Skip to main content
sharethis

การจัดการที่ดินยังคงเป็นปัญหาสำคัญสำหรับสังคมไทย ปัจจุบันมีเกษตรกรประมาณ
๑,๕๐๐,๐๐๐ ครอบครัวที่ส่วนหนึ่งไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองและอีกส่วนมีที่ดินทำกินแต่ไม่พอเพียงต่อการยังชีพ

แม้ว่าสภาพสังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากนโยบายการพัฒนาอันมีผลให้ภาคการเกษตรลดความสำคัญลง แต่ตราบจนกระทั่งทุกวันนี้ประชาชนประมาณ ๑๔ ล้านคน ก็ยังดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการทำเกษตร อย่างน้อยก็เป็นบางส่วนในการดำรงชีวิต การขาดแคลนที่ดินทำกินจึงเป็นปัญหาสำคัญที่ควรต้องได้รับความใส่ใจเหนือสิ่งอื่นใด

ที่ผ่านมาได้มีความพยายามในการแก้ไขด้วยการปฏิรูปที่ดิน การตราพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรผู้ยากไร้ได้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง แต่ในช่วงระยะเวลา ๓ ทศวรรษหลังการปฏิรูปที่ดินก็ไม่ได้ทำให้เกษตรกรรายย่อยมีที่ดินและความมั่นคงในการถือครองที่ดินแต่อย่างใด

เนื่องจากการปฏิรูปที่ดินที่ได้กระทำไปภายใต้กฎหมายฉบับนี้เป็นการนำเอาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมมาแจกจ่ายให้แก่เกษตรกร โดยที่มิได้มีการวางมาตรการที่ทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน บุคคลที่เป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่ก็ยังคงสามารถถือครองที่ดินของตนได้ต่อไป และโดยที่ปราศจากการจำกัดปริมาณการถือครองดินจึงเป็นแรงจูงใจให้เกิดความต้องการครอบครองที่ดินโดยรูปแบบต่างๆ ทั้งที่ชอบและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะที่ดินกลายเป็นทรัพย์สินเพื่อเก็งกำไรในตลาดที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ดังข่าวเรื่องการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ภายใต้การสมคบกันระหว่างผู้มีอิทธิพลและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกิดขึ้นอย่างหนาหูมาโดยตลอด หรือการเข้าครอบครองที่ดินในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกลับกลายเป็นผู้มีอันจะกินแทนเกษตรกรซึ่งไม่มีที่ดินทำกิน

นโยบายแปลงสินทรัพย์ให้กลายเป็นทุนยิ่งจะทำให้เกษตรกรสูญเสียที่ดินรวดเร็วขึ้น พร้อมกันไปกับการที่ที่ดินจะกระจุกตัวอยู่ในมือคนจำนวนน้อยเพิ่มขึ้น การที่บุคคลสามารถนำที่ดินที่แม้จะมิใช่เป็นเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินไปเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ จะมีประโยชน์เฉพาะหน้ากับเกษตรกรส่วนใหญ่ในระยะสั้นเท่านั้น ในระยะยาวตราบเท่าที่ยังไม่มีการสร้างกลไกที่จะทำให้เกิดความมั่นคงในการถือครองที่ดินด้านอื่น เช่นเพิ่มอำนาจต่อรองของเกษตรกรในตลาด การคืนการจัดการทรัพยากรให้แก่ชุมชนท้องถิ่น เช่น ผ่านพ.ร.บ.ป่าชุมชน ฯลฯ โอกาสที่ที่ดินจะหลุดไปจากมือเกษตรกรก็เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันจะเป็นผลให้เกษตรกรต้องหลบหลีกเข้าสู่การเป็นแรงงานไร้ฝีมือในอุตสาหกรรม ซึ่งกำลังย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศที่ค่าแรงต่ำกว่าประเทศไทย ยิ่งทำให้ปัญหาแรงงานซึ่งเป็นปัญหาที่หนักมากอยู่แล้วทรุดหนักลงไป

ภายใต้การเปิดให้มีการแสวงหาประโยชน์จากการเก็งกำไรที่ดินอย่างเสรี ก็เป็นผลให้ที่ดินเป็นจำนวนมากหลุดไปจากมือเกษตรกรเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมิได้นำไปสู่การทำประโยชน์ในที่ดินทำกินแต่อย่างใด เป็นเพียงการถือครองที่ดินเพื่อรอให้ราคาพุ่งสูงตามกระแสของตลาด ที่ดินรกร้างว่างเปล่าเป็นจำนวนมากจึงถูกทอดทิ้งไว้ อันเป็นภาพที่ขัดแย้งกับการไร้ที่ดินทำกินของเกษตรกรจำนวนมหาศาล

นอกจากนี้การส่งเสริมเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ที่มีผลให้เกษตรกรต้องผูกติดกับระบบตลาดมากขึ้นก็มีส่วนสำคัญต่อการทำให้เกษตรกรต้องประสบกับความผันผวนไปตามระบบตลาด ยิ่งราคาพืชผลมีความแกว่งไกวมากเพียงใด ความมั่นคงของเกษตรกรก็ลดน้อยลงไปเพียงนั้น

การปฏิรูปที่ดินจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงประเด็นสำคัญ ๓ ประการดังต่อไปนี้

๑. การปฏิรูปที่ดินต้องก่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน การถือครองที่ดินในจำนวนที่เกินความจำเป็นโดยมิได้ทำประโยชน์ต้องถูกจำกัดโดยอาศัยมาตรการต่างๆ เช่น มาตรการทางภาษี

๒. ต้องสร้างมาตรการและกลไกที่ทำให้เกิดความมั่นคงแก่เกษตรกรรายย่อยในการถือครองที่ดิน เพื่อมิให้ที่ดินหลุดมือไปจากเกษตรกรได้โดยง่าย เช่น การไม่อนุญาตให้มีการเก็งกำไรในที่ดิน แต่นอกจากนี้ลำพังเพียงสถานะของปัจเจกบุคคล อาจไม่มีพลังเพียงพอต่อการเผชิญกับการคุกคามจากระบบเศรษฐกิจแบบเสรี จึงจำเป็นต้องให้อำนาจกับชุมชนในการเข้ามามีส่วนร่วมกับจัดการที่ดิน

๓. แม้ว่าจะกระจายการถือครองที่ดินให้ไปอยู่ในมือของเกษตรกร แต่ยังต้องคำนึงถึงระบบการผลิตที่เอื้อต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรรายย่อย เนื่องจากการส่งเสริมภาคเกษตรกรรมในปัจจุบันมุ่งเน้นไปในเชิงของเกษตรเชิงพาณิชย์ที่ทำให้เกษตรกรต้องผูกติดกับระบบตลาดมากขึ้นทั้งในด้านการผลิตและจำหน่าย การสนับสนุนและส่งเสริมระบบการผลิตเพื่อให้เกิดการพัฒนาตามความสามารถของเกษตรกร เช่น เกษตรกรรมแบบอินทรีย์ การใช้ปุ๋ยธรรมชาติ การเพาะปลูกแบบหมุนเวียนโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี การใช้ที่ดินสาธารณะมาทำการเพาะปลูกในบางช่วง ฯลฯ จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรให้บังเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเงินและตลาดเพียงอย่างเดียว

เราจึงเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง เสนอนโยบายที่ดินอย่างชัดเจน เพื่อให้ประชาชนพิจารณาว่า นโยบายเหล่านี้จะสามารถแก้ไขปัญหาที่ดินอันเป็นปัญหาที่หนักหนาสากรรจ์สำหรับสังคมไทยในขณะนี้ได้มากน้อยเพียงไร แท้จริงแล้ว นโยบายที่ดินซึ่งเป็นธรรมและมุ่งจะให้ประชาชนระดับรากหญ้าสามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตพื้นฐานนี้ จะสามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ยิ่งกว่าการอัดฉีดเงินลงไปเพียงอย่างเดียว

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net