Skip to main content
sharethis
Event Date

วันนี้-28 ก.พ.53 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประกาศรับสมัครทุน เพื่อวิจัยและพัฒนาพลังงานทางเลือกเพื่อสุขภาพในชุมชนขึ้น ทุนละ 300,000 บ. จำนวน 30 ทุน ภายใต้ชื่อ “โครงการพลังงานทางเลือกเพื่อสุขภาพสำหรับชุมชน” (สำหรับชุมชนที่รวมตัวกัน 5 คนขึ้นไป ร่วมกันพัฒนาพลังงานในชุมชนตนเอง) หมดเขต 28 ก.พ. 53 โดยผู้สนใจสามารถ เขียน ร่างข้อเสนอโครงการ 4-5 หน้า ไปยัง สสส.ได้ ตามเอกสารแนบ หรือดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ www.thaihealth.or.th หรือ www.energygreenhealth.com

 

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ประกาศ แนวทางสนับสนุนทุน ปี 2553
“โครงการพลังงานทางเลือกเพื่อสุขภาพสำหรับชุมชน”

ที่มาและความสำคัญ
สืบเนื่องจากปี 2551 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนที่จะส่งผลกระทบทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาวะ กอรปกับพลังงานที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีมูลค่าสูงขึ้น หากชุมชนปรับเปลี่ยนวิธีการดำรงชีวิตหันมาใช้พลังงานทางเลือกที่ประหยัดกว่า และมีวัตถุดิบที่อยู่ในชุมชน ทั้งที่เป็นพลังงานสำหรับใช้ในครัวเรือน และพลังงานสำหรับการผลิตเกษตร และอุตสาหกรรม จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของครัวเรือนได้ด้วย จึงได้สนับสนุนทุนโครงการ วิจัยและพัฒนาด้าน “พลังงานทดแทน/พลังงานทางเลือกเพื่อสุขภาพในชุมชน” เพื่อค้นคว้าทดสอบ พัฒนาสาธิต ตลอดจนส่งเสริม เผยแพร่และใช้ประโยชน์พลังงานทดแทน/พลังงานทางเลือกในชุมชนซึ่งเป็นพลังงานที่สะอาดไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเน้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างชุมชน องค์กรท้องถิ่น และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เพื่อให้ชุมชนเกิดความตระหนักในปัญหา ร่วมค้นคว้า และสามารถนำไปใช้ในชุมชน

ผลการดำเนินงานจากการสนับสนุนโครงการวิจัยที่ผ่านมาพบว่าหลายโครงการประสบความสำเร็จในการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานของโครงการ สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อชุมชนหรือครัวเรือน ตลอดจนก่อให้เกิดผลกระทบทางบวกต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาทางสุขภาพของชุมชนโดยตรง เช่น ปัญหากลิ่นจาก มูลสัตว์ หรือกลิ่นจากน้ำเสียต่างๆ เกิดเป็นทุนทางสังคมที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน นอกจากนี้ก่อให้เกิดพลังทางปัญญา ในการร่วมเรียนรู้ และนำภูมิปัญญามาใช้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน อีกทั้งบางชุมชนสามารถที่จะคิดค้นและพัฒนาพลังงานทางเลือกสำหรับชุมชน โดยการสนับสนุนทางวิชาการจากนักวิชาการได้

สสส.จึงมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนทุน เพื่อให้ชุมชนได้ทำโครงการพลังงานทางเลือกเพื่อสุขภาพของชุมชน โดยร่วมคิดค้นสร้างสรรค์ร่วมกับนักวิจัยหรือนักวิชาการในพื้นที่ เพื่อนำพลังงานทางเลือกมาใช้ประโยชน์ในชุมชนอย่างยั่งยืน และสามารถพึ่งตนเองได้ในระยะยาวต่อไป

วัตถุประสงค์
1.สนับสนุนการจัดทำโครงการด้านพลังงานทางเลือกเพื่อสุขภาพโดยชุมชน เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่/ชุมชนได้จริง
2.ส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงความรู้ ทักษะ ประสบการณ์การผลิตและใช้พลังงานทดแทน/พลังงานทางเลือกระหว่างชุมชน องค์กรท้องถิ่น และสถาบันการศึกษาในพื้นที่

แนวทางและขอบเขตการสนับสนุน
- เป็นโครงการที่คิดค้นและพัฒนาเพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนต่างๆ หรือการอนุรักษ์พลังงาน ที่เอื้อต่อสุขภาพ และเหมาะสมสำหรับการพึ่งตนเองของชุมชน
- เป็นโครงการที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคนิคในการประยุกต์ใช้หรือการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนหรือการอนุรักษ์พลังงาน
- เป็นโครงการที่สนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการพลังงานทางเลือกเพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง
- เป็นโครงการที่สอดคล้องกับความจำเป็นหรือสภาพปัญหาของชุมชน และสอดคล้องกับศักยภาพทรัพยากร และระบบนิเวศน์วัฒนธรรมของชุมชน รวมถึงเป็นโครงการที่มีความเป็นไปได้ในการดำเนินการในชุมชนเมื่อสิ้นสุดโครงการ
- ผู้เสนอโครงการจะต้องประกอบด้วย ก) ผู้แทนชุมชน และ ข) นักวิจัย/นักวิชาการที่สนับสนุนการทำงานของชุมชน ซึ่งจะช่วยกันรับผิดชอบการดำเนินงานโครงการเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคนิคและการมีส่วนร่วมของชุมชน
- สำหรับชุมชนที่มีการดำเนินงานด้านพลังงานทางเลือกอยู่แล้ว จะต้องเป็นโครงการที่พัฒนาต่อยอดหรือขยายผลการดำเนินงานให้สามารถใช้ประโยชน์ได้จริงในพื้นที่ โดยต้องเน้นให้เห็นถึงการนำไปใช้ได้จริงในชุมชน เช่น การพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ , การ matching กับท้องถิ่นเพื่อขับเคลื่อนเชิงนโยบาย, การพัฒนาต้นแบบเพื่อลดต้นทุน , เป็นต้น
- เป็นที่เน้นความร่วมมือระหว่างองค์กรเครือข่ายพื้นที่ ได้แก่ ชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาลตำบล และสถาบันการศึกษาในพื้นที่
- หากมีการร่วมทุนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานในพื้นที่ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นร่วมกันพัฒนาและการใช้ทุนท้องถิ่นเพื่อความยั่งยืนจะได้รับการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ

คุณสมบัติของผู้เสนอโครงการ

- เป็นกลุ่มบุคคล คณะบุคคล ชมรม ทั้งนี้ต้องมีผู้ร่วมทำโครงการอย่างน้อย 5 คนขึ้นไป และต้องมีที่ปรึกษาเป็นนักวิชาการร่วมสนับสนุน
- หัวหน้าโครงการ ผู้รับผิดชอบโครงการ และผู้ร่วมทำโครงการต้องเป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเอง มีสัญชาติไทยและมีถิ่นพำนักถาวรในประเทศไทย
- ควรมีการร่วมสนับสนุนด้านกิจกรรม หรืองบประมาณร่วม ทั้งจากภาคราชการ เอกชน หรือองค์กรบริหารท้องถิ่น
ไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างการรับทุนสนับสนุนทุนจาก สสส.
- ไม่เป็นผู้ติดค้างการส่งรายงานที่ได้รับการสนับสนุนทุนทุกประเภทจาก สสส. หรือกำลังได้รับทุนโครงการเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันจากแหล่งทุนอื่นๆ

วงเงินสนับสนุนและระยะเวลาดำเนินการ

สนับสนุน “โครงการพลังงานทางเลือกเพื่อสุขภาพสำหรับชุมชน” จำนวน 30 โครงการ ระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 1 ปี วงเงินสนับสนุนโครงการละไม่เกิน 300,000 บาท

ลักษณะโครงการที่ไม่สนับสนุน

(1) โครงการที่ขัดต่อหลักเกณฑ์สนับสนุนทุนของ สสส.
(2) โครงการที่มีทุนสนับสนุนโดยเฉพาะอยู่แล้ว เช่น การวิจัยประเมินผลชุดโครงการขนาดใหญ่ของ สสส. หรือโครงการที่ สสส. สนับสนุนโดยแผนงานอื่นๆ เช่น โครงการผู้สูงอายุ ผู้พิการ ความรุนแรงในครอบครัว แผนงานศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบ แผนงานวิจัยเพื่อพัฒนาระบบบริการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก เป็นต้น

เงื่อนไขการสนับสนุนทุน
- ผู้สนใจเสนอโครงการศึกษาเงื่อนไขหลักเกณฑ์ต่างๆ ของ สสส. และยินดีปฏิบัติตาม และมีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนด
- ไม่สนับสนุนค่าครุภัณฑ์ ยกเว้นที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อโครงการ และมีเหตุผลที่เหมาะสมในการสนับสนุน หากผู้เสนอโครงการไม่สามารถขอรับการสนับสนุนจากแหล่งทุนต่างๆ หรือขอใช้ครุภัณฑ์ที่มีในท้องถิ่นได้ สสส.จะสนับสนุนบางส่วน โดยให้หน่วยงานมีส่วนร่วมด้วย โดย สสส. สนับสนุนไม่เกินร้อยละ 30 ของค่าครุภัณฑ์ทั้งโครงการ
- ไม่สนับสนุนการจัดซื้อแหล่งพลังงาน/พลังงาน
- ไม่สนับสนุนค่าเช่าสำนักงาน และไม่สนับสนุนการลงทุนหรือเหมาจ่ายให้กิจกรรมต่างๆ
- สสส.ไม่สนับสนุนงบประมาณค่าตอบแทน หากจำเป็นต้องมีค่าตอบแทนสำหรับนักวิชาการสัดส่วนค่าตอบแทนรวมทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละ 10 ของงบประมาณรวมทั้งโครงการ ค่าตอบแทนต้องสามารถระบุรายชื่อผู้รับได้แน่นอน มีประวัติแนบ และระบุบทบาทหน้าที่ในโครงการชัดเจน

การเสนอร่างข้อเสนอโครงการ
ผู้สนใจให้เสนอ “ร่างข้อเสนอโครงการ” (Concept Paper) ประมาณ 4-5 หน้า จำนวน 5 ชุด ภายใน 28 กุมภาพันธ์ 2553

กำหนดการดำเนินงาน

การดำเนินการ
ระยะเวลา
1. การประกาศเชิญชวน/ข้อเสนอโครงการ (Concept Paper)
มกราคม 53 – 28 กุมภาพันธ์ 53
2. จัดกระบวนการพิจารณาร่างข้อเสนอโครงการ
15 กุมภาพันธ์ 53 – 31 มีนาคม 53
3. จัดกระบวนการพัฒนาโครงการฉบับสมบูรณ์ สำหรับร่างข้อเสนอโครงการที่ผ่านการคัดเลือก
เมษายน 53
4. จัดกระบวนการพิจารณาโครงการฉบับสมบูรณ์
พฤษภาคม 53
5. การจัดทำข้อตกลง
พฤษภาคม – มิถุนายน 53
6. เริ่มดำเนินโครงการ
มิถุนายน 53

เอกสาร “ร่างข้อเสนอโครงการ” ประกอบด้วย
ชื่อโครงการ : ตั้งตามประเด็นที่ต้องทำโครงการพลังงานทางเลือกเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาพลังงาน และปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพของชุมชนโดยต้องเป็นไปตามความต้องการของชุมชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการ

ความเป็นมาของโครงการ : ระบุสภาพปัญหาสุขภาพว่ามีปัญหาเกิดขึ้นที่ไหน อย่างไร ที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขปัญหาโดยใครหรือไม่/อย่างไร ปัจจุบันสภาพปัญหาเป็นอย่างไร พลังงานทางเลือกจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาของชุมชนได้อย่างไร สำหรับชุมชนที่มีการดำเนินงานด้านพลังงานทางเลือกอยู่แล้วจะต้องแสดงให้เห็นชัดเจนว่าจะพัฒนาต่อยอดจากงานเดิมอย่างไร

วัตถุประสงค์ของโครงการ : ควรระบุวัตถุประสงค์ของโครงการให้ชัดเจนที่สุด โครงการต้องการให้เกิดผลอะไร เพียงไร ผลนั้นจะเกิดกับใคร และด้วยเงื่อนไขเวลาอย่างไร วัตถุประสงค์ของโครงการไม่ควรเกิน 3 ข้อ
กลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะได้รับผลประโยชน์และพื้นที่ดำเนินงาน : ระบุกลุ่มเป้าหมายว่าเป็นใครบ้าง จำนวนเท่าไร มีวิธีการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายอย่างไร หากมีกลุ่มเป้าหมายหลายกลุ่มควรระบุกลุ่มเป้าหมายหลักและเป้าหมายรองด้วย พื้นที่ที่จะดำเนินงาน (โดยระบุชื่อ หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด)

กลวิธีและรายละเอียดกิจกรรมที่จะต้องดำเนินงาน : แสดงกิจกรรมและกระบวนการปฏิบัติงานที่สอดรับกับวัตถุประสงค์ที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย กำหนดระยะเวลาของแต่ละกิจกรรม แต่ละกิจกรรมจะเชื่อมโยงกันอย่างไร กิจกรรมหนึ่งๆ จะส่งผลต่อกิจกรรมอื่นๆ อย่างไร

งบประมาณและระยะเวลาดำเนินงาน
แนวทางการพัฒนาเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องยั่งยืน และการขยายผล แสดงข้อมูลให้ชัดเจนว่าจะเกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนในชุมชน/ท้องถิ่นได้อย่างไร เมื่อโครงการ ที่ สสส.สนับสนุนจบลง และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการต่อไป ชุมชนจะทำเองต่อ หรือใช้แหล่งทุนใดในชุมชน ตลอดจนจะมีวิธีการขยายผลจากการดำเนินโครงการนี้อย่างไร และชุมชน หรือผู้อื่นจะใช้ประโยชน์จากผลของโครงการอย่างไร

ต้องระบุข้อมูลของผู้รับผิดชอบโครงการ ข้อมูล/ประวัติของทีมงาน นักวิชาการ พร้อมหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน ที่อยู่และโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้สะดวก

สอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

- สำนักสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไป สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
โทรศัพท์ 02-2980500 ต่อ 1515, 1114 (คุณปวีณา ประภาพักตร์) www.thaihealth.or.th
- มูลนิธินโยบายสุขภาวะ โทรศัพท์ 02-920-9691 (คุณกัลยา นาคลังกา) www.energygreenhealth.com

เสนอโครงการได้ที่
สำนักสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไป สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 979/116-120 อาคารเอส เอ็ม ทาวเวอร์ ชั้น 34 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 วงเล็บมุมซองเสนอร่างข้อเสนอโครงการพลังงานทางเลือกเพื่อสุขภาพสำหรับชุมชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net