Skip to main content
sharethis


องอาจ เดชา


 




 






 


หากเอ่ยนาม "คำ ผกา" ภาพของหญิงสาวร้อนแรงแต่แฝงความแสบสันต์คงผุดขึ้นมาในหัวของใครหลายคน ถ้าใครได้สัมผัสตัวตนของเธอผ่านหนังสืออย่าง "กระทู้ดอกทอง" ของเธอด้วยแล้ว คงจะยิ่งรับรู้ถึงความ "แสบ"แบบผู้หญิงนอกกรอบนอกแกนของเธอไปอีกชั้นหนึ่ง นี่ยังไม่นับรวมไปถึงภาพแฟชั่นของเธอบนปก GM ครั้งหนึ่งที่อาจสร้างความรู้สึกได้อีกหลายแบบ ไม่ว่าจะแบบตั้งคำถามหรือแบบเตลิดไปไหนต่อไหนก็ตาม


 


อย่างไรก็ตาม ตัวตนส่วนหนึ่งของ "คำ ผกา" ย่อมประทับภาพของความเป็นนักคิด นักเขียน ที่กล้าท้าทายขนบประเพณีของสังคมไทยอย่างมีเหตุผลแง่มุมอันลึกซึ้ง


 


 "คำ ผกา" เป็น 1 ในนามปากกาของ ลักขณา ปันวิชัย ในขณะที่นามปากกาอื่นๆ ก็เป็นที่รู้จักไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็น ฮิมิโตะ ณ เกียวโต หรือ ปันคำ ณ ปันนา


 


"คำ ผกา" จบการศึกษาภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นระดับปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เกียวโต

"คำ ผกา" โดดเด่นในวรรณกรรมที่มีเนื้อหาค่อนข้างเปิดเผยในมุมมองหนึ่งอีกด้านของผู้หญิง และภาษาที่มีสีสันเพียงชื่อ "ดอกทอง" ของเธอก็ทำให้นึกเตลิดถึงเรื่องราวได้มากมาย ในขณะที่หลายครั้งบทสัมภาษณ์ของเธอกลับทิ่มแทงไปที่หน้ากากสังคมไทยอย่างตรงไปตรงมา

สำหรับผลงานที่ผ่านมาได้แก่ กระทู้ดอกทอง จดหมายจากเกียวโต จดหมายจากสันคะยอม ยำใหญ่ใส่ความรัก รักไม่เคยชิน ผลงานแปลคือ เซี่ยงไฮ้เบบี้ ผลงานเขียนร่วม อิสตรี-อีโรติก Open House October ริมฝีปาก เรียกฉันว่า...ผู้หญิงพิเศษ


 


ปัจจุบัน นอกจากเธอจะเขียนหนังสือให้กับนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ และนิตยสารชื่อดังอีกหลายฉบับแล้ว ในวันว่างเธอยังสนุกกับการทำสวนผัก ผลไม้ ล้อมรอบตัวบ้านที่สันทราย เชียงใหม่


 


ล่าสุด "ประชาไท" มีโอกาสสัมภาษณ์เธอ ว่าด้วยสังคมและการเมือง ที่กำลังยุ่งเหยิงพันตูกันอยู่ในขณะนี้..


 


 


 






 


"ถ้ามองในมุมกลับ โลกก็ต้องให้เครดิตกับรัฐบาลชุดนี้นะ  


ว่ามีความอดทนต่อการท้าทาย ความยั่วยุที่จะทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน อันนี้มองในแง่ดี


ถ้ามองในแง่ร้ายก็มองได้อีกว่า รัฐบาลคงอยากปราบจะแย่  แต่ทำไม่ได้


รู้อยู่แก่ใจว่า โจทย์คงไม่ใช่แค่ที่เห็นด้วยตาเปล่า"


 


 


"แล้วถ้ามองในแง่ดี อาจคิดได้ว่า


ถ้าเราก้าวผ่านตรงนี้ไปได้ เราก็อาจจะเติบโตอีกแบบหนึ่ง"


 


 


"แต่ฉันเชื่อว่า ด้วยเทคโนโลยี ด้วยศักยภาพของความเป็นมนุษย์


ด้วยสติปัญญาของคนเล็กๆ ที่อยู่กระจัดกระจายในทุกสาขาอาชีพ ทุกเครือข่ายทางสังคม


เราสามารถแหวกหาช่องทางที่จะต่อสู้หรือคัดง้างกับอุดมการณ์หลักได้เสมอ"


 


 


"เราก็ต้องมองสมาชิกพันธมิตรอย่างหลากหลายด้วย ไม่ใช่ไปขึ้นป้ายว่า เลว หยาบคาย


หรือซ่อนสาระทางผลประโยชน์ของตนเองไปเสียหมด"


 


"แต่เราไม่รู้ว่า สิ่งที่อยู่เหนือพันธมิตรขึ้นไปเป็นอะไร อันนี้ไม่รู้จริงๆ


เราไม่รู้จริงๆ วาระที่แท้ของพันธมิตรคืออะไร เราก็ไม่รู้จริง ๆ


แต่ฉันไม่เชื่อว่ากลุ่มระดับหัว ๆ ของพันธมิตรเขาแค่อยากเห็นบ้านเมืองดีขึ้น


ฉันไม่เชื่อ แต่ก็ไม่รู้ว่าเขาต้องการอะไร"


 


"สังคมไทยมันลักลั่นกันอยู่


ระหว่างการก้าวไปอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า "สมัยใหม่" กับการโหยหาสังคมก่อนสมัยใหม่


เรากลัวทุนนิยม กลัวโลกาภิวัฒน์ เราโหยหาชุมชนนิยม เราเกลียดบริโภคนิยม เกลียดวัตถุนิยม


แต่เราก็ชอบเหตุผลนิยม เกลียดไสยศาสตร์ อยากได้ประชาธิปไตย แต่ก็อยากอยู่แบบเอื้อเฟื้อเอื้ออาทร แบ่งปันฉันเธอ อยากค้าขาย แต่ก็อยากพอเพียง คือตกลงจะเอาอะไรกันแน่วะ"


 


"ดินแดนมันไม่เคยมีปัญหาด้วยตัวของมันเอง


แต่มันถูกใช้เป็นประเด็นทางการเมืองเพื่อโค่นล้มศัตรูทางการเมือง"


 


 


 


 


 


ในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่งได้เสพข่าวความขัดแย้งของสังคมการเมืองทุกวัน มองอย่างไรต่อเรื่องนี้ ? 


คือจะว่าตอนนี้ก็ไม่ได้ มันตั้งแต่หลังจากรัฐประหาร (19 ก.ย.2549) ตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญใหม่ ตั้งแต่มีการเลือกตั้งฟอร์มรัฐบาลกันขึ้นมาแล้ว ก็มีเรื่องที่พูดเป็นภาษาชาวบ้าน ก็คือ "จะต้องฆ่าล้างโคตรพรรคไทยรักไทยให้ได้" สิ่งที่ฉันไม่เข้าใจตอนนี้ ก็คือว่า เอาทักษิณออกแล้วไง เพราะว่าในความเข้าใจของฉัน ซึ่งอาจจะเป็นความรู้พื้นฐานที่สุด เข้าใจว่าระบอบประชาธิปไตย คือการเรียนรู้ร่วมกันทางสังคม ผ่านระบอบการเมืองที่มีการเลือกตั้ง มีรัฐสภา ก็คืออำนาจ 3 อำนาจ ก็คือ ตุลาการ นิติบัญญัติ บริหาร คะคานกันไป แล้วก็โดยที่ประชาชนโหวตตัวแทนของตัวเองเข้าไปทำงานในนั้น


 


อีก พัฒนาการหนึ่งของการเมืองไทย คือการเมืองบนท้องถนน ซึ่งสองอันนี่มันก็ไปด้วยกัน ขัดแย้งกัน ให้ความรู้ซึ่งกันและกัน จากนั้นมันก็เปิดโอกาสให้กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เข้ามาต่อรองกันทางการเมือง ทั้งในพื้นที่ที่เป็นทางการ คือผ่านอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ แล้วก็มีพื้นที่ที่ไม่เป็นทางการ เช่น การประท้วง ม็อบ การยื่นจดหมายร้องเรียน หรือการตั้งเครือข่ายต่าง ๆ เช่น เครือข่ายคนไข้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหมอและโรงพยาบาล เครือข่ายผู้ปกครอง เครือข่ายผู้บริโภค ซึ่งช่วงหลัง ๆ เราจะเห็นบทบาทของเครือข่ายเหล่านี้ในการออกมาเรียกร้องหรือปกป้องผล ประโยชน์ของตนเองได้มากขึ้น


 


นอกจากนั้น เรามีบทบาทของ "สื่อ" ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีอิทธิพลทางการเมืองอย่างยิ่ง มีกลุ่ม "เอ็นจีโอ" ซึ่งก็เข้ามาทำงานร่วมกับประชาชน เรียนรู้ร่วมกับประชาชน ประชาชนเรียนรู้จากเอ็นจีโอ แล้วก็เคลื่อนไหวนอกพื้นที่ที่เป็นทางการ


 


แล้วทุกอย่างมันก็เคลื่อนไปจากจุดนั้น จุดนี้ ล้มเหลวบ้าง สำเร็จบ้าง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ได้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างมากมาย  แล้ว ในความเห็นของฉัน ฉันเห็นว่าว่าสังคมไทยค่อยๆ เติบโตขึ้น ค่อยๆ เข้มแข็งขึ้น ชาวบ้านออกมาต่อรองกับรัฐมากขึ้น มากในที่นี้คือ มากในเชิงเปรียบเทียบ เทียบกับเมื่อสิบปีก่อน ยี่สิบปีก่อน เช่นการต่อต้านการสร้างเขื่อน สร้างโรงไฟฟ้า การตั้งคำถามกับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐก็ทำได้ในระดับหนึ่ง แม้ว่าจะน้อยนิด เมื่อเทียบกับทุกโครงการทั่วประเทศ แต่ลองย้อนกลับไปยังเพลงผู้ใหญ่ลี คือตั้งแต่สมัยที่ชาวบ้านยังไม่รู้ว่าสุกรคืออะไร จนเดี๋ยวนี้ชาวบ้านสามารถไปยื่นจดหมายกับรัฐมนตรีได้หรืออะไรได้ อย่างน้อย เราเห็นการเกิดขึ้นของประชาสังคม (ซึ่งตอนนี้อาจกลายเป็นคำสามานย์ไปอีกคำหนึ่ง) แต่อย่างน้อยมันก็ฟังก์ชั่น


 


การ เมืองอีกแบบหนึ่ง อาจจะผ่านระบบอุปถัมภ์แบบเก่า ก็คือผ่านพวกหัวคะแนน ผ่านเจ้าพ่อ ผ่านนักการเมืองที่ใกล้ชิดกับตัวเอง แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอันนี้ไม่ใช่การเมือง แล้วมันก็ทำงานคานกันไปแบบนี้


 


นอก จากนี้ เรายังมีมีกลุ่มนักวิชาการกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ออกมาเขียนหนังสือ ออกมาพูด ไม่ว่าจะเป็นผ่านหนังสือพิมพ์ ผ่านสื่อโทรทัศน์ ผ่านวิทยุ ซึ่งฉันมองว่ามองว่ากระบวนการอย่างนี้แหล่ะ คือกระบวนการของประชาธิปไตยที่มันก็เป็นของมันอยู่ดี ๆ แล้ว ไม่ว่ามันจะเลวร้ายยังไง ถ้าเรายังปล่อยให้กระบวนการอย่างนี้ทำงานกันต่อไปเรื่อย ๆ มีแอคติวิสต์เคลื่อนไหวมี เอ็นจีโอ มีชาวบ้านที่มีความกระตือรือร้นทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา


 


ฉัน แบ่งง่าย ๆ อย่างนี้ คือ ฝ่ายซ้ายคือฝ่ายที่ทำงานร่วมกับเอ็นจีโอ ฝ่ายขวาคือฝ่ายที่ทำงานร่วมกับชุมชนเป็นหัวคะแนนให้กับนักการเมืองท้องถิ่น หรือว่านักการเมืองที่จะไปเป็น ส.ส. ทั้งหมดนี้ทำงานคะคาน ขัดแย้ง ต่อรองกันไป แล้วชาวบ้านบางทีเขาไม่ได้โงแบบซ้ายก็ซ้าย ขวาก็ขวา บางครั้งเขาเคลื่อนไหวแบบไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร วันนี้ไปกับเอ็นจีโอ วันนี้ไปกับหัวคะแนน ไม่ใช่ขี้โกง แต่เขาก็ทำการเมืองในแบบของเขา เอาผลประโยชน์ของกลุ่มเขาเป็นที่ตั้ง แล้วมันผิดตรงไหน? ชาวบ้านบางทีก็คุยกัน บางทีก็ชกกันก็มีเวลาประชุม ฉันก็มองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา


 


แล้ว เหมือนอย่างที่ฉันเคยเขียนไว้ว่า เราอาจจะต้องรอไปอีก ร้อยปีสองร้อยปี เรารอได้ แล้วประชาธิปไตยเราอายุน้อยจะตาย อาจารย์ผู้ใหญ่ที่เคารพท่านหนึ่งเคยพูดว่า กรุงเทพฯฉลองสองร้อยปี สองร้อยปีนี่มันอายุเขียงหมูที่เยอรมันนะ


 


เมือง หลวงของเราสองร้อยปี ประชาธิปไตยเรา 76 ปี เอง จะรีบไปไหน เราเพิ่งหัดเดิน ต้องยอมรับความจริง ต้องค่อยๆโตไป อดทน ค่อยสั่งสมวุฒิภาวะไป


 


 


แต่ดูเหมือนกับว่าสังคมไทยเรามักรอไม่ได้ อดทนไม่ไหว ?
ฉัน คิดว่า กระบวนการอย่างนี้ ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั้งหลาย ก็ผ่านภาวะล้มลุกคลุกคลานกันมาแล้วทั้งนั้น ในอเมริกา กว่าคนดำจะได้ขึ้นรถเมล์คันเดียวกับคนขาว กว่าผู้หญิงจะมีสิทธิ์เลือกตั้ง กว่าสิทธิของคนพื้นเมืองจะได้รับการยอมรับ มันก็ฆ่ากันมาไม่รู้เท่าไหร่ คนถูกทำร้ายไปไม่รู้เท่าไหร่...แต่ที่ผ่านมาเราไม่รอ พอขัดแย้งนิด ทะเลาะกันหน่อย นักการเมืองชั่ว เราจะรีบ...รีบรัฐประหาร เราจะตัดกระบวนการทั้งหมดนี้ทิ้งหมดเลย


 


แต่ ถ้ามองในแง่ดี อาจารย์บางท่านมองว่า สังคมไทยไม่เคยเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันทางการเมือง มากขนาดนี้มาก่อน และยาวนานยืดเยื้ออย่างนี้มาก่อน เพราะว่าถ้าเป็นเมื่อก่อนหากมีการประท้วงแบบนี้ รัฐปราบก่อนเลย จากนั้นก็ลุกลามเป็นความรุนแรง ทีนี้ถ้ามองในมุมกลับ โลกก็ต้องให้เครดิตกับรัฐบาลชุดนี้นะ  ว่ามีความอด ทนต่อการท้าทาย ความยั่วยุที่จะทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน อันนี้มองในแง่ดี ถ้ามองในแง่ร้ายก็มองได้อีกว่า รัฐบาลคงอยากปราบจะแย่  แต่ทำไม่ได้ รู้อยู่แก่ใจว่า โจทย์คงไม่ใช่แค่ที่เห็นด้วยตาเปล่า


 


คือ ฉันไม่ได้ฟังปราศรัย แต่ฉันก็จะได้อ่าน ฉันรู้สึกว่า คำพูดพวกนั้นมันปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรง ทีนี้ถ้าเกิดว่าเราเป็นคนนอก เราก็ไม่รู้อีกล่ะว่ารัฐบาลคิดอะไร หรือว่าทำอะไร แต่อย่างน้อย ๆ เราไม่เห็นการปะทะกันการนองเลือดกันบนท้องถนน ก็เท่ากับว่า ตอนนี้มันเกิดการต่อสู้กันทางอุดมการณ์ทางการเมืองของสองชุด สามชุดหรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งมันไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทย


 


แล้วถ้ามองในแง่ดี อาจคิดได้ว่า ถ้าเราก้าวผ่านตรงนี้ไปได้เราก็อาจจะเติบโตอีกแบบหนึ่ง


 


แต่อย่างที่ฉันบอกว่า ถ้าเราเสนอสิ่งที่เรียกว่า "การเมืองใหม่" ฉันก็มองว่าคุณพูดมาเลยดีกว่าว่า อันนี้มันคืออะไร คุณจะเรียกมันว่าประชาธิปไตย เรียกว่า น้อยหน่า ส้มโอ ก็ตามใจคุณ พูดไปเลยว่าไม่เอาประชาธิปไตยแบบที่เคยเป็น เพราะประชาชนไทยยังโง่ คุณเชื่อว่าคนไทยโง่ คนไทยยังต้องการผู้นำที่ดี เปี่ยมคุณธรรม ฉลาด ประกาศให้มันจริงแบบนี้ไปเลย ไม่ต้องเหนียม ไม่ต้องขวย จะได้รู้จักจุดยืนของกันและกัน


 


ส่วน พวกที่ไม่เห็นด้วย ก็จะได้คัดค้านได้ตรงจุด บอกไปเลยว่า ไม่เอาเสรีนิยมแบบนี้ ทุนนิยมแบบนี้ไม่เอา เราอยากคัดสรรคนดี ๆ คนที่มีวุฒิภาวะมากกว่าเรา แล้วเลือกคนดีๆ มาให้เรา ปกครองเรา ไม่ต้องมาอ้างเรื่องจงรักภักดี หรือเที่ยวใช้กฎหมายกฎหมิ่นไปเรื่อยเปื่อย หรือไปโยนข้อหาขายชาติมั่วซั่ว ยื่นวาระที่คุณเชื่อเป็นอีกชุดหนึ่งของอุดมการณ์ทางการเมืองอันเป็นอีก 1 ทางเลือกของสังคมไทยไปเลย ส่วนฉันที่ไม่เชื่ออย่างคุณก็จะได้ค้านได้ตรงประเด็น


 


 


แล้วมันไม่เป็นการเปิดช่องให้คนบางกลุ่มเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์หรือ ?


ก็ถ้าเราอยากอยู่กันอย่างนั้น มันก็ช่วยไม่ได้ คนอย่างฉัน อย่างคุณ ก็ต้องหาทางลี้ภัย ย้ายประเทศกันเอาเอง


 


 


อย่างกรณีเขาพระวิหาร ในมุมมองของคุณมองเห็นต่างอย่างไร ?


คือ อย่างที่ฉันเขียนลงคอลัมน์ ในมติชนสุดสัปดาห์นั่นแหล่ะ เรื่องคอนเซ็ปต์เรื่องดินแดนการเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบใหม่ การเกิดขึ้นของรัฐชาติ มันเกิดขึ้นพร้อมกันหมด เพราะฉะนั้น ดินแดนมันไม่เคยมีปัญหาด้วยตัวของมันเอง แต่มันถูกใช้เป็นประเด็นทางการเมืองเพื่อโค่นล้มศัตรูทางการเมือง เพื่อสร้างความป๊อปปูล่าร์ให้กับผู้นำมาโดยตลอด หรืออย่างน้อยก็ใช้สร้างจิตสำนึกเรื่องความเป็นไทยร่วมกัน อันเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน ประเทศเกิดใหม่ และประเทศที่มีปัญหาเรื่องอัตลักษณ์ของตัวเองก็ใช้เรื่องดินแดนนี่แหละ มาก่อนรูปจิตสำนึกเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของชาติ มันง่ายและสะดวก


 


แล้ว ถามว่า คนไทยรู้ไหมว่า เขาพระวิหารอยู่จังหวัดอะไร ฉันว่า 80 เปอร์เซ็นต์ตอบไม่ได้นะว่าเขาพระวิหารอยู่จังหวัดอะไร แต่พอตอนนี้ถูกปลุกระดมขึ้นมา รู้สึกว่า ของเรา เราจะเอาคืน ซึ่งมันตลกมาก คือเรื่องดินแดนเขาพระวิหาร มันเถียงกันได้ มันเรื่องดินแดนทับซ้อน สามสิบแปดจุดเท่าไหร่ตารางวา แล้วก็เถียงกันได้ว่า กระทรวงต่างประเทศทำถูกไหม เถียงกันได้ว่าคุณนพดล (นพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ) ทำถูกไหม ตรงนี้เถียงกันได้ แต่ไม่ใช่ประเด็นที่จะบอกว่า เราเสียดินแดน นี่ไม่ใช่แน่ๆ เพราะว่ามันไม่เคยเกิดสิ่งที่เรียกว่าการเสียดินแดน มีแต่ "ประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยการเสียดินแดน"


 


จะ สร้างชาติขึ้นมา มันต้องสร้างความเป็นพวกเดียวกัน การเขียนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการสู้รบ สงคราม เรื่องการเสียศักดิ์ศรี เรื่องการถูกกระทำ หรือการถูกทำร้ายโดยศัตรู  มัน เป็นพล็อตของการเขียนประวัติศาสตร์ที่เพื่อจะสร้างสำนึกว่า เราเป็นพวกเดียวกันนะ ตรงไหนเป็นของเราตรงไหน ไม่ใช่ ใครเป็นเพื่อนเรา ใครเป็นศัตรูเรา


 


เพราะ ฉะนั้น ฟังก์ชั่นการเขียนประวัติศาสตร์ว่าด้วยการเสียดินแดนคือแบบนี้ แล้วตอนนี้ฟังก์ชั่นว่าด้วยการเสียดินแดนเอามาดิสเครดิตรัฐบาล  เพราะ ฉะนั้น จะไม่มีใครพูดถึงเลยว่า เรากับรัฐบาลกัมพูชาจะช่วยกันดูแลเขาพระวิหารยังไง จะหาความรู้หรือหยาบที่สุดจะหาเงินจากเขาพระวิหารยังไง 


 


ททท.(การ ท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) ก็ออกมาพูด ดีจังเลย มีการปลุกกระแสพระวิหาร ททท.จะได้ถือโอกาสโปรโมตการท่องเที่ยว คือกลายเป็นว่า เขาพระวิหารนี่น่าสงสารมาก คือถูก exploit ไปในทิศทางต่างๆ นานา แต่ในทางที่จะบอกว่าเราจะหาความรู้จากเขาพระวิหารยังไงบ้าง ไม่มีใครพูดถึง แล้วจะกลับให้เรามาทบทวนถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทย ความเป็นกัมพูชา หรือว่าประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดยังไง


 


คือคนอย่าง อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ หรือ อ.ธงชัย วินิจจะกูล พูด มายี่สิบปี แต่เหมือนไม่มีใครฟัง ก็จะฟังกันแต่เราเสียดินแดน กองทัพเราเกรียงไกร เรายอมให้ประเทศอย่างกัมพูชามาหมิ่นศักดิ์ศรีไม่ได้ ฉันอ่านแล้วรู้สึกว่า พ.ศ.นี้ มันไม่ควรพูดอย่างนั้นแล้ว แล้วยิ่งไปพูดอย่างนี้ มันยิ่งขายหน้าตัวเอง ประชาคมโลกเขาก็ต้องมองว่าประเทศไทยทำไมหน้าด้านขนาดนี้


 


 


คนที่พูดเพื่อหวังผลทางการเมืองเท่านั้นใช่ไหม ?


ใช่  ซึ่ง เรื่องดินแดน มันก็ถูกทำให้เป็นประเด็นทางการเมืองมาโดยตลอดอยู่แล้ว มันไม่เคยเป็นการเสียดินแดนเพื่อดินแดน มันถูกทำให้เป็นเรื่องเพื่อสร้างความนิยมหรือสร้างความชอบธรรมให้กับการ ปกครองของตนเองมาโดยตลอด  


 


อย่าง สมัยรัชกาลที่ 5 ข้อพิพาทรื่องดินแดน กลายเป็นช่องทางที่ทำให้ต้องปฏิรูปการปกครองหัวเมืองทั้งหมดเลย แล้วทำให้รัฐบาลจากสยามไปตั้งมณฑลเทศาภิบาลต่าง ๆ เพื่อเอาไปปะทะกับอังกฤษและฝรั่งเศส แล้วจะได้รู้ว่าไปขีดเส้นอย่างเดียวก็ไม่พอ เราก็ต้องแสดงอำนาจการปกครองเราเหนือมณฑลหรือเหนือดินแดนเหล่านั้นด้วยอย่าง เป็นรูปธรรม สร้างระบบบริหารราชการขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 5 หรือที่เรียกว่ามณฑลพายัพ มณฑลทักษิณ ฯลฯ มีความพยายามที่จะเก็บภาษี แต่ว่าประสิทธิภาพการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ช่วงนั้น มันก็ยังไม่เต็มที่ มันไม่ได้มีประสิทธิภาพมากพอที่ครอบงำหัวเมืองทั้งหมดจนสร้างเป็นประเทศไทย ได้ มันก็ขัดแย้งกันอยู่เนืองๆ มีกบฏผีบุญต่างๆ มาท้าทาย


 


 


ในฐานะชาวบ้าน บอกได้ไหมว่าชาวบ้าน โดยเฉพาะในเขตชนบท หรือนอกเมือง เขามองยังไงบ้าง เขายังรักระบอบทักษิณอยู่ ?


ฉันว่าชาวบ้านไม่ได้รักทักษิณในฐานะที่เป็นบุคคลนะ  คือคนที่รักทักษิณเป็นตัวบุคคล อาจจะเป็นคนที่รู้จักกับทักษิณเป็นการส่วนตัว เช่น เพื่อนมงฟอร์ต ชาวสันกำแพง แต่คนที่ยังประทับใจกับรัฐบาลทักษิณและโหยหาทักษิณ สำหรับฉัน มันเข้าใจง่ายมาก


 


แม้แต่ตัวฉันเอง เป็นครั้งแรกที่ฉันไปใช้บัตร 30 บาท เมื่อไม่กี่วันมานี้เอง ฉันยังประทับใจเลย เมื่อก่อนเราไปโรงพยาบาลเอกชน ปวดหัวก็พัน ปวดฟันก็พันห้าแล้ว โดยที่หมอก็ไม่ได้ทำอะไรมากมาย แล้วล่าสุดแขกไปตรวจเลือดไทรอยด์ที่โรงพยาบาลสันทราย เพราะแม่บอกว่า ก็มีบัตรสามสิบบาทอยู่แล้วทำไมไม่รู้จักใช้ ก็เป็นครั้งแรกที่ไป ร.พ. ประจำอำเภอ โดยที่เรามีภาพพจน์ว่ามันจะต้องเลวร้าย บริการแย่ พยาบาลดุ แต่ไม่เลย พอไป พยาบาลก็ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ได้รอคิวยาว และไม่เสียค่าหมอสักบาท


 


คิดดูสิ ว่าเราเป็นคนชั้นกลางที่มีรายได้ระดับหนึ่ง เรายังประทับใจเลย แล้วจะไม่ให้ชาวบ้านซึ่งรู้สึกว่าทักษิณสร้างความเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวง อันนี้มองจากมุมชาวบ้านนะคะ เขาไม่เคยได้สิ่งนี้ ไม่ใช่เรื่องเงิน หรือเรื่องวัตถุ แต่ในแง่สัญลักษณ์ นี่เป็นครั้งแรกที่ "ชาวบ้าน" ไป มีตัวตน เป็นมนุษย์ หายใจเข้าออกอยู่ในความจริง ในนโยบายของรัฐบาล แม้จะใช้เงินซื้อ แต่เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลเห็นว่า ประชาชนมีอยู่จริง ไม่ได้เป็นแค่ "คำ" เป็น wording สำเร็จรูปที่พ่น ๆ กันตอนหาเสียง


 


สิ่งที่พรรคไทยรักไทยทำ คือ เอาการซื้อเสียงนอกระบบมาอยู่ในระบบ แทนที่จะซื้อเสียงผ่านหัวคะแนนก็เอามาทำเป็นนโยบาย ซึ่งฉันก็มองว่ามันเป็นพัฒนาการหนึ่งของมัน แล้วทำให้ชาวบ้านได้สัมผัสกับนโยบายของพรรคการเมืองที่ตัวเองเลือกเข้าไป อย่างชัดเจนขึ้น


 


เมื่อก่อนเวลาชาวบ้านจะเลือก ส.ส.ไม่รู้ว่าเลือกใครและเลือกทำไม แต่เดี๋ยวนี้เขารู้ว่า เขาเลือกใครแล้วเลือกทำไม เพราะอย่างน้อย มันมีนโยบายที่เขาจับต้องได้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่แปลกใจว่า ชาวบ้านส่วนหนึ่งก็ยังโหยหาวันคืนที่มันมีความหวัง เราไม่ได้บอกว่าเป็นวันคืนที่ดีงาม แต่อย่างน้อยมันเหมือนสิทธิที่ได้มีความหวังไง มันมีเงินกองทุนหมู่บ้านให้เขากู้ แล้วอย่างน้อยบัตรทอง ถึงทุกวันนี้เขาก็ยังใช้อยู่


 


แน่นอน สิ่งที่เรากลัว คือหากพรรคไทยรักไทยยังอยู่ในอำนาจ เขาจะครองสื่อ ครองเครื่องมือในการสร้างอุดมการณ์ ความจริงทั้งหมดเอาไว้ เขาจะบิดเบือนประวัติศาสตร์ จะจำกัดเสรีภาพของเรา จะครอบงำเรา ซึ่งเราก็เห็นว่า เขาพยายามจะทำอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลาที่เขาอยู่ในอำนาจ แต่ฉันเชื่อว่า ด้วยเทคโนโลยี ด้วยศักยภาพของความเป็นมนุษย์ ด้วยสติปัญญาของคนเล็กๆ ที่อยู่กระจัดกระจายในทุกสาขาอาชีพ ทุกเครือข่ายทางสังคม เราสามารถแหวกหาช่องทางที่จะต่อสู้หรือคัดง้างกับอุดมการณ์หลักได้เสมอ


 


เราสู้กับทักษิณ สู้กับไทยรักไทย เรายังสู้กันอยู่ในที่แจ้งทั้งคู่ ยังดีกว่าสู้กับสิ่งที่ไม่รู้ ไม่เห็น ตอนนี้เหมือนเราสู้กับผี กับวิญญาณ ที่บางทีเราก็คิดว่ามันมีจริง บางทีก็คิดว่ามันไม่มีอยู่จริง บางทีเราก็รู้ หรือสัมผัสการมีอยู่ของมัน ผ่านนิทานปรัมปรา ผ่านเรื่องเล่าอันเต็มไปกฤษฎาภินิหาร ผ่านเพลง ผ่านบทกลอน ฯลฯ


 


 


เหมือนกับคุณจะบอกว่า ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งพยายามล้มล้าง แต่ระบอบทักษิณก็ไม่มีวันจบ ไม่มีวันจางอยู่แล้วใช่ไหม ?


มัน จบได้ ถ้าเกิดว่าฝ่ายนี้เขากุมอำนาจรัฐได้ เขาก็เปลี่ยนปฏิบัติการทางภาษาทั้งหมดได้ อย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ขณะเดียวกันเขาก็ต้องทำงานหนักในเรื่องเศรษฐกิจกับปัญหาปากท้อง เพราะว่าถ้ามองระดับชาวบ้านไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการมีกินมีอยู่ การค้าขายได้ ลูกได้เข้าโรงเรียน


 


เป็น ครั้งแรกที่ฉันได้เห็นกลุ่มนักวิชาการที่ยืนหยัดกับระบอบประชาธิปไตย กับชาวบ้าน ไทยรักไทย ที่เกือบจะต้องมายืนอยู่ในขั้วเดียวกัน ทั้งๆ ที่มาจากคนละมุม คนละกลุ่มเลย กลุ่มปัญญาชนอาจมองว่าเขาก็ไม่เอาอำมาตยาธิไตย แต่กลุ่มนี้เขาไม่ได้มองว่าประชาธิปไตยหรืออำมาตยาธิปไตย แต่มองว่าเขามีกินไหม ลูกได้เรียนหนังสือไหม เจ็บไข้ได้ป่วย มีใครรักษา ฉันก็คิดเล่นๆ ว่า เอ...หรือ กระแส popular nationalism จะมา


 


 


มาถึงจุดนี้ คุณคิดว่าจะนำไปสู่การยุบสภา ?


ไม่รู้เหมือนกัน แต่เดาว่า เขาน่าจะไปไกลถึงยุบพรรคพลังประชาชนให้ได้


 


 


แต่บางคนบอกว่า ยุบได้ แต่ไม่ตาย เพราะมีการเตรียมพร้อมพรรคใหม่รองรับไว้แล้ว ?


ก็คงสู้กันอีกหลายยก


 


 


มองทางออกยังไง ?           


รอคอย...เท่านั้น


 


 


มีความเห็นอย่างไรกับ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" เมื่อเดินทางมาถึงจุดนี้ ? 


คือ เราก็เห็นกลุ่มคนที่อยู่ในกลุ่มพันธมิตรฯ ที่มีความหวังดีต่อชาติบ้านเมืองจริงๆ แล้วก็ไปร่วมกับพันธมิตรแบบหวังดีต่อบ้านเมือง และฉันก็คิดว่าเขาก็คือคนไทยทั่วๆไป ที่เชื่อในทฤษฎีที่ว่า ถ้าเรานักการเมืองมือสะอาด บุคลิกดี พูดภาษาอังกฤษเพราะ มีคุณธรรม มีเมียคนเดียว มีครอบครัวอบอุ่น มีตระกูล มีการศึกษา อะไรๆในประเทศเราจะดีขึ้น ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่ง ก็เห็นความฉ้อฉลในรัฐบาลทักษิณ แล้วรู้สึกว่ามันเกินทน บางคนอาจจะเชื่อจริงๆ ว่า เราถอยสิบก้าว ดีกว่าก้าวหน้า 1 ก้าว แล้วฉิบหาย ฉันว่าเราก็ต้องมองสมาชิกพันธมิตรอย่างหลากหลายด้วย ไม่ใช่ไปขึ้นป้ายว่า เลว หยาบคาย หรือซ่อนสาระทางผลประโยชน์ของตนเอง ไปเสียหมด


 


แต่เราไม่รู้ว่า สิ่งที่อยู่เหนือพันธมิตรขึ้นไปเป็นอะไรอันนี้ไม่รู้จริงๆ  ไม่ได้เล่นลิ้นหรือว่าไม่ได้แบบพูดเพื่อหลีกเลี่ยงการเซ็นเซอร์ เราไม่รู้จริงๆ  แล้ว วาระที่แท้ของพันธมิตรคืออะไรเราก็ไม่รู้จริงๆ แต่แขกไม่เชื่อว่ากลุ่มระดับหัวๆ ของพันธมิตรเขาแค่อยากเห็นบ้านเมืองดีขึ้น แขกไม่เชื่อ แต่ก็ไม่รู้ว่าเขาต้องการอะไร


 


แล้ว คำถามของฉันก็คือ ถ้าไม่มีทักษิณแล้วไง เพราะพอถึงที่สุดแล้ว พวกเราก็ถูกปกป้องจากความจริงอีกตั้งมากมาย เช่น จริง ๆ แล้วผลประโยชน์ต่าง ๆ ในประเทศนี้ มีใครเข้าไปอยู่ร่วมแบ่งปันบ้าง แล้วเขาอยู่กันยังไง แบ่งกันยังไง ทุกวันนี้ ธุรกิจหลาย ๆ อย่างในเมืองไทย เรายังไม่รู้เลยว่า เป็นของใคร ใครเป็นนอมินีใคร จริง ๆ แล้ว นอมินี อาจจะไม่ได้เพิ่งมีในสมัยทักษิณก็ได้ เราอาจจะตื่นเต้นเมื่อค้นพบการจัดการทรัพย์สินและการบริหารธุรกิจแบบยอกย้อน สุด ๆ ของทักษิณ แต่ถามว่า ก่อนหน้านั้น และปัจจุบันนี้ มีสิ่งที่ยอกย้อนกว่านี้อีก ลึกลับกว่านี้ แต่เราพร้อมที่จะเชื่อว่า มันไม่มี มีทักษิณนี่แหละ ยอดของยอดของความฉ้อฉล เพราะฉะนั้น มาพูดเรื่องโปร่งใส มันส้นตีนมากสำหรับฉัน เพราะมันก็สองมาตรฐาน       


 


ฉันว่า สังคมไทยมันลักลั่นกันอยู่ ระหว่างการก้าวไปอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า "สมัยใหม่" กับการโหยหาสังคมก่อนสมัยใหม่ เรากลัวทุนนิยม กลัวโลกาภิวัฒน์ เราโหยหาชุมชนนิยม เราเกลียดบริโภคนิยม เกลียดวัตถุนิยม แต่ เราก็ชอบเหตุผลนิยม เกลียดไสยศาสตร์ อยากได้ประชาธิปไตย แต่ก็อยากอยู่แบบเอื้อเฟื้อเอื้ออาทร แบ่งปันฉันเธอ อยากค้าขาย แต่ก็อยากพอเพียง คือตกลงจะเอาอะไรกันแน่วะ ต่อต้านโลกาภิวัฒน์ แต่อยากส่งน้ำพริกขายทั่วโลก ฉันก็งงจริงๆ


 


คน เรามันต้องเลือกเอาอะไรสักอย่าง มันเอาทั้งหมด ทั้งสองอย่างไม่ได้ จะเอาทั้งปัจเจกทั้งชุมชน มันโลภจริง ๆ คนสมัยนี้ถึงทำงานจันทร์ถึงศุกร์ กินเต็มที่ หาเงินเต็มที่ เสาร์ -อาทิตย์ไปนั่งสมาธิ ชาร์ตแบ็ตเตอรี่ จะเอาทั้งเงิน จะเอาทั้งจิตวิญญาณ เอาแม่-งทุกอย่าง


 


บางคนบอกว่า เฮ้ย มันต้องมี in between สิ  ทำไมเป็นประชาธิปไตย แล้วจะเอื้อเฟื้อ เอื้ออาทร ไม่ได้ ทำไมมีปัจเจก แล้วมีชุมชนด้วยไม่ได้


 


 


อย่างนี้ แนวโน้มจะเป็นไปได้ไหมที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีรัฐสวัสดิการ ?


รัฐสวัสดิการต้องมีชุมชนไหม อันนี้ฉันไม่รู้นะ ไม่มีความรู้จริงๆ แต่ฉันเห็นว่า "สวัสดิการ" คือกลไกที่เข้ามาทำหน้าที่แทนชุมชน แทนที่จะอยู่กันแบบพี่ๆ น้องๆ ลูกเลี้ยงดูพ่อแม่ตอนแก่เฒ่า เราป่วย ป้าข้างบ้านคอยมาเยี่ยม รัฐสวัสดิการเข้ามาแทนที่ตรงนี้ คุณไม่ต้องมีผัว มี เมีย ไม่ต้องมีลูก คุณก็อยู่ได้ จะไม่มีสารคดีชีวิตคนแก่ ถูกลูกหลานทอดทิ้งก็จะไม่มีให้ดูอีกต่อไป รัฐจะดูแลคุณ ด้วยระบบการจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ คุณป่วย แทนที่จะเรียกคนข้างบ้าน คุณเรียกรถพยาบาลทันที


 


ที นี้ ประเทศไทยปฏิรูประบบภาษีได้ไหม เก็บภาษีที่ดินยังไง เก็บภาษีมรดกได้ไหม อีกด้านหนึ่งของเรายังอยู่ในระบบโลกก่อนสมัยใหม่ เรายังเชื่อความศักดิ์สิทธิ์ของพื้นดินที่ถูกครองครองด้วยบุญบารมีของผู้ ครอบครอง เรายังกราบแผ่นดินอยู่ มันก็ไม่ได้ รัฐสวัสดิการมันก็เป็นเรื่องโลกสมัยใหม่ ประชาธิปไตย ความเท่าเทียม ทุนนิยม เสรีนิยม ทุกอย่างมันมาเป็นแพ็กเก็จ ฉันอาจจะผิด แต่ฉันคิดว่าเราจะเอาอย่างใดอย่างหนึ่งในแพ็คเกจ มันยากมาก


 


ถ้าคุณเอาแบบนี้ คุณจะเป็นพ่อแม่ที่ไม่มีสิทธิทวงบุญคุณลูก ไม่มีอำนาจเหนือลูก คุณรับได้ไหม พอเป็นแบบนี้ คุณก็จะบ่น โลกนี้ช่างแห้งแล้ง ไร้หัวใจ ไร้ความเป็นมนุษย์ ผู้คนเหมือนหุ่นยนตร์ เครื่องจักร โดดเดี่ยว อ้าวว้างในเมืองใหญ่  คิดเป็น "หว่อง กาไว" ไปกันหมด เหมือนที่คนไทยบ่นเวลาไปเมืองนอก ผู้คนเย็นชาบ้าง อะไรบ้าง


 


 


วกกลับมาคำถามสุดท้าย มีความเห็นอย่างไรที่มีการวิพากษ์ว่า สื่อได้กลายเป็นนักเคลื่อนไหวเสียเอง ?


ก็ ไม่เป็นไรนะ ตราบใดที่เรามีเสรีภาพที่จะพูด เถียง สร้างบทสนทนา แล้วไม่มีใครมาเซ็นเซอร์เรา ถ้าสื่อเคลื่อนไหวได้ คุณก็ต้องประกาศจุดยืน


 


คือ ฉันก็มองว่า สื่อไม่จำเป็นต้องเป็นกลาง ก็บอกไปเลยว่า จุดยืนของเรา คืออันนี้ แล้วข่าวของเราก็จะลำเอียงอย่างนี้ คือเราก็จะเสนอข่าวกลุ่มนี้เยอะๆ เพราะว่าอีกฝ่ายเสนอข่าวกลุ่มมันโคตรเยอะเลย คือฉันว่าเป็นอะไรก็ได้ แต่ถ้าเราประกาศและรู้จุดยืนของเรา รู้ตำแหน่งของเราชัดเจน แล้วฉันก็ไม่เชื่อเรื่องความเป็นกลางของสื่อ ไม่ว่าของใครก็ตาม เรายังไม่เป็นกลางเลย เราก็รู้ว่าเราเข้าข้างใคร เรายึดถืออะไรเป็นแกนกลาง ในวิธีคิดหรือการทำงานของเรา ถ้าเราเป็นกลาง เราก็ไม่ต้องทำอะไร ใครจะฆ่ากันก็ปล่อยมันฆ่า ลอยตัวเหนือความขัดแย้ง 


 


ดัง นั้น สื่อไม่ต้องเป็นกลางก็ได้ แต่ต้องบอกว่า เราเป็นสื่อที่ไม่เป็นกลางก็พูดอย่างนี้ไปเลย อย่างผู้จัดการก็ชัดเจนดีนะ อยู่ฝ่ายพันธมิตรเต็มร้อย ก็ชัดเจน เวลาเราอ่าน เราก็ไม่โกรธละ เพราะเขาก็ประกาศตัวของเขาชัดเจนดี          


 



ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net