Skip to main content
sharethis

3 ก.ค.51  ที่อาคารรัฐสภา ชาวบ้านจากเครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้า จ.ฉะเชิงเทรา เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม อ.หนองแซง จ.สระบุรี และ อ.ภาชี จ.อยุธยา เข้ายืนหนังสือร้องเรียนต่อนางรสนา โตสิตระกูล ประธานกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล และนายสุรจิต ชิรเวช ประธานคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เพื่อให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชาการในท้องถิ่นต่อกรณีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหนองแซง เนื่องจากชาวบ้านเห็นว่าดำเนินงานโดยขาดความเป็นกลาง และไม่มีธรรมาภิบาล โดยตัวแทนกรรมาธิการทั้ง 2 คนระบุว่าจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมาธิการเพื่อกำหนดวันเวลาลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป


 


ทั้งนี้ เครือข่ายดังกล่าวได้ร่วมกันคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง ซึ่งกำลังจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานร้อนร่วมที่จะใช้เครื่องกังหันก๊าซ และกังหันไอน้ำของบริษัท เพาเวอร์ เจเนอรัลซัพพลาย จำกัด มีกำลังการผลิต 1,650 เมกกะวัตต์ ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านห้วยบ่า หมู่ที่ 4 ต.หนองกบ อ.หนองแซง จ.สระบุรี และบ้านธรรมสินธุ์โสภา หมู่ที่ 7 ต.หนองน้ำใส อ.ภาชี จ.อยุธยา โดยขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จัดทำโดยบริษัท อีอาร์เอ็ม สยาม จำกัด เพื่อนำเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา


 


ในจดหมายร้องเรียนที่ยื่นต่อประธานคณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภาทั้ง 2 คณะระบุว่า พื้นที่ตำบลหนองกบนั้นไม่เหมาะต่อการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า เนื่องจากมีการเตรียมประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมอยู่แล้ว ประชาชนในพื้นที่มีอาชีพทำนาเป็นหลัก อีกทั้งยุทธศาสตร์จังหวัดได้กำหนดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ ชมวัตถุโบราณเมืองเก่า วัดอู่ตะเภา และชมค้างคาวแม่ไก่ที่วัดหนองสี และพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นแหล่งผลิตข้าวที่มีคุณภาพดี "ข้าวเจ๊กเชย"  (ข้าวเสาไห้)


           


นอกจากนี้ในจดหมายร้องเรียนยังคัดค้านการออกเสียงลงมติให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าหนองแซง ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หนองกบ และส่วนราชการภูมิภาค จ.สระบุรี โดยขอให้คณะกรรมาธิการฯ ของวุฒิสภาตรวจสอบการดำเนินการดังกล่าว เนื่องจากทาง อบต. ได้ประสานงานให้ทางอำเภอหนองแซงดำเนินการจัดประชาชนไปศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าวังน้อยและแก่งคอย 2 ถึง 5 ครั้ง จำนวน 366 คน  และยังจัดให้มีการประชุมประชาคมเพื่อชี้แจงเรื่องผลกระทบและมาตรการป้องกันต่างๆ ของโรงไฟฟ้าครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 2 ก.พ.51 มีประชาชนเข้าร่วมรับฟังประมาณ 300 คนที่วัดหนองกบ โดยกล่าวอ้างถึงการจัดประชุมประชาคมก่อนหน้านั้นจำนวน 5 ครั้ง ซึ่งทางเครือข่ายฯ ยืนยันว่าไม่ทราบเรื่องเรื่องมาก่อนและไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการ


 


ต่อมาในวันที่ 15 ก.พ.51 สภา อบต.หนองกบได้มีมติให้ความเห็นชอบโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง ซึ่งทางเครือข่ายฯ เห็นว่ามติดังกล่าวมุ่งตอบสนองความต้องการของบริษัทเอกชน โดยไม่สนใจต่อการคัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งอาจเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 57,66,67,287 รวมถึงกฎหมายอาญา มาตรา 57 ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้เมื่อทางเครือข่ายฯ ทำหนังสือถึงหน่วยงานราชการส่วนอื่นในจังหวัดในกรณีดังกล่าว ก็ไม่ได้รับการตอบกลับมาแต่ประการใด


 


"เราขอให้กรรมาธิการฯ ทำการตรวจสอบกระบวนการดังกล่าว ที่นายกฯ อบต. และกำนันตำบลหนองกบ  ออกหนังสือเชิญชาวบ้านประชุมประชาคมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของชุมชน รวมถึงวาระซ่อนเร้นในรายงานการประชุม เช่น ไม่มีการชี้แจงเรื่องสิทธิชุมชน และการดำเนินการประชุมไม่ได้เป็นการรับฟังความคิดเห็นของชุมชน  แต่เป็นการพูดถึงกระบวนการผลิตไฟฟ้าที่ชาวบ้านไม่เข้าใจ แล้วเขียนรายงานการประชุมเองเพื่อนำไปใช้ประกอบในเอกสารเพื่อประกอบการขออนุญาตต่อหน่วยงานราชการ" เนื้อหาในจดหมายร้องเรียนระบุ พร้อมตั้งข้อเกตด้วยว่า การที่ อบต.เร่งรีบแจ้งผลการลงมติประชาคมนี้ เพื่อต้องการให้บริษัทเอกชนนำไปแนบกับรายงานอีไอเอได้ทันเวลาหรือไม่


 


นอกจากนี้ทางเครือข่ายฯ ยังเรียกร้องให้มีการตรวจสอบแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP 2007) ของกระทรวงพลังงานที่กำหนดปริมาณความต้องการใช้ไฟอย่างเกินจริงทำให้ต้องมีการขยายการสร้างโรงไฟฟ้าเกินจำเป็น รวมถึงตรวจสอบ สผ.ว่ามีการเร่งรัดการพิจารณารายงานอีไอเอของโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ หรือไม่


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net