Skip to main content
sharethis

ประชาไท-14 พ.ย. 47 "ทักษิณ" รับข้อเสนอนิติมธ. ใช้กฎหมายคุ้มครองวัฒนธรรมของท้องถิ่นดับไฟใต้ ให้ตัวแทนอาจารย์กลับไปร่างโดยอิงรัฐธรรมนูญ ม.46 และ78 ก่อนกลับมาเสนออีกครั้งหนึ่ง

หนึ่งในนักวิชาการ 22 คนที่เข้าปรึกษาสถานการณ์ภาคใต้กับนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล วันนี้(14 พ.ย.) กล่าวว่า นายกิตติศักดิ์ ปรกติ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เสนอให้มีการออกกฎหมายคุ้มครองวัฒนธรรมของท้องถิ่น โดยใช้กลไกรัฐธรรมนูญออกกฎหมายไปใช้แก้ปัญหา ซึ่งนายกรัฐมนตรีเสนอให้นายกิตติศักดิ์ไปร่างกฎหมายดังกล่าวและให้นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ติดตามข้อเสนอดังกล่าว

"ประเด็นนี้เป็นเรื่องอ่อนไหวมาก เพราะในสังคมมีหลายกลุ่มสื่อบางสื่อก็นำเสนอว่านักวิชาการจะแบ่งแยกดินแดนแต่จริงๆไม่ใช่ เพราะเป็นการใช้ รธน. มาตรา 46 ที่ว่าคุ้มครองปกป้องภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเมื่อคุ้มครองจะมีระบบที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเข้าไปจัดการ และมาตรา 78 ในการยกสถานะองค์กรท้องถิ่นไปเกี่ยวข้อง" หนึ่งใน 22 นักวิชาการ กล่าว

นักวิชาการคนดังกล่าว กล่าวต่อว่านอกจากนี้ยังมีการเสนอให้ออกกฎหมายพิเศษ ตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาพี่น้องมุสลิมอีกด้วย

ทั้งนี้มาตรา 46 ตามรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ.2540 ระบุว่า บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

ส่วนมาตรา 78 ระบุให้ รัฐต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเอง และตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐาน สารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น

โดยการปรึกษากับนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ ตัวแทนอาจารย์ กล่าวว่าประเด็นสำคัญที่นักวิชาการนำเสนอคือการจัดการข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และการใช้สันติวิธีโดยการใช้การเมืองนำการทหาร ซึ่งประเด็นสำคัญยังไม่ได้รูปธรรมที่เป็นการสั่งการจากนายกรัฐมนตรี ได้เพียงแค่การรับเรื่องไว้โดยนายกรัฐฯบอกว่าข้อเสนอเป็นการลงในรายละเอียด

"นายกฯไม่ยอมรับว่าผิดพลาดบอกแต่ว่าการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมที่ตากใบเป็นสิ่งไม่ดี และการขอโทษก็จะจัดการเองซึ่งดูเหมือนว่านายกเองก็มีธงไว้แล้ว ส่วนการตั้งกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติและการทำวิจัยที่ได้ข้อสรุปมาก็ดูเหมือนว่าเป็นการมอบหมายจากนายกฯมากกว่า" หนึ่งใน 22 นักวิชาการ กล่าว

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net