Skip to main content
sharethis

ในแวดวงธุรกิจโรงพิมพ์ของเมืองเชียงใหม่ ถ้าจัดกลุ่มโรงพิมพ์ขนาดใหญ่และได้มาตรฐาน นับนิ้วได้ว่ามีเพียงไม่กี่ราย ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นน่าจะมีชื่อของ "นพบุรีการพิมพ์" ติดโผอยู่ในสารบบด้วย นอกเหนือจากคุณภาพการพิมพ์ที่ลูกค้าส่วนใหญ่ยอมรับในเนื้องานแล้ว ที่สำคัญชื่อเสียงของนพบุรีการพิมพ์ มิได้สร้างและเป็นที่รู้จักเพียงแค่วันสองวันหรือปีสองปี ทว่า เป็นกิจการที่สืบทอดมายาวนานร่วม 30 ปีล่วงผ่าน

หากเมื่อ 11 ปีก่อน "ฤทัยทิพย์ ถนอมศิลป์" ไม่แวะเข้าไปใช้บริการงานพิมพ์ ณ โรงพิมพ์เล็ก ๆ ที่ใช้บ้านทำเป็นโรงพิมพ์ ตั้งอยู่ในตรอกซอย ย่านถนนราชมรรคา เธอก็คงไม่ได้รู้จักกับ "อัครพล ถนอมศิลป์" เจ้าของนพบุรีการพิมพ์ ที่เป็นคู่ชีวิตของเธอในวันนี้ ด้วยสถานการณ์ของนพบุรีการพิมพ์ในขณะนั้นไม่สู้ดีนัก ทั้งบ้านที่เป็นโรงพิมพ์ด้วย มีหนี้ก้อนโตติดธนาคารอยู่ประมาณ 3,000,000 บาท เธอและสามีจึงหันหน้าเข้าหากัน เพื่อช่วยกันแก้วิกฤติ

ช่วงฟื้นฟูกิจการ เน้นหนักเจาะตลาด
การสานต่อธุรกิจโรงพิมพ์ที่เป็นมรดกตกทอดมาจากพ่อและแม่ของสามีของเธอ ก็เริ่มต้นแบบจริง ๆ จัง ๆ ในปี 2537 ด้วยพนักงานเพียง 3 คน ซึ่ง 2 ใน 3 คนนั้นก็คือตัวเธอเองและสามี

เธอเล่าว่า ช่วงแรกต้องโหมงานหนักมาก ทำงานตลอด 7 วันไม่มีวันหยุด กระทั่งสามารถรวบรวมเงินได้จำนวน 50,000 บาท จึงนำเงินก้อนนี้ไปชำระหนี้ธนาคาร เพื่อชำระเงินต้นและดอกเบี้ย แต่ปรากฏว่ากลายเป็นการชำระดอกเบี้ยทั้งหมด เพราะก่อนหน้านี้ขาดผ่อนชำระและชำระไม่ตรงตามกำหนด

เหมือนเป็นโชคดีที่ในช่วงระยะ 2 ปีของการทำงานหนัก ส่งผลให้งานเริ่มขยายตัวเพิ่มขึ้น และมีผลกำไรที่จะสามารถผ่อนใช้หนี้ธนาคารได้ตรงตามเวลา จนหนี้ก้อนนั้นเริ่มลดจำนวนลงตามลำดับ จึงเกิดแนวคิดว่าเมื่องานมากขึ้น การพัฒนางานพิมพ์ก็คงจะหยุดนิ่งไม่ได้เช่นกัน ประกอบกับเครดิตกับธนาคารเริ่มเป็นที่น่าเชื่อถือ จึงขอกู้เงินกับธนาคารอีกครั้งจำนวน 2,000,000 บาท เพื่อซื้อเครื่องพิมพ์เพิ่มอีก 1 ตัว เป็นเครื่องพิมพ์ที่มีประสิทธิภาพในการพิมพ์ที่รวดเร็วและมีคุณภาพมากกว่าเครื่องเดิมที่มีอยู่ และอาจกล่าวได้ว่าการขยายงานของนพบุรีการพิมพ์ในช่วงปี 2539 ซึ่งเป็นช่วงเศรษฐกิจขาลงของประเทศ แต่กิจการของนพบุรีการพิมพ์ได้รับผลกระทบน้อยมาก ตรงกันข้ามกลับมีลูกค้ามาใช้บริการอย่างไม่ขาดสาย จากเครื่องจักร 3 ตัวที่มีอยู่ จำเป็นต้องเพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งตัว โดยนำที่ดินที่ซื้อเก็บไว้ประมาณ 4 ไร่แถวบ้านถวาย อำเภอหางดง มูลค่าประมาณ 5,000,000 บาท ไปแลกเครื่องจักรจากนายทุนที่ผลิตเครื่องพิมพ์ขายที่กรุงเทพฯ ในมูลค่าเท่ากับราคาที่ดิน ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องจักรที่ดีที่สุดของเชียงใหม่ในขณะนั้น

"ภาระหนัก ๆ ที่เราทั้งสองคนต้องแบกไว้จนเต็มบ่า ก็เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น หนี้เก่าเริ่มลดลง ส่วนหนี้ใหม่ที่กู้แบงก์มาซื้อเครื่องจักรเพิ่ม แบงก์ก็ให้เครดิต เชื่อใจเรามากขึ้น ทุกอย่างดีแทบจะไม่มีอุปสรรคอะไรเลย ซึ่งน่าจะมาจากความสามารถของคนสองคน ตอนนั้นเราสองคนมีโฟกัสเดียวกันคิดอย่างเดียวให้หนี้สินหมดเร็วที่สุด พนักงานเราเพิ่มขึ้นทุกปีในระยะ 3 - 4 ปี จาก 3 คน เพิ่มเป็น 10 คน 20 คน 30 คน เพิ่มขึ้นทุกปี เรียกว่างานล้นคน"

10 ปี โตแบบก้าวกระโดด
แม้อายุของนพบุรีการพิมพ์จะยาวนานร่วม 30 ปี แต่ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงเวลาเติบโตที่เห็นได้ชัด ระบบและวิธีการทำงานเริ่มมีมาตรฐานมากขึ้น งานเริ่มล้น พนักงานเริ่มมีมากขึ้น โรงพิมพ์ที่เป็นสถานที่เดียวกับบ้านที่อาศัยอยู่ก็ดูเล็กลงไปถนัดตาและเริ่มอึดอัด จึงเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่จำเป็นต้องขยับขยายหาสถานที่ใหม่รองรับ เพื่อความคล่องตัวในการทำงาน

ไม่ไกลจากโรงพิมพ์เดิมมากนัก เธอและสามีได้ที่ดินผืนงามที่ซื้อต่อจากชาวบ้านย่านนั้น ขนาดเนื้อที่ 2 งาน 47 ตารางวา ราคา 4,500,000 บาท โดยเดินเรื่องเอาที่ดินผืนนี้เสนอขอสินเชื่อจากธนาคารอีกครั้ง จากนั้นปลายปี 2546 ก็เริ่มทำการก่อสร้างอาคารสูง 3 ชั้น และเริ่มย้ายส่วนงานทั้งหมดเข้ามาอยู่ที่โรงพิมพ์เมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมา ชั้นล่างเป็นส่วนของโรงพิมพ์ ส่วนชั้นสองและสามเป็นส่วนงานเรียงพิมพ์ งานดีไซน์และงานออฟฟิศ

โตแล้วแตก...เพิ่มไลน์ธุรกิจ
ปั้นหนังสือ "NOPBUREE"

ในช่วงการเติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วงปีสองปีนี้ สามีของเธอซึ่งมีไอเดียการตลาดที่ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา และปลายปีที่ผ่านมา ได้ตัดสินใจเพิ่มไลน์ธุรกิจ เปิดสำนักพิมพ์ทรีคิงส์ พับบริชชิ่ง ขึ้นมา เพื่อสร้าง Product ของตัวเองเป็นนิตยสารรายเดือนภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยวชื่อ "NOPBUREE" เป้าหมายคือแจกฟรีให้กับนักท่องเที่ยวและบุคคลทั่วไป คอนเซ็ปต์หนังสือ "NOPBUREE" ที่ทำออกมาจะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่ เป็นผลงานที่ผลิตโดยคนเชียงใหม่ ผนวกกับมีความโดดเด่นในเรื่องดีไซน์ที่แตกต่างจากหนังสือในลักษณะเดียวกันที่มีอยู่ในเชียงใหม่ขณะนี้ ซึ่งเธอบอกว่า การลงทุนทำสำนักพิมพ์ครั้งนี้ต้องใช้เงินลงทุนไปมากพอสมควร ทั้งต้นทุนจ้างบุคลากร 10 คน ต้นทุนการบริหารจัดการต่าง ๆ แต่ผลตอบกลับมาไม่ดีดังที่หวังไว้ ส่วนใหญ่ลูกค้าพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นหนังสือที่ดีเกินไปสำหรับนักท่องเที่ยว เนื้อหาสาระก็ค่อนข้างหนัก ซึ่งเมื่อประเมินสถานการณ์ตลาดในเบื้องต้นจึงพบว่า ตลาดไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย จึงมีลูกค้าที่ตอบกลับลงโฆษณาน้อยมาก

แม้จะผลิตหนังสือที่มีคุณภาพ เนื้อหาดี ภาพสวย ดีไซน์เยี่ยมขนาดไหน แต่หากไม่มีการวิเคราะห์ตลาดก่อนว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร รวมถึงขาดการวางแผนที่ดี ก็คงจะประสบความสำเร็จยาก ดังนั้นจึงได้ข้อสรุปว่าจะหยุดพักงานทำหนังสือ "NOPBUREE" ไว้ชั่วระยะหนึ่งก่อน หลังจากผลิตออกมาสู่ตลาดแล้วจำนวน 6 เล่ม โดยอนาคตอาจให้มืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วย ซึ่งเมื่อทุกอย่างพร้อมถึงจะเริ่มทำ โดยไม่มีกำหนดว่าจะเริ่มกลับมาทำใหม่ได้เมื่อไร

ปฏิวัติสู่ความเป็นมืออาชีพ
ฤทัยทิพย์ บอกว่า จริง ๆ แล้วการบริหารงานแบบครอบครัวก็ดีไปอีกแบบสำหรับองค์กรเล็ก ๆ ซึ่งที่ผ่านมาการที่เธอและสามีต้องลงไปดูงานเกือบทุกขั้นตอน ก็มีข้อดีตรงที่ได้รู้และสัมผัสงานแบบลึกซึ้ง แต่เมื่อองค์กรเติบโตขึ้น ก็จำเป็นต้องปรับการบริหารจัดการให้มีมาตรฐานและมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ซึ่งขณะนี้เราได้มีทีมที่ปรึกษาที่เป็นมืออาชีพเข้ามาวางระบบด้านต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มต้นรับงานจนกระทั่งจบงาน โดยเริ่มเข้าสู่ระบบใหม่มาได้เกือบ 1 ปีแล้ว ซึ่งก็เริ่มเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงชัดขึ้น งานมีมาตรฐานขึ้นเกือบทุกกระบวนการและเกิดความเสียหายน้อยมาก ซึ่งการมีทีมที่ปรึกษา ยังสามารถช่วยตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ได้มากกว่าที่เธอและสามีจะตัดสินใจเอง เพราะบางครั้งคนสองคนอาจมีแนวคิดที่แตกต่างกัน และอาจหาข้อสรุปไม่ได้ว่าแนวคิดของใครดีกว่ากัน

"ทุกวันนี้งานพิมพ์มีเข้ามาจนงานล้นคน ทำให้ต้องเพิ่มคนเข้ามาทุกปี ปัจจุบันมีพนักงานรวมทั้งหมด 50 คนและคาดว่าปีหน้าจะเพิ่มขึ้นอีกหากงานขยายตัว ต้องยอมรับว่าธุรกิจโรงพิมพ์เป็นงานที่หนัก เหนื่อยและเครียด ถ้าไม่ใส่ความรักเข้าไปด้วยก็คงอยู่ไม่รอด สำหรับความรักของตัวเองที่มีให้กับงานนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ชีวิตนี้เราคงทำอาชีพเดียวคือโรงพิมพ์"

การเติบโตแบบก้าวกระโดดของนพบุรีการพิมพ์ เป็นความสำเร็จในระดับหนึ่งเท่านั้นในความคิดของเธอ แต่การเดินทางยังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้ เพราะเป็นการเติบโตที่เหมือนเป็นการเริ่มต้นในเวลาเดียวกัน ที่เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงปรับระบบบริหารจัดการองค์กรใหม่ ซึ่งหากสามารถทำให้ลูกค้ามีความสุขได้มากกว่านี้ และพนักงานในองค์กรมีความสุขได้มากกว่าเดิม เวลานั้นน่าจะเป็นจุดที่เรียกได้เต็มปากว่าประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงของ "นพบุรีการพิมพ์"

********************

สุธิดา สุวรรณกันธา

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net