Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-22 ก.ย.2547 คณะอนุกรรมการว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์ติงรัฐบาลไทย โดยเฉพาะหลังจากเจ้าหน้าที่รัฐเข้าจับกุมชาวบ้านปางแดง จำนวน 48 คน ว่าขัดต่อสิทธิมนุษยชน

ในหนังสือของคณะอนุกรรมการฯ ระบุถึงสถานการณ์ของชาวเขาซึ่งยังไม่ได้รับสัญชาติในประเทศไทย ตามข้อมูลของสภาทนายความแห่งประเทศไทย ในปี 2546 ว่า มีชาวเขาประมาณ 400,000 คนที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย ซึ่งถือเป็นจำนวนเกือบจะครึ่งหนึ่งของประชากรชาวเขาทั้งหมด

แม้ว่าคณะอนุกรรมการฯ จะตระหนักถึงกฎหมายและการปฏิบัติภายในประเทศไทย แต่ก็ต้องการชี้ให้เห็นว่า ชาวเขาในประเทศไทยได้รับความยากลำบากมาเป็นเวลานานจากการเลือกปฏิบัติและการไม่สามารถเข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

สิ่งนี้ส่งผลให้พวกเขาต้องมีชีวิตอยู่อย่างยากจนข้นแค้น อันหมายความถึง การสะสมของสภาพการณ์ที่ยากลำบากต่างๆ เช่น การมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากจน การมีที่อยู่อาศัยที่ไม่ได้มาตราฐานและไม่เป็นที่พอใจ การว่างงาน การเจ็บป่วย การไม่ได้รับการศึกษา และการถูกผลักดันให้เป็นคนชายขอบ

ในหนังสือยังระบุต่อว่า การไม่สัญชาติทำให้ชาวเขาไม่สามารถที่จะเข้าถึงบริการทางสุขภาพและบริการอื่นๆ ของรัฐ การบังคับโยกย้ายถิ่นฐานทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขายากลำบากยิ่งขึ้น ชาวเขาเป็นชุมชนเกษตรกร พวกเขาอยู่ในป่าและทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการทำไร่ ทำนา การไม่ได้รับสิทธิในการครอบครองที่ดินหมายความว่า พวกเขาสามารถถูกบังคับให้ออกจากพื้นที่ที่พวกเขาได้ทำการเพาะปลูกมาหลายชั่วอายุคนได้อย่างง่ายดาย

ความขัดแย้งมักจะเกิดขึ้น เมื่อผืนดินที่ชาวบ้านได้อาศัยอยู่และทำการเพาะปลูกมาหลายทศวรรษ ถูกประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนในภายหลัง ปัญหานี้เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นเรื่องการจัดการทรัพยากร การบังคับโยกย้ายถิ่นฐาน และการเลือกปฏิบัติ เมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ชาวบ้านปางแดงนอก อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ จำนวน 48 คน ถูกจับและกักขังในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน

มีการรายงานว่า มีการเลือกปฏิบัติในการจับกุม เนื่องจากมีเพียงชาวบ้านเท่านั้นที่ถูกจับกุม และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สามแล้วที่ชาวบ้านถูกจับ ในขณะที่ข้อหานี้ไม่ครอบคลุมถึงการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนโดยเจ้าของรีสอร์ตและสปา เจ้าของไร่ส้ม

ในหนังสือยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทย เคารพและรับประกันสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของทุกคน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ ให้นำระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยแนวปฏิบัติในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฏรและเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย ปี 2535 ไปปฏิบัติเพื่อเป็นหลักประกันว่าเด็กทุกคนสามารถเข้ารับการศึกษา และใช้มาตราการการแก้ไขปัญหาความยากจนที่เสนอโดยคณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกิจ ของคณะอนุกรรมการว่าด้วยความคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เป็นแนวทางในการบรรลุนโยบายกำจัดความยากจนของรัฐบาล

ในท้ายของเอกสาร ยังระบุว่า ขอเรียกร้องให้คณะอนุกรรมการฯ ชุดดังกล่าว ได้รวมการศึกษากลุ่มที่มีความเปราะบาง เช่น ชนพื้นเมือง ชนกลุ่มน้อย และคนไร้สัญชาติไว้ในรายงานสุดท้าย เรื่อง การนำบรรทัดฐานและมาตราฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่ไปปฏิบัติในบริบทของการต่อสู้กับความยากจน และให้นำข้อมูลไปเสนอในที่ประชุม Social Forum ครั้งต่อไปในปี 2548 ในหัวข้อ"ความยากจนและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ"

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net