Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ- 10 พ.ย.47 ที่มูลนิธิที่นา อุโมงค์ศิลปธรรม จ.เชียงใหม่ นายคำรณ คุณะดิลก ประธานโครงการภาคีความร่วมมือกวี นัดเขียนและศิลปิน ให้สัมภาษณ์ระบุว่า ปัจจุบันนี้สุนทรียะถูกดึงเข้าส่วนกลางมากเกินไป

ทางแรกคือ ถูกดึงโดยรัฐ จะเห็นว่า เมื่อมีการอภิวัฒน์โดยคณะ ราษฎร ก็มีการตั้งกรมศิลปากร พยายามดึงความงามมาให้เป็นความหมายใหม่ แล้วส่งกลับไป และการเกิดขึ้นของโรงเรียนสอนศิลปะ ก็สอนความรู้ใหม่เป็นตัวกำหนดอยู่กลุ่มเดียว

"ขณะเดียวกัน หากเรามองชาวบ้าน เขาก็มีสุนทรียะของเขา เราไม่ค่อยรู้ เขาทำงานในแบบของเขาเองที่ไม่ได้ใช้วิทยาศาสตร์หรือเหตุผล ชาวบ้านทำด้วยความรู้สึก ทำอย่างไรจึงจะมีการเรียนรู้ระหว่างศิลปะพื้นบ้านและศิลปะร่วมสมัยเข้าด้วยกัน เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้โดยไม่มีการครอบงำซึ่งกันและกัน" นายคำรณ กล่าว

อ.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ภาควิชามีเดีย อาร์ต ดีไซน์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มีการพูดกันว่า โทรทัศน์ไม่ใช่แค่ตัวส่งสาร แต่มีความหมายมากกว่านั้น เพราะมันไปจัดการวิถีชีวิตในห้องนั่งเล่น เมื่อคุณเอามันไปติดตั้ง ชีวิตคุณก็เปลี่ยนทันที ต้องจัดเวลาในการดูทีวี มันแฝงเข้ามาในตัวคุณเอง

"ผมจึงหมดหวังกับการสร้างระบบคิด และการส่งผ่านตัวสื่อมาตราฐานของชนชั้นกลางเมืองไทย ซึ่งเป็นชนชั้นที่ไม่สนใจชนชั้นอื่นเลย นอกจากตัวเอง ซึ่งในขณะนี้ เริ่มมีหลายโครงการที่พยายามสร้างประวัติศาสตร์ของชาวบ้าน ด้วยการทำ วิทยุท้องถิ่น วิทยุชุมชน Media Art และ Internet Channel เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนในชุมชนเข้ามาใช้" อ.ทัศนัย กล่าว

อ.รุจพร ประชาเดชสุวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวว่า ศิลปะไม่ได้มาจากความซับซ้อน แต่มาจากศรัทธาและความเชื่อ เรามีมีรากเหง้า มีเอกลักษณ์ แต่ปัจจุบันศิลปะหลายแขนงไปเอาของคนอื่นมา เอาสิ่งใหม่เข้าไปรวมอย่างมากมาย

"วิกฤติอยู่ที่เราไม่ขุดรากเหง้าขึ้นมาแสดงจริงๆ เราแตะมาส่วนหนึ่ง แล้วเราไปเห็นข้างนอก ขนเข้ามารวม ทำไมเราไม่ขุดความเป็นล้านนาที่แท้จริงขึ้นมา แล้วจะนำเสนออย่างไร ขณะนี้ เราจะทำอย่างไรไม่ให้เลอะเทอะกันไป ไม่ให้สิ่งเก่าหาย ตนเองมองว่า แบบใหม่ก็ทำใหม่ไปเลย แต่แบ่งยุคให้ถูกว่าอยู่ยุคไหน หรือในแบบที่สอง คือ ช่วยกันขัดเกลาให้เหมือนเดิม " อ.รุจพร กล่าว

รายงานแจ้งว่า กลุ่มศิลปินที่เข้าร่วมโครงการสุนทรียะชุมชน มีทั้งหมด 20 คน ซึ่งมีทั้งหมด 9 แขนงทางศิลปะ ได้แก่ ดนตรี ศิลปะการจัดวาง ละคร จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย ภาพยนตร์ และวรรณกรรม ได้ลงพื้นที่ชุมชนหมู่บ้านม้ง ปกากะญอ ไทยลั๊วะ และไทยเขิน จำนวน 10 หมู่บ้านหลังจากลงทำงานในพื้นที่ร่วมกับชาวบ้านแล้ว จะมีการนำผลงานมาแสดงงานกันต่อไป

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net