Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 16 ก.ค.51 โรงแรมระยองเพรสซิเดนท์ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง นายธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมด้วย นางสาวสายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์ผู้บริโภค และคณะทำงานในคณะกรรมาธิการธรรมาภิบาล วุฒิสภา นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก และกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้ร่วมกันแถลงข่าว หลังจากการณรงค์ของเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ เพื่อคัดค้านการขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดระยองเมื่อ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา และตัวแทนคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ออกโรงร่วมแถลงไม่เห็นด้วยกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เก็คโค่-วัน และวิจารณ์นโยบายด้านพลังงาน กระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายและแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้า (PDP) ของรัฐบาล พร้อมผลักดันให้มีพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดในประเทศไทย


 


อย่างไรก็ตาม ในเวทีแถลงข่าวได้ระบุว่า บริษัทโกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า โรงไฟฟ้าแห่งใหม่นี้สะอาดและไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งๆที่มีเท็จจริงคือถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่สกปรกที่สุดในบรรดาเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมด ถึงแม้เราจะนำไปผ่านกระบวนการใดๆก็ตาม แม้แต่การดักจับคาร์บอนหรือฝังกลบใต้ธรณี ก็ยังไม่สามารถกำจัดความสกปรกและสารพิษของถ่านหินได้ วิธีการดังกล่าวเป็นเพียงข้ออ้างของผู้สนับสนุนถ่านหินเท่านั้น ถ่านหินยังทำลายสภาพภูมิอากาศและส่งผลกระทบด้านสารพิษไปยังชุมชน แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงเดินหน้าสนับสนุนให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่อีก 31 โรง


 


นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก และกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา กล่าวถึงกระบวนการขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยว่า " การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเก็คโค่ - วัน จะต้องหยุดดำเนินการทันที จนกว่าจะมีการพิจารณาถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ สิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์"


 


นางสาวสายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์ผู้บริโภค และคณะทำงานในคณะกรรมาธิการธรรมาภิบาลวุฒิสภา กล่าวถึงข้อบกพร่องของแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้า (PDP) ที่เน้นถ่านหินและนิวเคลียร์ รวมทั้งสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมากขึ้นโดยไม่จำเป็น " เราต้องการเห็นรัฐบาลเป็นผู้ปูทางพลังงานหมุนเวียนให้แก่อนาคตของประเทศ เราต้องการให้รัฐบาลเปลี่ยนการใช้งบประมาณเพื่อผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์ เพื่อมุ่งสู่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและประสิทธิภาพพลังงาน ยกร่างกฎหมายเพื่อส่งเสริมนักลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนด้วยผลตอบแทนที่มั่นคง และสามารถคาดการณ์ได้ เพื่อรับประกันว่าผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะได้รับความสำคัญในการเข้าถึงสายส่งไฟฟ้าก่อน และการยกร่างให้มีมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานที่เข้มงวดและโครงการการจัดการด้านความต้องการไฟฟ้า และพลังงานหมุนเวียนสามารถแข่งขันได้ เพียงแต่รัฐบาลลดละเลิกการอุดหนุนถ่านหินและนิวเคลียร์ "


 


หลักการ " ผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย" ที่ผ่านมา พลังงานฟอสซิลและนิวเคลียร์นั้นได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลอยู่ราว 250 พันล้านเหรียญต่อปี  " เราควรเปลี่ยนแปลงการลงทุนดังกล่าวนั้น มาให้กับแหล่งพลังงานที่จะช่วยเรายุติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตราย "นายธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว


 


ธารากล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีผู้ร่วมลงชื่อคัดค้านถ่านหิน นิวเคลียร์ และเชื้อเพลิงฟอสซิล และสนับสนุนให้มีการลงทุนเพื่อพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยแล้ว 3,000 คน เพื่อส่งไปยังกระทรวงพลังงาน สามารถร่วมลงชื่อผลักดันพลังงานหมุนเวียนได้ที่ www.greenpeace.or.th


 


ทั้งนี้ หลังจากการรณงค์ในนิวซีแลนด์และฟิลิปปินส์ เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ได้มุ่งหน้ามายังประเทศไทยเพื่อรณรงค์ " หยุดถ่านหิน ก้าวสู่การปฏิวัติพลังงาน" ซึ่งมีจุดประสงค์สนับสนุนทางอออกเพื่อกู้วิกฤตโลกร้อน คือ การปฏิวัติพลังงานซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ไปสู่เส้นทางพลังงานหมุนเวียนเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและสันติภาพ กรีนพีซนั้นทำงานการรณรงค์ด้วยการเผชิญหน้าอย่างสันติวิธี นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และพฤติกรรม เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และสันติภาพ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net