Skip to main content
sharethis

วานนี้ (26 ก.ย.) เมื่อเวลา 14.30 น. ที่ห้องสัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการแถลงข่าวข้อเรียกร้องต่อคณะรัฐมนตรีในการแก้ไขวิกฤติร้ายแรงของชาติ ของอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษา 24 สถาบัน นำโดย นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต นายอุทัย ดุลยเกษม อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร นายอนุมงคล ศิริเวทิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต พร้อมด้วยตัวแทนจากมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนายอาทิตย์ได้เป็นผู้อ่านข้อเรียกร้อง


 


นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ข้อเสนอของอธิการบดีทั้ง 24 สถาบันอุดมศึกษานั้นไม่ได้เรียกร้องต่อฝ่ายการเมืองทั้ง 2 ฝ่ายที่ขัดแย้งกันอยู่ในขณะนี้ เพราะถ้าไม่ทำให้สังคมได้คิดไตร่ตรองจะทำให้ประเทศเสียหาย จึงเรียกร้องต่อหัวหน้ารัฐบาลดำเนินการตัดสินใจดำเนินการตามข้อเรียกร้อง เพราะมีความเชื่อว่าถ้าหากกระบวนการนี้ได้เริ่มต้นโดยตัวประธานคณะกรรมการอิสระฯ ที่มีความเป็นกลาง และเลือกบุคลากรที่ได้รับการยอมรับในสังคมโดยไม่จำเป็นต้องคำนึงนึกถึงความขัดแย้งของทั้ง 2 ขั้วที่เป็นอยู่


 


คณะกรรมการชุดนี้ก็จะเป็นโต๊ะเจรจาเป็นทางออกให้แก่สังคมไทยในการนำข้อเสนอทุกประการมาวินิจฉัย และนำไปสู่การเสนอให้ประชาชนช่วยตัดสินใจ เพราะฉะนั้นในชั้นนี้เราจึงไม่ได้คิดว่ากลุ่มพันธมิตรฯ จะยอมรับได้หรือไม่ หรือพรรคการเมืองฝั่งรัฐบาลที่ประสงค์จะแก้รัฐธรรมนูญอยู่ในขณะนี้จะรับได้หรือไม่ แต่เราเห็นว่าเป็นทางออกหนทางเดียวเท่านั้นที่จะนำประเทศไทยออกไปจากปัญหาความขัดแย้งที่ดูเหมือนว่าเป็นวังวนที่ไม่มีทางออกอยู่ในขณะนี้ได้


 


"ขั้นตอนนี้จะเป็นขั้นตอนเดียวที่สามารถทำได้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยรักษาระบบกฎหมายและกติกาของบ้านเมือง เราไม่ได้พูดออกไปด้วยซ้ำว่าจะทำอย่างไรกับหมายจับในคดีกบฏในราชอาณาจักร ไม่ได้พูดต่อไปด้วยซ้ำว่าจะไปก้าวล่วงกระบวนการในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรค เพราะนั่นมันเป็นประเด็นที่จะต้องเดินไปตามระบบที่ควรจะต้องเป็น" นายสุรพล กล่าว


 


ผู้สื่อข่าวถามว่า หากนายกรัฐมนตรีไม่แสดงท่าทีต่อข้อเสนอดังกล่าว จะทำอย่างไรต่อไป นายสุรพล กล่าวว่า หวังว่าฐานของความเป็นนักกฎหมายที่ปฏิบัติงานในภาครัฐมาโดยตลอด เป็นผู้พิพากษาเป็นผู้ที่เข้าใจปัญหาความขัดแย้ง เข้าใจสังคมไทย ทำให้มั่นใจว่านายกรัฐมนตรีน่าจะมีการตอบรับในเรื่องนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ว่าจะเป็นไปตามที่เสนอหรือไม่ก็แล้วแต่ดุลพินิจของท่าน จุดใหญ่ของเรื่องนี้อยู่ที่ว่านายกฯ ต้องเลือกคนที่เป็นที่ยอมรับ เพราะเมื่อใดก็ตามที่นายกฯ เลือกคนที่ไม่เป็นที่ยอมรับกระบวนการทั้งหมดก็เป็นการสูญเปล่า ก็จะไม่มีสาธารณชน ไม่มีองค์กรอื่นใดให้การยอมรับบทบาทของคณะกรรมการชุดนี้


 


ผู้สื่อข่าวถามว่า บุคคลที่ได้รับการยอมรับ มีความเป็นกลางควรได้รับตำแหน่งประธานกรรมการฯชุดดนี้ คือนายแพทย์ประเวศ วะสีใช่หรือไม่ นายสุรพล กล่าวว่า ขอให้เป็นการเลือกโดยนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร ซึ่ง น.พ.ประเวศ วะสี ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าจะทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการชุดนี้ได้


 


นายสุรพล กล่าวถึงข้อเรียกร้องข้อที่ 4 ว่า เมื่อคณะกรรมการชุดนี้ทำงานเสร็จขอให้นายกรัฐมนตรีนข้อเสนอไปสู่การลงประชามติ ซึ่งจะเป็นการลงประชามติในประเด็นว่าประชาชนเห็นดัวยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระต่อรัฐบาล เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เปิดให้ลงประชามติในตัวกฎหมายโดยตรง ถ้าเห็นด้วยคณะกรรมการอิสระก็จะเสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาต่อไป


 


เมื่อถามว่าจะได้รับการยอมรับจากกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งกำลังเสนอการเมืองใหม่หรือไม่ นายอาทิตย์ กล่าวว่า เชื่อว่าถ้าทุกฝ่ายมีความจริงใจและตั้งใจที่จะทำตามทิศทางและแนวทางตามความคิดของข้อเสนอนี้ทั้งหมด ตนเชื่อว่าทุกฝ่ายก็ยอมรับได้ หากฝ่ายรัฐบาลต้องการปฏิรูปอย่างแท้จริงทำตามข้อเสนอนี้ ตนเชื่อว่าฝ่ายพันธมิตรก็ยอมรับได้ ถ้าฝ่ายรัฐบาลไม่ทำอะไรที่มีความแอบแฝงไม่จริงใจก็น่าจะเกิดผลดี


 


นายอุทัย กล่าวว่า กระบวนการที่รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการอิสระนี้ควรฟังเสียงจากประชาชนอย่างกว้างขวาง ไม่อยากให้นายกฯ แต่งตั้งใครตามใจตัวเอง แม้น้ำหนักจะอยู่ที่นายกรัฐมนตรี แต่ก็ต้องผลักดันให้ทุกภาคส่วนทั้งสื่อมวลชนและประชาชนมีส่วนร่วม เพราะข้อเสนอของเราเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เป็นโจทย์ที่สังคมไทยทั้งหมดต้องเข้ามาแก้


 


 


 


 


ข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีในการแก้ไขวิกฤตร้ายแรงของชาติ


 



ประเทศไทยได้ประสบวิกฤตร้ายแรงในทางการเมืองต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนาน จากความขัดแย้งทางความคิดและทางการเมือง ก่อให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายและก่อให้เกิดความตึงเครียด สร้างปัญหาทั้งต่อระบบเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง และก่อให้เกิดผลกระทบในทางสังคมอย่างกว้างขวาง ความขัดแย้งที่ขยายตัวรุนแรงขึ้น รังแต่จะทำให้เกิดความเสื่อมโทรมต่อชีวิตในทางเศรษฐกิจของชาติ


 


ในโอกาสที่ประเทศได้มีรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ที่ได้ร่วมลงชื่อในข้อเรียกร้องนี้ ใคร่ขอเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ในการแก้ไขวิกฤตร้ายแรงของชาติอย่างเร่งด่วนโดยการดำเนินการให้มีคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูประบบการเมืองการปกครองขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องระบบการเมืองการปกครองและกลไกของการเข้าสู่อำนาจรัฐ อันเป็นปมปัญหาพื้นฐานซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งทั้งหลายที่ประเทศชาติประสบอยู่ในขณะนี้


 


อธิการบดีของมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้นำในสถาบันการศึกษาชั้นสูงของประเทศได้ประชุมปรึกษาหารือและมีความเห็นร่วมกันในการเสนอข้อเรียกร้องนี้ต่อนายกรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้


 


๑. ขอให้นายกรัฐมนตรีประกาศเป็นวาระแห่งชาติในการแก้ไขวิกฤตร้ายแรงในทางการเมืองโดยดำเนินการโดยเร่งด่วนที่สุดให้จัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูประบบการเมืองการปกครอง ขึ้นเพื่อศึกษาหาแนวทางและข้อเสนอแนะในการปฏิรูประบบการเมืองการปกครองของประเทศ โดยยึดหลักการการเพิ่มบทบาทของการเมืองภาคประชาชน การกระจายอำนาจ การจัดระบบการเช้าสู่อำนาจทางการเมืองที่เหมาะสมเป็นธรรม และจัดระบบตรวจสอบการใช้อำนาจทางการเมือง


 


๒. ขอให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการเมืองการปกครองจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นกลางทางการเมืองซึ่งมีความสามารถเป็นที่ประจักษ์ และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย โดยให้แต่งตั้งเฉพาะตัวประธานคณะกรรมการ และระบุในคำสั่งแต่งตั้งให้ประธานคณะกรรมการเป็นผู้เลือกสรรและแต่งตั้งกรรมการคนอื่น ๆ ทั้งหมดตามจำนวนที่เหมาะสมเอง โดยทำเป็นคำสั่งของประธานคณะกรรมการและประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยที่ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายการเมืองจะต้องไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการเลือกสรรหรือแต่งตั้งกรรมการของประธานคณะกรรมการตามอำนาจที่ได้รับมอบหมาย


 


๓. ให้คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่ในการปฏิบัติหน้าที่ภายในกรอบระยะเวลาไม่เกิน ๑๒๐ วัน โดยให้มีอำนาจเรียกข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐและเรียกบุคคลใด ๆ มาชี้แจงให้ข้อมูล โดยจะต้องจัดงบประมาณดำเนินการในลักษณะเงินอุดหนุนให้เพื่อรองรับการปฏิบัติหน้าที่ โดยคณะกรรมการจะต้องดำเนินการจัดทำข้อเสนอและความเห็นต่าง ๆ โดยรับฟังและรายงานต่อสาธารณะอย่างเปิดเผยและสม่ำเสมอ และเมื่อเสร็จขั้นตอนการดำเนินการแล้ว คณะกรรมการจะต้องจัดทำรายงานผลการดำเนินการและจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อการปฏิรูปการเมืองการปกครองตามแนวทางที่เสนอในรายงานเพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี


 


๔. ขอให้นายกรัฐมนตรีประกาศรับรองต่อสาธารณะในนามของรัฐบาลตั้งแต่ต้นว่า เมื่อได้รับข้อเสนอดังกล่าวจากคณะกรรมการฯ แล้ว จะนำข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการเมืองการปกครองตามรายงานดังกล่าวไปสู่กระบวนการลงประชามติเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ และหากประชาชนได้ให้ความเห็นชอบในข้อเสนอแนวทางตามรายงานดังกล่าวแล้ว คณะรัฐมนตรีจะได้นำเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่คณะกรรมการได้จัดทำขึ้นตามแนวทางดังกล่าวขอความเห็นชอบต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ตามเนื้อหาทั้งหมดที่เป็นข้อเสนอของคณะกรรมการดังกล่าว


 


อธิการบดีในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ที่ได้ลงนามในข้อเรียกร้องนี้ได้ปรึกษาหารือกันและมีความเชื่อมั่นโดยบริสุทธิ์ใจว่า มีแต่แนวทางการดำเนินการเช่นนี้เท่านั้น ที่จะสามารถนำไปสู่การหาข้อยุติในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับระบบการเมืองการปกครอง อันเป็นปัญหารากฐานที่ก่อให้เกิดภาวะวิกฤตร้ายแรงที่คุกคามประเทศชาติอยู่ในขณะนี้ได้ และขอเรียกร้องต่อกลุ่มต่าง ๆ ที่เป็นฝักฝ่ายทางการเมืองอยู่ในขณะนี้ ให้ส่งผ่านข้อเสนอและแนวทางที่ตนเชื่อมั่นหรือเรียกร้องให้เกิดขึ้นต่อคณะกรรมการชุดดังกล่าวที่จะได้ตั้งขึ้น เพื่อแสวงหาทางออกทางการเมืองการปกครองที่ถูกต้องเหมาะสม และสามารถเกิดเป็นจริงได้ร่วมกัน ภายใต้เงื่อนไขของกติกาทางปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขตามรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนี้


 


อธิการบดีในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ที่ได้ลงนามในข้อเรียกร้องนี้ ใคร่ขอวิงวอนต่อนายกรัฐมนตรีในการพิจารณาตัดสินใจและดำเนินการตามแนวทางที่ได้เสนอนี้โดยเร็วที่สุด เพื่อหาทางคลี่คลายวิกฤต และแสวงหาทางออกทางการเมืองและสังคมที่เป็นไปได้ให้แก่ประชาชนไทยทุกคนภายใต้สถานการณ์สังคมที่มีความแตกแยกร้ายแรงในทุก ๆ ด้านที่เป็นอยู่ในขณะนี้ให้ทันท่วงที


 


๒๖ กันยายน ๒๕๕๑


 


 


 


(ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์)                                            (ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์)


อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต                                   อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


 


(รองศาสตราจารย์คิม ไชยแสนสุข)                  (ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ภิรมย์ กมลรัตนกุล)


อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง                            อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


 


(ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร)                         (ดร.อุทัย ดุลยเกษม)


อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล                                                  อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร


 


 


(ศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์)                       (รองศาสตราจารย์ ดร.ไทย ทิพย์สุวรรณกุล)


อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่                                     อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์


 


 


(รองศาสตราจารย์ ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข)                            (รองศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ศิริชนะ)


อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์                                 อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง


 


 


(ศาสตราจารย์ ดร.ประกอบ วิโรจน์กูฎ)                           (รองศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า)


อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี                            อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี


 


 


(ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย สมัปปิโต)                      (รองศาสตราจารย์ ดร.สุมนต์ สกลไชย)


 รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม                     อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น


 


 


(รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติ ตีรเศรษฐ)                                          


อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง


 


 


(อาจารย์ จงรัก พลาสัย)


อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์


 


 


(ศาสนาจารย์ ผศ.ดร.ประดิษฐ์ เถกิงรังสฤษดิ์)               (รองศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ สายธนู)


อธิการบดีมหาวิทยาลัยพายัพ                                            อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ


 


 


(รองศาสตราจารย์ เปรื่อง กิจรัตน์ภร)                         (รองศาสตราจารย์ ดร.ปราณี สังขะตะวรรธน์)


อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร                         อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช


 


 


(ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน)                   (รองศาสตราจารย์ ดร.เทพ พงษ์พานิช)


อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี                             อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้


 


 


(รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์)                         (รองศาสตราจารย์ ดร.อนุมงคล ศิริเวทิน)    อธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม                                 อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  


                   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net