Skip to main content
sharethis

(เรียบเรียงจากเอกสารประกอบการระดมความคิดเห็นด้านการค้าบริการในความตกลงการค้าเสรี
วันที่ 21 ก.ย. 47 จัดโดย สำนักเจรจาการค้าบริการ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ)

ตามคำนิยามขององค์การการค้าโลก (WTO) ได้แบ่งสาขาการค้าบริการเป็น 12 สาขา ประกอบด้วย บริการธุรกิจ สื่อสารและโทรคมนาคม ก่อสร้าง ค้าส่งค้าปลีก การศึกษา สิ่งแวดล้อม การเงินการธนาคาร การท่องเที่ยว การขนส่ง สุขภาพ นันทนาการ และบริการธุรกิจอื่นๆ อย่างไรก็ตาม การค้าบริการไม่รวมถึงบริการรัฐ โดยรูปแบบการให้บริการสามารถแบ่งได้เป็น 4 รูปแบบ (Modes of Supply หรือเรียกสั้นๆ ว่า Mode1-Mode 4) ซึ่งประกอบด้วย

Mode1: การให้บริการข้ามพรมแดน (Cross Border Supply) : การค้าบริการโดยผู้ให้บริการและผู้รับบริการต่างอยู่คนละประเทศ แต่สามารถให้และใช้บริการได้โดยอาศัยเทคโนโลยีการสื่อสาร ซึ่งผู้ซื้อและผู้ขายไม่ต้องเคลื่อนย้ายจนเองออกนอกประเทศ เช่น การให้บริการที่ปรึกษาการซ้อประกันภัย การศึกษาทางไกล การโฆษณา และการสั่งซื้อหนังสือ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต

Mode2 : การบริโภคข้ามพรมแดน (Consumption Aboard) : การที่ผู้รับบริการเดินทางไปใช้บริการในประเทศของผู้ให้บริการ เช่น การเดินทางท่องเที่ยว การศึกษาในต่างประเทศ

Mode3 : การตั้งหน่วยธุรกิจ (Commercial Presence) : การเข้าไปจัดตั้งนิติบุคคลในประเทศผู้ใช้บริการ โดยผู้ขายบริการจากประเทศหนึ่งเข้าไปลงทุนประกอบธุรกิจในรูปแบบการจัดตั้งหน่วยธุรกิจ สาขา ตัวแทน หรือบริษัทในอีกประเทศหนึ่งเพื่อขายบริการ

Mode4 : การเคลื่อนย้ายบุคลากร (Movement of Natural Persons) : บุคคลจากประเทศหนึ่งไปให้บริการในอีกประเทศหนึ่ง โดยเดินทางไปทำงานหรือให้บริการแก่ลูกค้าในประเทศหนึ่ง เช่น นักกฎหมาย นักบัญชี ผู้บริหาร เป็นต้น

ดังนั้น การเจรจาเปิดเสรีค้าบริการ คือ การเจรจาเพื่อยกเลิกข้อกีดขวาง หรืออุปสรรคที่มีการการค้าบริการในทุกรูปแบบของการค้าบริการ (Mode1-4) ของทั้งสองประเทศ ซึ่งโดยทั่วไปอุปสรรคหรือข้อกีดขวางด้านการค้าบริการจะแบ่งออกเป็นอุปสรรคการเข้าสู่ตลาด (market access) และการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (national treatment) รวมถึงกฎระเบียบภายใน (domestic regulation)

การเข้าสู่ตลาด เป็นการเจรจาเพื่อลด/ยกเลิกข้อจำกัดซึ่งเป็นอุปสรรคด้านการค้าบริการระหว่างประเทศ ซึ่งเกิดจากมาตรการ นโยบาย กฎข้อบังคับองรัฐบาลในการค้าขาย เพื่อเปิดโอกาสให้คนชาติของประเทศนั้นๆ สามารถเข้ามาขายบริการให้คนชาติของตนเองได้ (market access) โดยตามความตกลง GATS ได้ระบุข้อจำกัดไว้ 6 เรื่องคือ

- จำกัดจำนวนบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่เป็นผู้ให้หรือขายบริการ เช่น จำกัดจำนวนสาขาธนาคารต่างชาติให้เข้ามาได้ไม่เกิน 2 แห่ง
- จำกัดมูลค่าบริการที่ขายหรือทรัพย์สิน เช่น ธนาคารต่างชาติมีสินทรัพย์ได้ไม่เกิน 20% ของสินทรัพย์ธนาคารภายในประเทศทั้งหมด
- จำกัดจำนวนบุคคลธรรมดาที่ได้รับการว่าจ้างเพื่อให้บริการ เช่น ธุรกิจนั้นต้องจ้างนักกฎหมายท้องถิ่นไม่ต่ำกว่า 2 คน
- จำกัดจำนวนหรือปริมาณการให้บริการ เช่น กำหนดให้ฉายภาพยนตร์ตางชาติได้ปีละ 10 เรื่อง
- จำกัดรูปแบบของหน่วยธุรกิจที่ให้บริการ เช่น รูปแบบของหน่วยธุรกิจจะต้องเป็นเฉพาะบริษัทจำกัดซึ่งจดทะเบียนในประเทศเท่านั้น
- จำกัดทุนต่างชาติที่ใช้ในการประกอบธุรกิจบริการในรูปสัดส่วนการถือหุ้นหรือมูลค่าการลงทุน เช่น สัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติมีได้ไม่เกิน 49%

การประติบัติเยี่ยงคนชาติ เป็นการเจรจาเพื่อยกเลิกการเลือกปฏิบัติอันเนื่องจากการใช้มาตรการใดๆ (ไม่ว่าจะเป็นในรูปของกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ วิธีการปฏิบัติ) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริการหรือผู้ให้บริการของประเทศนั้นๆ ไม่ได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นโดยนิตินัยหรือพฤตินัย

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net