Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 20 ก.ย.47 กรรมการสิทธิฯ ระดมสมองร่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพฉบับประชาชน รับเป็นเจ้าภาพเดินหน้าต่อขณะที่เอ็นจีโอ - ผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ขานรับเต็มที่ ด้านอดีตรมว.เกษตรฯ "ไอ้ก้านยาว" เผยช่วงเป็นรมต.มีตัวแทนจากอเมริกามาเจรจาหลายครั้ง

"ความรับผิดชอบทางการเมืองไม่ใช่จะรับผิดชอบต่อสาขาทางวิทยาศาสตร์สาขาใดสาขาหนึ่ง แต่ต้องรับผิดชอบในทุกสาขาทุกมิติในสังคม ภาคการเมืองจะต้องมีวิสัยทัศน์ และมีความระมัดระวังภัยที่จะมากับเทคโนโลยีชีวภาพเพียงพอ " นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกล่าวและว่า ระหว่างเป็นรมว.เกษตรฯ เคยมีตัวแทนจากสหรัฐอเมริกามาเจอ 2-3 ครั้งเพื่อเจรจาให้ผ่อนคลายเรื่องนี้

งานดังกล่าวเป็นการนำเสนองานวิจัย เรื่องกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับประเทศไทย ของดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ทั้งนี้ภายหลังการสัมมนาระดมความคิด นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานโครงการฯ ยอมรับจะเป็นแกนกลางในการจัดทำร่างกฎหมายความปลอดภัยฯ ภาคประชาชนต่อไปคู่ขนานกับภาครัฐ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และจะพยายามให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี

ด้านดร.เจษฎ์ ได้นำเสนอผลงานวิจัย โดยมีข้อสรุปที่สำคัญคือ ควรมีการจัดทำกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพโดยตรงขึ้นมา โดยตั้งอยู่บนหลักการระมัดระวัง และให้ครอบคลุมสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมทุกชนิดทั้งจุลินทรีย์ พืช สัตว์ รวมทั้งผลิตภัณฑ์สืบเนื่อง โดยครอบคลุมไปถึงการศึกษาในห้องปฏิบัติการด้วย ที่สำคัญคือ ต้องให้สาธารณชนมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายดังกล่าว

ดร.เจษฎ์ กล่าวต่อถึงมาตรการในการเยียวยาความเสียหายให้แก่เกษตรกรในกรณีที่จีเอ็มโอออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยเสนอให้ตั้งกองทุนที่จะเยียวยาเกษตรกรได้ทันที โดยทุกหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับจีเอ็มโอจะต้องส่งเงินมาสบทบ (อ่านรายละเอียดเรื่อง ข้อเสนอแนะเพื่อการจัดทำกฎหมายด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของประเทศไทย โดยดร.เจษฎ์ โทณะวณิก)

ด้านนายเดชา ศิริภัทร กล่าวว่า จากประสบการณ์ของฝ้ายบีทีทำให้ไม่เชื่อในกระบวนการบังคับของกฎหมาย อีกทั้งยังมีข้อสงสัยต่อนักวิจัยว่า ทำไมจึงมีหน่วยงานที่ทำวิจัยมะละกอจีเอ็มโอในเรื่องไวรัสใบด่างวงแหวนเหมือนกันถึง 3 หน่วยงานทั้งที่งบประมาณมีไม่มาก และการเลือกพืชมาวิจัยนั้นการตัดสินใจอยู่ที่ใคร และมีเบื้องหลังอย่างไร สังคมไม่เคยรู้

นายธเนศ เปเรร่า ตัวแทนจากบริษัทส่งออกเกษตรอินทรีย์ กล่าวว่า การกระจายอำนาจในกฎหมายเป็นเรื่องจำเป็น โดยใช้หลักสิทธิเกษตรกร สิทธิชุมชน ให้แต่ละชุมชนมีอำนาจและมีอิสระในการออกบทบัญญัติควบคุมการวิจัยและดูแลพันธุ์พืชดั้งเดิมของตนเอง ทำให้การครอบงำจากโลกาภิวัตน์เป็นไปได้ยาก

นายบรรพต ณ ป้อมเพชร ประธานคณะกรรมการกลางด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ(ไบโอเทค) กล่าวว่า ขณะนี้มีกฎหมายอยู่หลายฉบับที่ยังพอมีช่องว่างให้นำมาใช้ในการควบคุมเรื่องจีเอ็มโอได้ แต่ปัญหาคือ ไม่มีอธิบดีหรือเจ้าของหน่วยงานรับผิดชอบคนไหนที่กล้าหาญพอจะออกมาตรการอะไรมาใช้เป็นการชั่วคราว

"เราควรมีการจัดประเภทของความเสี่ยงของจีเอ็มโอในพืชแต่ละชนิด เพราะแม้แต่สารเคมีกำจัดศัตรูพืชก็ไม่ได้เลวร้ายเหมือนกันหมด อย่าเหมารวมว่าจีเอ็มโอเลวทั้งหมด และคนที่ออกมาพูดไม่ว่าฝ่ายไหนมีใครบ้างที่รู้เรื่องจีเอ็มโอหรือไบโอเซฟตี้จริงๆ "นายบรรพตกล่าว

มุทิตา เชื้อชั่ง
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net