Skip to main content
sharethis

ประชาไท-27 ต.ค.47 วานนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแถลงกรณีความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณประโยชน์โคกชายทะเลซึ่งมีการเผชิญหน้าระหว่างประชาชนในตำบลตลิ่งชันและตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา บริษัท ซัมซุ ง เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัททรานส์ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด (ทีทีเอ็ม)

นายวสันต์ พานิช คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่าบริษัท ซัมซุง เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัดเป็น ผู้รับเหมาจากบริษัททีทีเอ็ม เพื่อดำเนินการก่อสร้างโดยใช้ประโยชน์ในที่ดินที่บริษัททีทีเอ็ม จัดซื้อมาดังกล่าวข้างต้นและที่ดินใกล้เคียงโดยประชาชนยืนยันว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์โคกชายทะเลและมีกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธประจำการอยู่ในบริเวณดังกล่าวอันสร้างความหวั่นวิตกในความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นจากการเผชิญหน้าได้ ซึ่งรัฐต้องเร่งดำเนินการยุติปัญหาในเรื่องนี้โดยเร่งด่วน

นายวสันต์ กล่าวต่อว่าในขณะนี้พื้นที่ดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการแลกเปลี่ยน ทางบริษัทฯได้ดำเนินการไถกลบทางสาธารณะประโยชน์ดังกล่าวไปตั้งแต่เดือนธันวาคม 2546 ทั้งๆที่ทุกหน่วยงานราชการได้ชี้แจงตรงกันว่า ในระหว่างการแลกเปลี่ยนจะทำการแปลงสภาพที่ดินสาธารณประโยชน์หรือเข้าใช้ประโยชน์เสียเองไม่ได้ หรือหวงห้ามไม่ให้ผู้อื่นเข้าไปใช้ประโยชน์ในทางสาธารณะดังกล่าว

แต่การที่บริษัทฯได้ล้อมรั้วรอบบริเวณโครงการท่อส่งก๊าซ รวมทั้งการทำประตูเปิดปิดไว้ สำหรับทางสาธารณ ประโยชน์เดิมบางส่วนได้ล้อมรั้วปิดเลยทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้ประโยชน์ในทางสาธารณประโยชน์ได้โดยสะดวกหรือบางเส้นทางไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เลย การกระทำดังกล่าวในขณะที่การแลกเปลี่ยนยังไม่เสร็จสิ้นจึงเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย

นางสุนีย์ ไชยรส คณะกรรมการสิทธิฯกล่าวว่า จากการชี้แจงของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอจะนะ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยืนยันว่าประชาชนยังใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณะดังกล่าวซึ่งสอดคล้องกับคำชี้แจงของชาวบ้านที่ร้องเรียนมา โดยตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 8 วรรค 2 (1) แล้ว การถอนสภาพให้กระทำโดยพระราชบัญญัติเท่านั้น หาใช่กระทำโดยพระราชกฤษฎีกาไม่

ทางผู้ร้องเรียนกับพวกได้ยืนยันว่า ที่ดินสาธารณประโยชน์เดิมมีเนื้อที่กว่า 10 ไร่ แต่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาจะนะ และกรมที่ดินตลอดจนบริษัททีทีเอ็ม อ้างว่ามีเนื้อที่ 7-1-91 ไร่ ดังนั้นเพื่อให้ทราบถึงเนื้อที่ที่แน่นอนจึงควรมีการตรวจสอบโดยอาศัยแผนที่ระวางเข้ามาประกอบในการตรวจสอบ

ทางคณะกรรมการสิทธิฯได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาแล้วเพื่อขอให้ยุติการดำเนินการใดๆในพื้นที่เสียก่อนโดยเสนอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องที่ดินให้ชัดเจนเสียก่อนว่าได้มีการออกเอกสารสิทธิ์สวมทับที่ดินสาธารณะหรือไม่ ให้มีการดำเนินการปรับสภาพที่ดินสาธารณะให้คืนสู่สภาพเดิม และให้มีการสอบถามการดำเนินการสอบถามความคิดเห็นในการแลกเปลี่ยนทางสาธารณะประโยชน์กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องใหม่อีกครั้ง นางสุนีกล่าว

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net