Skip to main content
sharethis
Event Date

โครงการ ARTBANGKOK SYMPOSIUM 2011 ของเว็บไซต์ ARTBANGKOK.COM โดยความสนับสนุนจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรมจัดเสวนาในหัวข้อ “ประชาธิปไตยในสถาปัตยกรรม” ในวันพุธ ที่ 29 มิถุนายน 2554 เวลา 13.00 - 16.00 น. ณ ห้องประชุม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยากรคือ คุณนิธิ สถาปิตานนท์ ศิลปินแห่งชาติสาขาสถาปัตยกรรม ศ.ดร. บัณฑิต จุลาสัย คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกชื่อดัง คุณประทีป ตั้งมติธรรม ซีอีโอนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แถวหน้าของไทย ร่วมด้วย ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ และ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ดำเนินรายการโดย คุณคมสัน นันทจิต และ คุณวรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์ ติดต่อสอบถาม โทร. 02-7426438-9 ,02-7426438-9 อีเมล์ : ArtMaster@artbangkok.com ******************* เสวนา \ประชาธิปไตยในสถาปัตยกรรม\" หลังจากที่มีการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ ARTBANGKOK SYMPOSIUM 2011 อย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และได้เปิดเวทีเสวนาประสาศิลป์ไปแล้วสองรอบโดยถกประเด็นศิลปะไปแล้วสองแขนงในเดือนเมษายน และเดือนพฤษภาคม ได้รับความสำเร็จอย่างท่วมท้น โดยได้รับการตอบรับจากบุคคลสำคัญในเครือข่ายศิลปะ และได้รับการเผยแพร่ข่าวผ่านสื่อมวลชนแขนงต่างๆอย่างกว้างขวาง ทาง ARTBANGKOK.COM ก็ได้เปิดวงเสวนาครั้งที่สามขึ้น สำหรับเดือนมิถุนายน ในหัวข้อ “ประชาธิปไตยในสถาปัตยกรรม” ซึ่งมีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการค้นหาทางออกอย่างสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพของประเทศไทย ในมิติของการออกแบบวางผังเมือง การจัดการสิ่งแวดล้อม และการออกแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ในฐานะที่งานออกแบบสถาปัตยกรรมรวมถึงการวางผังเมืองและจัดการสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม ทั้งในแง่คุณภาพชีวิต แง่ศิลปวัฒนธรรม เรื่อยไปจนถึงสุขภาวะทางกายและทางจิตใจ อีกทั้งยังเป็นปัจจัยที่กำหนดพฤติกรรมการใช้ชีวิต ส่งเสริมและรองรับการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีส่วนหล่อหลอมค่านิยม ทัศนคติ ความคิด ของผู้คน อันจะก่อเกิดเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของสังคมไทยทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เมื่อเรามองดูบ้านเมืองของเรา สิ่งที่บอกถึงลักษณะทางกายภาพของประเทศไทยก็คือสถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อม ไม่ยากเลยที่เราอาจมองเห็นความเป็นทุนนิยม บริโภคนิยม วัตถุนิยม มองเห็นศาสนา ความเชื่อ ฯลฯ ยิ่งไปกว่านั้น เรายังคงเห็นร่องรอยของ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ระบบชนชั้น ระบบทาส ระบบศักดินา ฯลฯ ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยได้อย่างแจ่มชัด แต่เมื่อประเทศของเราพัฒนาก้าวหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตย จึงเกิดคำถามว่า...ณ วันนี้ เรามองเห็น ความเป็นประชาธิปไตย ที่สะท้อนออกมาผ่านการออกแบบสถาปัตยกรรมในประเทศไทยอย่างไรบ้าง เพราะหากเรากล่าวถึงคำว่า “ประชาธิปไตย” เป็นที่ทราบกันดีว่าหมายถึง ความเสมอภาคและอิสรภาพ เป็นระบอบการปกครองที่ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ อำนาจหน้าที่ในการมีส่วนร่วมปกครองและกำหนดนโยบายเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในรัฐ เมื่อเราได้ยินคำว่าสถาปัตยกรรม ผู้คนส่วนใหญ่มักจะคิดถึงอาคารสถานที่และตึกรามบ้านช่องต่างๆ เป็นผลงานที่ออกแบบสร้างสรรค์โดยสถาปนิก แต่ในความเป็นจริงขอบเขตความรับผิดชอบของงานด้านสถาปนิกนั้น มิได้มีเพียงการออกแบบตัวอาคาร แต่หมายรวมถึงการมองภาพรวมของการจัดการภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งขยายวงกว้างไปถึงการวางผังเมือง ซึ่งนับว่าเป็นส่วนสำคัญของคำว่าสถาปัตยกรรม ดังนั้นหน้าที่หรือความรับผิดชอบของสถาปนิกจึงขยายขอบเขตกว้างไกลออกไปกว่าที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ อย่างไรก็ดี เราก็ยังมีความเข้าใจต่อไปอีกว่าภารกิจของสถาปนิกนั้นเป็นไปเพื่อรับใช้แต่นายทุนเท่านั้น น้อยนักที่ผู้คนในสังคมโดยรวมจะเชื่อมโยงคำว่าสถาปัตยกรรมเข้ากับชีวิตของตน ทั้งที่ความจริงแล้ว ชีวิตของเราทุกคนนั้นมีความเกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมอยู่ตลอดทุกขณะจิต ความเกี่ยวข้องของผู้คนในสังคมกับคำว่าสถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่แปลกและน่าคิด หากลองพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า นอกจากที่พักอาศัยของตัวเองแล้ว มนุษย์เรายังจำเป็นต้องใช้สถาปัตยกรรมอยู่ตลอดเวลาโดยไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของหรือออกเงินสร้างโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ต่างๆ ถนนหนทาง หรือในระดับของเมืองหรือชุมชนที่มีการวางผัง มีการออกแบบมีการก่อสร้างเกิดขึ้น เหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องราวของสถาปัตยกรรมทั้งสิ้น สถาปัตยกรรมไม่ได้มีความหมายเป็นแค่สถานที่สำหรับการอยู่พักพิง หรือการไปใช้พื้นที่ แต่ยังเป็นตัวกำหนดคุณภาพชีวิต และเป็นสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นเครื่องรองรับ เครื่องกำหนดพฤติกรรม กำหนดรูปแบบวิถีชีวิต ทั้งทางกายและทางความคิด กลายเป็นวัฒนธรรม จากอดีตที่ผ่านมา ประเทศของเราถูกปกครองโดยระบอบอื่นมานาน และเดิมอำนาจอธิปไตยก็ไม่ได้อยู่ในมือของประชาชน มาจนกระทั่งปี พ.ศ. 2475 นี่เองที่เราเพิ่งจะประกาศว่า ไทยเป็นประเทศที่ใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาจนวันนี้เป็นระยะเวลาเพียงไม่ถึง 100 ปี ที่เราอาจอนุมานได้ว่า รากฐานของประชาธิปไตยของเรายังไม่หยั่งลึกและกิ่งก้านใบของเรายังแผ่สาขาไม่ได้กว้างเต็มที่ จึงทำให้ให้ทัศนคติหรือมุมมองต่อประชาธิปไตย ที่ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ อำนาจหน้าที่ในการมีส่วนร่วมปกครองและกำหนดนโยบายเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในรัฐ ความรู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ หรือความตระหนักในสิทธิและหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตยของเรา อาจจะยังไม่ชัดเจนนัก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากมองหาประชาธิปไตยในสถาปัตยกรรม และพบว่ามันมีอยู่น้อยเต็มที อีกทั้งยังดูพิกลพิการอย่างน่าสมเพช แต่เราก็ยังอยู่กันได้ ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อเดินไปตามถนนหนทาง เรามักเจอกับร้านค้าที่ตั้งอยู่ริมฟุตบาท กองขยะเกลื่อนกลาด การจราจรที่ติดขัดจากการวางผังเมืองที่ไร้ประสิธิภาพ สถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นโดยไร้การวางแผนการจัดการภูมิทัศน์ การออกแบบที่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือย ฯลฯ เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงประชาธิปไตยที่เจือจางยิ่งนักในมิติของสถาปัตยกรรม หากเราคิดว่า ประชาธิปไตยคือคำตอบสู่ความเจริญของประเทศไทย ประชาธิปไตยในสถาปัตยกรรมควรจะปรากฏออกมาในรูปแบบไหนและอย่างไร ซึ่งบุคคลที่จะมาให้คำตอบกับเรา คงไม่ได้มีเพียงสถาปนิกเท่านั้น แต่ควรจะเป็นตัวแทนของประชาชนที่ได้รับความไว้วางใจให้ไปบริหารบ้านเมือง กำหนดรูปแบบของเมือง การวางแผนสิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดความเป็นเมือง เกิดสิ่งก่อสร้างอะไรมากมาย ก็คือฝ่ายของนักลงทุน นักธุรกิจ และสุดท้ายก็คือสถาปนิกผู้ที่ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น และนี่คือที่มาของประเด็นเสวนาที่เราจะมาร่วมกันหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ในหัวข้อ “ประชาธิปไตยในสถาปัตยกรรม”"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net