Skip to main content
sharethis


    


โดย ภูมิภูมิ


 







 


 


"การยืมเงิน เอดีบี (ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย) ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย เงิน 2,000 กว่าล้าน แล้วให้ออกกฎหมายเก็บเงินค่าน้ำจากประชาชน และยังได้ออกกฎหมายให้ต่างชาติสามารถเช่าที่ดินได้โดยไม่จำกัด ซึ่งรัฐบาลชวน เขียนไว้ให้ระยะเวลา 50 ปี โดยก่อนที่ทักษิณจะเป็นรัฐบาลเขาบอกว่า นี่เป็นกฎหมายขายชาติ ถ้าได้เป็นรัฐบาลเขาจะโละทิ้งให้หมด แต่หลังจากได้เป็นรัฐบาล ปรากฏว่าได้โละจาก 50 ปี ไปเป็น 99 ปี ทำให้ต่างชาติควบคุมที่ดินของเราเกือบทั้งหมด ธนาคารทั่วทั้งประเทศที่เป็นของไทย มีไม่กี่ธนาคารเช่นธนาคาร ธกส. กรุงไทย ออมสิน นอกเหนือจากนั้นเป็นของต่างชาติทั้งหมด ซึ่งในธนาคารมีเอกสารที่ดินอยู่ทุกธนาคารเต็มไปหมด


 


ตอนนี้ทั้งดินและน้ำ กำลังจะถูกควบคุมโดยรัฐ ลองนึกดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น เป็นการเอื้อให้กับนายทุนใหญ่ ต่างชาติ ผมถือว่านี่เป็นกฎหมายขายชาติ"


 


นายอนันต์ วังเวียง


ประธานเครือข่ายลุ่มน้ำลี้ จ.ลำพูน

 

เมื่อไม่นานมานี้ มีตัวแทนชาวบ้านลุ่มน้ำต่างๆ ในเขตภาคเหนือ ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันถึงสถานการณ์ เรื่องพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ซึ่งเป็นร่างสุดท้ายก่อนเข้าพิจารณา(19 ธ.ค.50) ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งขณะนี้กลับมาอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร หลังจากที่ยังไม่ผ่านในสมัย สนช. และจะมีการพิจารณาประมาณเดือนสิงหาคม ปลายปีนี้


 


ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยกร่างในขั้นของกรรมาธิการ ซึ่งถูกฟ้องอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญว่ากฎหมายฉบับนี้ออกมาด้วยความไม่ชอบธรรม เพราะว่าในช่วงของการผ่านญัตติของ สนช. นั้นเกิดปัญหาเนื่องจาก สนช.ที่ร่วมพิจารณากฎหมายฉบับนี้ไม่ครบองค์ประชุม


 


แต่อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อรัฐบาลชุดใดๆ ก็ตาม มีโครงการหรือนโยบาย กฎหมายต่างๆ ส่วนใหญ่นายทุนจะรับรู้เรื่องราวได้รวดเร็วกว่าชาวบ้านหลายเท่าตัว และได้มีการดำเนินงานไปก่อนหน้านั้น


 


อย่างเช่น กรณีที่อำเภอฝาง นายสุทัศน์ ลือชัย ประธานกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำฝาง เล่าให้ฟังว่า ตอนนี้ได้เกิดการแย่งน้ำระหว่างชาวบ้านกับนายทุน เมื่อก่อนแย่งป่า ตอนนี้ป่าหมด จนไม่มีให้แย่ง ขณะนี้เริ่มมีการแย่งน้ำ ในร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ มาตรา 10 กล่าวไว้ว่า "เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดิน ซึ่งมีน้ำพุเกิดขึ้นหนองมีน้ำไหลผ่านตามธรรมชาติไม่ว่าบนดินหรือใต้ดิน ย่อมมีสิทธิเก็บกักน้ำหรือใช้น้ำนั้นได้เท่าที่จำเป็นแก่ประโยชน์ในที่ดินของตนโดยไม่เป็นเหตุให้เกิดความเดือนร้อนหรือเสียหายแก่บุคลอื่น"


 


"ถ้าเป็นแบบนี้ เรียบร้อยแน่ครับสำหรับคนเมืองฝาง เพราะว่านายทุนได้ขุดเปลี่ยนทางน้ำ ทำเป็นร่องน้ำเข้าสวนส้ม แล้วมีการถมเหมืองธรรมชาติของเรา ระยะประมาณ 1 กิโลเมตร ผมไม่รู้ ชาวบ้านไม่รู้ พ.ร.บ.น้ำ จะออกมาเป็นอย่างนี้ แต่นายทุนเขารู้ก่อนหน้าเราแล้ว น้ำไหลผ่านที่เขาพอดี ณ วันนี้มีการชกต่อยกันแล้วขนาดพี่น้องกันแท้ๆ แต่อยู่คนละข้าง ระหว่างชาวบ้านและนายทุน เห็นไหมว่ามันสร้างความแตกแยกมากน้อยแค่ไหน"


 


นอกจากนั้น ยังมีมาตรา 12 (4) "กรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำจำนวนเก้าคน ประกอบด้วย ผู้ซึ่งได้รับการคัดเลือกมาจากกรรมการผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำจำนวนหกคน และกรรมการผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน สามคนเป็นกรรมการ"


 


นายสุทัศน์ ลือชัย ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า คณะกรรมการลุ่มน้ำที่ผ่านมา ไม่มีชาวบ้าน หรือองค์กรชาวบ้าน มีแต่องค์กรต่างๆ เช่น อบต. ซึ่งหาก อบต.หมดวาระไป ก็หายไปตามวาระ


 


"จริงๆ แล้ว ผมเชื่อว่าระบบเหมืองฝายดั้งเดิมเราดีอยู่แล้ว เพียงแค่รับรองแก่เหมือง แก่ฝาย และคณะกรรมการ ให้มีอำนาจในการจัดการอย่างเต็มที่ ไม่จำเป็นต้องมีเงินเดือน ทุกวันนี้เขาก็ปฏิบัติงานอย่างเสียสละเต็มที่อยู่แล้ว เพียงขอแค่ช่วยกันส่งเสริมฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมขึ้นมา คนเราอยู่ได้เพราะอยู่ที่จิต


อยู่ที่ใจ โดยส่วนผมไม่เห็นด้วยซักข้อเดียว แต่ถ้ามันออกมาเราไม่เอาจะได้ไหม แล้วจะทำอย่างไรต่อไป เพราะ พ.ร.บ.น้ำป็นการเอาใจคนมีเงินเท่านั้น"


 


จะเห็นได้ว่ารัฐพยายามที่จะครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นดิน ป่า น้ำ ถึงแม้ว่าการดำเนินการที่ผ่านมาในการจัดการป่า ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง รัฐน่าจะถือเอาบทเรียนที่ผ่านมา ทบทวน วิเคราะห์ ถึงสาเหตุของปัญหาและยอมรับกับการกระทำ การที่รัฐพยายามกีดกันการเข้าถึงทรัพยากรของชาวบ้าน ที่มีวิถีชีวิตพึ่งพาอาศัยอยู่กับฐานทรัพยากรเหล่านี้ในการดำรงชีวิต ซึ่งอาจส่งผลกระทบถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการน้ำ ด้วยระบบเหมืองฝาย ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน


 


ในขณะที่นายอนันต์ วังเวียง ประธานเครือข่ายลุ่มน้ำลี้ พูดอย่างหนักแน่นว่า ขอยืนยัน ว่าคนลุ่มน้ำลี้ จะไม่เอา พ.ร.บ.น้ำ อย่างแน่นอน ก่อนหน้านั้นรัฐก็เคยออกกฎหมายป่าให้เป็นของรัฐ พอป่าหมด ตอนนี้ก็มาอ้างเรื่องน้ำ จะออก พ.ร.บ.น้ำอีก


 


"สิ่งที่น่ากลัวก็คือว่า ผมเคยดูสารคดีของประเทศอาร์เจนตินา มีการเอาน้ำไปแปรรูป เอาไปขาย จนทำให้คนอาเจนอดน้ำ ต่อไปรัฐไทยอาจจะแปรรูปก็ได้ อีกหน่อยกฎหมายฉบับนี้อาจจะต้องเข้าสู่การแปรรูป และผมคิดว่า มันเป็นกฎหมายที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะว่ารัฐธรรมนูญ ระบุไว้ชัดเจนว่ารัฐต้องจัดสรรน้ำให้เกษตรกร ถ้ารัฐไม่ทำตามรัฐธรรมนูญ แสดงว่าละเมิดสิทธิ เราก็สามารถที่จะฟ้องศาลปกครอง เพราะมันขัดกับรัฐธรรมนูญ"


 


ประธานเครือข่ายลุ่มน้ำลี้ กล่าวอีกว่า น้ำเป็นทรัพยากร ประชาชนทุกคนมีสิทธิในการใช้ แต่รัฐจะเอาไปเป็นของรัฐเอง เกษตรกรที่มีการสืบทอดจารีตประเพณี อย่างเรื่องเหมืองฝาย ซึ่งกฎหมายนี้คนรวยเป็นคนเขียน แต่เราไม่รู้เรื่อง เขาไปดูงานต่างประเทศ ลอกเขามา ไม่ดูสภาพประเทศบ้านเรา จะลอกเลียนแบบอย่างเดียว


 


"ถามว่า ถ้าไม่ออกกฎหมายน้ำจะมีปัญหาอะไรไหม คิดดูแล้วมันก็ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะแต่ละเหมืองฝาย มีระเบียบรับรองโดยกฎหมายชลประทานราษฎรอยู่แล้ว การจะจัดตั้งโรงงานขนาดใหญ่จะใช้น้ำ ตามกฎหมาย ก็ต้องขออนุญาตอยู่แล้ว แล้วมาอ้างอะไรต่างๆ ผมฟังไม่ขึ้น แล้วทำไมต้องออกกฎหมายนี้ มันมีความจำเป็นอะไร ทรัพยากรที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เรามีบทเรียนที่เจ็บปวดที่เอาป่าเป็นของรัฐ ทำให้ป่าฉิบหายวอดวายหมดแล้ว ที่ใช้ทรัพยากรอย่างเผาผลาญ จากการสัมปทานป่าเฮงซวยที่ผ่านมา ตอนนี้ผมคิดว่ากฎหมายน้ำฉบับนี้ มีต้นตออยู่แล้ว ถ้าจะแปรเปลี่ยนในวันข้างหน้า ชาวบ้านจะรู้ทันไหม ขอย้ำอีกครั้ง ผมยืนยันคนลุ่มน้ำลี้ไม่เอา พ.ร.บ.นี้แน่นอน" ประธานเครือข่ายลุ่มน้ำลี้ กล่าวทิ้งท้าย


 


 


 


 


ด้านนายภาคภูมิ โปธา ผู้ประสานงานโครงการแรงโน้มถ่วงทางสังคม ซึ่งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ป๋าม อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตอนนี้ทราบข่าวมาว่ารัฐบาล โดยกรมทรัพยากรน้ำ ได้ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระหว่างประเทศไทยและประเทศสหภาพพม่า จะทำการผันน้ำโครงการเครือข่ายกก-แม่น้ำฝาง-แม่น้ำปิงตอนบน เพื่อรองรับการผันน้ำในอนาคตของแนวทางกก-อิง-ยม-น่าน


 


"ผมคิดว่าโครงการดังกล่าวเป็นการฝืนธรรมชาติ อาจจะทำให้ตกขึด(อาเพท)ได้ เพราะว่าเป็นการบังคับน้ำให้ไหลย้อนกลับ แต่รัฐมาทำอุโมงค์ผันน้ำเพื่อให้น้ำกก -แม่น้ำฝางไหลย้อนมาที่น้ำแม่ปิง โดยจะทิ้งน้ำลงในลำน้ำน้ำแม่ป๋าม ตลอดระยะทางของโครงการจะมีการทำประตูทดน้ำ การปรับปรุงทางน้ำ การทำสถานีสูบน้ำ โดยมีเครื่งสูบน้ำที่มี head สูง ท่อส่งน้ำ คลองผันน้ำ อ่างพักน้ำ อุโมงค์ผันน้ำ และอื่นๆอีกมาก ซึ่งล้วนแล้วแต่ที่จะใช้วิศวกรรม เทคโนโลยีควบคุมในการจัดการ"


 


นายภาคภูมิ กล่าวต่อว่า ตอนนี้มี 3 บริษัท ที่ได้ทำการศึกษาเพื่อที่จะดำเนินโครงการ ได้จัดทำเวทีการมีส่วนร่วมของประชาชนตามระเบียบ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น มีมากน้อยแค่ไหน เพราะจากการที่ได้พูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ ยังไม่มีใครที่จะรับรู้ข้อมูลเหล่านี้เลย บางคนยังหัวเราะว่าไม่มีทางที่จะผันน้ำที่อยู่ไกลกันขนาดนั้นมาได้ แต่เมื่อได้ศึกษาจากเอกสารประกอบการประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 2 วันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2551 ทำให้รู้ว่ามีการดำเนินงานมาแล้ว เกือบเสร็จสิ้นกระบวนการตั้งแต่ปัจฉิมโครงการจนถึงปฐมนิเทศโครงการ แต่ทำไมคนในพื้นที่ไม่มีใครรับทราบโครงการดังกล่าว ทำไมไม่ทำอย่างเปิดเผย


 


"ซึ่งถ้ามองดูแล้ว ถ้าเกิดโครงการนี้ขึ้นมาจริงๆ อำนาจในการจัดการน้ำจะตกเป็นของรัฐ เพราะรัฐควบคุมการส่งน้ำ และถ้า พ.ร.บ.น้ำออกมา ยิ่งทำให้เราไม่มีอำนาจในการต่อรองใดๆ ทั้งสิ้นเลย ต้องซื้อน้ำในการทำการเกษตร ต้องขอใบอนุญาตในการใช้น้ำ คนมีเงินเท่านั้นที่จะสามารถใช้น้ำได้ แล้ววิบากกรรมที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านใครจะรับผิดชอบ"


 


นายภาคภูมิ กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้า พ.ร.บ.น้ำ คลอดออกมา เป็นห่วงว่าความเข้าใจเรื่องน้ำจะผิดเพี้ยนไป แต่เดิมเรามองเรื่องของคุณค่า ความสำคัญ เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิต และมีการจัดการน้ำสืบทอดกันมา จนกลายเป็นประเพณี พิธีกรรมต่างๆ อย่างเช่นการเลี้ยงผีฝาย ระบบเหมืองฝาย ที่กลายเป็นพลังในการเชื่อมคนมารวมกัน เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาที่ควรแก่การปกป้องไว้ แต่ถ้าในอนาคตอาจจะมีการมองเรื่องน้ำเป็น มูลค่า เป็นตัวเงิน เป็นของรัฐ เป็นของคนอื่น อาจจะทำให้ความรู้สึกร่วมตรงนี้ขาดหายไป ทุกอย่างลบเลือนไป อย่างเช่นความคิดในอดีต กรณีที่ว่าป่าเป็นของรัฐ ไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้มีหน้าที่ดูแลรักษา สุดท้ายป่าก็หมดไปพร้อมๆกับคำว่า ของรัฐ


 


อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่อง พ.ร.บ.น้ำ คงต้องมีการถกเถียงกันต่อไป และที่สำคัญก็คือ คือควรมีการชี้แจงให้ชาวบ้านได้เข้าใจถึงข้อดีข้อเสียของ พ.ร.บ.น้ำ อย่างละเอียดถี่ถ้วน เนื่องจากที่ผ่านมามีวิพากษ์วิจารณ์กันว่า กฎหมายฉบับนี้นอกจากจะไม่ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรน้ำ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 66 67 และมาตรา 87 แล้ว ในทางตรงกันข้าม กฎหมายฉบับนี้จะยิ่งทำให้หน่วยงานรัฐมีอำนาจควบคุมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย



 


 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net