปฏิบัติการใดๆ ของฝ่ายรัฐบังเกิดผลไปเพิ่มความบาดหมางให้แก่ประชาชนในพื้นที่ สมความต้องการของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ

1.4 พิจารณาจากรูปการณ์แล้ว ในกรณีเหตุการณ์หน้า สภ.อ.ตากใบ เจ้าหน้าที่ราชการไม่มีความจำเป็นต้องเร่งรีบใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม เพราะในขณะนั้นเจ้าหน้าที่สามารถวางกำลังปิดล้อมควบคุมสถานการณ์ไว้ได้หมดแล้ว การอ้างว่า ประชาชนมีอาวุธและเวลาใกล้ค่ำ เป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอย เพราะไม่มีหลักฐานบ่งชี้ชัดเจนว่าประชาชนมีอาวุธอยู่จริง ในขณะที่เวลาค่ำเป็นเรื่องธรรมชาติ หากเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้เวลาค่ำเป็นข้ออ้างในการสลายการชุมนุมได้เสมอ ก็เท่ากับว่าการใช้กำลังสลายการชุมนุมเป็นเรื่องปกติธรรมดา ซึ่งไม่ถูกต้อง

2. การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย
2.1 ในการใช้กำลังจู่โจมเข้าปราบปรามการชุมนุมเพื่อจับกุม เจ้าหน้าที่ราชการได้ใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้า และยิงเข้าใส่ประชาชน ดังคำชี้แจงของ พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาค 4 ซึ่งยอมรับตามหลักฐานภาพถ่ายว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้มีการยิงแนวระนาบเข้าใส่ประชาชนผู้ชุมนุมอยู่บ้าง เป็นเหตุให้มีผู้ถูกยิงตายในที่เกิดเหตุ สอดคล้องต้องกับข้อเท็จจริงที่เปิดเผย พบว่า มีผู้ถูกยิงเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 6 คน เสียชีวิตที่โรงพยาบาลอีก 1 คน และถูกยิงบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง พ.ต.ท.ภักดี ปรีชาชน รองผู้กำกับการสอบสวน สภ.อ.ตากใบ ชี้แจงว่า ในรายงานการชันสูตรพลิกศพ แพทย์ได้ลงความเห็นว่า ผู้ตายทั้ง 7 คน ถูกอาวุธปืนยิงบริเวณศีรษะ ท้ายทอย ส่วนใหญ่เป็นทางด้านศีรษะ และมีหนึ่งศพถูกยิงสีข้างด้านซ้ายและทะลุออกด้านขวา

นอกจากนี้ และเมื่อคณะกรรมาธิการฯ ได้เดินทางไปตรวจสอบสภาพผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาลนราธิวาส ยังพบข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์ว่า มีประชาชนผู้อยู่ในเหตุการณ์หน้า สภ.อ.ตากใบจำนวนหนึ่งถูกอาวุธปืนยิงจนได้รับบาดเจ็บสาหัส บ้างถูกยิงในขณะวิ่งออกจากการชุมนุมเมื่อมีการสลายการชุมนุม บ้างถูกยิงเมื่อนอนหมอบราบลงกับพื้นแล้ว (ดูรายละเอียดในส่วนของผู้ได้รับบาดเจ็บ)

คณะกรรมาธิการฯ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า เจ้าหน้าที่ของทางราชการได้ปฏิบัติการในลักษณะเจตนาโดยเล็งเห็นผลว่า การกระทำดังกล่าวอาจเกิดการบาดเจ็บและถึงแก่ชีวิตได้ ถือเป็นการฆ่าคนตายโดยเจตนา และเป็นการกระทำมิชอบด้วยอำนาจหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่

2.2 เมื่อเจ้าหน้าที่ราชการเข้ายึดกุมพื้นที่ได้หมดแล้ว ก็ไม่พบว่ามีอาวุธในครอบครองของประชาชนบริเวณที่ชุมนุมเลย และหากประชาชนครอบครองอาวุธร้ายเอาไว้จริง ในการปะทะกันก็ไม่ปรากฏว่ามีการใช้อาวุธร้ายฆ่าเจ้าหน้าที่ราชการ ซึ่งอาจจะทำให้สูญเสียมากกว่านี้ กรณีจึงส่อให้น่าสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจอ้างหลักฐานเท็จ หรือได้รับรายงานอันเป็นเท็จ แล้วอาศัยรายงานนั้นในการใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชนโดยขาดความระมัดระวังทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ทำนองเดียวกันกับกรณีที่สหรัฐอเมริกาอ้างว่าประเทศอิรักมีอาวุธร้ายแรงไว้ในครอบครอง เป็นเหตุต้องใช้กำลังอาวุธบุกเข้าถล่มโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

2.3 ในการจับกุมควบคุมตัวประชาชน เจ้าหน้าที่ราชการได้กระทำการรุนแรงต่อประชาชนเกินกว่าเหตุ เพราะเมื่อควบคุมสถานการณ์ไว้ได้หมดแล้ว กลับมีการทำร้ายประชาชน เตะ ถีบ กระทืบ ชกต่อย และบังคับให้ประชาชนถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง นอนคว่ำหน้าราบไปกับพื้น แล้วบังคับให้เคลื่อนตัวโดยไถร่างกายไปตามพื้น (ในลักษณะคล้ายปลาตีน) เป็นลักษณะที่ป่าเถื่อน ไร้มนุษยธรรม ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนอย่างร้ายแรง

2.4 การควบคุมตัวและขนย้ายประชาชนไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร มีการใช้วิธีบังคับให้ประชาชนนอนคว่ำหน้า ในสภาพที่มือถูกมัดไพล่หลัง จับประชาชนนอนกองซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ เหมือนวางท่อนซุงหรือกระสอบข้าวสาร 4-5 ชั้น และใช้เวลาเดินทางนานถึง 5-6 ชั่วโมงในระยะทางเพียง 160 กิโลเมตร ทำให้ประชาชนที่ถูกทับอยู่ในชั้นล่างๆ ต้องตายอย่างทรมาน เหมือนฝังคนทั้งเป็น โดยที่การกระทำดังกล่าวมิใช่เหตุสุดวิสัย เพราะคนทั่วไปย่อมคาดหมายได้ว่าเป็นการกระทำอันก่อให้เกิดความเจ็บปวดทรมานจนอาจถึงตายได้ และเมื่อเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทราบว่ามีประชาชนตายเพราะวิธีขนส่งลักษณะนี้แล้ว ก็มิได้มีความพยายามที่จะแก้ไขหรือปรับปรุงวิธีการขนย้ายแต่ประการใด แสดงให้เห็นถึงการขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญยิ่งในการรักษาความมั่นคงของชาติ

และประการสำคัญ การกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวแล้วซึ่งมีผลทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากนั้น ย่อมมีลักษณะเป็นการกระทำโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 วรรคแรกและวรรคสอง ซึ่งวรรคแรกบัญญัติว่า "บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญา เมื่อได้กระทำโดยเจตนา...ฯลฯ" และวรรคสองบัญญัติว่า "กระทำโดยเจตนาได้แก่การกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ และขณะเดียวกัน ผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น" ซึ่งแม้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการควบคุมและขนย้ายอาจอ้างได้ว่ามิได้ประสงค์จะให้ผู้ถูกควบคุมและขนย้ายต้องถึงแก่ความตายก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏบ่งชี้ชัดว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำโดยเจตนาในลักษณะย่อมเล็งเห็นผลว่า การควบคุมและขนย้ายที่ได้กระทำนั้นอาจเป็นผลให้เกิดการบาดเจ็บล้มตาย แต่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบมิได้ใยดีในผลที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นผลให้ผู้ถูกควบคุมและขนย้ายตายเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 78 คน การกระทำของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจึงย่อมเป็นการกระทำโดยเจตนา ในลักษณะย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 ดังกล่าวแล้ว

นอกจากนี้ ในประการสำคัญ การกระทำอันมีเจตนาโดยเล็งเห็นผลดังกล่าวแล้วนั้น เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมขนย้าย ในลักษณะวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมต่อไป

ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้อง

1. ประชาชนผู้เสียหายสมควรร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และฟ้องร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลสถิตยุติธรรม เพื่อดำเนินคดีแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการใช้กำลังเข้าปราบปรามเพื่อจับกุมประชาชนที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการชุมนุมอย่างสงบโดยปราศจากอาวุธจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7 คน และการปฏิบัติหน้าที่มิชอบในระหว่างการขนย้ายจนเป็นเหตุให้ประชาชนต้องตายอย่างไม่สมควรแก่เหตุถึง 78 คน

คณะกรรมาธิการฯ เห็นว่า ผู้เสียหาย และเจ้าพนักงานของรัฐผู้มีหน้าที่สอบสวนปราบปรามการกระทำความผิด สมควรดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดในทางอาญา และเรียกร้องให้ชดใช้ความเสียหายทางแพ่งด้วย กรณีดังกล่าวสมควรที่ผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องพึงกล่าวโทษผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในขั้นต่ำฐานกระทำการโดยประมาทเลินเล่อทำให้ประชาชนที่อยู่ในความควบคุมของตนถึงแก่ความตาย และโดยที่เห็นได้ชัดว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดของทหาร หรือคนในบังคับของฝ่ายทหารในระหว่างประกาศกฎอัยการศึก จึงเป็นหน้าที่ของผู้บัญชาการทหารที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไปด้วย

2. เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 245 วรรคแรก ได้กำหนดมาตรการคุ้มครองดูแลให้ความเป็นธรรมและเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำความผิดอาญา โดยบัญญัติว่า "บุคคลซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีอาญามีสิทธิได้รับความคุ้มครอง การปฏิบัติที่เหมาะสม และค่าตอบแทนที่จำเป็นและสมควรจากรัฐ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ" รัฐบาลจึงสมควรเร่งรัดกระทรวงยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ให้ดำเนินการอำนวยความสะดวกในการดำเนินการให้มีการจ่ายค่าเสียหายแก่ผู้ชุมนุมซึ่งเป็นผู้เสียหาย ถูกกระทำความผิดต่อชีวิตและร่างกาย อันอาจขอรับค่าตอบแทนได้ตามมาตรา 17 ให้มีการจ่ายค่าตอบแทน ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล รวมทั้งค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ ค่าตอบแทนในกรณีผู้เสียชีวิต ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ ตลอดจนค่าทดแทนการขาดไร้อุปการะต่าง ๆ แก่ผู้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม ตามมาตรา 18 ของ พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 โดยด่วน

อนึ่ง สำหรับกรณีที่อาจมีปัญหาว่า การสลายการชุมนุมที่ตากใบและการขนย้ายผู้ถูกควบคุม จนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวน 85 คนนั้น ในทางกฎหมาย ผู้รับผิดชอบในการสลายการชุมนุม เช่น ทหาร หรือผู้บังคับบัญชา ผู้ออกคำสั่ง จะมีความรับผิดชอบในทางแพ่งหรือทางอาญาหรือไม่เพียงใด เนื่องจากได้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก และมาตรา 16 ของ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 บัญญัติว่า "ความเสียหายซึ่งอาจบังเกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใดในเรื่องอำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ตามที่กล่าวแล้วในมาตรา 8 และมาตรา 15 บุคคลหรือบริษัทใดๆ จะร้องค่าเสียหายหรือค่าปรับอย่างหนึ่งอย่างใดแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมิได้เลย เพราะอำนาจทั้งปวงที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ปฏิบัติและดำเนินการตามกฎอัยการศึกนี้ เป็นการสำหรับป้องกัน พระมหากษัตริย์ ชาติ ศาสนา ด้วยกำลังทหาร ให้ดำรงอยู่ในความเจริญรุ่งเรือง เป็นอิสรภาพและสงบเรียบร้อย ปราศจากศัตรูภายนอกและภายใน"

คณะกรรมาธิการฯ มีความเห็นว่า บทบัญญัติของ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก มาตรา 16 ดังกล่าวข้างต้น มีลักษณะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะกระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญของสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะสิทธิของผู้เสียหายในคดีอาญาที่จะได้รับการเยียวยาตามมาตรา 245 ดังกล่าวแล้ว ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 29 บัญญัติว่า "การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้ และเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้"

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า ความเสียหายที่เรียกไม่ได้ตามมาตรา 16 ของ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกฯ นั้น จำกัดเฉพาะที่เกิดจากการตรวจค้น การยึด การเข้าอาศัย ซึ่งเป็นความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพย์สิน แต่ถ้าเป็นความเสียหายเกี่ยวกับชีวิตหรือร่างกายที่เสียหายจากการตรวจค้นหรือยึดนั้น ยังสามารถเรียกได้อยู่ นอกจากนี้ แม้มีการบังคับใช้บทบัญญัติของ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกฯ ได้ ก็ไม่ปรากฏว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้มีบทบัญญัติข้อใดที่ให้อำนาจหน้าที่ทหารในการทำลายชีวิตหรือทำร้ายร่างกายผู้อื่นได้ ทั้งนี้บทบัญญัติบางมาตราให้อำนาจเฉพาะเพียงเข้าไปทำลายบ้านเรือนหรือทรัพย์สินได้เท่านั้น ดังนั้น การทำร้ายร่างกาย หรือทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายจึงย่อมเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึกฯ ซึ่งผู้กระทำจะต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาต่อไป

3. รัฐบาลสมควรต้องอำนวยความสะดวกแก่ผู้นำศาสนาทั้งพุทธและมุสลิมในพื้นที่ ซึ่งเป็น "บารมีชน" ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ ให้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางของชุมชนทั้งในการเก็บรวบรวมข้อมูลประชาชนผู้สูญหายเพื่อเร่งรัดติดตาม ทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์ตากใบ ตลอดจนการชักนำให้ผู้นำศาสนาในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแสวงหาวิธีการเยียวยาบาดแผลในใจของประชาชนในพื้นที่ โดยจัดให้มีการเยี่ยมเยียนผู้เสียหายแสดงความเห็นอกเห็นใจ ช่วยปรับทุกข์และช่วยแนะนำหรือดำเนินการในการขอรับค่าทดแทนตามกฎหมาย โดยระมัดระวังมิให้ประชาชนรู้สึกว่ากำลังถูกใช้เงินเข้าซื้อ หรือใช้เงินปิดปาก

4. คณะกรรมาธิการฯ พบว่า ชีวิตประชาชนที่สูญเสียไปในเหตุการณ์ครั้งนี้ บางชีวิตเป็นพ่อ บางชีวิตเป็นลูกชาย ซึ่งอยู่ในสถานะกำลังแรงงานสำคัญในการเลี้ยงดูครอบครัว เป็นเหตุให้ครอบครัวต้องตกอยู่ในสภาวะยากลำบาก ทั้งในทางการดำรงชีวิต และความสูญเสียทางใจ "พ่อแม่ต้องฝังศพลูก" เกิดบาดแผลทางใจ ครอบครัวต้องสูญเสียรายได้ ขาดโอกาสในการทำมาหาเลี้ยงชีพ และที่สำคัญคือขาดความอบอุ่นในครอบครัวไปโดยที่ไม่อาจชดเชยได้

คณะกรรมาธิการฯ เห็นว่า บาดแผลทางร่างกายที่ประชาชนได้รับอาจรักษาให้หายคืนสู่สภาพปกติได้ในไม่ช้า แต่บาดแผลทางใจอันเกิดจากการกระทำทุรศีลธรรมที่ครอบครัวของผู้ตายต้องเผชิญนั้นยากที่จะเยียวยาได้โดยง่าย สิ่งจำเป็นเร่งด่วนในขณะนี้ ที่ครอบครัวของประชาชนผู้สูญเสียต้องการมากที่สุด ไม่ใช่ค่าชดเชยใดๆ แต่เป็น "การแสวงหาความจริง" และ "การแสดงความรับผิดชอบ" ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบุคคลอันเป็นที่รักของเขา

ญาติของผู้ตายบางคนกล่าวต่อคณะกรรมาธิการฯ ว่า เงินค่าชดเชยหนึ่งแสนบาทซื้อชีวิตลูกชายของเขาไม่ได้ บางคนบอกว่า วันนี้รัฐบาลยังไม่ควรมาพูดคุยถึงเรื่องของวันพรุ่งนี้ ว่าจะมีโครงการ มีผลประโยชน์ใดๆ หยิบยื่นมาให้ แต่ในวันนี้รัฐบาลต้องนั่งลงพูดคุยกันในสิ่งที่เกิดขึ้น ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร

5. หลังเกิดเหตุรุนแรงกรณีตากใบ สภาความมั่นคงแห่งชาติได้มีรายงานว่า สถานการณ์มาถึงจุดที่ประชาชนบางส่วนรู้สึกว่าแทบไม่เหลือความเชื่อถือภาครัฐ เนื่องจากเห็นว่า 1) แผนงาน/โครงการของรัฐบาลบางโครงการก่อนให้เกิดความคาดหวังที่สูงของประชาชน แต่เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีความจริงใจในการปฏิบัติ (ดังกรณีโครงการให้ทุนสนับสนุนการเดินทางไปร่วมพิธีฮัจญ์ที่ไม่เปิดให้ผู้นำศาสนาในพื้นที่ได้มีส่วนร่วม) ไม่เกิดผลเป็นรูปธรรม 2) การให้ข่าวหรือการพูดตอกย้ำของเจ้าหน้าที่รัฐว่า สถาบันปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเป็นแหล่งผลิตโจร โดยไม่ได้แยกแยะว่าเป็นปัญหาของบุคคลไม่ใช่สถาบัน เป็นสาเหตุนำไปสู่ความรู้สึกแปลกแยกจากการถูกเลือกปฏิบัติ และ 3) ความรู้สึกว่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตขณะอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่รัฐจากกรณีอำเภอตากใบ

คณะกรรมาธิการฯ มีความเห็นว่า หลังเหตุการณ์ตากใบ ได้มีการก่อเหตุรุนแรงมากขึ้น โดยที่เหตุการณ์ตากใบได้กลายเป็นเชื้อปะทุ และชนวนเหตุแห่งความรุนแรงตอบโต้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของรัฐได้เปิดโอกาสหรือสร้างเงื่อนไขให้ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบก่อเหตุรุนแรงโดยอ้างว่าเพื่อแก้แค้นให้แก่คนตายที่ตากใบ มีการลอบวางระเบิด กราดยิงคนงาน ฆ่าตัดคอ ฆ่าแล้วให้รถไฟแล่นทับ ฆ่าเจ้าหน้าที่ในวัด ฯลฯ ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

กรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่เป็นสิ่งยอมรับไม่ได้ เช่นเดียวกับเหตุร้ายที่เกิดกับประชาชนในเหตุการณ์ตากใบ ขณะนี้ ปรากฏว่า ประชาชนในพื้นที่มีความเสี่ยงภัยในการดำรงชีวิตสูงขึ้น ไม่มีปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพราะต้องอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงยืดเยื้อ สูญเสียความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของชีวิต ดังนั้นรัฐบาลจึงควรเข้าดำเนินการทุกวิถีทางให้เกิดความเชื่อมั่นต่อระบบกฎหมาย และความเป็นธรรมของบ้านเมือง สนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนซึ่งตกอยู่ในภาวะหวาดระแวงรวบรวมกำลังใจและความเชื่อมั่นในความเป็นปึกแผ่น และความสามัคคีของชุมชนให้กลับคืนมาโดยเร็ว โดยอาศัยมาตรการการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่เน้นความหลากหลายทางสังคม ศาสนา และวัฒนธรรมอย่างเร่งด่วน

6. เหตุการณ์ความรุนแรงตอบโต้ระหว่างผู้ก่อความไม่สงบกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และระหว่างรัฐกับผู้ก่อความไม่สงบ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่จำนวนมาก ต้องสูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพไปในสถานการณ์ดังกล่าว อาทิ ไม่สามารถออกไปกรีดยางตามปกติได้ ไม่สามารถขายพืชผลการเกษตร อาทิเช่น ลองกอง ได้ เพราะไม่มีใครกล้าเข้ามารับซื้อในพื้นที่ดังเดิม เป็นต้น
ปัจจุบัน ชาวบ้านจำนวนมากจึงดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยทุนรอนที่เก็บสะสมไว้เดิม ซึ่งนับวันจะร่อยหรอ ขาดแคลนลงเรื่อยๆ และที่สำคัญ นอกจากการขาดรายได้เลี้ยงชีพแล้ว เมื่อไม่สามารถประกอบอาชีพดั้งเดิมของตนได้ ก็ทำให้การพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตต้องสะดุด ขาดความต่อเนื่อง ความสัมพันธ์หรือกิจกรรมในชุมชนก็ต้องห่างหายไปด้วย

และในประการสำคัญ ความไม่สงบในพื้นที่ได้ทำให้เสียโอกาสในด้านการพัฒนาการเรียน การศึกษาของเยาวชนในพื้นที่ไปอย่างน่าเสียดาย เพราะบุคลากรในแวดวงการศึกษาต่างตกอยู่ในสภาวะระส่ำระสายทางใจ ไม่รู้สึกมั่นใจในความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้มีผลกระทบต่อการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของทรัพยากรมนุษย์ไปอย่างสำคัญ

7. คณะกรรมาธิการฯ มีความเห็นสอดคล้องกับสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธีในประเด็นที่ว่า เมื่อย้อนเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงเจ้าหน้าที่ โดยชาวบ้านเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ทำร้ายหรือกลั่นแกล้งราษฎร จากกรณีบ้านไอบาตู เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2547 กรณีเกิดขึ้นที่ชายหาดปานาเระในวันที่ 10 ต.ค. 2547 และต่อเนื่องมาสู่กรณีล่าสุดที่ อ.ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าเหตุการณ์น้ำผึ้งหยดเดียวและการยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงจะมีมากขึ้น เพื่อตอกย้ำชาวไทยมุสลิมและชาวมุสลิมทั่วโลกว่ารัฐบาลไทยข่มเหงและเข่นฆ่าชาวมุสลิม สถานการณ์ปัจจุบันอาจเปรียบได้กับการระเบิดของถังน้ำมันในนิคมอุตสาหกรรม ท่ามกลางถังน้ำมันอีกหลายร้อยถังที่พร้อมระเบิดหากมีการเติมเชื้อไฟ

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติยังได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ ว่า การดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐในกรณีตากใบ ได้มีส่วนทำให้ขบวนการของผู้ก่อความไม่สงบเข้มแข็งขึ้น และขยายแนวร่วมได้มากขึ้น และถ้ายังปรากฏสถานการณ์ที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่เข้าใจและรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีเจตนาเข่นฆ่าประชาชน ความรู้สึกไม่ต้องการอยู่ร่วมด้วยกับรัฐไทยของชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเคยมีอยู่เพียงน้อยจะมีมากขึ้น และจะกลายเป็นแนวร่วมกลุ่มที่ปรารถนาแยกดินแดนเป็นอิสระ

คณะกรรมาธิการฯ จึงมีความห่วงใยว่า รัฐบาลสมควรระมัดระวัง ยึดมั่นในสันติวิธี กฎหมาย และหลักนิติธรรม มิให้เกิดกรณีน้ำผึ้งหยดเดียว ไม่เดินเข้าไปติดกับดักของความรุนแรง ไม่สร้างเงื่อนไขใหม่ซ้อนทับปัญหาเดิมเพราะจะแก้ไขยากมากขึ้น และจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มผู้ใช้ความรุนแรงอ้างเป็นเงื่อนไขในการออกมาปฏิบัติการ โดยมีประชาชนที่เป็นแนวร่วมฝ่ายตรงข้ามกับภาครัฐมากยิ่งขึ้น

8. คณะกรรมาธิการฯ เห็นว่านโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งใช้กองกำลังเข้าปราบปราม และโดยเฉพาะท่าทีแข็งกร้าวของนายกรัฐมนตรีในการถ่ายทอดส่งมอบนโยบาย ได้ส่งสัญญาณนำไปสู่ความรุนแรงในหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นการอุ้มฆ่า สอบสวนทารุณกรรม หรือการปฏิเสธแนวทางสันติวิธีที่เคยได้มอบหมายให้นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ไประดมความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งทำให้ประชาชนและผู้นำทางศาสนาในพื้นที่เกิดความรู้สึกว่าถูกหลอกใช้เฉพาะในยามที่มีปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วน โดยรัฐบาลไม่เคยนำความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ไปปฏิบัติจริง

ยิ่งกว่านั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังใช้คำพูดที่ชี้นำให้มีการความรุนแรงในการแก้ปัญหาภาคใต้ อาทิเช่น "โจรกระจอก" "ตายไปนึกว่าจะได้ขึ้นสวรรค์แต่ต้องลงนรก" "บ้ามาก็บ้าไป" "จะปราบให้สิ้นซาก" "at any cost at any price" "มันเหมือนอาการคนใกล้ตาย ต้องรุนแรงหน่อย" ฯลฯ เสมือนหนึ่งว่าเป็นผู้นำแห่งความรุนแรงอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งไม่ใช่แบบอย่างของผู้นำสันติภาพที่มีวุฒิภาวะในทางประชาธิปไตย ควรที่นายกรัฐมนตรีจะปรับปรุงท่าที และระมัดระวังถ้อยคำที่กล่าวต่อสาธารณชนให้มีความรอบคอบยิ่งกว่านี้

9. คณะกรรมาธิการฯ มีความเป็นห่วงว่า ในสถานการณ์ที่มีการฆ่ากันตายรายวันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีทั้งชาวพุทธและชาวมุสลิมตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง และเมื่อเกิดความรุนแรงในกรณีตากใบ ซึ่งทำให้คนตายอย่างน้อย 85 คน โดยทั้งหมดเป็นพี่น้องที่นับถือศาสนาอิสลาม หากรัฐบาลไม่เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กระจ่างชัด แต่กลับใช้วิธีนำเอาจำนวนประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่ตายด้วยน้ำมือของผู้ก่อความไม่สงบมาเปรียบเทียบชี้นำ พร้อมกับปลุกกระแสคลั่งชาติ สร้างความรู้สึกแบ่งแยก เกลียดชังในสังคม อาจทำให้ประชาชนไขว้เขว เข้าใจผิดว่า ประชาชนที่ตายในเหตุการณ์ตากใบเป็นกลุ่มแนวร่วมของผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งรู้สึกว่าเป็น "พวกอื่น" ที่มิใช่ "คนไทย" เห็นผิดเป็นชอบให้ใช้ความรุนแรงต่อประชาชนเหล่านั้นได้ กระทั่งมีการป้ายสีประชาชนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล หรือสมาชิกวุฒิสภาที่ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล กล่าวหาว่าเป็นพวกไม่รักชาติ ไม่เห็นแก่คนที่ถูกฆ่าตาย ทั้งๆ ที่ทุกฝ่ายล้วนต้องการให้รัฐบาลนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย และไม่ต้องการให้ใครใช้ความรุนแรงต่อกัน

สิ่งเหล่านี้ อาจทำให้ประชาชนมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า ปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาความขัดแย้งทางศาสนา ดังปรากฏการใช้ถ้อยคำว่า "โจรมุสลิม" ทั้งๆ ที่ ชาวไทยมุสลิมกับชาวไทยพุทธสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างร่มเย็นเป็นสุขในแผ่นดินภาคใต้มาช้านาน แม้มีวิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อที่แตกต่าง แต่ก็ไม่มีความขัดแย้งรุนแรง

ฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี จึงสมควรต้องเร่งแก้ไข นำความจริงมาสร้างสมานฉันท์ เพื่อมิให้เกิดการแบ่งแยก มิให้มองว่าผู้วิพากษ์วิจารณ์หรือตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่และรัฐบาลเป็นคนไม่รักชาติรักแผ่นดิน และในขณะที่นายกรัฐมนตรีพยายามชี้ว่ามีประชาชนและเจ้าหน้าที่ถูกฆ่าตายนั้น ก็สมควรต้องเร่งรัดการสืบสวนสอบสวนเพื่อเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายอย่างรวดเร็ว มิใช่ใช้เป็นข้ออ้างในการใช้ความรุนแรงกระทำต่อประชาชนในพื้นที่ต่อไป

ประชาไทรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net