Skip to main content
sharethis


 

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว


นักข่าว สถาบันวิจัยและพันาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ(SWIT)


 


15 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมา แล้วความฝันเล็กๆของน้องบิ๊ก ก็ดูจะห่างไกลออกไป เมื่อโรงเรียนนวมินทราชินุทิศ หอวัง นนทบุรี ปฏิเสธใบสมัครทั้งโควตาความสามารถพิเศษ และการสอบตรงของน้องบิ๊ก


"บิ๊กเป็นเด็กเก่งมาก นิสัยดี เรียนดี มีความสามารถหลายอย่าง ทั้งวาดเขียน เล่นดนตรี เล่นกีฬา อุปนิสัยค่อนข้างร่าเริง แล้วก็มีความรับผิดชอบสูง ตรงนี้เองที่ทำให้เพื่อนๆ ในศูนย์ฯ เพื่อนๆ ที่โรงเรียนค่อนข้างยอมรับเขา" เรื่องราวของบิ๊กจากคุณพ่อบาทหลวง อาเดรีย อาโนล พระผู้เมตตารับอุปการะ


            แม้อายุจะย่างเข้าวัย 16 ปี เป็นเด็กโตเกินเพื่อนในชั้นเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาใดๆ สำหรับการยอมรับในตัวบิ๊กของเพื่อนๆ


            วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม บิ๊กและพี่น้อยได้เดินทางไปสานฝันเล็กๆ ของบิ๊ก โดยไปสมัครสอบโควต้าความสามารถพิเศษเพื่อเข้าเรียนในระดับชั้น ม.1 โรงเรียนนวมินทราชินุทิศ หอวัง นนทบุรี บิ๊กเลือกที่จะใช้ความสามารถเรื่องการตีระนาดในการคัดเลือก และตั้งใจว่า หากพลาดหวังก็จะลองสมัครในการสอบตรงอีกครั้ง


            แต่ความหวังต้องสะดุดลงเมื่อทางโรงเรียนชี้แจงว่า ไม่สามารถรับใบสมัครของบิ๊กได้


            "ครูบอกว่าโรงเรียนเขามีชื่อเสียง มีการแข่งขันสูง หากรับสมัครเด็กที่เอกสารไม่ครบก็อาจจะถูกครหานินทา ถูกฟ้องร้องจากผู้ปกครองสัญชาติไทยที่เขาเสียสิทธิในการสมัครเรียนได้ แล้วก็แนะนำให้ไปสมัครที่โรงเรียนขยายโอกาสที่อื่น" พี่น้อยเล่าถึงเหตุผลคำชี้แจงของทางโรงเรียน


            เย็นนั้นเรื่องของน้องบิ๊กก็เดินทางเข้าสู่การพูดคุยหาทางออกของคณะทำงานโครงการขยายความรู้จากแม่อายสู่อันดามัน ซึ่งติดตามให้ความช่วยเหลือเรื่องสถานะบุคคลของน้องบิ๊ก โดยมี รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่ปรึกษา


แล้ววันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พี่น้อยและน้องบิ๊กได้เดินทางไปยังโรงเรียนหอวังฯ อีกครั้ง ตามคำแนะนำของบงกช นภาอัมพร ผู้ประสานงานโครงการฯ เพื่อไปยืนยันสิทธิทางการศึกษาตามระเบียบฯ 2548 ที่เปิดกว้างให้กับคนทุกคนแม้ว่าจะไม่มีเอกสารใดๆ ก็ตาม


            บงกช เล่าเหตุการณ์หลังจากตามไปสมทบกับพี่น้อยและบิ๊กว่า ทางโรงเรียนยังคงปฏิเสธที่จะรับใบสมัครของบิ๊ก และบอกว่า รับรู้ถึงระเบียบฯดังกล่าว แต่อ้างถึงประกาศของโรงเรียนที่ระบุว่า ต้องมีสัญชาติไทยและมีสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านเป็นเอกสารในการสมัคร แม้ว่าบงกชจะชี้แจงว่าระเบียบฯของกระทรวงศึกษาธิการนั้นเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าประกาศของโรงเรียนก็ตามที และเมื่อตรวจสอบในประกาศของทางโรงเรียนแล้วก็ไม่พบว่า ระบุถึงคุณสมบัติการมีสัญชาติไทยแต่อย่างใด แต่ทางโรงเรียนก็ยังยืนยันเช่นเดิม


            "รอง ผอ.บอกว่า รู้เรื่องระเบียบฯกระทรวงศึกษาธิการ รู้ว่าใช้ทั่วประเทศ แต่เขาใช้กับพวกชาวเขา ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด แต่โรงเรียนนี้ไม่มีชาวเขา เอาระเบียบมาใช้กับโรงเรียนไม่ได้ คนไทยใหญ่ที่สุด"


นอกจากคำชี้แจงแล้วยังมีคำถามต่อบงกชด้วยว่า "เป็นคนไทยหรือเปล่า มีเหตุผลอะไร ทำไมเธอต้องไปทำเพื่อคนพวกนี้ไม่กี่คน"


แล้ววันนั้นก็มีความช่วยเหลือประสานงานจากหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นคำแนะนำจากยินดี ห้วยหงส์ทอง หรือ ครูนิด แห่งมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานให้ความช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาสถานะในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ประสานงานไปยัง อาจารย์รจนา สินที สำนักพัฒนากิจการนักเรียนนักศึกษาและกิจการพิเศษ สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดัน เผยแพร่รวมทั้งติดตามทำความเข้าใจต่อระเบียบฯ กับโรงเรียนต่างๆ มาโดยตลอด เรื่องของน้องบิ๊กจึงเดินทางไปถึง คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)  


นอกจากนั้นสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT) ยังได้ให้คำแนะนำให้ทำ หนังสือขอโต้แย้งการไม่รับสมัคร ด.ช.สมชาย อากาเป เข้ารับการศึกษา เพื่อยืนยันว่า น้องบิ๊กมีสิทธิดังกล่าว โดยชี้ให้โรงเรียนเห็นข้อเท้จจริงและข้อกฎหมาย อันจะนำไปสู่การโต้แย้งสิทธิในชั้นศาล โดยขอให้ศาลเข้ามาตรวจสอบคำสั่งและความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งของโรงเรียน ซึ่งน้องบิ๊กได้เพียงยื่นหนังสือโต้แย้งการไม่รับสมัครและเดินทางกลับไป


เย็นวันนั้นคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการ กพฐ. ได้ประสานงานไปยังโรงเรียนหอวังฯ จากนั้นทางโรงเรียนจึงได้แจ้งให้น้องบิ๊กเดินทางกลับไปยังโรงเรียนอีกครั้งเพื่อสมัครสอบ และให้สอบความสามารถพิเศษไปพร้อมกัน


            แต่จากความเครียดที่ต้องเผชิญกับการปฎิเสธของโรงเรียนมาทั้งวันทำให้น้องบิ๊กไม่สามารถเล่นระนาดได้เต็มที่อย่างที่ตั้งใจไว้ และเช้าวันรุ่งขึ้นก็ไม่มีชื่อน้องบิ๊กในจำนวนโควตา 22 คนที่ผ่านการคัดเลือก


            อย่างไรก็ตามพี่น้อยบอกว่า น้องบิ๊กจะลองไปสอบตรงอีกครั้ง แม้ว่าลึกๆ แล้วยังมีความกังวลว่าหากได้มีโอกาสเข้าไปเรียนจริงๆ แล้ว น้องบิ๊กอาจจะต้องเผชิญกับความกดดัน หรือเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในอนาคตจากทัศนคติของครูเช่นดังวันที่รับสมัคร


-0 0 0-


            สิทธิในการศึกษาของบุคคลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลทุกคนซึ่งมาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้บัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าวนี้ รวมถึงเป็นสิทธิมนุษยชนที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับรองไว้เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2548 โดยสิทธิในการศึกษาของบุคคล ย่อมไม่สามารถถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมือง (มาตรา 30 แห่งรัฐธรรมนูญฯ) ทั้งยังเป็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่จะถูกละเมิดมิได้ (มาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญฯ)


            ในการเข้าถึงสิทธิการศึกษา หรือในทางตรงกันข้ามคือการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถานศึกษา การเรียกหลักฐานจากผู้สมัครตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ..2548 แม้ผู้สมัครเรียนไม่มีพยานเอกสารใดๆ โรงเรียนหอวังฯ ก็มีหน้าที่ต้องดำเนินการรับสมัคร โดยดำเนินการตาม "ข้อ 6 การรับนักเรียนนักศึกษาในกรณีที่ไม่เคยเข้าเรียนในสถานศึกษามาก่อน ให้สถานศึกษาเรียกหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งตามลำดับเพื่อนำมาลงหลักฐานทางการศึกษา (5)  ในกรณีที่ไม่มีบุคคลหรือองค์กรเอกชนตาม (4) ให้ซักถามประวัติบุคคลผู้มาสมัครเรียน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำลงรายการบันทึกแจ้งประวัติบุคคลตามแบบแนบท้ายระเบียบนี้ เป็นหลักฐานที่จะนำมาลงหลักฐานทางการศึกษา"


            นอกจากนี้ สิทธิในการศึกษายังเป็นสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองและคุ้มครอง โดยข้อ 26 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งผูกพันประเทศไทยในฐานะกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ, ข้อ 13 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights- ICESCR) ทั้งยังขัดต่อหลักการและสิทธิทางการศึกษาที่ได้รับการรับรองไว้ตาม ข้อ 5 (ฉ) (5) แห่งอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคี


            ที่สำคัญคือ ข้อ 26 แห่งกติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและทางการเมือง   (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี และขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำรายงานประเทศ (Country Report) โดยการบันทึกถึงการปฏิบัติงานของภาคส่วนราชการ และรายงานฉบับนี้จะถูกรายงานต่อสหประชาชาติในปี 2552[i]


            16 มีนาคม 2552 ขณะที่กำแพงกั้นฝันของบิ๊กชัดเจนขึ้นอีกครั้ง แต่อีกมุมหนึ่งของเมืองใหญ่ น้องวิษณุ[ii] เด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติ แห่งพระสมุทรเจดีย์ มีโอกาสได้บอกเล่าเรื่องราวของตนต่อนายกรัฐมนตรี และมีสื่อมวลชนหลายแห่งนำเสนอข่าว ในขณะที่เรื่องราวของน้องบิ๊ก เด็กไร้รัฐที่ถูกละเมิดสิทธินั้นดูจะเป็นเพียงเสียงที่เงียบงัน


            วันนี้แม้ว่ากฎหมายและนโยบายจะรับรองสิทธิทางการศึกษาให้กับคนทุกคนในประเทศไทยแล้ว แต่ยังมีกำแพงที่มองไม่เห็น จากทัศนคติที่คับแคบที่ปิดกั้นฝันของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ให้ไม่มีโอกาสแม้จะสร้างทุนรอนทางปัญญาในการพัฒนาคุณภาพชีวิต การปกป้องสิทธิทางการศึกษาของน้องบิ๊กเกิดขึ้นได้ในวันนี้นั้นจะเห็นได้ว่ามีภาคส่วนต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมากมาย ซึ่งเป็นสัญญาณว่าการละเมิดสิทธิเช่นนี้อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต และยังต้องการความร่วมมือร่วมใจจากหลายฝ่ายในการปรับทัศนคติและความเข้าใจต่อสถาบันการศึกษา ที่สำคัญที่สุดคือ คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติที่ต้องเข้าใจและยืนหยัดที่จะปกป้องสิทธิของตนเองอย่างเข้มแข็ง


            สังคมจึงต้องช่วยกันติดตามตรวจสอบ และให้กำลังใจ ก่อนที่พวกเขาอ่อนแรงละจากทางฝันไปเสียก่อน


 






[i] หนังสือของสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ(SWIT)ที่ ฝสร.10/2551วันที่ 8 ธันวาคม 2551 เรื่อง  ความเห็นทางกฎหมาย (Legal Opinion) ต่อการดำเนินการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าศึกษาของสถาบันการศึกษาตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ..2548


http://statelesswatch.wordpress.com/2008/12/12/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2-legal-opinion-%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD-6/


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net