Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-12 ต.ค.47 สำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 16 ทำหนังสือตอบรับ หลังจากกลุ่มภาคีเพื่อดอยหลวงเชียงดาว ได้ยื่นขอข้อมูลโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาว พร้อม TOR ระบุว่า ยังไม่มีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา โดยขั้นตอนยังอยู่ระหว่างขั้นตอนทางพัสดุ

"นายพิศาล วสุวานิช ผอ.สำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 16 ได้ทำหนังสือตอบกลับ โดยได้ชี้แจงว่า จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการจัดจ้างที่ปรึกษาโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าดอยหลวงเชียงดาวแต่อย่างใด โดยในเวลานี้ยังอยู่ในกระบวนการปรึกษาหารือกับคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ(กวพ.) ในวิธีการจัดจ้างบริษัทต่างประเทศ ซึ่งหากไม่มีข้อขัดข้อง จะเป็นไปตาม Term of Re ference หรือ TOR โดยการพิจารณาจัดจ้าง จะเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ และใช้งบประมาณของรัฐเพื่อศึกษาความเป็นได้" น.ส.ลักขณา ศรีหงษ์ ตัวแทนภาคีเพื่อดอยหลวงเชียงดาว

ก่อนหน้านี้กลุ่มภาคีเพื่อดอยหลวงเชียงดาว ได้ยื่นหนังสือถึง ผอ.สำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 16 เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการกระเช้าไฟฟ้าดอยหลวงเชียงดาว อาทิ ข้อกำหนดการจ้างบริษัทที่ปรึกษาการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำกระเช้าไฟฟ้า รายละเอียดของบริษัทที่ปรึกษาฯ

หนังสือตอบกลับระบุถึงรายละเอียดการทำ TOR ว่า การจ้างบริษัทที่ปรึกษาความเป็นไปได้ของโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าดอยหลวงเชียงดาวนั้น จะใช้ระยะเวลาดำเนินการศึกษา120 วันนับตั้งแต่วันลงนามในสัญญา

โดยจำแนกหัวข้อการศึกษาออกเป็น 2 ส่วน คือ การศึกษาด้านวิศวกรรมและการศึกษาด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่วิศวกรรม โดยการศึกษาทางด้านวิศวกรรม จะดำเนินการโดย บริษัทที่ปรึกษา และคณะวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ขณะที่การศึกษาด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทางวิศวกรรม จะดำเนินการโดยผู้ชำนาญการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ในด้านพืช จะทำการสำรวจข้อมูลทุติยภูมิด้านพฤกษศาสตร์ ความหลากหลายทางชีวภาพแบบการอนุรักษ์พันธุ์พืช ซึ่งดำเนินการโดย ดร.ธวัชชัย สันติสุข ผู้ชำนาญการด้านสำรวจและจำแนกพันธุ์ไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ ดร.วีระชัย ณ นคร ผอ.องค์การสวนพฤกษศาสตร์ จ.เชียงใหม่

ในด้านสัตว์ จะทำการสำรวจและรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิด้านสัตว์ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ป่าและการอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในด้านธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณีเป็นผู้รับผิดชอบ

การประเมินทางสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น จัดทำโดยสำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และในด้านสังคม อาทิ การศึกษาสภาพเศรษฐกิจ สังคม การถือครองที่ดิน ทัศนคติต่อการพัฒนา กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อชุมชนโดยรอบพื้นที่ ทำโดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้

ทางกลุ่มภาคีเพื่อดอยหลวงเชียงดาว ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อมูลขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ ที่สำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 16 ได้เปิดเผยนั้น เป็นการดำเนินการจัดการเพียงฝ่ายเดียว คือรัฐ แต่ไม่มีกลุ่มชาวบ้าน องค์กรท้องถิ่น เข้าไปมีส่วนร่วม ในกระบวนการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาวแต่อย่างใด

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net