Skip to main content
sharethis

การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อสาธารณะจากบรรษัทเคยเกิดขึ้นในหลายคดี ที่เห็นกันมากได้แก่ การฟ้องร้องบริษัทยาสูบในข้อหาจงใจทำร้ายสุขภาพผู้บริโภค หรือกรณีการฟ้องร้องเอาผิดบริษัทน้ำมันจำนวนมากที่ปล่อยสารมลพิษเข้าสู่สิ่งแวดล้อม ทั้งทางน้ำและอากาศ ซึ่งมีการตัดสินให้รับผิดไปหลายคดีแล้ว โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา

แต่คดีฟ้องร้องต่อบรรษัทในข้อหาร่วมกันละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมากลับยังไม่มี ที่มีโดยมากก็จะมีการยกฟ้องกันไปเสียก่อน เนื่องด้วยข้อกฎหมายที่อ้างถึง ไม่มีนัยสำคัญเพียงพอ ผิดกับคดีที่ชนกลุ่มน้อยในเขตทะเนสสะริม ฝั่งตรงข้ามกับชายแดนไทย-พม่าตรงอำเภอทองผาภูมิที่ฟ้องร้องว่าบริษัทยูโนแคล ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรษัทข้ามชาติที่ลงทุนในโครงการหลายหมื่นล้านบาทเพื่อขุดเจาะและสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย-พม่า ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ทางยักษ์ใหญ่อย่างยูโนแคลต้องยอมขอประนอมคดีนอกศาล และยินยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ชาวพม่าทั้ง 13 คน

คดีนี้มีนัยสำคัญหลายประการ ควรแก่การศึกษา และต้องฝ่าขวากหนามอุปสรรคมากมายนานนับสิบปี โดยเฉพาะแรงกดดันทางการเมืองจากรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเรารู้กันดีอยู่ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับการค้าน้ำมันมากเพียงใด (ถ้ายังไม่รู้ก็ไปดูเรื่อง Fahrenheit 911 ของนายไมค์ มัวร์เสีย)

ประการแรกสุด นิติบัญญัติพื้นฐานสำหรับการฟ้องร้องเอาผิดในคดีนี้เรียกว่า Alien Tort Claim Act (ATCA) ความสำคัญคือกฎหมายฉบับนี้ออกมาเมื่อเกือบ 200 ปีที่แล้วในสหรัฐฯ แรกเริ่มเดิมทีเพื่อเอาไว้ฟ้องร้องโจรสลัดจากสหรัฐฯ ในกรณีที่ไปปล้นสะดมในน่านน้ำประเทศอื่น พูดง่าย ๆ คือการเอาผิดกับการละเมิดที่จำเลยชาวอเมริกันไปทำที่อื่นนั่นเอง

แปลกตรงที่คณะทนายของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ สามารถนำกฎหมายนี้มาใช้เพื่อหาทางเอาผิดกับกรณีที่บริษัทจากสหรัฐฯ ไปมีส่วนร่วมในการละเมิดในประเทศอื่น ในกรณีนี้ได้แก่การที่บริษัทยูโนแคลมีส่วนร่วมในการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนชาติพันธุ์ในประเทศพม่า ทั้งนี้เพื่อให้มีการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งทางฝ่ายไทยก็มีส่วนร่วมด้วยอย่างเหนียวแน่น

ที่ศาลรับฟ้องคดีนี้ในครั้งแรกเป็นเพราะเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมในพม่านั้น ไม่ "ยุติธรรม" เพียงพอ และเห็นว่าผู้เสียหายไม่มีทางเรียกร้องความยุติธรรมได้จากกระบวนการยุติธรรมอื่น นอกจากในสหรัฐฯ เอง

ในช่วงเกือบสิบปีที่ผ่านมา ทางบรรษัทการค้าและสภาอุตสาหกรรม รวมทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ เอง พยายามจะคัดค้านการอ้างใช้กฎหมายดังกล่าว เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลนายบุชถึงกับทำจดหมายไปยังประธานศาลฎีกา เพื่อให้มีการทบทวนการใช้กฎหมายดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นกฎหมายที่ไร้เหตุผล (irrelevant) ไปเสียแล้ว ซึ่งหากศาลฎีกาเห็นด้วยเช่นนั้น คดีก็จะต้องพับไปอย่างแน่นอน แต่เดชะบุญที่ยังมีความยุติธรรมอยู่ในโลก และศาลไม่ได้หวั่นไหวไปตามแรงกดดันต่าง ๆ

เคธี เรดฟอร์ดแห่งองค์การเอิรธไรท์อินเตอร์แนชชันแนล (EarthRights International) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทนายแต่เริ่มเคยบอกว่า เมื่อครั้งที่เธอจบกฎหมายมาใหม่ ๆ และดำริจะใช้กฎหมายปราบโจรสลัดฉบับนี้เพื่อจัดการกับยูโนแคล เธอเคยเอาเรื่องนี้ไปปรึกษากับศาสตราจารย์ด้านกฎหมายของเธอที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย (ท็อปเท็น) และเธอต้องประสบกับคำปรามาสว่าเป็นความคิดเพ้อฝัน มีการแนะนำให้เธอเลิกล้มความคิดนี้เสีย

โชคดีเหมือนกันที่เธอไม่ได้เลิกล้มความคิดดังกล่าว และทำให้ฝันนั้นเป็นความจริงขึ้นมาได้

ผลประโยชน์จากน้ำมันและแร่ธาตุธรรมชาตินั้นมีมูลค่ามหาศาล เป็นที่ทราบกันดีว่ากลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวมีอิทธิพลในการล็อบบี้ทางการเมืองใหญ่กว่าทุกกลุ่ม การที่คดีที่ฟ้องร้องต่อบริษัทน้ำมันสามารถดำเนินสืบเนื่องมาได้จนเกือบสิบปี จนถึงขั้นที่ยูโนแคลยอมขอประนอมคดีนั้น ถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์อย่างยิ่ง และจะเป็นบรรทัดฐานที่ยิ่งใหญ่เช่นกัน

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือผู้พิพากษาหลักในคดีนี้เป็นสุภาพสตรีคือนางวิกตอเรีย เชนีย์ แม้จะมีการเปลี่ยนผู้พิพากษาบ้างในบางช่วง แต่นางวิกตอเรียเป็นผู้พิพากษาหลัก และเป็นผู้ยืนยันผลการไต่สวนว่า "ยูโนแคลรู้หรือควรรู้ว่ามีส่วนร่วมในการละเมิดสิทธิมนุษยชน" และเป็นผู้ให้ไฟเขียวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า คดีควรขึ้นสู่ขั้นของการไต่สวน (Trial) ได้ และเป็นเหตุให้ยูโนแคลกลัวจนต้องขอประนอมคดีในที่สุด

คดีนี้ฟ้องกันในสองศาล กล่าวคือในศาลระดับรัฐ (State Court) ที่แคลิฟอร์เนีย (อันเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่บริษัทยูโนแคล) และศาลกลาง (Federal Court) โดยอ้างตัวบทกฎหมายฉบับเดียวกัน (Alien Tort Claim Act)

ที่ผ่านมามีการพิจารณาในขั้นก่อนการไต่สวนอย่างเข้มข้นโดยเฉพาะในศาลระดับรัฐ ยูโนแคลพยายามแย้งว่าบริษัทยูโนแคลที่ก่อสร้างท่อส่งก๊าซในประเทศพม่านั้น เป็นบริษัทลูก และมีการบริหารอย่างเป็นเอกเทศ ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายกับตน ทั้งนี้เพื่อหาทางให้มีการสั่งถอนคดี เนื่องจากเป็นการฟ้องผิดฝาผิดตัว

มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผู้พิพากษาให้ความเห็นคล้อยตามไปกับยูโนแคล ซึ่งทำให้ฝ่ายสิทธิมนุษยชนผู้ฟ้องร้องคดีหวั่นไหวไปอยู่ช่วงหนึ่งว่า ที่สุดแล้วผู้พิพากษาอาจอ้างว่าบริษัทยูโนแคลในพม่านั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทยูโนแคลแม่ที่สหรัฐฯ และทำให้ความสัมพันธ์เชื่อมโยงที่ประกอบกันเป็นมูลในการฟ้องร้องคดีต้องสิ้นสุดลง

ยูโนแคลยังพยายามสร้างภาพต่าง ๆ ในทางลบเกี่ยวกับโจทก์ ซึ่งรายแรกสุด (โจทก์ที่หนึ่ง) เป็นผู้หญิงพม่าซึ่งต้องสูญเสียลูกไป เพราะทหารพม่าถีบลูกของเธอเข้ากองเพลิง คณะทนายของยูโน แคลพยายามสร้างภาพว่าเธอผู้นี้ให้การสับสนในด้านข้อมูล อย่างเช่น ปีที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งอันที่จริงก็อาจเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดาสำหรับชาวบ้าน และสำหรับเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นมาเกือบสิบปีแล้ว การให้การสับสนในด้านช่วงเวลาบ้าง ก็ไม่เห็นเป็นเรื่องสลักสำคัญอะไร แค่ยูโนแคลก็เอามาอ้างเพื่อทำให้ปากคำของเธอดูน่าเชื่อถือน้อยลง

โชคดีที่ผู้พิพากษาวิกตอเรียท่านดังกล่าวเห็นว่า หลักฐานโดยรวมมีความหนักแน่นยิ่งกว่า และชี้ให้เห็นว่ายูโนแคลรู้ว่าจะต้องมีส่วนร่วมในการละเมิดสิทธิมนุษยชน และทั้ง ๆ ที่รู้เช่นนั้น ก็ยังไปมีส่วนร่วมลงทุนในโครงการนี้ขึ้นมาอีก และข้อที่ว่าบริษัทยูโนแคลในพม่ามีการบริหารแยกขาดจากบริษัทยูโนแคลแม่นั้นก็ฟังไม่ขึ้น และมีคำสั่งให้นำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของคณะลูกขุน ซึ่งนับว่าเป็นชัยชนะเล็ก ๆ สำหรับฝ่ายโจทก์

นับแต่นั้นมาก็เป็นที่พูดคุยกันภายในว่า ยูโนแคลคงหาทางประนอมคดีนอกศาล เหตุเพราะว่าตามกระบวนการยุติธรรมในสหรัฐฯ นั้นเมื่อผู้พิพากษามีความเห็นให้คดีขึ้นสู่ขั้นของการไต่สวน (Trial) แล้ว จะมีการพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุน และจะนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะมากมาย ในช่วงที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงก่อนการไต่สวนคดี (discovery) มีการขอให้เปิดเผยข้อมูล สัญญา และนิติกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการสืบปากคำพยานทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยมากมาย แต่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถนำไปเปิดเผยต่อบุคคลที่สามได้ แต่หากคดีขึ้นสู่ขั้นของการไต่สวนโดยคณะลูกขุนแล้ว ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปตีพิมพ์ เผยแพร่ได้

ยูโนแคลจึงเห็นเป็นทางอับจน หากให้มีการไต่สวนคดี ไม่ว่าจะชนะหรือแพ้ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของตนย่อมเป็นที่แพร่หลายออกไปตามสื่อมวลชนและสาธารณะ ย่อมสร้างผลร้ายมากกว่าผลดี เป็นเหตุให้ต้องยอมหาทางประนอมคดีในที่สุด

ส่วนอีกคดีหนึ่งซึ่งฟ้องร้องที่ศาลกลาง เข้าใจว่าก็คงอยู่ในเงื่อนไขการประนอมคดีครั้งนี้ด้วย หมายความว่าทั้งสองฝ่ายจะไม่ฟ้องร้องเอาความกันอีกต่อไป หากฝ่ายโจทก์พอใจกับค่าชดใช้ความเสียหายที่ได้รับจากยูโนแคล

ท่านที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมอาจติดตามได้จากเว็บไซต์ของ EarthRights International (ERI) www.earthrights.org
คดีของไทยที่คล้ายคลึงกันคือคดีที่บริษัทปตท.สผ.ฟ้องร้องส.ศิวรักษ์ในข้อหาขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ โดยอ้างอำนาจตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียมปีพ.ศ. 2521 คดีนี้ตรงข้ามคือฝ่ายบริษัทเป็นผู้ฟ้องร้องฝ่ายประชาชน ที่ผ่านมามีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าพรบ.ฉบับนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งมีผลวินิจฉัยออกมาว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งคงต้องดูกันต่อไปว่าคดีจะจบลงอย่างไร

แต่อย่างน้อยสำหรับคดียูโนแคล คงเป็นอุทาหรณ์ที่สำคัญทีเดียวสำหรับบรรษัทข้ามชาติให้ต้องระวังมากขึ้น ในการเข้าร่วมกับกิจการหรือกิจกรรมใด ๆ ที่อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือทำลายสิ่งแวดล้อม ดังกรณีประเทศพม่านั้น ถูกประณามจากประชาคมนานาชาติเป็นนิจ ถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากนานาชาติ แต่กระนั้นก็มีบริษัทและรัฐบาลที่กระหายผลกำไรมากมายที่พร้อมจะกระโจนเข้าไปร่วมสังฆกรรมด้วย รวมทั้งรัฐบาลไทยใจอเมริกันของเราด้วย

คดียูโนแคลคงทำให้บริษัทต่าง ๆ หนาว ๆ ร้อน ๆ ไปบ้างเหมือนกัน เพราะยังมีอีกหลายคดีที่ฟ้องร้องต่อบริษัทต่างๆ อยู่ อย่างเช่น คดีที่ฟ้องร้องบริษัทรอยัลดัชต์เชลล์ ในข้อหามีส่วนร่วมละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไนจีเรีย หลายคนอาจยังจำเค็น ซาโรวิวาที่ถูกรัฐบาลไนจีเรียสั่งแขวนคอได้ เค็นเป็นหัวหน้าชนกลุ่มน้อยเผ่าโอโกนีที่ประท้วงบริษัทเชลล์ ที่ได้รับสัมปทานขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่อันเป็นของบรรพชนของตน และต่อมาเขาก็ถูกสังหารร่วมกับสมาชิกกลุ่มอีกหลายท่าน คดีนี้ยังคงมีการพิจารณาอยู่ในศาลของสหรัฐฯ ซึ่งผลอาจจะออกมาคล้ายคลึงกับคดีของยูโนแคลก็ได้

ส่วนรัฐบาลนั้น เห็นทีจะเอาผิดได้ยากตราบใดที่ศาลอาญานานาชาติยังห่างไกลจากการปฏิบัติอย่างจริงจัง ไม่ต้องสงสัยที่ประเทศมหาอำนาจทั้งหลายต่างคัดค้านการลงนามให้สัตยาบันรับรองศาลดังกล่าว เพราะในที่สุดอาจนำไปสู่การฟ้องร้องรัฐที่มีส่วนร่วมในกิจการหรือกิจกรรมที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนได้เช่นเดียวกัน

พิภพ อุดมอิทธิพงศ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net