Skip to main content
sharethis

รายงานพิเศษ

"บ้านถวาย" อำเภอหางดง เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในแวดวงการท่องเที่ยวและการส่งออกนับเวลายาวนานกว่า 30 ปี และถือเป็นแหล่งช้อปปิ้งสำคัญที่นักท่องเที่ยวไม่ว่าชาติไหน ๆ ทั่วโลก ที่ได้มาเหยียบเยือนถิ่นล้านนา เมืองเชียงใหม่ คงไม่พลาดที่จะมาละลายทรัพย์ซื้อของฝากของที่ระลึกติดไม้ติดมือกลับไปบ้างไม่มากก็น้อย

วันนี้ ชื่อ "บ้านถวาย" อาจยิ่งตอกย้ำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นไปอีก เมื่อรัฐบาลจับมาปัดฝุ่น แต่งตัวใหม่ ยกระดับให้เป็น "หมู่บ้านโอท็อป" นำร่องแห่งแรกของประเทศไทย ตามยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น จุดประกายความคิดให้เชื่อมโยงสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์เข้ากับการท่องเที่ยว โดยพัฒนาหมู่บ้านที่มีศักยภาพให้เป็นหมู่บ้านโอท็อป ที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ถึงกระบวนการผลิตสินค้าและภูมิปัญญาของแหล่งผลิตนั้น ๆ

งบประมาณกว่า 10 ล้านบาท ที่ถูกโปรยลงมาพัฒนาบ้านถวาย เพื่อปั้นเป็นหมู่บ้านโอท็อป โดยมีแผนการพัฒนาในหลายส่วนคือ การปรับภูมิทัศน์ จัดทำป้ายบอกทางจากปากทางเข้าถึงหมู่บ้านถวาย ป้ายเล่าตำนานเรื่องราวและแผนที่ จัดทำเก้าอี้พัก ปรับปรุงหลังคาคลุมกันแดดบริเวณร้านค้าสองฝั่งคลอง จัดหารถตัวหนอนที่มีหัวจักรและโบกี้เพื่อนำเที่ยวภายในหมู่บ้าน จัดทำซุ้มคล่อมกลางคลองเพื่อสาธิตงานแกะสลัก รวมถึงการปรับปรุงถนนสายหลักภายในหมู่บ้านใหม่ เป็นต้น

กว่า 7 เดือนแล้วที่ประตูหมู่บ้านโอท็อป ณ บ้านถวายแห่งนี้ถูกเปิดออกเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว จึงน่าสนใจและน่าติดตามไม่น้อยว่า ช่วงเวลาที่ผ่านไปหลายเดือนนั้น มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเดิมหรือเกิดขึ้นใหม่ในหมู่บ้านถวายแห่งนี้บ้าง ในฐานะที่วันนี้ถูกยกชั้นให้เป็น "หมู่บ้านโอท็อป" แห่งแรกของเมืองไทย

"พลเมืองเหนือ" ลงพื้นที่สำรวจทุกซอกมุมของหมู่บ้านถวาย พบว่าในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ นักท่อง เที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติยังคงให้ความสนใจเดินทางมาจับจ่ายหาซื้อของที่ระลึกกันจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงนี้ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่น นักท่องเที่ยวจึงดูหนาตามากเป็นพิเศษแต่หากสังเกตุให้ดีแล้วกลับพบว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ที่ศูนย์หัตถกรรมบ้านถวายด้านหน้า ก่อนถึงบ้านถวาย - หมู่บ้านโอท็อปเพียงไม่กี่ร้อยเมตร
ขณะที่ภายในตัวหมู่บ้านถวาย - ร้านค้าสองฝั่งคลองขณะนี้กลับเงียบเหงา และมีนักท่องเที่ยวบางตา...???

นายยรรยงค์ คำยวง ประธานกลุ่มหัตถกรรมบ้านถวาย บอกว่า สาเหตุที่ทำให้ช่วงนี้หมู่บ้านถวายและร้านค้าสองฝั่งคลองเงียบเหงาลงไป เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างปรับปรุงถนนและปรับภูมิทัศน์บางจุดภายในหมู่บ้าน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ จึงทำให้ช่วงระยะ 1 - 2 เดือนที่ผ่านมานักท่องเที่ยวที่เข้ามาในหมู่บ้านถวายลดลงไปประมาณ 50 % และเมื่อทุกอย่างลงตัว ก็จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่หายไปกลับคืนมาเหมือนเดิม และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างแน่นอน

"จากที่ภาครัฐโปรโมทและยกระดับบ้านถวายให้เป็นหมู่บ้านโอท็อปตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ส่งผลให้ชื่อของบ้านถวายเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ช่วงแรก ๆ ยอมรับว่าต้องทำงานหนักมากเพราะนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชม ดูงานกันเยอะมาก มีตั้งแต่ 25 - 800 คนต่อวัน ชาวบ้านและกรรมการหมู่บ้านก็ต้องต้อนรับกันเรียกได้ว่าเหนื่อยกันเกือบทุกวัน ซึ่งระยะครึ่งแรกปีนี้ ประเมินแล้วพบว่าทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและยอดรายได้การขายสินค้าของร้านค้าสองฝั่งคลองทั้งจำหน่ายหน้าร้านและส่งออกเพิ่มขึ้นประมาณ 30 % โดยเฉพาะยอดขายสินค้าจากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ 9 ล้านบาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 11 - 13 ล้านบาทต่อเดือน "

ประธานกลุ่มหัตถกรรมบ้านถวาย กล่าวต่อว่า การปรับภูมิทัศน์ภายในหมู่บ้านถวายนั้น เริ่มทยอยดำเนินการมาเรื่อย ๆ ตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรรมาในแต่ละช่วง ซึ่งเป็นการพัฒนาให้ภาพรวมออกมาเป็นระเบียบสวยงาม ถนนทางเข้าหมู่บ้านตามจุดต่าง ๆ ก็จะเทคอนกรีต ร้านค้าสองฝั่งคลองก็จะปรับรูปแบบเน้นให้เป็นรูปแบบล้านนาเหมือนกันหมด ส่วนผ้าคลุมแสลมกันแดดระหว่างร้านสองฝั่งคลองก็จะรื้อออกทั้งหมดและใช้วัสดุแบบใหม่ที่ดูดีกว่าเดิม รวมทั้งอนาคต จะรณรงค์ให้พ่อค้าแม่ค้าริมสองฝั่งคลองแต่งกายชุดพื้นเมือง เพื่ออนุรักษ์ประเพณีดั้งเดิมและเพื่อให้สอดคล้องกับการขายสินค้าหัตถกรรมที่เป็นฝีมือของชาวเหนือ

ขณะเดียวกันชาวบ้านในหมู่บ้านถวายเกือบทุกครัวเรือนที่มีอาชีพหลักคือ การแกะสลักไม้และผลิตสินค้าหัตถกรรม ต่างก็ตื่นตัวและภาคภูมิใจที่บ้านถวายที่พวกเขาร่วมกันสร้างและสืบสานงานหัตถกรรมมายาวนานจากบรรพบุรุษ ถูกยกระดับให้เป็นหมู่บ้านโอท็อปแห่งแรกของประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าทุกครัวเรือนต่างมีเรื่องราวและตำนานของสินค้าแต่ละชิ้นทั้งเล็กและใหญ่ ที่เกิดจากฝีไม้ลายมือและน้ำพักน้ำแรง และรอคอยให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสเรียนรู้ถึงกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนอย่างไม่ปิดบัง

นายพิทักษ์ ตุ้มอินมร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ยอมรับว่าตั้งแต่บ้านถวายถูกยกให้เป็นหมู่บ้านโอท็อป ทำให้นักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศ ทั้งคนไทยและคนต่างประเทศหลั่งไหลมาเที่ยวกันจำนวนมากในระยะที่ผ่านมา ซึ่งอานิสงส์นี้ก็ได้ส่งผลในหลายส่วน และหากเอ่ยถึงบ้านถวายคนทั่วไปจะมองอยู่ 2 จุดหลัก ๆ จุดแรกที่นักท่องเที่ยวจะต้องแวะก็คือ ศูนย์รวมสินค้าหัตถกรรมซึ่งเป็นทางผ่านก่อนเข้าหมู่บ้านถวายและร้านสองฝั่งคลอง ที่มีร้านค้าเปิดบริการประมาณ 400 ร้าน และอีกจุดก็คือ ภายในหมู่บ้านถวาย ที่มีร้านค้าสองฝั่งคลองจำนวน 140 ร้านค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านในหมู่บ้านถวายมาเปิดร้านจำหน่าย

อีกจุดหนึ่งที่จะเป็นไฮไลท์ของความเป็นหมู่บ้านโอท็อปก็คือบ้านของชาวบ้านในหมู่บ้านถวาย ที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 220 หลังคาเรือน และเกือบทุกบ้านก็ผลิตสินค้าหัตถกรรมเป็นอาชีพหลัก ซึ่งตามคอนเซ็ปต์ที่ภาครัฐวางไว้ก็คือ ต้องการให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวซื้อของพร้อมกับได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้านในการผลิตสินค้างานหัตถกรรมไปด้วยในเวลาเดียวกัน

"ถ้าปรับภูมิทัศน์และดำเนินการก่อสร้างส่วนต่าง ๆ แล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนนี้ ก็คาดว่าทุกอย่างจะพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวได้ และต่อไปนักท่องเที่ยวก็จะได้เห็นวิถีชีวิตชาวบ้านจริง ๆ เราจะมีรถตัวหนอนพานักท่องเที่ยวนั่งชมรอบ ๆ หมู่บ้าน เพราะจุดไฮไลท์ของเราไม่ใช่อยู่แค่ร้านสองฝั่งคลองเท่านั้น อนาคตเราคิดไปถึงการทำโฮมสเตย์ด้วย นอกจากนี้ตามแผนของภาครัฐที่ตั้งไว้คือต้องการให้เชื่อมโยงทรัพยากรท่องเที่ยวในรูปแบบของการท่องเที่ยววันเดียว (One day Tour) ไปยังบ้านบ่อสร้างที่สันกำแพง และที่เวียงกุมกาม อันเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ได้อีกด้วย" นายกองค์การบริหารส่วนตำบลขุนคง กล่าว

อาจกล่าวไม่ผิดว่าการปั้นและโปรโมทบ้านถวายให้เป็นหมู่บ้านโอท็อปนำร่องแห่งแรกของประเทศไทย เป็นการต่อยอดที่แทบจะไม่ต้องออกแรงอะไรมากมาย เพราะในความเป็นจริง บ้านถวายนั้นสามารถขายความเป็นตัวเองมาได้อย่างยาวนานกว่า 30 ปี เพียงแต่การต่อยอดครั้งนี้ ชาวบ้านที่นี่ต่างยินดี ภาคภูมิใจ และพร้อมที่จะต่อยอดให้สูงขึ้นไปอีกหลายขั้น ๆ เพื่ออวดศักดาและเชิดชูงานหัตถกรรมของบ้านถวายให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลกต่อไป

*********************

ประชาไทรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net